อ้วนเกินไปเพราะภาวะขาดไทรอยด์ ( หรือเปล่า )

ถ้าวันหนึ่งอยู่ดีๆก็น้ำหนักขึ้นเอาๆ ไดเอ็ตยังไงก็ลดไม่ลง หากเกิดสิ่งนี้ขึ้นละก็เรื่องแรกที่ควรนึกถึงเลยก็คือ “กำลังพบกับภาวะขาดไทรอยด์อยู่หรือเปล่า” Hypothyroidism หรือภาวะขาดไทรอยด์นี้เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่ในต่างประเทศกำลังให้ความสำคัญ เพราะมีผู้หญิงจำนวนมากที่พบกับสิ่งนี้โดยไม่รู้ตัวทำให้ลดน้ำหนักไม่ลงไปเรื่อยๆพร้อมสุขภาพย่ำแย่จากโรคต่างๆที่ตามมา

รู้จักกับต่อมไทรอยด์:

Health-Hypothyroidism-1

ต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมเล็กๆรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้ออยู่ที่บริเวณคอของเรา ทำหน้าที่ควบคุมเมตาบลิซึ่มหรือระบบเผาผลาญอาหารที่เราบริโภคเข้าไป ซึ่งถ้ามันมีปัญหา ก็หมายถึงระบบเผาผลาญอาหารของเราก็จะมีปัญหาไปด้วยและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ต่อมไทรอยด์จะใช้ไอโอดีนจากเลือดของเราไปผลิตฮอร์โมนไทรอยด์2 ชนิดชื่อไทรไอโอโดทีโรนีน (Triiodothyronine) หรือT3และไทร็อกซีน(Thyroxine) หรือ T4เพื่อให้ร่างกายเผาผลาญอาหาร ซึ่งในสมองของเราก็จะมีต่อมไฮโปทาลามัส(hypothalamus)ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน TSH ที่จะส่งสัญญาณไปยังต่อมพิทูอิทารี(pituitary)ว่าจะให้ต่อมไทรอยด์ผลิต T3 และ T4 มากหรือน้อยแค่ไหน ถ้าในเลือดมีระดับ T3และ T4ต่ำ พิทูอิทารี่ก็จะผลิต THS มากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์แต่ถ้าT3 และ T4 ในเลือดสูงเกินไป พิทูอิทารี่ก็จะลดการปล่อยสาร TSH สู่ไทรอยด์เพื่อลดระดับการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ให้กับร่างกายนั่นเอง

ภาวะขาดไทรอยด์เกิดจากอะไร:
ภาวะขาดไทรอยด์หรือ Hypothyroidism เป็นภาวะที่พบบ่อยประมาณ 2-5% ของประชากร และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-8 เท่า สาเหตุแรกก็คือความผิดปกติของพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิดส่วนสาเหตุอื่นๆเช่นความผิดปกติของต่อมพิทูอิทารี่ ที่ผลิตสาร TSH กำหนดปริมาณการผลิตไทรอยด์ผิดปกติหรือสาเหตุจากการตั้งครรภ์ ที่หลังการคลอดแล้วผู้หญิงจะมีภาวะไทรอยด์ต่ำต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนน้อยลง ซึ่งถ้าเป็นแล้วไม่ได้รักษาก็จะเกิดโรคอื่นๆตามมาเช่นโรคอ้วน,โรคปวดข้อ,โรคหัวใจจากระดับไขมันเลวหรือ LDL ที่สูงขึ้นเรื่อยๆนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว,โรคของภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disease)ที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผลิตแอนตี้บอดี้ขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายเช่นโรคไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต ( Hashimoto’s Thyroiditis)

จะสังเกตอย่างไรว่าขาดไทรอยด์:

