City Break Paris Part XXXV

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 35

‘พระราชวังแวร์ซาย’ (ต่อ)

ชีวิตในแวร์ซาย ตอน 4 (Life in the court)

เมื่อคราวที่แล้วพูดถึงตารางกิจกรรมสันทนาการยามบ่ายของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ซึ่งมักจะมีกิจกรรมในสวนแวร์ซายหรือถ้ามีการล่าสัตว์ก็บริเวณในป่ารอบๆแวร์ซาย จึงมีการพูดถึงการสร้างสวนแห่งนี้ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 Phases หรือ 4 ช่วง แต่พูดถึงช่วงแรกไปช่วงเดียวก็เลยไปพูดถึงเรื่องระบบสุขอนามัยของแวร์ซายเสียยืดยาวจึงต้องมาต่อเรื่องสวนและกิจกรรมของพระเจ้าหลุยส์ ช่วงหลังพระอาทิตย์ตกกันในวันนี้และถือเป็นตอนสุดท้ายของแวร์ซายด้วยครับ

City Break Paris Life in the Court Part 35 -2

กลับมาเรื่องสวนแวร์ซายในช่วงก่อสร้างเพิ่มครั้งที่สองจากปีคศ. 1664 – 1668 จะมีน้ำพุใหม่ถูกสร้างขึ้นเช่นเดียวกับการทำแปลง Bosquets ใหม่ “ด้วยขั้นตอนนี้ทำให้สวนแห่งนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการออกแบบภูมิประเทศแบบสมมาตร มีเอกลักษณะเป็น jardin à la française หรือ French Formal Garden อย่างแท้จริง มีน้ำพุ Grotte de Téthys (น้ำพุแห่งทะเลกรีก Thetis) และบ่อน้ำลาโตเน่ Bassin de Latone และ Bassin Apollon (น้ำพุเทพเจ้ากรีกพระเจ้าอพอลโล จะเห็นน้ำพุที่มีเทพอพอลโลและรถศึกของเขาโผล่ออกมาจากทะเล) ในวันเปิดใช้น้ำพุนั้นผู้ให้สัญญาณคำสั่งนกหวีดก็คือพระเจ้าหลุยส์ที่14 นั่นเอง

City Break Paris Life in the Court Part 35 -3

สวน Versailles ช่วงที่สามหรือPHASE III นั้นอยู่ในช่วงปี 1680 – 1685 ได้เปลี่ยนการออกแบบของ Le Nôtre มาเป็นการออกแบบของสถาปนิกคนใหม่ที่ชื่อ Jules Hardouin-Mansart! ซึ่งเขาได้ ปรับเปลี่ยนการออกแบบของ Le Nôtre โดยการขยายสนามหญ้าระหว่างน้ำพุไปจนถึงขนาดของปัจจุบันที่เราและเขาได้เพิ่มบ่อน้ำขนาดใหญ่แบบเหลี่ยมคู่ (เรียกว่าคลองแกรนด์ (Canal) และคลอง Petite (แนวนอน)) เพื่อเป็นตัวแทนของแม่น้ำใหญ่สองสายของประเทศฝรั่งเศส

City Break Paris Life in the Court Part 35 -4

ภาพบนเป็นระบบทดน้ำจากแม่น้ำเซนไปที่แวร์ซาย ซึ่งทำให้ระบบน้ำพุคูคลองในสวนแวร์ซายมีชีวิตชีวาอยู่ต่อเนื่อง แต่ไม่เห็นมีการพูดถึงระบบระบายน้ำเสีย

สวน Versailles ช่วงที่ 4 (PHASE IV) คือขั้นตอนสุดท้ายเกิดขึ้นช่วงปีค.ศ. 1704 – 1785. อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน วันที่ 1 ปี 1715 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สิ้นพระชนม์จากโรคปากเท้าเปื่อยที่แวร์ซายส์ และในปี ค.ศ. 1722 หลุยส์ที่ 15 กลับมายังแวร์ซายส์ เขาไม่ได้ใช้เงินจำนวนมากในวังเช่นเดียวกับคุณปู่ (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14) สวนจึงมีการเปลี่ยนแปลงแค่เล็กน้อย

โดยสรุป Gardens of Versailles ทั้งหมดมีต้นไม้ อย่างน้อย 200,000 ต้น หากนำมาวางเรียงเป็นทางยาวจะได้ถึง 81 กิโลเมตรของแถวต้นไม้ มีไม้ดอกที่ให้ดอกไม้ในช่วงอากาศอบอุ่นเฉลี่ยประมาณ 210,000 ดอกกระจายทั่ว parterres มีน้ำพุที่มีระบบพ่นน้ำกว่า 50 จุด ซึ่งไหลผ่านท่อน้ำยาวรวมกันวัดได้ 21 ไมล์ มีถนนยาวรวมกัน 12 ไมล์ สวนสาธารณะขนาดใหญ่กว่า 1900 เอเคอร์ (4807ไร่)

เวลา 18.00 น. หรือ 19.00 น พิธีกินเลี้ยงหรือฉลองยามค่ำ

พระเจ้าหลุยส์ที่14 มักนิยมการจัดงานปาร์ตี้ให้มีความบันเทิงกลางแจ้ง เช่น งาน Evening Gatherings ในขณะเดียวกันท่านก็จะไปลงนามในหนังสือสำคัญมากมายที่เตรียมโดยเลขาธิการของที่บ้านในสวนของ Mme de Maintenon มาดามแมงเตนอง พระราชสนมคนโปรด ซึ่งเธอจะได้ทำการศึกษาเอกสารสำคัญเหล่านั้นไว้ก่อน เธอถือเป็นหนึ่งใน 4 เลขาธิการแห่งรัฐ

City Break Paris Life in the Court Part 35 -5

ภาพบนเป็นภาพของ Mme de Maintenon มาดามแมงเตนอง พระราชสนมคนโปรดและเลขาธิการแห่งรัฐ โดยที่ภาพซ้ายนั้นเป็นภาพวาดสีน้ำมันจากตัวจริงแต่ภาพขวาคือดาราที่แสดงเป็นพระนางในซีรี่ส์เรื่อง”Versailles”

City Break Paris Life in the Court Part 35 -6

อย่างไรก็ตามพระเจ้าหลุย์ที่14 ก็ยังมีสนมคนโปรดมากที่สุดอีกรายหนึ่ง ที่อาจไม่ได้ให้อำนาจรัฐแต่พระองค์ทรงมีลูกด้วยกับ Francois-Athenais ในภาพซ้ายที่วาดจากตัวจริงและภาพขวาก็คือดาราที่แสดงเป็น Francois ในซีรี่ส์เรื่อง”Versailles”

แม้ว่าพระเจ้าหลุยส์ที่14 จะแต่งงานกับสมเด็จพระราชินีมาเรีย – เทเรสในปี ค.ศ. 1660 แต่พระองค์ไม่ได้มีนางเพียงคนเดียว ดังนั้นเมื่อพระเจ้าหลุยส์เสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านพักมาดามแมงเตนองทุกๆเย็น มาดามก็เหมือนกลายเป็นภรรยาคนที่สองของท่าน (แม้ว่าการสมรสไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการหรือยอมรับ) ในขณะนั้นท่านอาจศึกษาแฟ้มเอกสารสำคัญกับ 1 ใน 4 เลขาธิการของรัฐ ท่านก็ได้รับความเพลิดเพลินไปกับการได้ใกล้ชิดกับของมาดามไปด้วย

เวลา 22.00 น. พิธีอาหารมื้อเย็นSupper Fit for a King
ฝูงชนรีบเข้าห้องรับแขกของพระเจ้าหลุยส์เพื่อมาร่วมรับประทานอาหารเย็นที่ Royal Table กษัตริย์เสด็จประทับที่เสวยกับสมาชิกในพระราชวงศ์ เมื่ออาหารเสร็จสิ้นแล้วพระมหากษัตริย์เดินข้ามห้องและเข้าร้านเพื่อทักทายผู้หญิงในศาล จากนั้นเขาก็เกษียณในตู้เพื่อสนทนากับครอบครัวและเพื่อนสนิทของเขาได้อย่างอิสระ

