สภาพอากาศช่วงนี้ที่เดี่ยวร้อนเดี๋ยวฝน ทำให้หลายคนคงรู้สึกไม่สบาย และอาการอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆก็คืออาการ“ปวดศีรษะ” ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่ได้ยินบ่อยๆเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่รู้ไหมว่าอาการนี้ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนทำงานส่วนมากต้องลาหยุดงานหรือหยุดเรียน หรือบางรายต้องไปพบแพทย์จากการปวดศีรษะแบบเรื้อรังไม่ยอมหายขาด ซึ่งบางคนก็จะเกิดอาการปวดนี้ขึ้นเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าหรือนอนไม่พอ ในขณะที่บางคนก็จะปวดศีรษะถ้าวันนั้นดื่มน้ำน้อยเกินไป จะเห็นได้ว่า สาเหตุการปวดศีรษะมักจะมีหลากหลาย มาเรียนรู้ว่ามันเกิดจากอะไรและจะดูแลอย่างไร
อาการปวดศีรษะที่เรามักจะเป็นกันบ่อยที่สุด จะมีอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน และทุกชนิดก็จะบอกถึงปัญหาบางอย่างในร่างกายของเรา ซึ่งถ้าหากคุณเรียนรู้สัญญาณของมัน คุณก็จะบำบัดได้อย่างถูกต้องหากมันเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิด
1. ปวดศีรษะจากไซนัสอักเสบ ( Sinus headache): ไซนัส คือโพรงอากาศเล็กๆในกระโหลกศีรษะ โพรงนี้จะอยู่รอบๆบริเวณจมูกและมีทางเชื่อมต่อกับโพรงจมูก เมื่อมีเชื้อโรคลุกลามเข้าไป จะทำให้เกิดการอักเสบและปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะจากไซนัสจะเกิดขึ้น เมื่อโพรงไซนัสเริ่มมีอาการติดเชื้อหรือถูกปิดกั้น ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นที่ภายในบริเวณหลังแก้ม, และช่วงระหว่างจมูกและนัยน์ตา อาการปวดนี้จะยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เวลาที่คุณต้องโน้มตัวไปทางด้านหน้าหรือเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยๆว่าทำให้เกิดอาการอักเสบนี้ จะรวมถึงปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย, การเกิดก้อนบวมหรือเกิดการติดเชื้อ ซึ่งสิ่งที่ควรรู้ก็คือ อาการปวดศีรษะจากไซนัสอักเสบนี้ จะมีอาการรุนแรงและใกล้เคียงอย่างมากกับการปวดศีรษะไมเกรน ทำให้อาจเกิดความเข้าใจสับสนได้
วิธีดูแล: พยายามดื่มน้ำสะอาดและบริโภคอาหารที่เป็นของเหลวให้มากที่สุด นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยให้อาการนี้ทุเลาลงได้มากก็คือการใช้น้ำอุ่น ซึ่งจะให้ผลดีมากในการช่วยลดอาการติดเชื้อ น้ำอุ่นจะช่วยเปิดโพรงไซนัสให้โล่งขึ้นจากการอุดตัน นอกจากนี้ สิ่งที่แนะนำคือการประคบเย็นและร้อนสลับกัน ซึ่งจะช่วยให้จมูกโล่งขึ้นและลดความเจ็บปวดลง, การบริโภคซุปอุ่นๆหรือขิงสด ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติทรงพลัง ช่วยลดอาการติดเชื้อและความเจ็บปวด
2. ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension headache): เป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นมากและบ่อยที่สุด ซึ่งอาการนี้เมื่อเกิดขึ้น จะรู้สึกปวดตุบๆเหมือนกับมีอะไรมากดหรือบีบ ซึ่งจะเป็นความปวดคงที่อยู่บริเวณรอบๆศีรษะ จุดหลักที่จะมีอาการก็คือ ที่ส่วนท้ายทอย ส่วนด้านหลังของกระโหลกศีรษะ ตลอดจนที่คอหรือที่ขมับทั้งสองข้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วนรวมกัน และอาการปวดนี้ ยังสามารถแผ่ไปถึงบริเวณด้านบนหรือล่างของนัยน์ตาได้อีกด้วย อาการปวดศีรษะจะเกิดขึ้นได้ทั้งแบบไม่กี่นาที หรือเกิดไปจนถึงนานๆ 2-3 วัน สิ่งที่จะกระตุ้นอาการให้เกิดได้ง่ายขึ้นก็คือ การอดนอน ,อดอาหารและน้ำ, การเผชิญสถานการณ์ของความเหนื่อยล้า, การถูกกดดันอย่างสูงทางอารมณ์ ตลอดจนการดื่มแอลกอฮอล์