Health-Hypothyroidism-4

เส้นผมและผิวหนังเปลี่ยนไป – เส้นผมที่เคยเงางามกลับแห้งหยาบ,หลุดร่วงง่ายผิวหนังก็จะหยาบแห้งดูหนาเป็นสะเก็ด
ปัญหาของลำไส้ – ท้องผูกเรื้อรัง,ท้องร่วง,โรคลำไส้แปรปรวน IBS (irritable bowel syndrome)
ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ – กล้ามเนื้อแขนอ่อนแอลง, มีการกดทับของเส้นประสาท(carpal tunnel)ที่แขนหรือมือ
คอเลสเตอรอลสูงขึ้น – เนื่องจากร่างกายไม่ตอบรับการออกกำลังกายและโปรแกรมควบคุมอาหารที่ทำอยู่ รวมทั้งไม่ตอบรับการยาลดคอเลสเตอรอลที่บริโภคอยู่ด้วย
ประจำเดือนผิดปกติ – ประจำเดือนมามากและบ่อยกว่าเดิม เจ็บปวดช่วงมีประจำเดือน หรือระยะประจำเดือนสั้นและน้อยกว่าปกติ สีจางหรือเข้มกว่าปกติ ฯลฯ
หดหู่หงุดหงิดง่ายและกังวล – ซึ่งควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคไทรอยด์เช่นกัน
น้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วและคุมไม่ได้ – สิ่งนี้ก็เป็นสัญญาณสำคัญของโรคขาดไทรอยด์
ความรู้สึกไม่สบายบริเวณคอหรือคอบวมใหญ่ขึ้น – จะรู้สึกเวลาสวมเสื้อคอสูงหรือผูกเนคไท
ประวัติครอบครัว – ถ้ามีหรือเคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น
เหนื่อยมากผิดปกติ – เช่นเหนื่อยหมดแรงเมื่อตื่นนอนหรือเหนื่อยจนทำงานไม่ไหว

อาหารควรเลี่ยงของภาวะขาดไทรอยด์

Health-Hypothyroidism-2

ปัญหาหลักของโรคนี้คือ ระบบการย่อยอาหารชลอตัวลงทำให้อ้วนขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะควบคุมน้ำหนักไม่ได้การเลิกสูบบุหรี่,หลีกเลี่ยงโปตัสเซียมฯลฯเป็นการดูแลวิธีธรรมชาติที่ช่วยให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ดีขึ้นควรเลี่ยงอาหารที่อุดมด้วยสารกอยโทรเจน ( goitrogens) ซึ่งเป็นสารรบกวนการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ของร่างกายซึ่งจะไปยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้อย่างเหมาะสมซึ่งอาหารที่ควรเลี่ยงได้แก่
1. ผัก: เลี่ยงผักตระกูลกะหล่ำเช่นบร็อคโคลี, บ็อกชอย,สเปราท์, กะหล่ำปลี, ดอกกะหล่ำ, แรดิช , คะน้า,วอเตอร์เครส ฯลฯผักเหล่านี้มีสารกอยโทรเจน(goitrogen) สูง จึงนอกจากยับยั้งการสร้างฮอร์โมนแล้วยังทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ การบริโภคผักตระกูลนี้มากเกินไป จะทำให้ท้องอืดและขาดสารไอโอดีนจนเป็นโรคคอพอกได้ แต่สารนี้จะสลายตัวไปเมื่อได้รับความร้อน ทั้งควรเลี่ยงผักที่มีสารไทโอไซยาเนท (thiocyanate)ซึ่งมีผลเสียต่อโรคของต่อมไทรอยด์ เช่น หน่อไม้, ข้าวโพด, เมล็ดแฟล็กซ์, ถั่วลิมา (lima bean), มันเทศ ฯลฯ
2. อาหารกลูเตน: เช่นแป้งสาลี, จมูกข้าวสาลีหรือวีทเจิร์ม ( wheatgerm) , ข้าวไรน์, ข้าวบาร์เลย์ ฯลฯแต่บริโภคแป้งหรือธัญพืชที่ปลอดกลูเตนได้เช่นข้าวกล้อง, ไรซ์เค้ก(rice cakes), ไรซ์นูดเดิ้ล, ข้าวตัง, บัควีท, ควินัว , ข้าวโอ๊ต, ซีเรียล ฯลฯ หรือพาสต้าและขนมเบเกอรี่ที่ปลอดกลูเตน
3. ผลไม้: เลี่ยงลูกพีช, แพร์ และสตรอเบอร์รี่
4. ถั่วต่างๆ: เลี่ยงถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง, ถั่วลิสง,เมล็ดสน ฯลฯ
5. น้ำมัน: เลี่ยงน้ำมันคาโนลา, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์, น้ำมันปลา, น้ำมันเมล็ดคำฝอย ( Safflower oil), น้ำมันข้าวโพด,น้ำมันพืชและน้ำมันจากเมล็ดพืชต่างๆ
6. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
7. อาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูปทุกชนิด
8. อื่นๆ: อาทิ หัวหอมสด,ผักชี, คาโมมายล์ฯลฯ