City Break Paris Life in the Court Part 35 -7

ในเวลา 4 ทุ่ม ฝูงชนจะเข้ามาจนเต็มห้องรับรองหรือ Antichambre ในบริเวณ Kings Suite เพื่อเป็นสักขีพยานในงานเสวยอาหารค่ำของกษัตริย์ พระราชาและพระราชินีจะเสด็จมาด้วยกัน อาหารค่ำแบบราชสำนักจะประกอบไปด้วยการเสิร์ฟจากอาหารจานเปลถึง 40 จานที่มักเสิร์ฟชุดละ 8 จานซึ่งสามารถนำจานไปใช้ซ้ำได้ 5 ครั้งในระหว่างมื้อ อาหารจะประกอบไปด้วยซุป, สลัด, เนื้อสัตว์, ผัก และของหวาน “อาหารทุกจานถูกลิ้มรสก่อนโดยคนรับใช้สนิท เพื่อตรวจสอบสารพิษ และใช้คนเสิร์ฟเป็นจำนวน 100 คน หากเป็นงานใหญ่ก็ถึง 1,000 คนที่ต้องเดินไปห้องครัวที่อยู่ไกลไปอีกอาคารหนึ่ง เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะถูกแบ่งหน้าที่ออกไปเป็น “เจ้าหน้าที่พระโอษฐ” ทำหน้าที่ตักเสิร์ฟ, เจ้าหน้าที่ลำเลียงจานไปที่โต๊ะ และ “เจ้าหน้าที่กุณโฑ (officer of the goblet) ทำหน้าที่เทเครื่องดื่ม และยังมีเจ้าหน้าที่จัดจานอาหารวางผ้ากันเปื้อนและดูรูปแบบของโต๊ะให้ต้องมีสีของพระราชวงศ์ Bourbon: คือสีทอง สีแดง หรือสีเงิน แก้วก็ต้องทำด้วยคริสตัลเจียรแบบบาคาร่า ส่วนเครื่องใช้ส่วนพระองค์ อย่างเช่น มีด ส้อม และเครื่องเทศปรุงรสจะถูกเก็บไว้ในกล่องพิเศษ แต่ถึงอย่างนั้นพระเจ้าหลุยส์นิยมทานอาหารด้วยมือแม้การใช้ส้อมกับมีดจะเริ่มใช้เป็นธรรมเนียมกันแล้วก็ตาม และเนื่องจากห้องครัวอยู่ห่างไกลจากห้องรับประทานอาหาร นั่นอาจทำให้อาหารเย็นชืดก่อนที่จะถูกเสิร์ฟ ดังนั้นพวกเขาก็เลยคิดค้นที่ครอบอาหารแบบระฆังเงินเพื่อใช้ครอบจาน (Silver Bell Food Covers) เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกก็ที่แวร์ซายนี่แหละ เพื่อให้อาหารอุ่นจนถึงเวลาเสิร์ฟ ธรรมเนียมนี้เลยถูกใช้ต่อมาโดยเฉพาะกับร้านอาหารชั้นดี แล้วพอมีฝาครอบเงิน วัสดุอีกอย่างที่ทำตามกันมาก็คือส้อมหรือ forkนี่แหละครับ ก่อนหน้านั้นคนฝรั่งเศสใช้มีดกับมือเป็นหลัก

City Break Paris Life in the Court Part 35 -8

ภาพบนและล่างเป็นบรรยากาศบนโต๊ะอาหารหากมีการจัด Grand Dinner ขึ้นที่แวร์ซาย

City Break Paris Life in the Court Part 35 -1

 

City Break Paris Life in the Court Part 35 -9

ภาพนี้จะเป็นบรรยากาศของยามพลบค่ำที่บริเวณสวนแวร์ซายที่ใช้จัดงานเฟสติวัลต่างๆ

 

ในโอกาสต่างๆ ที่พระราชวังแห่งนี้จะมีการจัดงานใหญ่ๆ (fêtes) ซึ่งมักใช้เวลาหลายวันหลายคืน มีแขกรับเชิญหลายร้อยคน โดยจะจัดในสวนแวร์ซายพวกแขกเหรื่อจะชื่นชมสวนหย่อมหรือไปที่โรงละครหรือเต้นรำ แน่นอนว่าต้องมีการแข่งกันในเรื่องเครื่องแต่งกาย ในตอนปิดฉากงานปาร์ตี้ก็จะมีการแสดงดอกไม้ไฟที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม

City Break Paris Life in the Court Part 35 -10

ในโอกาสพิเศษถ้าเป็นงานใหญ่พระราชาจะทรงตัดสินใจเองว่าใช้เมนูอาหารอะไร การแสดงจะเป็นแบบไหน หรือธีมของงานปาร์ตี้จะเป็นแบบไหน จะต้องแต่งกายอย่างไร เช่น ท่านจะมอบหมายให้มีการเตรียมรายการอาหารที่เป็น Menus-Plaisirs du Roi มีการตกแต่งจานที่สวยงาม ส่วนทางด้านงานแสดงพระองค์มักมีรูปแบบที่อิงตำนานเทพเจ้ากรีก เรื่องราวของอัศวินจากยุคกลางหรือบทกวีร่วมสมัย และใช้แกรนด์คาแนลเป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณพระราชวังและถูกสร้างขึ้นตามคลองแห่งเวนิสคลอง Grand & Petite เป็นฉากและแกนหลักของงาน fêtes centered มีการจำลองย่อขนาดเรือที่มีจริงในกองทัพเรือฝรั่งเศส เพื่อจำลองสงครามทางน้ำ เพื่อความบันเทิงในคลอง มีแม้แต่เรือกอนโดลาเสมือนอยู่ในท่าเมืองเวนิสจริงๆ ในบทละครแบบโรแมนติก

City Break Paris Life in the Court Part 35 -11

ในช่วงหนึ่งของงาน fêtes du nuit พระเจ้าหลุยส์ก็อาจมีช่วงเวลาที่ท่านสามารถผ่อนคลายไปกับการสนทนากับคนรู้จักสนิท เหล่าสมาชิกของพระราชวงศ์ คณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่สนมคนโปรดได้บ้าง

เวลา 23.30 น. พิธีถวายพระพร ส่งพระเจ้าหลุยส์เข้านอน
พิธีกรรมสาธารณะนี้เรียกว่าคูชเช่ coucher หรือเข้านอนจะตรงข้ามกับพิธี Levée: ( Rising ) หรือตื่นขึ้นมา

City Break Paris Life in the Court Part 35 -12

กษัตริย์ของฝรั่งเศสจะถูกห้อมล้อมอย่างตลอดต่อเนื่องด้วยข้าราชบริพารจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูง ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะได้รับความโปรดปรานจากกษัตริย์ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้เวลาอยู่ในที่พำนักของพระราชวงศ์และยึดมั่นในจรรยาบรรณ การปรากฏตัวในพิธีต่างๆ เหล่านี้ก็มักจะได้รับการตอบแทนด้วยเงินช่วยเหลือ ของขวัญ ที่พักในพระราชวังแวร์ซาย การเชิญไปงานเฉลิมฉลองและพิธีการอื่นๆ เป็นประจำ การได้เป็นคนยืนถือเทียนขณะที่พระองค์เปลื้องผ้าเปลี่ยนชุดเป็นชุดนอนนั้นถือได้ว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง

 

จบเรื่องแวร์ซายแล้วครับ สำหรับเรื่องราวของ City Break Paris ก็จะมาถึงเรื่องราวช่วงสุดท้าย นั่นคือ มื้อเย็น และกิจกรรมยามค่ำในปารีส ซึ่งก็จะเป็นประมาณ 4 ตอนจบเช่นกัน แล้วพบกันที่นี่ครับ

City Break Paris Part XXXIV

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 34

‘พระราชวังแวร์ซาย’ (ต่อ)

ชีวิตในแวร์ซาย ตอน 3 (Life in the court)

เวลา 13.00 น. พิธีอาหารกลางวัน

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -2

โดยหลักการแล้วอาหารมื้อกลางวันนี้จะจัดให้พระองค์เสวยแบบส่วนตัว แต่ความเป็นส่วนตัวของพระองค์มักจะไม่มีอยู่แล้วเพราะผู้ติดตามทั้งหลายก็ใช้เวลานี้กราบทูลเรื่องต่างๆได้อยู่

