ปีใหม่ ทุกคนก็ตั้งใจจะดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีกว่าปีเก่าที่ผ่านมา แต่ถ้าจะให้ดีจริงๆก็ต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆบางเรื่องของคุณด้วย อย่าเชื่อทุกเรื่องที่ได้ยินมา เพราะบางเรื่องมันก็เป็นแค่คำบอกเล่าเท่านั้น วันนี้มาชวนให้ปรับทัศนคติสุขภาพด้วยกันค่ะ
1. ผักสดมีวิตามินมากกว่าผักแช่แข็ง การบริโภคของสดใหม่คือหลักของโภชนาการที่ดี แต่ผักแช่แข็งก็ไม่ได้มีคุณภาพด้อยกว่าผักสดเสมอไป ขึ้นกับคุณภาพความ “สด” มากกว่าลองนึกดูว่าผักสดที่เราซื้อมาระยะเวลาที่มันต้องผ่านการขนส่ง, การทำความสะอาด, การบรรจุ ก็ใช้เวลาไม่น้อยแต่ถ้าผักที่เก็บมานั้นถูกผ่านกระบวนการแช่แข็งทันที โอกาสที่จะเก็บวิตามินในตัวไว้ได้ก็มีมากกว่า เพราะใช้เวลาน้อยกว่า เรื่องนี้สมาคมนักโภชนาการของประเทศออสเตรเลียระบุว่า สารอาหารสำคัญที่สูญหายไปของผักสดก็คือวิตามินซียิ่งวางทิ้งไว้นานเท่าไหร่ก็จะสูญเสียมากเท่านั้นซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผักแช่แข็งที่ถูกนำมาผ่านกระบวนการทันทีกลับสามารถรักษาวิตามินซีไว้ได้ดีกว่าด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เมื่อรู้แล้วคุณก็ไม่น่าจะปฏิเสธผักแช่แข็งอีกต่อไป
2. สายตามีปัญหาเพราะดูทีวีใกล้จอมากไป เราได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กๆซึ่งดร. เพอร์กรีน ฮอร์ตัน นายกสมาคมนักทัศนมาตร ซึ่งเป็นสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาของประเทศออสเตรเลีย(The Optometrists AssociationAustralia)อธิบายว่าผลที่แน่นอนของการดูทีวีใกล้กว่า 1.5 เมตรนั้นก็คือจะทำให้ดูรายการได้ไม่สนุกเต็มที่เพราะมันใกล้เกินไปและแม้ว่าจะมีผลตามมาคือความเหนื่อยล้าของสายตา ตาเจ็บเพราะกล้ามเนื้อตาทำงานหนักกว่าระยะการมองปกติแต่มันก็จะเป็นผลแค่ชั่วคราวซึ่งหายได้เมื่อพักสายตา ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายถาวรในระยะยาวตามที่เคยเข้าใจแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ดร. ฮอร์ตันแนะนำว่าถ้าพบว่ามองภาพในทีวีไม่ชัดเจนก็ควรไปตรวจสายตา “ เพราะมันอาจเป็นปัญหาอื่นๆที่ซ่อนตัวอยู่เช่นสายตาสั้นหรือสายตาเอียง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพราะนั่งใกล้จอมากไป แต่ว่าเป็นเพราะปัญหานี้ทำให้คุณต้องนั่งใกล้ต่างหาก
3. ถ้าคุณเคยผ่าตัดเอามดลูกออกไปแล้ว ก็ไม่ต้องตรวจแพ็พสเมียร์อีก ถึงแม้จะผ่าตัดมดลูกไปแล้ว ก็ยังต้องตรวจแพ็พสเมียร์อย่างต่อเนื่องเพื่อหาความผิดปกติอื่นๆที่อาจเกิดขึ้น“ผู้หญิงส่วนมากมักสับสนระหว่างการตรวจแพ็พสเมียร์หามะเร็งปากมดลูก( Pap smear)กับการตรวจภายใน ( vaginal examination)”ดร.ซู เรดดิช สูตินรีแพทย์ของสถาบันสุขภาพสตรีแห่งชาติ ประเทศออสเตรเลีย ระบุ“ถ้าคุณเคยตัดมดลูกเพราะสาเหตุจากโรคมะเร็ง คุณก็ควรจะตรวจ แพ็พสเมียร์ ทุกๆปี หรือถ้าคุณตัดมดลูกเพราะสภาวะอื่นๆเช่นเยื่อบุมดลูกขึ้นผิดที่(endometriosis)คุณก็ยังต้องตรวจภายในทุกปีหรือถ้าคุณตัดมดลูกออกไปโดยที่ยังมีส่วนคอของมดลูกเหลืออยู่ก็จะยังคงต้องตรวจแพ็พหรือ Pap Test นี้อย่างสม่ำเสมอ”
