เบรกเที่ยวในโรม…ดื่มอะไรในโรม ตอนที่ 2
โดย Paul Sansopone
ในอิตาลีมีสำนวนหรือสุภาษิตเกี่ยวกับไวน์อยู่หลายประโยคด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น “A meal without wine is like a day without sunshine.” (– Italian proverb) แต่เคล็ดลับในการดื่มไวน์ให้ได้อรรถรสนั้น มันไม่ใช่แค่หาไวน์ดีๆ มาแล้วก็ดื่มคนเดียว แต่มันคือประสบการณ์ของการดื่มครั้งนั้นต่างหากที่ประกอบไปด้วยเพื่อนร่วมโต๊ะ, สถานที่นั้น ตลอดจนวัฒนธรรมพื้นเพของที่นั่น…(The secret to enjoying best Italian wines – indeed any good wines, is not just to drink them, but to experience the people, places, and cultures that create them.)
เมื่อคราวก่อนเราพูดถึงกาแฟที่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของโรมไปแล้ว โดยแนะนำให้รู้จักพื้นฐานของกาแฟอิตาเลี่ยนคร่าวๆ ก่อนจะไปลองที่ร้านระดับตำนานที่ใครๆ ที่มาโรมก็ต้องไปลอง คราวนี้มาถึงเครื่องดื่มที่มีความนิยมไม่แพ้กัน และไวน์บาร์ที่โรมหรือที่เรียกกันที่นั่นว่า Enoteca ก็มีอยู่ทุกย่านทุกมุมเมืองเช่นกัน แต่ก่อนจะพาไปร้านที่แนะนำ เราก็ควรรู้พื้นฐานของไวน์อิตาเลี่ยนกันก่อน เมื่อถึงเวลาไปลองจะได้เพิ่มอรรถรสมากขึ้น
ดื่มไวน์อิตาเลียน Vino Italiano

Photo credit: http://www.bywine.nl
คนอิตาเลี่ยนดื่มไวน์กับอาหารมาตั้งแต่วัยรุ่น แต่ไม่ทำตัวเป็นผู้รู้มากเรื่องไวน์เหมือนพวก Wine Snobby (หมายถึงพวกที่ดื่มแล้วชอบเชิดหน้า) ไวน์ที่นี่ราคาไม่แพงมาก การเลือกดื่ม Table Wineไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือเสียหาย และถ้าไม่มีความรู้เกี่ยวกับไวน์ก็ไม่เป็นไรเลยรู้แค่กฎเกณฑ์พื้นฐานเช่นไวน์แดงเข้ากับเนื้อแดง ไวน์ขาวเข้ากับเนื้อขาวหรืออาหารทะเลก็ดื่มไวน์ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็น Connoisseur(ผู้ชำนาญเรื่องการชิมการดื่ม) ก็ใช้วิธีขอคำแนะนำจากเพื่อนผู้รู้ที่ไปด้วยหรือถาม Waiterเยอะๆ ไม่เสียหายถ้าเป็นผม ผมมักจะเลือกไวน์ท้องถิ่นของเขตนั้น เช่น แบบคลาสสิกเลยก็ Chianti ถ้าอยู่ในTuscany, ไวน์ Valpolicella ถ้าอยู่ใน Veneto, Nero d’Avola ใน Sicily และ Pinot Grigio หรือไวน์ขาวตัวอื่นใน Friuli-Venezia Giulia ยิ่งถ้าเราจะทานร่วมกับอาหารท้องถิ่นแต่ถ้ารู้ว่าไวน์เขตนั้นไม่ดีก็ต้องดูตัวอื่นที่อยู่ในลีส