ที่ให้เลี่ยงก็เพราะอาหารเหล่านี้มีสารกอยโทรเจนสูง โดยเฉพาะถ้าบริโภคแบบสดๆกอยโทรเจนจะไปยับยั้งการดูดซึมไอโอดีนเข้าสู่ร่างกาย ขัดขวางการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ แล้วก็ระวังโปรตีนจากถั่วเหลืองด้วย เพราะโปรตีนนี้จะมีสารไอโซฟลาโวนที่จะไปกระตุ้นแอนตี้บอดี้ของไทรอยด์ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นและไอโซฟลาโวนยังขัดขวางการดูดซึมไอโอดีน ทำให้เกิดโรคคอพอกง่ายขึ้นด้วยนี่คือข้อมูลวิจัยที่ตีพิมพ์ใน the Journal of Clinical Endocrinology and Metabolism และที่ควรเลี่ยงอาหารกลูเตน ก็เพราะการวิจัยพบว่า 90% ของปัญหาขาดไทรอยด์คือเรื่องของการมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (autoimmune) ซึ่งโมเลกุลของไทรอยด์และไกลอาดิน (gliadin) สารโปรตีนชนิดหนึ่งในกลูเตนจะมีโครงสร้างคล้ายกัน ทำให้เมื่อเราบริโภคกลูเตนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราก็จะยิ่งเพิ่มการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนของไทรอยด์อาหารที่ควรระวังอีกอย่างก็คือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนหรือ Polyunsaturated fats ( PUFAs)เช่นในน้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์, คาโนลา,น้ำมันปลาฯลฯอาหารนี้จะแฝงด้วยเอนไซม์โปรทีโอไลติก(proteolytic enzyme)ที่ขัดขวางระบบการย่อย ทั้งควรหยุดดื่มแอลกอฮอล์เช่นเบียร์, ไวน์หรือลิเคียวร์ ซึ่งมีสารไฟโตเอสโตรเจน ที่จะไปกระตุ้นการเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนทั้งยังไปลดการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเพิ่มการผลิตฮอร์โมนโปรแลกติน ซึ่งจะมีผลกับภาวะผิดปกติของไทรอยด์ทั้งควรเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปและอาหารอุดมด้วยน้ำตาลที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายและเปลี่ยน T4 ให้เป็น T3

การปรุง, การแช่, การหมัก, หรือการต้มอาหารที่อุดมด้วยกอยโทรเจนจะช่วยสลายหรือลดคุณสมบัติด้านลบของอาหารเหล่านี้ลงไปได้ มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ ระบุว่าการปรุงแบบช้าๆหรือ slow-cookedจะช่วยลดผลด้านลบที่ผักเหล่านี้มีลงไปได้แต่ยกเว้นสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลือง ที่จะไม่ถูกทำลายลงไปเมื่อผ่านความร้อนเหมือนสารอื่นๆจึงควรเลี่ยงอาหารจากถั่วเหลืองไว้จะดีกว่า