4. หักข้อนิ้วบ่อยๆจะเป็นโรคข้ออักเสบ(arthritis) การหักข้อนิ้วเสียงดังกร๊อบแกร๊บในที่ทำงาน มันก็จะรบกวนคนอื่นๆ และทุกครั้งที่เสียงข้อนิ้วดังขึ้น ก็หมายถึงการก่อตัวของกาซไนโตรเจนที่จะเกิดขึ้นในข้อกระดูกจากพฤติกรรมนี้แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ข้อกระดูกเสียหายอย่างถาวรแต่อย่างใดและก็ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับโรคข้ออักเสบด้วยนี่คือการระบุของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกรม โจนส์ผู้อำนวยการสมาคมโรคกระดูกและข้อของประเทศออสเตรเลียอย่างไรก็ตาม การหักข้อนิ้วบ่อยๆ อาจทำให้เกิดข้อกระดูกถูกยืดขยายออกซ้ำๆมากเกินไปซึ่งมันจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อม(Osteoarthritis)ในอนาคต
5. น้ำมันพืชดีต่อสุขภาพหัวใจ มันขึ้นอยู่กับว่าเรานำน้ำมันพืชชนิดใดมาใช้ นี่คือการระบุของนักโภชนาการดร.ทาเนีย เฟอร์ราเร็ตโตสมาคมโภชนาการของออสเตรเลีย “ น้ำมันพืชบางชนิดเช่นน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าวที่มีไขมันอิ่มตัวระดับสูงเมื่อนำมาเป็นส่วนผสมของบิสกิต และระบุที่ฉลากอาหารว่า“ ผลิตจากน้ำมันพืช (contains vegetable oil)” โดยไม่บอกว่าใช้น้ำมันอะไรน้ำมันพืชบางอย่างก็เป็นอันตรายเช่น น้ำมันพืชที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนทำให้กลายเป็นไขมันทรานส์ ที่ไปเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเลวและลดคอเลสเตอรอลชนิดดี ดังนั้น ควรอ่านฉลากให้ถี่ถ้วนสำหรับน้ำมันพืชที่ดีต่อสุขภาพเช่นน้ำมันมะกอกแบบ extra virgin, น้ำมันคาโนลามีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ( mono-unsaturated fat) ช่วยลดระดับคอลเสเตอรอลชนิดเลว, น้ำมันทานตะวัน มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน(polyunsaturatedfat)ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
6. ถ้าเจ็บหน้าอกคืออาการของหัวใจวายเฉียบพลัน ผู้ชายส่วนมากที่หัวใจวายเฉียบพลันมักรู้สึกเจ็บจากการบีบที่ทำให้เจ็บปวดในช่องอก แต่สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานและผู้สูงอายุอาการเจ็บปวดมักน้อยกว่านั้นหรืออาจไม่รู้สึกเลยเมื่อเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน “ ผศ. คอน อาโรนีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ สมาคมโรคหัวใจแห่งชาติของออสเตรเลีย ระบุ “ แทนที่จะเจ็บหน้าอก ก็อาจมีอาการอื่นๆที่เกิดขึ้นต่อเนื่องประมาณ 15-20 นาที เช่นแน่นอึดอัดที่บริเวณหน้าอก แขน คอและขากรรไกรถ้าความรู้สึกนี้แผ่เป็นวงกว้างและนานนั่นคืออาการของโรคหัวใจวายเฉียบพลันที่หากเกิดขึ้นซ้ำๆ ก็จำเป็นมากที่ต้องไปพบแพทย์โดยด่วน คนที่เป็นโรคเบาหวานและผู้สูงอายุมักรู้สึกถึงอาการเหล่านี้น้อยกว่า เนื่องจากระบบประสาทตอบรับความเจ็บปวดไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าคนปกติและก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมอาการนี้จึงเกิดกับเพศหญิงมากกว่าชาย
7. ใช้ภาชนะอลูมิเนียมจะเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม มีการพูดถึงกันมากมายถึงความเกี่ยวข้องของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์กับสารอลูมิเนียม ที่เราใช้ในผลิตภัณฑ์ตั้งแต่กระทะไปจนถึงเครื่องสำอางและน้ำดื่ม อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเคนตักกีประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตรวจหาปริมาณสารอลูมิเนียมในผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำนวนหนึ่ง ก็พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่ได้มีสารนี้ในปริมาณมากผิดปกติแต่อย่างใด การวิจัยนี้ได้ลบความเชื่อที่ว่าคนกลุ่มนี้เป็นอัลไซเมอร์เพราะดื่มน้ำที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียมในปริมาณสูงมาเป็นเวลานานๆและความเสี่ยงของสารอลูมิเนียมกับอัลไซเมอร์ก็มีเพียงเล็กน้อยมาก
