City Break: New York City, part IV

ตอนที่ผ่านมา

City Break: New York City, Part I

City Break: New York City, Part II

City Break: New York City, Part II


เบรค-กิน (แนะนำของกินต่อจากคราวที่แล้ว)

มื้อเช้าแบบคลาสสิก (Full Breakfast @ Classic Diners in NYC)

 

“…ถ้าชอบสไตล์คลาสสิก ก็เหมือนกับที่เราไปปารีสต้องไปทานอาหารที่ Bistro ในเขต 11 หรือในลอนดอนเราต้องลองอะไรที่เป็น English Traditional Pub เช่น Mayflower ร้านชื่อดังริมแม่น้ำเทมส์ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1620 เรามา NYC ก็ไม่มีข้อยกเว้น ควรต้องไปลอง Classic American Diners ที่มักเปิด 24/7 หรือ A.M to P.M เป็นที่พึ่งของพวกที่มีอาการ แฮงค์โอเวอร์เดินมึนเข้ามาสั่งมิลค์เชคตั้งแต่เช้ามืด…”

 

new-york-city-iv-01

Cr:empire-diner

 

ไดเนอร์ส (Diners) ก็คือร้านอาหารในแบบอเมริกันขนานแท้ ที่เป็นรากเหง้าหรือต้นแบบของร้านอาหารจานด่วน fast food ซึ่งก็คือต้นแบบของระบบแฟร์นไชส์ อีกทั้งเป็นต้นแบบของระบบ Drive Thru ซึ่งเมื่อก่อนมันคือ Drive in คือจอดสั่งในรถ และกินในรถ แต่จอดอยู่ในบริเวณร้านเป็นสถานที่แฮงค์เอ้าท์ของหนุ่มสาวยุค 50’s จะมีรถ muscle car และรถ convertible มาจอดกัน สะท้อนถึงวัฒนธรรมความสะดวกเรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพแบบอเมริกัน

 

new-york-city-iv-06

 

ว่ากันว่าธุรกิจไดเนอร์เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นของปี 1900 ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกาแถบรัฐนิวยอร์ก คอนเน็กติกัต และรัฐในเขตนิวอิงแลนด์ ซึ่งผู้คนแถบนี้มีฐานะมักจะมีรถขับ ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับธุรกิจรถยนต์นั่นเอง การไปไดเนอร์แบบไม่มีรถก็คงต้องเป็นเมืองแบบนิวยอร์กซิตี้ในแมนแฮตตันเท่านั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เหลือไดเนอร์อยู่ไม่ถึง 10 แห่งแล้ว ถึงอยากเชียร์ให้ไปทานก่อนมันจะสูญพันธุ์ไปอีกไม่นานนี้

 

new-york-city-iv-02

 

ร้านแบบไดเนอร์มักจะมีเอกลักษณ์พิเศษคือต้องมี Neon sign ป้ายชื่อร้านทำด้วยไฟนีออนกระพริบสีสด และร้านมักจะเป็นลักษณะแบบยาวแคบ มีเคาร์เตอร์จุคนได้ไม่เยอะ จึงเกิดบริการที่สามารถสั่งมากินในรถที่จอดหน้าร้าน การออกแบบร้านก็เลียนแบบตู้เสบียงของรถไฟซึ่งมักจะเรียกว่า Diner car เช่น dining cars ของ Pullman ซึ่งมักตกแต่งด้วยอลูมิเนียมหรือ stainless steel ในศิลปแบบ Art-Deco จริงๆ แล้วมันมีที่มาเพราะ Diners เป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการลงทุนเยอะ แค่ต้องการเช่าที่ว่างแล้วใช้อาคารสำเร็จรูปหรือ Pre fabrication แบบมาประกอบ หรือยกมาตั้งแบบตู้คอนเทนเนอร์ได้ทันทีไม่มีการใช้เวลาสร้างนานๆ ซึ่งปรากฎว่าบริษัทที่สร้างตู้ไดเนอร์ก็มักจะเป็นบริษัทที่สร้างหรือตกแต่งตู้เสบียงรถไฟนั่นเอง เพราะวัตถุประสงค์คือต้องขนย้ายง่ายเหมือนตู้คอนเทนเนอร์ในปัจจุบันนี้ ที่ไส่หัวลากพ่วงไปที่ไหนก็ได้ในอเมริกา และมักจะตั้งอยู่ไก้ลจุดขึ้นลงทางด่วน (freeway exit) หรือลานจอดรถกว้างๆ ไก้ลมอลล์

 

new-york-city-iv-07

 