การอ่านฉลากไวน์อิตาเลี่ยน




Italian Wine Label ทั่วๆ ไปดูไม่ยากมันคล้ายของไวน์ฝรั่งเศส ตัวหนังสือใหญ่แถวบนสุดคือผู้ผลิต(growerหรืออาจรับจากชาวไร่องุ่นในพื้นที่นั้นมาทำ) ตามตัวอย่างจะเป็น Pegrandi จากนั้นลงมาก็จะเป็นชื่อองุ่นหรือเขตปลูกองุ่น ในตัวอย่างคือ Valpolicella แล้วต่ำกว่านั้นก็จะเป็นการระบุชั้นหรือ classificationเช่น DOCG, DOC, IGT, or VdT จะมีปีผลิต vintage year อยู่ด้านบน อาจมีผู้จัดจำหน่ายหรือค่ายอยู่ด้านล่าง เช่น Vaona
การแบ่งเกรดของไวน์อิตาลี
เริ่มในปี 1963 (พ.ศ.2506) โดยมีกฎหมายฉบับที่ 930/1963 ชื่อ “ลอว์ ออฟ เมดิโอคริตี้” (Law of Mediocrity) เป็นกฎหมายควบคุมคุณภาพการผลิตไวน์กำหนดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เรียกว่า เดโนมินาซิโอเน่ ดิ ออริจิเน่คอนโตรลลาต้า (Denominazione di Origine Controllata) ระยะแรกกฎหมายฉบับนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะมีช่องโหว่เยอะกระทั่งทศวรรษที่ 1990 อุตสาหกรรมการผลิตไวน์ในยุโรปขยายตัวจึงมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้สมบูรณ์มากขึ้น นายโจวานนี กอเรีย (Giovanni Goria) รมว.กระทรวงเกษตร จึงเสนอกฎหมายชื่อ “New Disciplinary Code for Denomination of Wines of Origine” ต่อคณะกรรมการไวน์ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (Wines Chamber of Deputies and the Senate)
กฎหมายดังกล่าวผ่านการรับรองและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1992 และใช้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นกฎหมายฉบับที่ 164/1992 เรียกสั้นๆ ว่า “กฎหมายของกอเรีย” (Goria’s law) แบ่งเกรดไวน์เป็น 2 ระดับคือ ดีโอ ไวน์ (DO wines) และ วิโน่ ดา ตาโวล่า (Vino da Tavola) พร้อมกับเพิ่มเกรดไอจีที (IGT)

ดีโอซีจี (DOCG = Denominazione di Origine Controllata e Garantita) เป็นไวน์เกรดดีโอซี (DOC) ที่คุณภาพสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งโดยหน่วยงานของรัฐเป็นผู้กำหนดและจัดทำฉลากพันรอบคอขวด 3 สี สีชมพูอ่อนใช้สำหรับไวน์ขาวมีฟอง สีเขียวอ่อนสำหรับไวน์ขาว และสีม่วงแดงสำหรับไวน์แดง ถ้าเทียบกับไวน์ฝรั่งเศสก็น่าจะเทียบได้กับระดับ Crus ต่างๆ ขึ้นไป ล่าสุด มี 36 เขตจาก 12 แคว้นที่ได้ DOCG โดยไวน์ DOCG ที่โดดเด่นที่เรารู้จักกันดีก็มักจะมาจากเขตเหล่านี้ เช่น เขตทัสคานี ได้แก่ ไวน์ Brunello di Montalcino และ Chianti Classicoที่ใช้องุ่น Sangiovese (ซานโจเวเซ่), เขตเปียดมอนเต้ ได้แก่ ไวน์ Barolo และไวน์ Barbaresco ที่ใช้องุ่น Nebbiolo (เนบบิโอโล) และไวน์ Amarone จากเขตเวเนโต้ ที่ใช้องุ่นตัวหลักคือ Valpolicella (วัลโปลิเซลล่า)