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -3

หลังจากทรงงาน กษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินไปเสวยพระอาหารกลางวันของพระองค์ตอน 13.00 น. ในพระตำหนักส่วนพระองค์หรือห้องบรรทมพระองค์เองโดยนั่งที่โต๊ะที่หันหน้าไปทางหน้าต่าง โดยหลักการอาหารมื้อนี้จะเป็นแบบส่วนตัว แต่พระเจ้าหลุยส์ที่14 ก็ยอมรับรองแขกผู้ชายซึ่งได้อยู่ในพิธีตื่นจากเตียง (levée)ในตอนเช้า ให้ได้เข้ามาร่วมพระราชเลี้ยงอาหารกลางวันของพระองค์ด้วยก็เลยกลายเป็นพิธีมโหฬารที่มีผู้เข้าร่วมหลากหลายด้วยกัน

บุคคลที่มีเกียรติมากที่สุดจะมีสิทธิ์ที่จะมอบผ้าเช็ดมือให้กษัตริย์ เพื่อให้ท่านทรงเช็ดมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร จะมีสุภาพบุรุษ 6 คนทำหน้าที่เสิร์ฟพระกระยาหาร และพิธีการอันยืดเยื้อไร้ประโยชน์นี้ก็เป็นที่มาของการทำให้พระองค์ได้เสวยอาหารที่เย็นชืดนั่นเอง

ช่วงบ่ายเวลา 14.00 น พิธีสันทนาการ

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -4

โดยปกติพระองค์จะประกาศโปรแกรมสำหรับช่วงบ่ายที่ตั้งใจจะทำในช่วงเช้าของวันนั้น (ในพิธีตื่นจากเตียง) ในทุกๆฤดูกาลพระเจ้าหลุยส์ชอบที่จะอยู่กลางแจ้งในที่โล่ง บ่ายวันรุ่งขึ้นท่านอาจจะไปล่าสัตว์ในป่ารอบๆแวร์ซายหรือเดินเล่นหรือขี่ม้าเล่นในสวนก็แล้วแต่ ในช่วงเวลาดังกล่าวพระองค์จะทรงผ่อนคลายและมีอารมณ์ที่ดี ดังนั้นพวกข้าราชบริพารก็ชอบที่จะมาห้อมล้อมพระองค์เผื่อได้รับความสนใจและได้รับความโปรดปรานจากท่าน สวนของแวร์ซายยังมีสวนสัตว์ (ménagerie) ที่เต็มไปด้วยสัตว์ เช่น ม้าลายและยีราฟ ที่ได้รับมอบมาจากประเทศในแอฟริกาและเอเชีย

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -1

พระราชาทรงมีกิจกรรมล่าสัตว์ถือเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบของราชวงศ์บูร์บอง จะเกิดขึ้นบริเวณป่าทึบรอบแวร์ซาย โดยหัวหน้าหน่วยกองกำลังล่าสัตว์จะจัดให้เกมส์การล่า มีความบันเทิงไม่น่าเบื่อ ในระหว่างการล่าสัตว์กษัตริย์หลุยส์ที่ 14 อนุญาตให้ผู้คุ้มกันท่านพกอาวุธและมีสิทธิ์ยิงได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ท่านบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุการล่าสัตว์ พระเจ้าหลุยส์ทรงโปรดปรานสุนัขล่าสัตว์ของท่านมาก ท่านมีสุนัขล่าสัตว์กว่า 100 ตัว และจำชื่อพวกมันได้ทั้งหมด เพราะล่าสัตว์บ่อยมากบนหลังม้า โดยความช่วยเหลือจากสุนัขของท่าน พระเจ้าหลุยส์จะไล่ล่าเป็นเวลาหลายชั่วโมงในช่วงบ่ายที่แวร์ซาย

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -5

บางครั้งท่านก็ไล่ล่าไปกับสุนัขตัวเดียวเท่านั้นหากตัวอื่นตามไม่ทัน และในการล่าสัตว์ขุนนางหญิงจะติดตามการล่าสัตว์ในรถม้า เมื่อสิ้นวันพระเจ้าหลุยส์ที่14 จะเสนอรางวัลที่ดีที่สุด (เช่น กวาง) กับผู้หญิงที่ท่านโปรด

หากท่านตัดสินใจที่จะเดินเล่นก็จะเดินเท้าในสวนหรือนั่งรถม้ากับสุภาพสตรีคนโปรดในสำนัก ต้องยอมรับว่าบริเวณสวนของแวร์ซายนั้นมีภูมิทัศน์ในรูปแบบของการออกแบบสวนอย่างเป็นทางการของฝรั่งเศส มีเอกลักษณ์ที่เป็นพิธีการและมีความเฉียบขาดเพื่อสะท้อนถึงอำนาจของกษัตริย์

แต่ก็ถึงตอนนี้ก็ต้องกล่าวถึงสวนและปัญหาซึ่งเป็นภาพในด้านลบของแวร์ซายสักเล็กน้อย สวนแวร์ซายถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1630 เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่14 ได้ว่าจ้างสถาปนิกภูมิทัศน์ยอดเยี่ยมแห่งยุค นายอังเดรเลอโนต์เพื่อออกแบบสวนพระราชวังภาคพื้นดิน ซึ่งในท้ายที่สุดมีถึง 4 ขั้นตอนของการก่อสร้างสวนกว่าจะจบลงก็ไปถึงยุคที่หลุยส์ที่16 ครองราชย์ สวนแห่งแวร์ซายส์ระยะที่ 1 ก็คือตอนระยะแรกของการก่อสร้างสวนเริ่มขึ้น

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -6

บริเวณ Orangerie ลานปลูกต้นส้มmandarin ที่มีสายพันธุ์จากเมืองจีน

ลำดับแรกของงานคือการปรับเปลี่ยนและจัดเรียงชุดไม้พุ่มที่มีอยู่ทั้งหมด (กลุ่มของต้นไม้ชนิดเดียวกัน) ในบริเวณ เมื่อเฟสแรกเสร็จสิ้นเมื่อปีคศ.1664 ก็ต้องถือว่าเป็นสวนที่น่าประทับใจที่สุด โดยเฉพาะเมื่อ (สวน) Orangerie เสร็จสมบูรณ์ Orangerie เป็นสวนส้มที่มีมากกว่า 1,000 ต้น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ส้มจากเมืองจีนมีกลิ่นหอม ตอนหลังนำมาปลูกบริเวณรอบๆพระราชวังเพื่อดับกลิ่น เพราะก็เป็นที่รู้กันว่าแวร์ซายไม่มีห้องน้ำและห้องสุขาเวลาจะปลดทุกข์ไม่ว่าหนักหรือเบาก็จะมองหากระโถนที่อาจมีแอบหลบมุมอยู่ตามห้อง แต่กระโถนมักจะเต็ม ทำให้ผู้มาทีหลังก็จะอาศัยตามเหลือบมุมของอาคารในพระราชวังนั่นแหละ ส่วนคนใช้ที่ทำหน้าที่เทกระโถนก็มักง่าย จะใช้วิธีเปิดหน้าต่างและเทลงไปเลย เพราะเต็มตลอดเทกันไม่ทัน ลองคิดดูว่าอยู่กันหลายพันคนแต่ไม่มีห้องสุขาหรือห้องน้ำ ความคิดในการนำสวนส้มมาปลูกนั้นตอนแรกก็จะให้พวกผู้ติดตามแขกเหรื่อทั้งหลายมาปลดทุกข์กันในสวนส้มนอกวัง แต่เวลาอากาศหนาวมากๆหรือกลางวันแสกๆก็มักไม่มีใครลงมาประเจิดประเจ้อจึงใช้เหลือบมุมลึกลับต่างๆของพระราชวังนั่นเอง

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -7

ว่ากันว่ากลิ่นที่แวร์ซายนั้นไม่ต่างกับการที่เราไปเข้าห้องส้วมสาธารณะตามชนบทของเมืองจีนเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วที่ไม่มีระบบสุขอนามัยหรือ hygiene ใดๆ