แม้ว่าในระยะหลังจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะ คือมาในหลายรูปแบบไม่ได้เป็นร้านริมถนนที่เป็นสแตนอโลนแล้ว มีการย้ายเข้ามาในตึกมากขึ้น แต่ก็มักมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ ถ้าไม่เปิดขายตลอด 24/7 ก็ต้องเปิดแต่เช้ามืด และปิดดึก เช่น ห้าทุ่มเที่ยงคืนเป็นอย่างต่ำ ยังไงก็ต้องเปิดขายอาหารเช้า แบบอเมริกันคือมีแฮมเบคอน (กรอบ) และไข่สดหรือแพนเค้ก และอาจเป็นลักษณะ all day breakfast ก็ได้ คือมีอาหารเช้าขายทั้งวัน ไม่ใช่หยุดขายหลังจาก 10 โมงแบบภัตตาคาร นอกจากนั้นในเมนูมักจะขายอาหารอเมริกันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นฮอทดอก เบอร์เกอร์ มิลค์เชค แพนเค้ก โซดาป็อป สลัดหรือแซนวิซต่างๆ และแม้ว่าจะในเมนูจะมีเหมือนอาหารอิตาเลียนอยู่แต่ก็จะเป็นอาหารอิตาเลียนแบบอเมริกัน ใครที่ชอบบรรยากาศแบบอเมริกันย้อนยุคหรือนึกถึงสมัยหนังทีวีขาวดำแบบเรื่อง “Leave it to beaver (หนูน้อยบีเวอร์) ละก้อ ต้องเข้าไดเนอร์เท่านั้น แล้วเราจะไปทานอาหารเช้าที่ไดเนอร์ชื่อดังของนิวยอร์กที่ไหนดี ผมอยากให้ไปลองที่ไดเนอร์เหล่านี้ครับ

 

Empire Diner

new-york-city-iv-08

Empire Diner (cr:empire-diner.com)

 

Empire Diner อยู่ในย่าน Chelsea ที่นี่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่ปี 1946 ถึงกับต้องปิดไปครั้งหนึ่งและกลับมาเปิดใหม่ในปี 1976 แต่ก่อสร้างโดยใช้แบบไดเนอร์ของช่วงปี 1940 มาเป็นโครงก็คือศิลปแบบโครเมียมรถไฟ Art Deco และยังตกแต่งภายในได้ย้อนยุคสมจริง มีลูกค้าเยอะพอสมควร แต่ก็ไม่วายต้องปิดตัวอีกครั้งแล้วมาเปิดใหม่ในปี 2014 คราวนี้ปรับเรื่องอาหารให้ทันสมัยขึ้นมาโดย Chef Amanda Freitag จาก Food Network มีเมนูอาหารทะเลเพิ่มมา ไม่หิวไม่เป็นไรแค่แวะไปชิมมิลค์เชคก็พอแล้ว ที่อยู่คือ 210 10th Ave. เว็บไซต์ empire-diner.com

 

Tom’s Restaurant

new-york-city-iv-03

ด้านนอกของ Tom’s Restaurant

 

ร้านนี้ดังมากในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แม้ว่าการตกแต่งจะเป็นแบบอยู่ในอาคารไม่ใช่แบบสแตนอโลน เหมือนไดเนอร์ต้นตำหรับ แต่ที่นี่เปิดมาตั้งแต่ปี 1940 โดยครอบครัวอพยพชาวกรีซที่ชื่อ Thanasi (Thomas) ก็เลยเรียกสั้นๆ ว่า Tom ร้านนี้มีปรากฏอยู่ในหนังหลายเรื่องแม้แต่ในบทเพลงของ Suzanne Vega ยังกล่าวถึง “Tom’s Diner” ที่อยู่ 2880 Broadway เว็บไซต์ tomsrestaurant.net

 

Pearl Diner

new-york-city-iv-04

 

Pearl Diner’s อยู่ที่ย่าน financial district เป็นที่นิยมชมชอบของทุกเพศทุกวัยที่ทำงานอยู่ย่านวอลล์สตรีทอยู่บนถนน Pearl street หาไม่ยากหากท่านมาเดินถ่ายรูปกับสะพานบรุกลินหรือ charging bull กระทิงบุกแถวๆ นี้ละก็มาลองทานครับร้านนี้เคยปิดไปครั้งหนึ่งเมื่อนิวยอร์กโดนพายุเฮอร์ริเคน ที่นี่เป็น Greek-diner สไตล์ของแท้ คือชาวกรีซนั้นเป็น ชาติที่นิยมทำธุรกิจไดเนอร์มากที่สุดในบรรดาผู้อพยพที่เข้ามาในอเมริกาในสมัยนั้น ที่นี่จึงถือเป็น classic diners ที่แท้จริงสั่งเลยครับ “fluffy pancake and two eggs over easy please”  ที่อยู่ 212 Pearl St New York NY, 10038 (212) 344-6620 เว็บไซต์ pearldinernyc.com

 

new-york-city-iv-05

 

สำหรับคนที่อยากลองแล้วไปอยู่เมืองที่มันไม่มี original diner หลงเหลืออยู่ก็ให้ทำแบบผมเลยครับเข้าร้าน Denny’s หรือ “Waffle house”ก็ได้บรรยากาศ Nostalgia เก่าๆ ในอดีตแบบที่เราต้องการเพราะมันมีคอนเซ็ปต์แบบเดียวกับไดเนอร์ ทุกอย่าง

คราวหน้าเราจะไปทานมื้อกลางวันในนิวยอร์กด้วยกัน