ดีโอซี (DOC – Denominazione di Origine Controllata ) เป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้โดยเฉพาะและใช้ชื่อตามชื่อทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ผลิตไวน์อย่างเคร่งครัดตั้งแต่การปลูกองุ่น การใช้พันธุ์องุ่น จนถึงกระบวนการผลิตจนออกสู่ท้องตลาดเป็นไวน์คุณภาพมาตรฐานเทียบเท่ากับไวน์ AOC (Appellation d’Origin Controlee) ของฝรั่งเศส (นอกจากนั้น DOC ยังใช้รับรองคุณภาพอาหารของอิตาลีด้วย) ปัจจุบันมี 317 เขตที่ได้ DOC
ไอจีที (IGT – Indicazione Geografica Tipica ) กำหนดโดยสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ผลิตไวน์ที่กว้างขวางทำไวน์อย่างมีแบบแผนแต่ไม่เคร่งครัดเท่าดีโอซี เป็นเกรดใหม่ที่เทียบกับ Vins de Pays ของฝรั่งเศส เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 1994 ปัจจุบันมีกว่า 150 เขต
ระดับ 2 วิโน่ ดา ทาโวล่า (Vino da Tavola) มี 1 เกรด
วีดีที (VdT) เป็นไวน์คุณภาพต่ำสุด เทียบได้กับ Table Wine หรือ Vins de Table ของฝรั่งเศส การผลิตไม่มีการบังคับอาจจะใช้องุ่นที่เหลือหรือคุณภาพต่ำมาผสมผสานกันก็ได้นอกจากนั้นเดิมยังหมายถึงไวน์ขบถของแคว้นทัสคานีที่ไม่ยอมใช้พันธุ์องุ่นตามที่กฎหมายกำหนดหรือใช้สัดส่วนขององุ่นผิดจากที่กำหนด จึงถูกปรับเป็น Vino da Tavola ปัจจุบันหลายตัวขยับเป็นIGT
จากข้อมูลของ Conseil Général de la Dordogne ในปี 2005 ระบุว่าไวน์เกรด DOC/DOCG ประมาณ 82% อยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี รอบๆ Piemonte (เพียดมอนต์) Tuscany (ทัสคานี)และVeneto (เวเนโต)
ในขณะที่ไวน์เกรด Vino da Tavola และ IGT มีผลผลิตรวมกันประมาณ 77% ของผลผลิตทั้งหมด
จะเห็นนะครับว่าไวน์ที่เรียกว่า Everyday wine ที่เป็นไวน์เกรด Vino da Tavola และ IGT ผลิตสูงมากถึง 77% และเป็นไวน์ที่ส่วนใหญ่จะบริโภคอยู่แค่ภายในในประเทศอิตาลีเท่านั้น ในขณะไวน์เกรด DOC และ DOCG ที่เป็นไวน์คุณภาพสูงและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมีการผลิตเพียง 23% เท่านั้น แต่ช้าก่อน ไวน์ที่ดีที่สุดของอิตาลีไม่ได้ประดับยศสูงสุดนะครับ มันไม่ได้DOCG หรือ DOCไวน์กลุ่มที่เรียกว่า “Super Tuscans,” ได้ยศแค่ IGT ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็เพราะกลุ่มไวน์เหล่านี้ใช้องุ่นจากนอกเขต ส่วนใหญ่ใช้องุ่นพันธุ์ merlot และหรือcabernet sauvignon จากเขต Bordeaux ของฝรั่งเศส และกรรมวิธีที่แตกต่างนอกกฎควบคุมของ DOCG, DOC จนได้รับฉายาว่า ‘ไวน์กบฎ’หรือไวน์ลูกผสม(อิตาเลี่ยน-ฝรั่งเศส) แต่กลุ่มผู้ผลิต Super Tuscanก็ให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องทำเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันของไวน์อิตาลีในระดับโลกที่ได้ชื่อว่าแข่งได้แค่ปริมาณการผลิตต่อปี แต่คุณภาพสู้ฝรั่งเศสหรือไวน์โลกใหม่ไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ไวน์ซูเปอร์ ทัสคัน ได้พิสูจน์แล้วว่ารับความสำเร็จกลายมาเป็นไวน์ที่แพงที่สุดของอิตาลีและเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดโดยเฉพาะไวน์ที่ได้รับฉายาว่าเป็น 5 ทหารเสือ ได้แก่ไวน์ Sassicaia (ซาสซิกายา), Tignanello (ติยาเนลโล) ,Solaia (โซลายา), Ornellaia (ออร์เนลลายา) และ Masseto (มาสเซโต้)
ภาพด้านล่างคือ ตัวแนวหน้าของ ซูเปอร์ ทัสคัน ซึ่งทั้งหมดผลิตในเขต Chianti Classico (กิอานตี้ คลาสสิโค) ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมือง Florence (ฟลอเรนซ์)

พอรู้จักเกรดแล้วควรมีความรู้เรื่ององุ่นไว้เล็กน้อย เพราะการคุยไวน์นั้นคุยย่านหรือเขตผลิตยังไม่พอ ต้องลงไปถึงองุ่นด้วยครับแล้วจึงค่อยไปถึงสัมผัสที่ได้จากการชิม สายพันธุ์องุ่นของอิตาลี
ปี 2005 อิตาลีมีพื้นที่ปลูกองุ่นรวม 760,000 เฮกแตร์ (ประมาณ 2,500,000ไร่) องุ่นที่ปลูกในอิตาลีอย่างเป็นทางการมีกว่า 350 พันธุ์ เมื่อรวมกับองุ่นที่ไม่เป็นทางการจะมีอยู่กว่า 457 พันธุ์ แต่องุ่นพันธุ์หลักๆ มีดังนี้