8. ถ้าฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แล้วเราก็จะไม่เป็นไข้หวัดใดๆอีก ไม่จริง เพราะวัคซีนที่ผลิตเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีนั้น จะผลิตขึ้นโดยมีหลักการใหญ่ว่าปีนั้นๆเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในช่วงหน้าหนาวของยุโรปนั้น เป็นสายพันธุ์อะไรในเวลานั้น ” ดังนั้นในแต่ละปีวัคซีนเหล่านี้ก็จะมีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่ถูกพบ ซึ่งนอกจากไวรัสสายพันธุ์นั้นแล้ว มันก็ยังมีไวรัสโรคหวัดอีกหลายสายพันธุ์ที่อยู่ในอากาศ วัคซีนจึงไม่ได้ป้องกันโรคหวัดทุกชนิด” นี่คือการอธิบายของ ดร.จอห์น กูล็อตตา นายกสมาคมอายุรแพทย์ของออสเตรเลียอย่างไรก็ตาม ดร.จอห์นแนะนำว่า การฉีดวัคซีนนี้จำเป็นกับ “ผู้มีความเสี่ยงสูง” ซึ่งได้แก่ผู้ที่อายุเกิน 65 ปีซึ่งมีประวัติของการเป็นโรคหอบหืด, โรคของะบบทางเดินหายใจ, โรคหลอดเลือดหัวใจตลอดจนคนทำงานเกี่ยวกับสุขภาพที่ต้องอยู่กับเด็กๆเป็นประจำที่ต้องสัมผัสกับเชื้อไวรัสโรคหวัดหลากหลายสายพันธุ์ด้วย “ วัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญกับไวรัสหวัดหลากหลายสายพันธุ์เป็นประจำทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ
9. วัคซีนทำจากเชื้อโรค ร่างกายเราจึงอาจเจ็บป่วยจากเชื้อโรคนั้นได้ มีคำอธิบายของ ดร. จอห์น กูล็อตตาว่า “ถึงแม้วัคซีนบางชนิดจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหลังการฉีดได้ก็ตาม แต่มันก็ไม่สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆจากวัคซีนเพราะเชื้อโรคในวัคซีนเป็นเชื้อโรคที่ตายแล้วหรืออ่อนแอจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆได้ เชื้อโรคเหล่านี้จะ”อนุญาต”ให้ร่างกาย “เรียนรู้” ในการตอบรับและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับมันเมื่อวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานและทำลายเชื้อโรคนี้ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่สามารถทำให้ติดเชื้อใดๆได้
10. ถ้าตั้งครรภ์อยู่และครรภ์อยู่ในระดับต่ำ ก็จะได้ลูกชาย “ลักษณะหน้าท้องเมื่อตั้งครรภ์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศของทารกในครรภ์เลย”ดร. กูล็อตตา ยืนยัน “เพราะสภาพครรภ์ของผู้หญิงแต่ละคนเป็นเรื่องเฉพาะตัวขึ้นกับขนาดและรูปร่างของหน้าท้อง, ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องการยืดหยุ่นของผิวหนัง ฯลฯหากคุณต้องการรู้เพศของทารกในครรภ์ก่อนคลอด อัลตร้าซาวนด์เป็นวิธีที่ดีที่สุด
ความเชื่อเหล่านี้ บางอย่างก็เป็นอันตราย และบางอย่างถึงแม้ไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่ก็ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง ก็จะทำให้เราปรับวิธีดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม ยังมีเรื่องราวสนุกๆของสุขภาพอีกมากมายให้ติดตาม ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีในปีใหม่นี้กันทุกท่านค่ะ