เมื่อวันก่อน ดิฉันเข้าไปในเฟสบุค ก็ได้เห็นว่ามีการพูดถึงสรรพคุณของ “ขมิ้นชัน” ว่าช่วยป้องกันโรคและอาการต่างๆได้มากมาย และก็ได้เห็นว่ามีคนที่สนใจทั้งสั่งซื้อและแชร์ข้อความ ทำให้ต้องมาเล่าเรื่องราวของสมุนไพรชนิดนี้ ว่ามันไม่ได้มีแต่ผลดีเพียงด้านเดียว แต่สามารถก่อปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน หากเราบริโภคโดยไม่รู้จักมันอย่างแท้จริง
คุณรู้จัก “ขมิ้นชัน” ดีแค่ไหน
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเจ้าสมุนไพรสีสวยนี้กันก่อนค่ะ “ขมิ้นชัน” หรือที่ขมิ้นแกงที่เราใช้ใส่ในอาหารชนิดต่างๆนี้ ส่วนที่เรานำมาใช้ก็คือรากของมันที่อยู่ลึกลงไปในดิน เมื่อเรามองย้อนหลังไปในประเทศอินเดียก็พบว่า มีการใช้ขมิ้นชันมาเกือบจะเป็นเวลาสี่พันปีมาแล้ว ทั้งใช้ปรุงอาหาร ใช้เป็นยารักษาโรคบาง รวมถึงใช้ในพิธีกรรมต่างๆ แม้จะยังไม่มีรายงานทางการแพทย์รับรองถึงประโยชน์ของมัน แต่ขมิ้นชัน ก็เป็นสมุนไพรที่ได้รับการศึกษาค้นคว้าจากวงการผู้ผลิตยาและเครื่องสำอาง ตลอดจนวงการธรรมชาติบำบัดอย่างกว้างขวางถึงคุณประโยชน์ในด้านสุขภาพ
“ขมิ้นชัน จะถูกพูดถึงสรรพคุณในการเป็นสมุนไพรธรรมชาติบำบัดที่เชื่อว่ามันมีผลข้างเคียงน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ยาทั่วไป แต่ข้อมูลสรรพคุณมากมายนี้เอง ที่ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนและขาดความระวังในการใช้ สิ่งที่ให้ผลกำไรสุขภาพของเราในขมิ้นชัน ก็คือสารประกอบของมันที่มีชื่อว่า “เคอร์คูมิน” (curcumin) ซึ่งมีการศึกษาวิจัยของหลายสถาบันพบว่า เคอร์คูมิน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านการติดเชื้อ ( anti-inflammation), สารต้านอนุมูลอิสระ ( anti-oxidant) , สารต้านการก่อมะเร็ง (anti-carcinogenic) และสารต้านการจับตัวเป็นก้อนของโลหิต (anti-thrombotic) สรรพคุณเหล่านี้ถูกผู้ผลิตนำมาบอกเล่า ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ที่นำขมิ้นชันมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ความงาม และก็ยังนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพรในแนวธรรมชาติบำบัด ทั้งแบบผงและแคปซูล เพื่อบริโภคเดี่ยวๆหรือร่วมกับสมุนไพรหรือยาชนิดอื่นๆ แต่การใช้ขมิ้นชันโดยไม่ศึกษาเรื่องผลข้างเคียง ก็จะทำให้คุณสมบัติเดียวกันที่เป็นประโยชน์ กลับเป็นโทษได้ด้วย
เลี่ยงบริโภคขมิ้นชันถ้าคุณอยู่ในกลุ่มเหล่านี้
ด้วยคุณสมบัติช่วยต้านการแข็งตัวของโลหิต (anti-thrombotic) ทำให้ผู้ผลิตพยายามทำให้เราเข้าใจว่า ขมิ้นชัน จะช่วยเรื่องของโรคหลอดเลือดอุดตันได้ แต่ในขณะเดียวกัน คุณสมบัตินี้ของมัน ก็หมายถึงการทำให้โลหิตแข็งตัวได้ยากขึ้นเมื่อมีบาดแผลหรือเมื่อผ่าตัด ซึ่งอันตรายมากหากคนไข้มีการบริโภคขมิ้นร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือดก่อนผ่าตัด เพราะมันจะไปเพิ่มความเสี่ยงของการเลือดออกมากหรือเลือดแข็งตัวได้ช้าลง ยาที่อาจทำให้เกิดเหตุการณ์นี้เมื่อบริโภคร่วมกับขมิ้น เช่นยาวาร์ฟาริน warfarin หรืออีกชื่อคือคูมาดิน ( coumadin) ซึ่งจะไปยับยั้งการสังเคราะห์วิตามินเคซึ่งเป็นวิตามินสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการจับตัวของลิ่มเลือด, ยาโคลพิโดเกรล clopidogrel หรือที่รู้จักกันคือยา พลาวิกซ์ ( Plavix) , ยาแอสไพริน ( aspirin ) นี่คือสิ่งที่ควรรู้เรื่องแรกเมื่อคิดจะบริโภคขมิ้นชัน