องุ่นแดงสำหรับทำไวน์ของอิตาลีที่สำคัญ ๆ มีประมาณ 10 พันธุ์ ดังนี้
Sangiovese (ซานโจเวเซ่) ราชาองุ่นแดงประจำแคว้นทัสคานี
Nebbiolo (เนบบิโอโล) องุ่นแดงประจำแคว้นเพียดมอนต์
Montepulciano (มอนเตปุลเชียโน) เป็นชื่อขององุ่นและชนิดของไวน์ ที่ทำในอบุซโซ่ (Abruzzo) จึงเรียกว่าMontepulciano d’Abruzzo (ไวน์คุณภาพดีจะมาจาก Pescara และChieti) โดย Montepulciano เป็นเมืองหนึ่งจังหวัดซิเอน่า (Siena) อยู่ทางใต้ของทัสคานีนิยมใช้ซานโจเวเซ่มาผสมด้วยประมาณ 10% เพื่อทำไวน์แดงฟรุตตี้ แทนนินส์ นุ่มเนียน สามารถดื่มขณะเป็นไวน์ใหม่ได้ แต่ถ้าบ่มโอ๊ค 2 ปีจะเป็นไวน์ Riservaนอกจากนั้นยังใช้ผสมกับองุ่น Ciliegolo เพื่อทำไวน์ Torgiano ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาองุ่นพันธุ์นี้ถูกนำไปปลูกในออสเตรเลียมากขึ้น
Barbera (บาร์เบร่า) องุ่นที่ปลูกมากเป็นอันดับ2ในอิตาลี ปลูกมากในแคว้นเพียดมอนต์และตอนใต้ของLombardy (ลอมบาร์ดี)
Corvina (คอร์วิน่า) องุ่นประจำแคว้นVeneto(เวเนโต้) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี บางครั้งจึงเรียกว่า Corvina Veronese หรือ Cruina เป็นองุ่นหลักที่ใช้ทำไวน์ชื่อดังของเวเนโต้ 2 อย่างคือ Valpolicella (วัลโปลิเซลล่า) และAmarone (อมาโรเน)ที่ต้องผสมกับองุ่นอีก 2 พันธุ์คือ Rondinella และMolinara นอกจากนั้นยังใช้ทำไวน์หวาน Recioto della Valpolicella และไวน์แดง Bardolino ที่ผสมกับRondinella และ Molinara อาจจะมี Negrara ด้วย
แต่ถ้าเป็นไวน์ Garda Corvina (Denominazione di OrigineControllataDOC)ต้องใช้คอร์วิน่าอย่างน้อย 85%