ที่มันควรต่างกันก็ตรงแวร์ซายนั้นเป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่แต่กลับไม่ให้ความสำคัญด้านนี้ ทั้งที่ระบบระบายน้ำ Sewer หรือระบายของเสียนั้น โรมันทำมานานแล้วก่อนจะมีคริสต์ศาสนาด้วยซ้ำ(ก่อนสมัยแวร์ซายสร้างเสร็จตั้งกว่า1000 ปี) แม้อาจจะไม่ใช่ผู้ริเริ่มแต่โรมันคือผู้พัฒนาให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยโรมันนั้นสร้างห้องสุขารวม Communal Toilets แบบสาธารณะ(มักอยู่ไม่ไกลจากที่อาบน้ำสาธารณะแบบ Roman Bath) มีให้เห็นหลายๆแห่งที่เคยเป็นเมืองขึ้นของโรม เช่น รูปข้างล่างนี้พบที่เมืองโบราณในตุรกีที่ชื่อ Ephesus

42-64089355

แต่โรมันไม่ได้มีการพัฒนาห้องสุขาในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการใช้กระโถน Potty อยู่แล้วนำไปเททิ้งตอนเช้าที่ระบบระบายน้ำเสียของเมือง(ถ้าเป็นเมืองใหญ่แบบโรม) ต่อมายุคกลางก็เริ่มพัฒนาเป็นที่นั่งเท่ๆแต่ก็ซ่อนกระโถนไว้ด้านในอยู่ดี ไม่ได้ต่อกับระบบระบายน้ำที่ต้องมีการเดินท่อมากมายแบบสมัยนี้ ถ้าเป็นในวังที่นั่งก็จะออกแบบดีหน่อย เช่น ข้างล่างนี้เป็นอุปกรณ์ถ่ายทุกข์ที่อยู่ในแวร์ซายในยุคของพระนางมารีอังตัวเนตสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่16

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -9

แม้จะมีการประดิษฐโถส้วมชักโครกที่ต่อท่อระบายน้ำทิ้งในปี 1596 โดยนาย John Harington จากแคว้น Yorkshire ของอังกฤษที่จดสิทธิบัตรเอาไว้ ฝรั่งเศสที่ไม่ถูกกับอังกฤษอยู่แล้วก็ไม่ยอมรับ เพราะมีความเชื่อโบราณว่าถ้ามีการต่อท่อระบายของเสียลงไปในท่อน้ำทิ้ง Sewer นั้น จะมีสัตว์ที่อาศัยอยู่ในท่อน้ำทิ้ง เช่น หนู งู โผล่ออกจากส้วมแบบนี้เข้ามาในบ้านได้ ความเชื่อเรื่องนี้ทำให้การพัฒนาเรื่องสุขานี้ช้ามาก เพราะกว่าจะสมบูรณ์แบบก็มาในปี 1852 โดยนาย George Jennings ซึ่งจดสิทธิบัตรไว้มีต้นแบบที่ใกล้เคียงของปัจจุบันนี้ พวกเราสมัยนี้โชคดีมากที่เกิดมาในยุคที่ระบบสุขอนามัยค่อนข้างสมบูรณ์แบบแล้ว

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -10

จริงๆแล้วผู้ที่เข้ามาอยู่ที่แวร์ซายจะได้รับคู่มือเรื่องสุขอนามัยให้ปฎิบัติตาม แต่ไม่มีใครสนใจเพราะมักง่ายและยึดเอาความสะดวกเข้าว่า

อย่างไรก็ตามแวร์ซายไม่ได้มีปัญหาแค่กลิ่นของเสียจากการขับถ่ายของผู้คนที่นั่นเท่านั้น แม้กลิ่นของเสียก็หนักแล้วยังมาเจอกลิ่นตัวอีกน่ะสิครับ เพราะข้าราชบริพารหรือ Courtiers ที่อยู่ใน Court ไม่อาบน้ำ ในสมัยนั้นมีความเชื่อว่าการอาบน้ำอุ่นทำให้รูขุมขนเปิดกว้างและมีเชื้อโรคเข้ามาในร่างกายได้ง่าย ยิ่งไม่นานก่อนหน้านั้นในยุโรปเจอปัญหาไข้กาฬโรค (Plague) เป็นโรคติดเชื้อถึงตายที่เกิดจากเอ็นเทอโรแบคทีเรีย Yersinia pestis ซึ่งตั้งตามชื่อนักวิทยาแบคทีเรียชาวฝรั่งเศส-สวิส อเล็กซานเดอร์ เยอร์ซิน กาฬโรคเป็นโรคที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะ และหมัดเป็นตัวแพร่สู่มนุษย์ โรคดังกล่าวรู้จักกันตลอดมาในประวัติศาสตร์ยุโรป เนื่องจากขอบเขตการเสียชีวิตและการทำลายล้างที่โรคอื่นเทียบไม่ได้

ดังนั้นภาพสวยหรูของแวร์ซายในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่14 นั้นเป็นแบบ” สวยแต่รูปจูบไม่หอม” จริงๆ ดูรูปข้างล่างนี้ประกอบ

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -11

หรือรูปข้างล่างนี้โชว์ให้เห็นความแตกต่างของรูปตอนแอ๊ปกับรูปชีวิตจริง

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -12

ภาพด้านบนและล่างคือเหตุการณ์เดียวกันคือสิ่งที่ควรจะเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในแวร์ซายของบรรดาขุนนางทั้งหลาย ก็เหมือนตอนวางท่าให้ถ่ายรูป(สมันนั้นไม่มีกล้องต้องจ้างศิลปินวาดเอา) แต่สำหรับความเป็นจริงแล้วผู้เคยเข้าไปในแวร์ซายแล้วเล่าต่อๆกันมาบอกว่าในแวร์ซายนั้นเหม็นมากๆ(บรรยากาศจะเป็นแบบรูปล่างต่างหาก)ในช่วงยุคของหลุยส์ที่14 มาดีขึ้นก็ยุคของหลุยส์ที่15 ไปแล้ว ที่มีการลงทุนระบบน้ำเพื่อช่วยระบายของเสีย

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -13

กลายเป็นว่ายิ่งไม่อาบน้ำก็เกิดการนำน้ำหอมมาใช้กันดับกลิ่นเหม็น แล้วยังมีการนำแป้งและเครื่องสำอางมาใช้จะเห็นว่าจะมีการแต่งหน้าขาววอก ทาปากกับแก้มมีแดงสด แม้แต่ผู้ชายก็แต่งหน้า เพื่อกลบเกลื่อนโรคผิวหนังกลากเกลื้อนที่เกิดจากความสกปรกไม่อาบน้ำนั่นเอง

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -14

พระเจ้าหลุยส์ที่14 เองท่านก็ไม่ใช่ผู้นิยมน้ำชำระล้างเช่นกัน มีเกร็ดประวัติศาสตร์ว่าตลอดรัชกาลพระวรกายของพระองค์ก็มีโอกาสสัมผัสน้ำไม่เกิน 3 หน แต่ท่านก็ทรงเป็นผู้นำแฟชั่นโดยเฉพาะรองเท้าส้นสูงเพราะท่านมีพระวรกายที่ไม่สูง อีกทั้งพระเกศาร่วงหมดเมื่อพระชันษาแค่ 25 จึงมีแฟชั่นวิกผมเข้ามาอีกด้วย โดยวิกผมก็เป็นทรงสูงเพื่อเสริมบุคลิกที่พยายามใช้รองเท้าส้นสูงช่วยแล้วต่อหนึ่ง

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -15

ภาพบนเป็นรูปพ่อค้าขายน้ำหอมและเครื่องสำอางค์ในแวร์ซาย

โดยสรุปแวร์ซายส์นั้นไม่มีสุขอนามัยเอาซะเลยจนกระทั่งถึงยุคของมารีอังตัวเนตที่เป็นราชนีชาวออสเตรียจึงมีอ่างอาบน้ำในส่วนของ Queen Apartment เนื่องจากพระนางเป็นชาวออสเตรียซึ่งอาจชอบอาบน้ำมากกว่าไม่ใช้แนวคิดของฝรั่งเศส แต่ก็พบว่าพระนางทรงเครื่องสำอางและน้ำหอมแบบชาวฝรั่งเศสเช่นกัน