บริโภคอะไรในภาวะขาดไทรอยด์: มาดูว่าสามารถบริโภคอะไรได้บ้าง

Health-Hypothyroidism-3

1. ผลไม้: ผลไม้แทบทุกชนิดดีสำหรับภาวะขาดไทรอยด์เช่นบลูเบอร์รี่, ราสพ์เบอร์รี่, เชอรี่และมะม่วง อุดมด้วยสารต้านอนมูลอิสระผลไม้ตระกูลซีตรัสและกีวี ก็อุดมด้วยวิตามินซี ทั้งหมดนี้ช่วยป้องกันต่อมไทรอยด์ แต่ให้เลี่ยงสตรอเบอร์รี่, ลูกแพร์และพีช ซึ่งเป็นกลุ่มผลไม้มีสารกอยโทรเจน
2. แซลมอน: อุดมด้วยโปรตีน, สารต้านอนุมูลอิสระแซลมอนที่เลี้ยงในน้ำเย็นธรรมชาติ เป็นอาหารที่ดีสำหรับภาวะขาดไทรอยด์เพราะปลานี้มีโปรตีนสูงและมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่ช่วยลดการบวมของโรคคอพอก และยังอุดมด้วยเซเลเนียมและวิตามินบี 12ซึ่งเป็นสารอาหารช่วยการทำงานของต่อมไทรอยด์
3. บราซิลนัท (Brazil nut): ถั่วชนิดนี้อุดมด้วยแร่ธาตุเซเลเนียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุสร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนไทรอยด์ช่วยต้านการติดเชื้อและยับยั้งการพัฒนาของโรคคอพอกบราซิลนัทยังช่วยให้มีอารมณ์ดีซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่มีภาวะนี้ที่มักจะมีความเครียดแค่บริโภคบราซิลนัทไม่กี่เมล็ดต่อวัน ก็จะได้โดสของเซเลเนียมที่ร่างกายต้องการแล้วแต่ไม่ควรบริโภคเซเลเนียมประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพราะการได้รับเซเลเนียมมากเกินไปอาจเกิดพิษนำไปสู่ปัญหาเช่นผมร่วงและหัวใจวายได้
4. สาหร่ายทะเล: สลัดสาหร่ายทะเลอุดมด้วยไอโอดีนซึ่งจำเป็นต่อต่อมไทรอยด์แต่ก็อย่าบริโภคมากเกินไป เพราะถ้าไอโอดีนมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายได้เหมือนกัน
5. กรีกโยเกิร์ต: อุดมด้วยไอโอดีนและข้อดีก็คือคุณไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับไอโอดีนมากเกินไปเพราะในกรีกโยเกิร์ตหนึ่งถ้วยขนาดมาตรฐานจะมีไอโอดีนอยู่เพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณแนะนำให้บริโภคต่อวันหรือRDIลองผสมมันกับผลไม้เช่นบลูเบอร์รี่หรือมะม่วงเป็นอาหารเช้าก็อร่อยและให้คุณค่าโภชนาการที่ดี

เครื่องดื่มเหมาะสมของภาวะขาดไทรอยด์
แครนเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่อุดมด้วยไอโอดีน ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญช่วยควบคุมสมดุลการทำงานของต่อมไทรอยด์วิตามินซีจากมะนาวและส้ม มีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยฟื้นฟูสุขภาพของต่อมไทรอยด์ขิง อุดมด้วยแมกนีเซียม ช่วยการทำงานของไทรอยด์ซินนามอนหรืออบเชยอุดมด้วยสารต้านการติดเชื้อ

ส่วนผสม: น้ำแร่หรือน้ำกรอง 7 ถ้วย, น้ำแครนเบอร์รี่ 100% 1 ถ้วย, น้ำมะนาวสด ¼ ช้อนโต๊ะ, น้ำส้มคั้นสด ¾ ช้อนโต๊ะ, ขิงป่น ¼ ช้อนโต๊ะ, ผงอบเชย ½ ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ: นำน้ำแร่ไปต้มให้เดือด ใส่น้ำแครนเบอร์รี่และเครื่องเทศทั้งหมดลงไป คนให้เข้ากันประมาณ 20 นาทีจึงยกลงจากเตาพักไว้ให้เย็นเมื่อเย็นแล้วเติมน้ำมะนาวและน้ำส้มคั้นสดคนให้เข้ากันอีกครั้งใช้ดื่มหรือจิบได้ตลอดวันอร่อยและแนะนำให้ดื่มสัปดาห์ละครั้ง

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคอาหารและไลฟสไตล์ บริโภคโปรตีนและผักให้มากขึ้นเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, บริโภคโยเกิร์ต,งดคาเฟอีนและบุหรี่, ใช้ชีวิตผ่อนคลายจากความเครียด, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญมากคืออย่าอดนอนและควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไป สำหรับทางการแพทย์จะรักษาโดยแพทย์อาจให้ยาบำบัดภาวะพร่องฮอร์โมนซึ่งเรียกว่ายาเลโวไทรอซีน เพื่อช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้นที่เล่าเรื่องของ Hypothyroidism ให้ทราบกันนี้ไม่ได้จะให้คุณเกิดความวิตกหรือหวาดกลัวมากเกินไปนะคะ แต่การหาความรู้และดูแลตัวเองอย่างรอบด้าน หมั่นสังเกตและไม่ละเลยต่อความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม เท่านี้คุณก็จะมีสุขภาพและรูปร่างที่ดีไปพร้อมๆกันค่ะ