Nero d’Avola (เนโร ดาโวล่า)หนึ่งในองุ่นแดงสำคัญของอิตาลี และเป็นองุ่นประจำเกาะซิซิลี Avola เป็นเมืองเล็กๆทางตะวันออกเฉียงใต้บนเกาะซิซิลี Nero แปลว่าดำรวมความคือองุ่นดำแห่งเมืองอโวล่า (The Black Grape of Avola) ลักษณะคล้ายชิราซจากโลกใหม่ มีพลัม เปปเปอร์ และแทนนินออกหวานๆ ชื่ออื่นๆ ขององุ่นพันธุ์นี้มักจะมีคำว่า Calabrese ประกอบเช่น Calabrese D’Avola, Calabrese De Calabria, Calabrese Dolce, Calabrese Pittatello, Calabrese Pizzuto, Calabriai Fekete, Raisin De Calabre Noir และ Struguri De Calabria เป็นต้น
Dolcetto (ดอลเชตโต้)องุ่นแดงที่ปลูกมากในเพียดมอนต์ แปลว่า “little sweet one” แต่ใช้ทำไวน์ Dry (ดราย) Fruity(ฟรุตตี้) แบล็คเคอร์เร้นท์ พรุน ชะเอม แทนนินส์และมีกรดค่อนข้างสูงเหมาะจะดื่ม 1-2 ปีหลังจากวางตลาด
Negroamaro or Negro Amaro (เนโกรอมาโร)องุ่นแดงที่ปลูกมากทางใต้ของอิตาลีโดยเฉพาะแถวPuglia (ปุเกลีย) และSalento (ซาเลนโต้) คุณภาพดีที่สุด ทำไวน์แดงสีเข้มรสชาติเรียบๆ ผสานกับกลิ่นหอม กลิ่นดิน และขม เพราะคำว่า Amaro ในภาษาอิตาลีแปลว่าขมโดยเฉพาะสุดยอดไวน์แดงของ Puglia (ปุเกลีย)ใช้ผสมกับ Malvasia Nera
Aglianico (อายานิโก้)องุ่นแดงพันธุ์โบราณจากกรีซ ถูกนำเข้ามาปลูกมาใน Campania (คัมปาเนีย) และ Basilicata(บาซิลิกาต้า) ใช้ผลิตไวน์ชื่อดัง Taurasi (เทาราซี) ในหมู่บ้านเทาราซีในคัมปาเนีย ซึ่งเป็นDenominazionedi Origine Controllata e Garantita (DOCG)ไวน์ที่ผลิตจากองุ่น Aglianico จะ full bodies แทนนินส์หนักแน่น และกรดสูง จึงจำเป็นต้องบ่มในถังไม้โอ๊ค Campania (คัมปาเนีย) นิยมผสมกับCabernet Sauvignon (กาแบร์เนต์ โซวีญยอง) และแมร์โลต์ ทำไวน์เกรด IGT
ซากรานติโน (Sagrantino) องุ่นแดงแห่งแคว้นอุมเบรีย (Umbria) ตอนกลางของอิตาลี ปลูกได้ดีในหมู่บ้านMontefalco มีผู้ผลิต25 รายในพื้นที่250 เอเคอร์เป็นองุ่นที่แทนนินสูงมากพันธุ์หนึ่งของโลก สีแดงเข้มข้นผลไม้ดำพลัม อบเชย และดินใต้พิภพไวน์ Sagrantino di Montefalco DOCG ต้องทำจากองุ่นซากรานติโน 100% และบ่มถังโอ๊ค 29เดือนแต่ถ้าเป็น Montefalco Rosso อาจจะใช้ซากรานติโน 10-15% ที่เหลือเป็นซานโจเวเซ่ และพันธุ์อื่นๆ
นอกจากนั้นยังมี Malvasia Nera, Ciliegolo, Gaglioppo, Lagrein, Lambrusco, Monica, Nerello Mascalese, Pignolo, Primitivo, Refosco, Schiava, Schiopettino, Teroldego และ Uva di Troia
ส่วนองุ่นเขียวสำหรับทำไวน์ขาวที่สำคัญๆ ประกอบด้วย