ดูจากภาพข้างล่างจะเป็นภาชนะใส่เครื่องสำอางและน้ำหอมของพระนาง

Versailles' dirty secrets - Toute L'Histoire [720p].mp4_001621240

ที่ใส่เครื่องประทินโฉม หรือเครื่องสำอาง ในสมัยของมาเรียอังตัวเนต ส่วนภาพล่างเป็นที่ไส่น้ำหอม

City Break Paris Lifein The Court Part 34 -16

แต่จุดที่ไม่ดีในเรื่องสุขอนามัยนี้ก็ถือเป็นการจุดประกายเริ่มต้นทำให้อุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางของฝรั่งเศสกลายเป็นอุตสาหกรรมหลักในทุกวันนี้ของประเทศ และถือได้ว่าเป็นของดีที่สุดในโลก ไม่น่าเชื่อว่าเคยมีบริษัทสบู่แห่งหนึ่งทำวิจัยออกมามีข้อสรุปว่าคนฝรั่งเศสคือผู้ใช้สบู่ต่อคนต่อก้อนเฉลี่ยนานที่สุดคือสบู่หมดช้าที่สุด จึงเป็นที่เชื่อว่าสิ่งที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาและการใช้น้ำหอมดับกลิ่นอาจทำให้ชาวฝรั่งเศสน่าจะมีการอาบน้ำน้อยครั้งกว่าชาติอื่น(วิจัยนี้ทำมานานแล้วปัจจุบันอาจมีผลที่เปลี่ยนไป)

 

ตอนหน้าจะเป็นตอนสุดท้ายของแวร์ซายครับ โปรดติดตามได้ที่นี่ต่อไป

City Break Paris Part XXXIII

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 33

‘พระราชวังแวร์ซาย’ (ต่อ)

ชีวิตในแวร์ซาย ตอน 2 (Life in the court)

City Break Paris Life in Versailles Part II -15

รูปข้างบนนี้มองออกจากพระราชวังไปจะเห็นอาคารโค้งรูปตัว U 2 อาคารซึ่งสร้างไว้เพื่อเป็นคอกม้าสำหรับม้า 2,500 ตัว ที่เก็บรถโค้ชเทียมม้าอีก 200 คัน และยังมีคอกหมาล่าสัตว์อีกเป็นพันตัว

ความหมายของคำว่า Life in the (royal)court ก็จะหมายถึงชีวิตของผู้เกี่ยวข้องกับพระราชวังแห่งนี้ทั้งหมดเพราะหลังจากวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ.1682 ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ประกาศให้พระราชวังแวร์ซายส์เป็นที่ตั้งของรัฐบาลฝรั่งเศส “ในทางปฏิบัติระบบราชการทั้งมวลก็ต้องย้ายออกจากกรุงปารีสไปยังแวร์ซายชานเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระราชวังหรูหราแห่งนี้ Courtiers หรือผู้ติดตามทั้งหลายรวมๆ กันแล้วถึง 20,000 คนซึ่งประกอบด้วยทหาร 9,000 นาย, คนรับใช้ สนมกำนัล 5,000 คน ลอร์ดและสมาชิกขุนนางผู้ดีน้อยใหญ่ประมาณ 1,000 คน ที่อยู่ประจำและที่ไปๆ มาๆ อีกกว่า 1,000 ราย และสุดท้ายเป็นข้าราชการอีก 4-5,000 คนที่ต้องมาอยู่ใกล้ชิดที่นี่เพื่อจัดการงานราชการให้ลุล่วง การมาอยู่ในพระราชวังนั้นก็เพื่ออยู่ในสายตาของพระองค์และเรียกใช้งานได้ มีระเบียบว่าพวกเขาต้องสวมเสื้อผ้าใหม่ (มี dress code) สำหรับงานเลี้ยงของกษัตริย์ (fêtes) และโอกาสทางสังคมที่สำคัญอื่นๆ พวกเขาอาจขออนุญาตให้กลับไปเยี่ยมบ้านได้เป็นระยะ ๆ นอกเหนือจากคนแต่ละระดับแล้ว ยังมีม้าอีก 2,500 ตัว รถโค้ชเทียมม้าอีก 200 คัน และหมาล่าสัตว์อีก 5,000 ตัวที่อยู่รอบๆ พระราชวัง

และแน่นอนว่าชีวิตของผู้คนทั้งหมดรวมทั้งสัตว์เหล่านั้นจะมีกิจกรรมและหน้าที่ขึ้นอยู่กับตารางภารกิจประจำวันของพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งเมื่อครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงราชพิธีแรกของพระเจ้าหลุยส์ ที่14 ไปแล้ว นั่นคือพิธีการตื่นจากเตียง หรือ พิธี Levée: ( Rising ) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 8:00 น.ของทุกวันจนจบพิธีประมาณเกือบ10:00 น. คือเมื่อเสวยอาหารเช้าเสร็จ (อ่านรายละเอียดของพิธีได้ในบทความตอนที่แล้ว) วันนี้จะเริ่มพิธีต่อไปเลยดังนี้

10:00 น. พิธีการทางศาสนา
จะมีการตั้งขบวนขึ้นในห้องโถงกระจก Hall of Mirrors ที่ตรงทางออกของ King’s Apartments และพระมหากษัตริย์ก็จะจะนำขบวนข้าราชบริพารของพระองค์ผ่าน Hall of Mirrors และผ่าน State Apartments ไปยังโบสถ์หลวงเพื่อสวดมนต์ตอนเช้า ระหว่างทางเดินผู้ที่ได้มารวมตัวกัน 2 ข้างทางก็จะได้พบกษัตริย์ บางคนอาจกราบทูลสั้นๆ กับพระองค์หรือส่งใบคำร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษร

City Break Paris Life in Versailles Part II -13

ภาพบนจำลองเหตุการณ์ของกษัตริย์เสด็จผ่านห้องโถงกระจก

City Break Paris Life in Versailles Part II -3

มาถึงตรงนี้คงต้องขอพูดถึง Hall of Mirrors ห้องโถงกระจกที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่แวร์ซายนี้ออกแบบโดย Jules Hardouin-Mansart และการตกแต่งภายในเป็นหน้าที่ของ Charles Le Brun ในปี 1678 มีความยาว 73 เมตร มากกว่าครึ่งของสนามฟุตบอล และความสูง 12 ½ เมตร หรือเท่ากับสูงประมาณตึกสามชั้น มีหน้าต่างขนาดใหญ่และสูงแบบ French Window ที่มองไปยังสวนแวร์ซาย 17 บานแต่ละบานจะอยู่ตรงข้ามกับกระจกบานขนาดใหญ่ 17 บาน ที่สะท้อนแสงอาทิตย์อันอ่อนโยนดุจเรืองแสงจากพระเจ้าเข้ามาทุกๆ เช้า ห้องโถงกระจกประกอบด้วย: กระจก 357 บาน, ประตูกระจก 17 บาน โคมไฟระย้าขนาดใหญ่ 17 จุด โคมไฟระย้าขนาดเล็ก 26 จุด ผนังหินอ่อน เพดานฉาบปูนมีภาพที่เปรียบเสมือนสวรรค์มีขึ้นเพื่อเตือนผู้ที่ได้เห็นให้ตระหนักถึงสิทธิอันชอบธรรมของพระมหากษัตริย์และช่วงเวลาแห่งชีวิตอันรุ่งโรจน์ของสุริยะกษัตริย์หรือหลุยส์ที่ 14 ต้องบอกว่าช่างกระจกสุดยอดของโลกในตอนนั้นต้องเป็นช่างกระจกจากเมืองเวนิส ซึ่งถูกจ้างมาด้วยเงินที่มากโขอยู่ เพราะปกติช่างเวนิสจะไม่ยอมเปิดเผยความลับด้านวิชาการทำกระจกให้ใครเพราะมีโทษร้ายแรงมาก แต่เพราะความโลภนี่เองหลังจากทำงานที่แวร์ซายเสร็จก็ถูกทางการเวนิสส่งคนมาเก็บช่างคนนั้นเสียไม่ได้ใช้เงินอยู่ดี (มีเขียนอยู่ในเกร็ดประวัติศาสตร์)