วิธีดูแล: วิธีธรรมชาติบำบัด แนะนำให้ใช้น้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินท์และชาขิง เพื่อที่จะช่วยลดอาการปวด ลองหยดน้ำมันเปปเปอร์มินท์ลงที่บริเวณโคนผมและกดนวดให้ทั่วศีรษะ เพื่อให้ความเย็นซ่าของน้ำมันช่วยคลายความตึงของกล้ามเนื้อบริเวณศีรษะและลำคอ การดื่มชาขิงอุ่นๆก็ยังช่วยลดการติดเชื้อได้ด้วย
3. ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache): เป็นชื่อของอาการปวดศีรษะจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 และระบบประสาทอัตโนมัติ ( TACs) ที่มักจะพบอาการนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงด้านเดียวที่บริเวณรอบตา เหนือเบ้าตาหรือขมับ บางครั้งอาจมีอาการตาแดง น้ำตาไหล คัดจมูก หนังตาบวม เกิดขึ้นร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุการเกิดยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่เป็นเพราะความผิดปกติในการเชื่อมโยงของสารสื่อประสาทบางชนิด ซึ่งอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์นี้ สามารถถ่ายทอดถึงกันทางกรรมพันธุ์ได้ และมักเป็นในผู้ชายอายุ 30-50 ปี โดยมีปัจจัยกระตุ้นคือการดื่มแอลกอฮอล์, การออกกำลังกายหักโหม,การอยู่ในที่ๆมีอุณหภูมิร้อนจัด และการสัมผัสกับกลิ่นที่รุนแรง
วิธีดูแล: แนวทางธรรมชาติบำบัดพบว่า การใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่มีในพืชตระกูลพริก โดยเฉพาะพริกคาเยน ( cayenne pepper) ทาที่บริเวณปวดเพียงปริมาณเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ร่างกายมีการส่งสัญญาณไปยังระบบประสาท เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากเส้นประสาทที่เกิดการอุดตันนี้ได้
4. ปวดศีรษะไมเกรน (migraine): จากสถิติพบว่า ไมเกรนมักจะเกิดกับคนที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25 ปีและอายุ 55 ปี แต่ความจริงแล้ว มันสามารถจะเกิดกับทุกคนได้โดยไม่เลือกวัย อาการปวดศีรษะชนิดนี้ จะมีความซับซ้อนมากกว่าอาการปวดศีรษะชนิดอื่นๆ เพราะไมเกรนจะรวมอาการหลากหลายที่แตกต่างกันของระบบประสาท และแสดงออกทางร่างกายอย่างหลากหลาย รวมทั้งการปวดศีรษะอย่างเข้มข้นทรมาน ซึ่งจะมีทั้งอาการปวดสั่นที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น และอาการปวดสั่นรุนแรงเกิดขึ้นที่ศีรษะทั้งสองข้าง ซึ่งจะพบได้ถึงหนึ่งในสามของผู้ที่ถูกโจมตีด้วยอาการไมเกรน อาการปวดนี้จะรวมไปถึงมีการอาเจียน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ตาพร่าหรือมีความผิดปกติของการมองเห็น อาการอ่อนไหวอย่างมากต่อแสงสว่าง กลิ่น การสัมผัส เสียง เช่นเดียวกับความรู้สึกซ่าชาหรือเจ็บเสียวที่ใบหน้า ซึ่งจะมีอาการปวดเหล่านี้แผ่จากด้านบนของศีรษะลงมาสู่ด้านล่าง
วิธีดูแล: ได้มีการศึกษาระบุว่า มีคนไข้ไมเกรนมากมายที่ได้รับผลกำไรจากการบริโภคกรดไขมันโอเมก้า-3, วิตามิน บี12 หรือไรโบฟลาวิน ( riboflavin),และแมกนีเซียม ซึ่งนักธรรมชาติบำบัดแนะนำให้เพิ่มสารอาหารเหล่านี้ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ในมื้อประจำวันของคุณ
ไม่ว่าจะมีอาการผิดปกติมากหรือน้อยใดๆที่ขึ้นกับร่างกายของเรา การค้นหาทุกสาเหตุให้พบแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยปละละเลย จะช่วยให้เรื่องเล็กไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลายเรื่องของปัญหาสุขภาพ เราแก้ไขได้โดยเริ่มที่ตัวของเราเองถ้ารู้สาเหตุ โดยเฉพาะเรื่องของอาการปวดศีรษะ แค่หลีกเลี่ยงที่จะนำตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมของความเสี่ยงทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เครียดไม่ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ปล่อยให้ความรู้สึกด้านลบเข้ามาทำร้ายตัวเอง เพียงเท่านี้ก็จะทุเลาเรื่องที่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพไปได้มากมายแล้วค่ะ