เทรบไบอาโน่ (Trebbiano) องุ่นเขียวที่ปลูกมากที่สุดในอิตาลี ในพื้นที่กว่า 80 DOC แต่ที่คุณภาพดีอยู่ที่ Abruzzo
มอสกาโต้ (Moscato) ปลูกมากในเพียดมอนต์ ส่วนใหญ่ใช้ทำสปาร์คกลิ้งไวน์เบาๆ (Frizzante) และสปาร์คกลิ้งกึ่งหวานที่โด่งดังคือ Moscato d’Asti
(คนละอย่างกับ Moscato giallo และ Moscato Rosa องุ่น 2 สายพันธุ์จากเยอรมันที่ปลูกใน Trentino Alto-Adige)
Nuragus (นูรากัส)องุ่นโบราณตั้งแต่สมัยฟินิเซียน พบมากทางใต้ของ Sardegna ใช้ทำไวน์ขาวเบาๆ ดื่มง่ายๆ เป็นApertif
ปิโนต์ กรีโจ้ (Pinot Grigio) องุ่นเขียวที่ทั่วโลกรู้จักกันดี ปลูกมากใน Lombardy รอบๆ Oltrepo Pavese,Alto Adige และในFriuli-Venezia Giulia
Tocai Friulano (โตไก ฟริยูลาโน)องุ่นที่กำาเนิดในเวเนโต้ แล้วมาเติบโตใน Friuli จนกลายเป็นองุ่นประจำแคว้นFriuli-Venezia Giulia ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลีทำไวน์แล้วมีกลิ่นกู้สเบอร์รี่ ดอกไม้ กรดปานกลาง แต่แอลกอฮอล์สูงในแคลิฟอร์เนียเรียกว่า Sauvignon Vert ในถิ่นอื่นอาจจะเรียกว่า Sauvignonasse หรือ Friulano นอกจากนั้นยังปลูกมากในชิลีและแรกๆ เข้าใจผิดว่าเป็นSauvignon Blanc (โซวีญยอง บลองซ์)
Ribolla Gialla (ริบอลล่า จิอัลล่า)องุ่นที่มีต้นกำเนิดจากกรีซเข้ามาอิตาลีโดยผ่านทางสโลเวเนีย ก่อนจะมาประจำที่แคว้น Friuli-Venezia Giulia ปลูกได้ดีใน Goriziaปัจจุบันในสโลเวเนียเรียกว่า Rebula ส่วนในกรีซเรียกว่า Robola ทำไวน์สีเหลืองเข้ม บอดี้เบา มีกลิ่นดอกไม้นำเลมอน สับปะรด กรดสูง ถ้าบ่มในถังไม้โอ๊คจะมีกลิ่นถั่ว
Arneis (อาร์ไนส์)องุ่นเขียวเก่าแก่อีกพันธุ์หนึ่งของเพียดมอนต์ ปลูกมากบริเวณ Roero Hill ใกล้ๆเมืองอัลบ้า (Alba) ทำไวน์ขาวดราย Z (Dry) ฟูลบอดี้ (full bodies)กลิ่นพีช และ แอปริคอต
มาลเวเซีย เบียงคา (Malvasia Bianca) หรือมาลเวเซีย (Malvasia) ต้นกำเนิดจากกรีซ ปัจจุบันปลูกทั่วโลก ในอิตาลีปลูกมากบริเวณ Sicily,Lipari และSardinia
Garganega (การ์กาเนก้า)ปลูกมากในเวเนโต้ โดยเฉพาะเมือง Verona (เวโรน่า) ซึ่งเป็น 1 ใน 32 DOCG และVicenza (วิเซนซ่า) ใช้ทำไวน์ขาวชื่อดังคือSoave (โซอาเว)ซึ่งอาจจะผสม Trebbiano (เทรบไบอาโน่) ประมาณ 30 %
มารู้จักภาษาอิตาเลียนที่อาจอยู่บนฉลากไวน์นิดหน่อยมันไม่ได้ยากมาก
“Vino rosso” วีโนรอสโซ่ red wine
“Vino bianco” วีโนบิอานโกwhite wine
“Vino rosato”: วิโนโรซาโต rosé wine
“Vino amabile”วีโนอมาบิเล่ a medium-sweet wine
“Vino dolce”: วิโนโดเช่ sweet wine
“Vino secco”: วีโน เซกกโก dry wine
“Vino abboccato”:วีโนอับโบกัตโตsemi-dry wine
“Vino corposo”: วีโนกอรโปโซa full-bodied wine
“Vino aromatico”วีโนอโรมาติโกaromatic wine
“Vino frizzante” วีโนฟริซซานเตsemi-sparkling wine
คำว่า“azienda” บนฉลากหมายถึงestatesคือค่ายหรือผืนดินที่ปลูกองุ่น“anno” ปีที่ผลิต “produttore” คือผู้ผลิต producer. “Gradazione alcolica“คือปริมาณแอลกอฮอล์ imbottigliato all’origine,” หมายถึงไวน์บรรจุขวดโดยผู้ผลิต“Vendemmia” คือการเก็บเกี่ยว “vitigno” หมายถึงองุ่น “vine.”
ที่สุดของ Enoteca(ไวน์บาร์)ในโรม
สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเที่ยวไวน์บาร์นั้นก็คงเป็นตั้งแต่บ่ายแก่ๆ หรือช่วงเย็นๆ เป็นต้นไป เพราะไวน์บาร์มักจะมีอาหารแบบอาหารว่างรองท้อง อาหารก่อนมื้ออาหารจริง antipasto ที่ประกอบด้วย cheese และ cold cut แต่บางแห่งก็มีอาหารเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านั้นจนแทบไม่ต้องไปทานมื้อเย็นต่อก็ได้ วัฒนธรรมก็คล้ายกับไปเข้าบาร์Tapasในสเปน แต่จะเน้นไวน์มากกว่าอาหาร
บางคนต้องการไปไวน์บาร์เพื่อศึกษาทำความรู้จักไวน์หลายๆ ตัวที่เขาผู้นั้นไม่เคยลอง เพราะจะซื้อทุกแบบทุกขวดก็คงไม่ใช่ เพราะมันเหมือนลองผิดลองถูกแล้วอาจชอบจริงแค่แบบเดียว ไวน์บาร์หลายแห่งในโรมจึงมักมีไวน์ดังจากทุกเขตของอิตาลีเปิดขายเป็นแก้วในแบบ mescita (by-the-glass) ที่สำคัญเราจะได้พูดคุยหรือเรียนรู้เรื่องไวน์จากผู้ชำนาญเฉพาะทางหรือsommelier เพราะไวน์บาร์ดีๆ นั้นเขาไม่ได้จ้างแค่บาร์เทนเดอร์มารินไวน์เสิร์ฟไวน์เฉยๆ แต่มักจะจ้างคนที่มีความรู้แบบเจนจัดมาช่วยเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์การดื่มไวน์ของเราเป็นอย่างดี
ขอแนะนำที่สุดของ Enoteca (ไวน์บาร์)ในโรม
1. Ai Tre Scalini ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 1895 หน้าตาด้านนอกมีส่วนคล้ายร้านกาแฟ caffe della paceที่แนะนำไปตอนที่แล้วตรงสีของร้านและการปล่อยไม้เลื้อยมาเกะกะหน้าร้าน ที่นี่ตอบโจทย์ คนที่ต้องการลองไวน์ท้องถิ่นและไวน์ดีจากเขตต่างๆ ของอิตาลี หรือเรื่องงบประมาณทุกระดับ อาหารก็ดีให้ลองสั่งไส้กรอกเซียน่าดูครับ
Ai Tre Scalini via Panisperna 251, Rome, Italy, +390648907495