City Break Paris Life in Versailles Part II -16

รูปของอามาเดอุส โวฟกัง โมสาร์ตเมื่อครั้งมาเล่นคอนเสิร์ตที่แวร์ซายตอนอายุเพียง 7 ขวบ รับพระราชทานจาก Marquise de Pompadour มาดามปอมปาดูพระสนมเอก ในรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15

ห้องโถงกระจกที่แวร์ซายเป็นที่ที่กษัตริย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ใช้รับรองบุคคลสำคัญ เช่น เอกอัครราชทูตและแต่ละสัปดาห์ อาจมีงานบอลสวมหน้ากากและคอนเสิร์ต เพลงแบบ Baroque Music ที่อาจเป็นวงเล็กแบบ trio หรือ Quartets ที่มีนักดนตรีชื่อดังเช่น Mozart จาก Salzburg ที่เคยถูกเชิญมาเล่นคอนเสิร์ตที่นี่ตอนอายุเพียงแค่ 7 ขวบ (แต่ตอนมาที่แวร์ซายคือปี 1763 ตรงกับยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15) งานที่จัดขึ้นที่นี่จะจำกัดจำนวนแขก ต้องเป็นข้าราชบริพารระดับสูงเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมได้

City Break Paris Life in Versailles Part II -9

นักเปียโนชื่อดังของยุคปัจจุบันที่ชื่อแลงแลง Lang Lang ได้มีโอกาสไปเปิดคอนเสิร์ตตามคำเชิญของรัฐบาลฝรั่งเศสโดยเขาได้บรรเลงเพลงของโมสาร์ตและโชแปง ซึ่งเป็นเพลงที่เคยถูกเล่นในแวร์ซายแห่งนี้

ห้องกระจกนี้ถือเป็นห้องประวัติศาสตร์ที่มีการลงนามทำสนธิสัญญาสำคัญมากมาย เช่นเมื่อครั้งจักรวรรดิเยอรมันได้ประกาศรวมเป็นประเทศในปี 1871 และสนธิสัญญาแวร์ซายซึ่งลงนามสงบศึกสงครามโลกครั้งที่หนึ่งลงก็ในห้องนี้

City Break Paris Life in Versailles Part II -8

โบสถ์หลวง Royal Chapel มองจากด้านนอกอาคาร

จากนั้นพระองค์ก็จะเดินไปยังที่สุดทางเดินซึ่งจะเป็นโบสถ์หลวง Royal Chapel ซึ่งพระองค์จะเข้าร่วมพิธีมิสซาตอนช่วง 10:30 น. กษัตริย์และพระราชวงศ์เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ใช้พื้นที่ชั้นสองของโบสถ์ ผู้ติดตามส่วนที่เหลือจะต้องใช้พื้นที่ชั้นล่าง

City Break Paris Life in Versailles Part II -17

โบสถ์หลวง Royal Chapel ภายในอาคารชั้นล่าง สำหรับข้าราชบริพาร

พีธีสวดรับศีล(mass) ซึ่งกินเวลานานครึ่งชั่วโมง จะมีคณะนักร้องประสานเสียงร้องเพลงแบบ Chapel Music ที่แต่งขึ้นโดยนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสอย่าง Lully & Lalande ซึ่งถือว่ามีชื่อเสียงของยุโรปมักจะร้องเพลงใหม่ๆ ถวายอยู่เสมอ

City Break Paris Life in Versailles Part II -5

การแสดงคอนเสิร์ต เพลงแบบ  Baroque Music ใน Royal Chapel ที่แวร์ซาย
City Break Paris Life in Versailles Part II -6

โบสถ์หลวง Royal Chapel ภายในอาคารชั้น 2 สำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์

มาตรงนี้ต้องขอพูดถึงโบสถ์ของแวร์ซายสักหน่อย โบสถ์หลวงแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับนักบุญเซนต์หลุยส์บรรพบุรุษและนักบุญอุปถัมภ์ของพระราชวงศ์ฝรั่งเศส สร้างเสร็จในปีพ. ศ. 1710 ถือเป็นอาคารสุดท้ายที่สร้างขึ้นในแวร์ซายภายใต้การปกครองของหลุยส์ที่ 14 และที่โบสถ์แห่งนี้นี่เองที่ใช้ทำพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระนางมารีอังตัวเนตและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งถือเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ใช้แวร์ซายเป็นที่ประทับอีกด้วย

City Break Paris Life in Versailles Part II -12

ภาพเหตุการณ์วันอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวเนต จัดที่โบสถ์หลวง Royal Chapel ส่วนภาพล่างเป็นภาพจากภาพยนตร์ที่จำลองเหตุการณ์วันสำคัญดังกล่าว

City Break Paris Life in Versailles Part II -4

 

11:00 น. พิธีการทรงงานหรือรับรองแขก
พระองค์จะกลับไปที่อพาร์ตเมนต์ของกษัตริย์ เพื่อทรงงานโดยมีตารางประชุมสภาต่างๆ จัดในห้องประชุมของพระองค์โดยทุกวันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์ (ทุกๆ สองสัปดาห์ครั้ง) จะมีประชุมสภาแห่งรัฐ ส่วนสภาสูงจัดขึ้นในวันอังคาร และวันเสาร์เป็นการประชุมสภาการเงิน ในขณะที่วันศุกร์จะเป็นประชุมสภามโนธรรม (ศาสนา) แล้วในช่วงเว้นก็จะมีสภาจัดการ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการของชาติ) ได้พบกันทุกๆ สองสัปดาห์ในวันจันทร์ที่สลับกันกับการประชุมสภาแห่งรัฐ

City Break Paris Life in Versailles Part II -1

ภาพด้านบนจะมีรูปของ Jean-Baptiste Colbert หัวหน้าคณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำเรื่องอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปต่างๆ โปรดสังเกตว่ามีแผนที่โลกและลูกโลกซึ่งสมัยนั้นฝรั่งเศสมีอาณานิคมอยู่ในทวีปอเมริกาทั้งในเขตประเทศแคนนาดาปัจจุบัน และแถวมลรัฐหลุยส์เซียนนา ที่ได้มาในปี 1682-1782 ซึ่งที่มาของชื่อรัฐนี้ก็คือชื่อพระองค์นั่นเอง ชื่อในภาษาฝรั่งศส คื อ Louisiane จริงๆ แล้วมันไม่แค่บริเวณรัฐหลุยส์เซียนนา แต่แผ่นดินนี้รวมที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ทั้งหมดไปจนถึงแผ่นดินแคนนาดา น่าเสียดายที่นโปเลียนเอาแผ่นดินผืนนี้ไปขายให้อเมริกาเพื่อใช้หนี้ประเทศในปี 1803

City Break Paris Life in Versailles Part II -11

ในช่วงเวลาของวันช่วงนี้กษัตริย์ยังสามารถตัดสินใจหรือตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ร่วมกับรัฐมนตรี 5-6 คนที่ทำงานร่วมกับพระองค์ ส่วนใหญ่เมื่อได้รับคำแนะนำก็มักจะพูดน้อยคอยแต่รับฟังอย่างใกล้ชิดและการตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะมาจากพระองค์ โดยเมื่อตัดสินใจแล้ว Jean-Baptiste Colbert หัวหน้าคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ประกาศเป็นคำสั่งซึ่งจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ไม่มีการต่อรองใดๆได้อีก

City Break Paris Life in Versailles Part II -18

หรือหากมีอาคันตุกะต่างแดนหรือมีนักการทูตนัดเข้าเฝ้าก็ใช้เวลาช่วงนี้ได้ ตามภาพด้านล่าง

City Break Paris Life in Versailles Part II -7

 

โปรดติดตามเรื่องราวของแวร์ซายได้ใหม่ในครั้งหน้า ซึ่งคราวหน้าเราจะมาพูดถึงแวร์ซายในแง่ลบกันบ้าง

City Break Paris Part XXXII

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 32

‘พระราชวังแวร์ซาย’ (ต่อ)