เรื่องต่อมาก็คือ ขมิ้นชัน สามารถไปยับยั้งประสิทธิภาพของยาที่ใช้เพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารได้ด้วย นั่นคือเมื่อเราบริโภคขมิ้นชันร่วมกับยาลดกรด มันก็จะไปทำให้ร่างกายผลิตกรดในกระเพาะอาหารในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสิ่งที่จะบอกได้ว่าเกิดปฏิกิริยานี้ในร่างกายก็คือ อาการคลื่นไส้, ท้องอืดและปวดท้อง ทั้งกรดที่ผลิตเกินนี้ ก็สามารถจะไปทำความเสียหายให้กับหลอดอาหารได้ ยาลดกรดที่มักจะมีปัญหาเมื่อบริโภคร่วมกับขมิ้นชันนี้ได้แก่ยาไซเมทิดีน Cimetidine หรือยาทากาเมท ( Tagamet) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร, ยาฟาโมทิดีน (Famotidine) หรือยาเป็ปซิด ( Pepcid) ซึ่งเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคกรดไหลย้อน, ยารานิทิดีน ( Ranitidine) หรือยาแซนแทค (Zantac) และยาโอเมพราโซล ( Omeprazole ) ซึ่งทั้งหมดเป็นยาในกลุ่มลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ที่ควรระวังในการนำมาใช้บริโภคร่วมกับขมิ้นชัน
นอกจากนี้ ขมิ้นชัน ยังเป็นสมุนไพรที่ควรระวังหากมีการบริโภคร่วมกับยารักษาโรคเบาหวาน เนื่องจากยาเหล่านั้นจะลดระดับน้ำตาลในเลือดให้มีระดับต่ำลง ขมิ้นชัน จะไปเพิ่มประสิทธิภาพของการลดน้ำตาล ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป อันจะนำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นๆเช่นอาการสั่น,การเกิดความรู้สึกวิตกกังวล, สายตาเบลอมองเห็นภาพไม่ชัดเจน, ภาวะสมองทำงานบกพร่องกระทันหัน ทำไห้กิดอาการสับสน เกิดปัญหากับประสิทธิภาพความทรงจำ ความคิดและระดับความรู้สึกตัว หรือที่เรียกว่าภาวะสับสนฉับพลัน (delirium) ที่เกิดจากการลดประสิทธิภาพของสภาวะการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองและสิ่งแวดล้อม จากปัญหากระบวนการทำงานของสมอง
การบริโภคขมิ้นชัน ยังสามารถทำให้เกิดการแพ้อาหารได้ในบางคน ซึ่งจะแสดงผลออกมาหลากหลายอาทิ การเกิดผื่นสิว, โรคลมพิษ, ผื่นแพ้ผิวหนัง, หรือหากแพ้มากๆก็อาจมีอาการรุนแรงอื่นๆเช่น หายใจติดขัดเป็นห้วงๆ หรือนำไปสู่อาการแพ้ที่รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิตได้เช่น อาการทางปอด แน่นหน้าอก หายใจหอบ หนังตาและปากบวม กลืนลำบาก ฯลฯ ดังนั้น หากคุณกำลังบริโภคขมิ้นชันนี้อยู่ร่วมกับยาบางชนิด หรือหากคุณพบว่ามีอาการแพ้หรือปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เล่ามานี้เมื่อบริโภคขมิ้นชัน ก็ขอแนะนำให้ลดปริมาณของมันลงมา หรือเปลี่ยนเป็นสมุนไพรชนิดอื่นโดยปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสม
สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ไม่ใช่แต่เรื่องของขมิ้นชัน แต่การที่คุณคิดจะบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆทั้งวิตามินสังเคราะห์ หรือสมุนไพรที่ระบุว่าผลิตจากธรรมชาติก็ตาม อย่าลืมที่จะศึกษาข้อดีข้อเสียของมันก่อน จำไว้ว่า เมื่อได้รับรู้คำบอกเล่าถึงข้อดีของมัน ให้ถามตัวเองเสมอว่า “แล้วข้อเสียของมันล่ะคืออะไร” และอย่าเพิ่งบริโภคมันจนกว่าคุณจะได้คำตอบข้อหลัง ข้อมูลทั้งสองด้านจะช่วยให้เราตัดสินใจอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง หวังว่าข้อมูลที่เล่ามาจะเป็นประโยชน์ให้คุณตัดสินใจกับการใช้ “ขมิ้นชัน” ได้อย่างเหมาะสมนะคะ