2. Cul de Sac ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 1900 มีไวน์ให้เลือกกว่า1500ตัว เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะมีคนเขียนเชียร์เยอะว่าเป็นที่ๆต้องมาลองในโรมหากชอบไวน์อิตาเลียน ก็เลยเริ่มมีนักท่องเที่ยวมากกว่าคนท้องถิ่น
Cul de Sac Piazza Pasquino 73, Rome, Italy, +390668801094

3. Trimani ร้านนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 1821 เอาเป็นว่า100กว่าปีที่ผ่านมา เวลาที่ชาวกรุงโรมอยากดื่มไวน์หรือซื้อไวน์ดีๆกลับมาดื่มที่บ้านชื่อร้านนี้จะลอยมาในหัว เหมือนเวลาเรานึกไม่ออกว่าวันนี้จะทานมื้อกลางวันเป็นอะไรดีแล้วภาพ ‘กระเพราไก่ไข่ดาว’ก็ลอยมา ที่นี่ราคามาตรฐานครับ
Trimani via Goito 20, Rome, Italy, +39064469661


4. Antica Enoteca ร้านนี้เปิดมาตั้งปี 1720 ถือว่าเป็นร้านไวน์ที่เก่าแก่ที่สุดของโรม แต่คุณภาพไม่ได้เก่าตามเพราะเพียบพร้อมด้วยอาหารและกับแกล้ม การได้มาดื่มไวน์ที่เคาร์เตอร์บาร์สุดคลาสิกของที่นี่ก็เหมือนได้ดื่มกับบุคคลดังในอดีตทั้งหลายที่เคยได้ยืนที่เคาร์เตอร์นี้มาเช่นกัน
Antica Enoteca via della Croce 76B, Rome, Italy, +39066790896

5. Enoteca Regional Palatium ถ้าเราต้องการไวน์บาร์ที่เน้นไวน์ท้องถิ่นของโรมซึ่งก็คือไวน์ของเขตLazioนั้นที่นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นสถาบันไวน์และอาหารโรมันได้เลยล่ะที่นี่ที่นักการเมืองและผู้ที่ทำงานofficeไส่สูทเท่ห์ของเซนญ่ามาใช้บริการ ร้านนี้เสิร์ฟ อาหารโรมันที่ดีเยี่ยมและไวน์ท้องถิ่น เหมาะมากสำหรับอาหารกลางวันเร่งด่วนหรือในชั่วโมงค็อกเทลก่อนมื้ออาหารเย็น สถานที่ก็อยู่ไม่ไกลจากจัตุรัสบันไดสเปนเหมาะมากสำหรับคุณผู้ชายที่ใช้เป็กิจกรรมฆ่าเวลารอภรรยาเดินช็อปปิ้งในย่านนั้น
Enoteca Regional Palatium via Frattina 94, Rome, Italy, +390669202132

แล้วเจอกันตอนหน้าเป็นเรื่อง Night out in Rome ครับ