ชีวิตในแวร์ซาย (Life in the court)
ในตอนนี้เราจะคุยถึงเรื่องราวและข้อเท็จจริงของการใชัชีวิตในพระราชวัง Versailles ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น แต่อย่าลืมว่าในสมัยนั้นพระเจ้าหลุยส์ได้เชิญบรรดาขุนนาง, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่, รัฐมนตรีของหลายกระทรวงตลอดจนข้าราชบริพารที่มีระดับมาอยู่ที่แวร์ซายทั้งหมด โดยจัดที่พักและอาหารให้ตามเหมาะสม พระเจ้าหลุยส์ทรงตกแต่งประดับประดาพระราชวังแบบหรูหราไม่มีขุนนางคนไหนทำได้เทียบเท่า และจัดให้มีงานอีเว้นท์ต่างๆ เพื่อไม่ให้การมาอยู่ที่แวร์ซายนั้นน่าเบื่อ คือสำหรับบรรดาขุนนางและข้าราชการแล้วการมาอยู่ที่นี่นั้นนอกจากจะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินแบบใกล้ชิดเพื่อความรุ่งเรืองทางการงานแล้วก็ยังได้ใช้ชีวิตแบบหรูหราพบปะแวดวงสังคมชั้นสูงอีกด้วย

City Break Paris Life in Versailles 3

แต่ชีวิตจริงๆนั้นเป็นอย่างไร มันเป็นชีวิตในฝัน(Dream Lifestyle) หรือเป็นชีวิตที่เจอในฝันร้าย(Nightmare) มีเรื่องราวจากหนังสารคดีที่ชื่อ Versailles’dirty secrets และ website thisisversaillesmadame.blogspot.com (credit pics and story) ที่มีเรื่องราวน่าสนใจมาแชร์เรื่องการใช้ชีวิตที่นั่น

ก่อนอื่นเราต้องมาสรุปวัตถุประสงค์ ตรรกะที่มาของการสร้างพระราชวังแวร์ซาย อีกครั้งก่อนที่จะมาทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตประจำวันในแวร์ซายว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น

1. เรื่องความผูกพันกับอดีตในวัยเยาว์ เพราะที่นี่มีประวัติความเป็นมาจากการเป็นเสมือนบ้านในชนบทของพระบิดาคือกษัตริย์หลุยส์13 มีสภาพแวดล้อมที่น่ารื่นรมย์และเพลิดเพลิน และท่านเองได้ติดตามพระบิดามาล่าสัตว์ที่นี่ มีข้าราชบริพารติดตามมากมาย ทำให้เกิดบรรยากาศที่รู้สึกหลงใหลในอำนาจของการเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ตอนนั้น

2. เรื่องแรงบันดาลใจที่ต้องทำให้แวร์ซายยิ่งใหญ่เหนือใคร เมื่อพระชนมายุได้ยี่สิบสามปีในขณะที่เกิดความคิดสนใจในการบูรณะแวร์ซาย ก็มาเกิดแรงบันดาลใจให้มีความตั้งใจแน่วแน่ก็ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1661 เมื่อนิโคลัส ฟูเกต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของฝรั่งเศส(เรื่องราวอยู่ในตอนที่แล้ว)ได้สร้างคฤหาสน์ชื่อดังแห่งยุคชื่อว่า “Vaux-le-Vicomte” และได้เชิญพระเจ้าหลุยส์ไปร่วมงานฉลองคฤหาสน์ใหม่ได้เสมือนทำให้พระเจ้าหลุยส์เกิดการอิจฉาเลยทีเดียว เพราะคฤหาสน์ของ Fouquet มีการตกแต่งสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมในแบบ Grand Design ยิ่งใหญ่โอ่อ่าในแบบฝรั่งเศสเป็นshowcaseของเจ้าของอย่างแท้จริง ทำให้ท่านคิดว่าVersaillesควรต้องเป็นshowcaseของฝรั่งเศสและต้องยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรป แขกบ้านแขกเมืองมาต้องทึ่งในความยิ่งใหญ่แบบเดียวกับใครที่ได้มาเห็น”Vaux-le-Vicomte”

City Break Paris Life in Versailles 6

ภาพที่สร้างขึ้นจำลองเหตุการณ์วันที่ 17 สิงหาคม ปี 1661 วันที่นิโคลัส ฟูเกต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของฝรั่งเศสได้เชิญพระเจ้าหลุย์ไปร่วมงานฉลองคฤหาสน์ใหม่ “Vaux-le-Vicomte”

City Break Paris Life in Versailles 2

คฤหาสน์ที่ยิ่งใหญ่ต้นแบบของแวร์ซายมองจากมุมสูง

แน่นอนว่าสำหรับ Fouquet นั้นก็กลายเป็นแค่คนโง่คนหนึ่งที่พยายามอวดตัวก้าวล้ำหน้ากษัตริย์ด้วยความโอ่อ่าหรูหราจึงถูกกล่าวหาใส่ความว่าโกงเงินพระคลังหลวงที่ตนเองเป็นผู้คุมอยู่ และสามสัปดาห์หลังจากงานเลี้ยงต้อนรับของคฤหาสน์ตัวเอง กษัตริย์หลุยส์ก็สั่งจับกุม Fouquet และถือเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ประมุขแห่งรัฐแทรกแซงการตัดสินใจของศาลโดยเพิ่มการลงโทษจากการจำคุกธรรมดาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตในป้อม Pinerolo แต่การจับกุม Fouquet ถือเป็นตัวอย่างราชาธิปไตยในยุคของกษัตริย์หลุยส์ที่แสดงให้ผู้ต่อต้านท่านรับรู้ว่ากษัตริย์คือผู้มีอำนาจสูงที่สุดในแผ่นดิน

3. เรื่องความปลอดภัย และเรื่องการเมือง การลดทอนอำนาจขุนนาง วัตถุประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการบูรณะแวร์ซายส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่14 คือการลดทอนอำนาจขุนนางและชนชั้นสูงให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์ เนื่องจากพระเจ้าหลุยส์ยังคงบอบช้ำจากเหตุการณ์กบฏ Fronde ที่มีสาเหตุมาจากฝ่ายต่อต้านกษัตริย์ มีเหตุการณ์ขุนนางรับเงินจากนายทุนให้ขัดคำสั่งกษัตริย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แม้แต่ข้าศึกอย่างพวกชาวดัตช์ก็แทรกแซงผ่านขุนนางเหล่านี้ ทำให้ขุนนางเริ่มมีอำนาจมาก ทำให้เกิดความไม่มั่นคง เนื่องจากท่านขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มากและพระมารดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจึงมีฝ่ายที่พยายามจะโค่นล้มท่านอยู่ตลอดเวลา

City Break Paris Life in Versailles 7

สัญลักษณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่14 ที่เป็นรูปดวงอาทิตย์ตามฉายา The Sun King หรือ สุริยะราชา

ดังนั้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1682 พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ได้ประกาศย้ายที่ทำการรัฐและพระราชวังมาที่ “Chateau of Versailles” ซึ่งการย้ายถิ่นฐานไปแวร์ซายหมายถึงการไปสร้างกรงทองให้ข้าราชบริพารที่นั่น ท่านจะได้อยู่ใกล้ชิดและมองเห็นพฤติกรรมขุนนางที่ทำตัวเป็นปรปักษ์กับท่าน และเพื่อให้ขุนนางมาทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามรับใช้ มากกว่าเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนหรือเก็บภาษีที่ดินแบบเดิม ขุนนางถูกบังคับด้วยอำนาจของกษัตริย์ที่จะให้เข้าเฝ้ายืนดูพระเจ้าหลุยส์แต่งตัวหรือทรงเสวยหรือทรงกิจกรรมอื่นๆและขุนนางแต่ละคนจะต้องคอยเสนอหน้าและทำตัวให้เป็นทีไว้วางใจเพื่อจะได้บำเหน็จและรางวัลจากกษัตริย์ ทำให้พระเจ้าหลุยส์ทรงมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับขุนนางที่พระองค์ไม่โปรดก็จะถูกสั่งลดรายได้เพราะทุกอย่างที่แวร์ซายมีให้ครบแล้ว จึงเกิดระบบที่ต้องพึ่งพากษัตริย์แห่งพระอาทิตย์พระองค์นี้และราวกับว่าบริวารหรือทุกอย่างหมุนรอบตัวพระองค์อย่างแท้จริง ที่มาของฉายา the Sun-King หรือ สุริยะราชา ด้วยเหตุนี้จึงมีสมาชิกของชนชั้นสูงจำนวนกว่า 5,000 คนที่อาศัยอยู่ในแวร์ซายและรอบๆ มาปรากฏตัวทุกวันที่แวร์ซายเพื่อเข้าเฝ้าติดตามตั้งแต่พระองค์ตื่นขึ้นมาและดำเนินไปตามราชพิธีต่างๆของแต่ละวัน

