จำได้ว่าเมื่อตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่มักสอนว่าให้เรานอนตะแคงขวาจะดีกว่า แต่วันนี้ มีข้อมูลดีๆของเรื่องสุขภาพการนอนหลับมาเล่าให้ฟังเรื่องของการนอนตะแคงด้านซ้าย ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการนอนหลับได้ทำการศึกษาไว้น่าสนใจมาก
เวลานอนหลับ ทุกคนก็จะเลือกท่านอนที่รู้สึกสบายที่สุด แต่หลายคนก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ท่านี้มันดีต่อสุขภาพแค่ไหน จะนอนท่าไหนให้หลับสนิท นอนหงาย ตะแคงซ้ายตะแคงขวาเลือกไม่ถูก และเมื่อมีปัญหาการนอนหลับ เราก็จะโทษเรื่องท่านอนนี่แหละเป็นสิ่งแรก เช่นจะถามตัวเองว่า นอนหงายหรือนอนคว่ำเอาไงดี คิดจนอ่อนใจแล้วก็หลับไปเองด้วยท่าไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน
ดร. จอห์น ดุยลลาร์ด ( Dr. John Douillard) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรเวทของมลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ได้เล่าเรื่องของการนอนตะแคงซ้ายไว้ว่า เป็นสิ่งที่ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างแท้จริง และต่อไปนี้คือเหตุผลว่าทำไม
1. กระดูกสันหลังและการหายใจ: ถ้าคุณไม่ได้นอนเพื่อจะวัดความสมมาตรของร่างกายทั้งสองข้างเมื่ออยู่บนเตียงแล้วละก็ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพการนอนหลับแนะนำว่า คุณควรจะยึดติดกับการนอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่งเอาไว้ เพราะนั่นคือสิ่งที่สัญชาตญาณของกระดูกสันหลังบอกคุณ หากคุณนอนหงาย น้ำหนักทั้งหมดของคุณก็จะลงไปอยู่ที่กระดูกสันหลัง ทำความกดดันให้กับหลังและสะโพก ทั้งทำให้ช่วงหลังส่วนล่างของคุณอยู่ในสภาพถูกแขวนลอยๆทำให้เป็นอันตรายในระยะยาว และหากนอนคว่ำ ก็จะไปทำความเครียดให้กับหลังและคอ การนอนตะแคง จึงเป็นท่านอนที่ดีที่สุดที่ช่วยให้เราหายใจนำออกซิเจนเข้าสู่ปอดได้ดีกว่า
2. ระบบการย่อยอาหาร: เมื่ออาหารเดินทางผ่านลงไปสู่กระเพาะอาหารของคุณและเกิดการย่อย อาหารส่วนที่ยังย่อยไม่หมดจะถูกย่อยสลายได้เร็วกว่าถ้านอนตะแคงซ้าย นี่คือการระบุของ ดร. ดุยลลาร์ด ทั้งการนอนตะแคงซ้ายจะทำให้กากอาหารที่ย่อยสลายแล้ว เดินทางจากลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่ได้คล่องตัวกว่า ดร.ดุยล์ลาร์ดแนะนำว่า หลังการบริโภคอาหารมื้อเที่ยงแล้ว หากเราสามารถหาพื้นที่นอนพักผ่อนด้วยการนอนตะแคงซ้ายได้สักสิบนาที ก็จะช่วยให้อาหารย่อยได้เร็วกว่า ทั้งช่วยบรรเทาอาการอิ่มแล้วง่วงมากอยากหลับหรือ “food coma” ได้ด้วย ซึ่งอาการนี้เกิดจากร่างกายใช้พลังงานไปกับการย่อยอาหารอย่างมากจนเหลือพลังงานให้ร่างกายส่วนอื่นน้อยลง
3. ระบบไหลเวียนของต่อมน้ำเหลือง: การทำงานส่วนใหญ่ของระบบการไหลเวียนต่อมน้ำเหลืองของเรา จะอยู่ที่ร่างกายด้านซ้าย ซึ่งหากมีการอุดตันขึ้น ก็มักจะเกิดกับร่างกายด้านซ้าย การนอนตะแคงซ้าย จึงเท่ากับช่วยให้ร่างกายมีแรงดึงดูดของต่อมน้ำเหลือง ให้ระบายของเหลวไหลเวียนไปยังหัวใจและม้ามได้ดีขึ้น ซึ่งอวัยวะทั้งสองที่ว่านี้ก็จะอยู่ที่ร่างกายฝั่งซ้ายของเราเช่นกัน
นอกจากนี้ การนอนตะแคงซ้ายยังให้ผลดีต่อสุขภาพอีกมากมายเช่น:
– ป้องกันฮาร์ทเบิร์นและช่วยระบบการย่อย: กระเพาะอาหารของเราที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อหูรูดคาร์เดีย (cardiac sphincter) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหูรูดเชื่อมต่อหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อนี้จะเปิดปิดเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้อาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารอีก การนอนตะแคงซ้าย จะช่วยป้องกันการไหลย้อนของกรดและอาการฮาร์ทเบิร์นที่ทำให้แสบร้อนช่วงกลางอกจากการถูกน้ำย่อยกัดได้ในระหว่างที่เรานอนหลับ
–ฟื้นฟูสุขภาพของลำไส้: การนอนตะแคงซ้าย จะช่วยให้ร่างกายกำจัดขยะพิษที่สะสมในลำไส้ออกไปง่ายขึ้น โดยการถ่ายโอนมันจากลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งผ่านทางลิ้นปิดเปิดระหว่างส่วนปลายของลำไส้เล็กที่ติดต่อกับส่วนลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่า ลิ้นอิลีโอซีคัล (ileocecal valve) ที่อยู่ด้านซ้ายของร่างกาย การนอนตะแคงซ้าย จะช่วยแรงดึงดูดทำให้เกิดพัฒนาการของระบบเคลื่อนไหวของลำไส้ทำให้ขยับตัวได้ดีขึ้น
– พัฒนาระบบทำงานของหัวใจ: การนอนตะแคงซ้าย จะช่วยให้หัวใจทำงานสูบฉีดโลหิตเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
– ฟื้นฟูการไหลเวียนของต่อมน้ำเหลือง: การทำงานของต่อมน้ำเหลืองจะกรองและระบายน้ำเหลืองที่ผ่านการกำจัดสิ่งแปลกปลอมแล้วเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองขนาดใหญ่ที่เรียกว่า thoracic duct ที่อยู่ด้านซ้ายของร่างกาย การนอนตะแคงซ้ายจะช่วยขจัดสารพิษที่ค้างอยู่ออกไปได้ดีกว่า ทั้งช่วยการทำงานของต่อมน้ำเหลืองนำโปรตีนที่หายไปกลับคืนมาให้เซลล์ด้วย
– ฟื้นฟูสุขภาพตับ: ตับเป็นอวัยวะที่ตั้งอยู่ทางด้านขวาของร่างกาย อายุรเวทเชื่อว่า การนอนตะแคงซ้าย จะช่วยให้ของเสียในตับไม่ตกตะกอนค้างอยู่ภายใน สามารถถูกกำจัดออกไปได้ดีขึ้น
– ฟื้นฟูการทำงานของม้าม: การนอนตะแคงด้านซ้าย จะช่วยแรงดึงดูดทำให้ฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือดที่จะไปสู่ม้าม ช่วยให้ม้ามทำงานได้ดีขึ้น
– ให้ผลกำไรในช่วงตั้งครรภ์: โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การนอนตะแคงซ้ายจะช่วยช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตที่จะไปเลี้ยงทารกในครรภ์ได้ดีขึ้น และยังช่วยการทำงานของตับอีกด้วย
– ช่วยหยุดการนอนกรน: การนอนตะแคงซ้ายจะช่วยบำบัดเรื่องการกรน เพราะออกซิเจนจะเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่า โดยเฉพาะในผู้ป่วยสภาวะหยุดหายใจขณะหลับ(sleep apnea)
เหล่านี้คือข้อมูลที่น่าพิจารณาของการนอนตะแคงซ้าย แต่อย่างไรก็ตาม ดร.สตีเวน พาร์ค (Dr. Steven Park) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับแนะนำว่า การพยายามเปลี่ยนท่าการนอนจากที่เราคุ้นเคยอย่างกะทันหันอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะมันจะไปทำลายความคุ้นเคยต่อกิจวัตรการนอนของคุณ แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณสนใจที่จะเริ่มฝึกหัดนอนตะแคงซ้ายแล้วละก็ ลองใช้เคล็ดลับค่อยเป็นค่อยไปที่แนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ:
– เย็บลูกเทนนิสหรือลูกบอลนิ่มๆติดไว้ที่ข้างหลังเสื้อนอนของคุณ: เมื่อคุณเริ่มจะหมุนตัวกลับไปในระหว่างที่นอน มันก็จะได้ช่วยรั้งคุณไว้ให้กลับมานอนตะแคงซ้ายเหมือนเดิม
– หาหมอนหนุนหลังไว้หลายๆใบในขณะนอนตะแคงซ้าย: มันก็จะช่วยให้คุณไม่เปลี่ยนท่ากลับมาอีกด้าน
แนะนำเคล็ดลับเหล่านี้ให้ ถ้าคุณลองทำแล้วรู้สึกว่าเริ่มคุ้นเคยกับการนอนตะแคงซ้าย ก็ขอให้ได้รับผลกำไรสุขภาพจากมันเต็มที่นะคะ!