ชีวิตในแต่ละวันที่แวร์ซาย
แน่นอนว่าชีวิตในแต่ละวันที่แวร์ซายนั้นจะขึ้นอยู่กับตารางเวลาของพระเจ้าหลุยส์เป็นสำคัญ ได้มีบันทึก(Memoirs) ของดยุคแห่งแซงซิมง (Duc de Saint-Simon) ข้าราชการในสมัยของพระองค์ได้เขียนถึงตารางเวลาประจำวันของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไว้แบบนี้

City Break Paris Life in Versailles 8

โดยหลักการตารางเวลาที่เคร่งครัดนั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ในราชการของพระองค์สามารถวางแผนงานของตัวเองได้ แม้ว่าอยู่ไกลออกไปแค่ไหนก็จะรู้ว่าเวลานี้นาทีนี้พระองค์ทรงทำอะไรอยู่ จะต้องวางแผนเข้าเฝ้าตอนไหนอย่างไร

 

ตอนเช้า

City Break Paris Life in Versailles 5

รูปปั้นตามแนวคิดของศิลปิน (Artist impression)ที่จำลองพิธี The King’s Levée

8.30 น. จะมีพิธีที่เรียกว่าพิธีการตื่นนอนของกษัตริย์หรือ “the rising of the king ceremony” หรือ The King’s Levée เป็นพิธีที่จัดขึ้นทุกครั้งที่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีตื่นขึ้นมา เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่14 ปกครองฝรั่งเศสท่านมีพิธีสองแบบคือ grand levéeและ petit levée

grand levee จะเป็นหนึ่งในพิธีที่เคร่งครัดที่เปิดโอกาสให้ข้าราชบริพารทั้งหมดใน Court ที่เรียกว่า Courtier มาเข้าเฝ้าทักทายและชื่นชมบารมีของพระราชาตั้งแต่ที่พระองค์ตื่นขึ้นมา เปรียบเสมือนการมาชื่นชมแสงอาทิตย์ยามเช้าที่โผล่มาจากขอบฟ้า

City Break Paris Life in Versailles 9

ภาพของ Nurse Maid ต้นห้องบรรทมของพระเจ้าหลุยส์ที่14ซึ่งเคยทำหน้าที่เลี้ยงดูท่านตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์

พิธีเริ่มขึ้นตอน8.30 น.จะมีการปลุกพระองค์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของต้นห้องหรือ Chambre Valet ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่ง Nurse Maid ของพระองค์ซึ่งเคยทำหน้าที่เลี้ยงดูท่านตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์เหมือนเป็น “แม่นม”ของท่านจะทำหน้าที่ปลุกท่านเอง จากนั้นจะมีการตรวจสุขภาพโดยหมอและศัลยแพทย์ ซึ่งรวมถึงการตรวจสิ่งที่พระองค์ขับถ่ายออกมาตรงนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของพิธีการประจำวันขึ้น จากนั้นจะมีขบวนผู้เข้าเฝ้าชุดแรกที่เรียกว่า Grand Entrée เริ่มขึ้นโดย Grand Chamberlain ซึ่งก็คือตำแหน่งอาวุโสของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งและเป็นที่ไว้วางใจสูงสุดของกษัตริย์ให้จัดการระเบียบพิธีต่างๆภายในพระราชวังเปรียบเสมือน’พ่อบ้าน’นั่นเอง ซึ่งเป็นผู้นำขบวนราชบริพาร Courtier ตามยศและชั้นที่มีสิทธิเข้ามา(ซึ่งตามเกร็ดประวัติศาสตร์บอกว่าสิทธินี้สามารถซื้อขายได้) ณ ตอนนี้ พระราชายังคงประทับอยู่บนเตียงสวมเสื้อชุดนอนและวิกผม หลังจากที่มีการให้ท่านล้างหน้าล้างมือด้วยน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์แล้วต้นห้อง Chambre Valet ของห้องนอนและคนรับใช้อาวุโสจะดึงเสื้อของพระราชา คนละแขนออกแล้ว ท่านแกรนด์แชมเบอร์เลนก็เป็นผู้หยิบเสื้อตัวใหม่สำหรับวันนี้ให้พระองค์ และข้าราชบริพารชุดแรกก็จะกล่าวอวยพรท่านพร้อมกันก่อนถูกเชิญให้ไปรออยู่ในห้องถัดไป

City Break Paris Life in Versailles

ภาพวาดจำลองเหตุการณ์ในพิธี The King’s Levée จะสังเกตได้ว่ามีเตียงที่บรรทมอยู่ฉากหลัง

จากนั้นก็ถึงเวลาสำหรับ Première Entrée สำหรับข้าราชบริพารที่มีฐานะและสิทธิน้อยกว่าซึ่งสามารถเข้ามาในช่วงเวลาที่กษัตริย์จะแต่งตัวซึ่งพระเจ้า หลุยส์ที่14 มักชอบที่จะจัดการเอง ดังนั้นหลังการได้รับมอบชุดแต่งกายแล้วกระจกถูกจัดขึ้นสำหรับการโกนหนวดหวีผมที่โต๊ะ จากนั้นข้าราชบริพารที่เหลือก็สามารถเข้ามาได้ ก็จะถึงช่วงที่พระองค์ทรงถุงน่องและรองเท้า

City Break Paris Life in Versailles 10

ภาพจำลองเหตุการณ์ช่วงที่มีแพทย์และศัลยแพทย์ตรวจเช็คสุขภาพของพระเจ้าหลุยส์

ซึ่งตอนนั้นห้องจะแออัดมากจากนั้นพระองค์ก็จะสวดภาวนาที่ข้างเตียงในขณะที่เจ้าหน้าที่ต้นห้องเก็บเสื้อผ้าจัดที่นอนแล้วพระองค์ก็จะออกไปที่ห้องติดกันที่ข้าราชบริพารรออยู่แล้ว เพื่อเสวยน้ำซุปและอาหารเช้า ร่วมโต๊ะกับสมาชิกที่สำคัญที่สุดและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้รับใช้ของพระราชวงศ์ที่ได้รับอนุญาตให้เฝ้า ก่อนเดินไปห้องถัดไปที่ข้าราชบริพารที่ไม่ได้ร่วมเสวยรออยู่เพื่อที่ท่านจะประกาศว่าท่านอยากจะทำอะไรในวันนั้น

สำหรับพิธี petit levee เป็นพิธีขนาดย่อ คือแค่ให้ข้าราชบริพารที่มีสิทธิเท่านั้นที่สามารถชมการปลุกพระราชาและการแต่งตัวของพระองค์ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่กษัตริย์จริงๆแล้วอาจทรงตื่นขึ้นมาก่อนหลายชั่วโมงเพื่อออกไปล่าสัตว์ แล้วทรงกลับมาที่เตียงเพื่อรับพิธีเลฟเว่ แบบย่อนี้ ซึ่งผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหมดมักเป็นเพศชายประมาณ 100 คน

City Break Paris Life in Versailles 4

จะสังเกตว่าห้องบรรทมของพระเจ้าหลุยส์จะไม่เป็นส่วนตัว และมีรั้วเตี้ยๆกั้นไว้ระหว่างส่วนที่เป็นเตียงและส่วนที่เป็นแกลเลอรี่ สำหรับเป็นบริเวณที่ข้าราชบริพารจะต้องมาเป็นสักขีพยานให้พระราชาเมื่อทรงลุกจากเตียงทุกเช้า

 

สำหรับพิธีการต่างๆ ในช่วงที่เหลือของวันจะเป็นอย่างไรโปรดติดตามได้ในการ update คราวหน้าครับ