เบรกเที่ยวในโรม…เที่ยวโรมแบบผู้ที่ยังใหม่กับโรม (ตอนที่2)
โดย Paul Sansopone
…”บัลลังก์นี้มีส่วนคล้ายกับที่อยู่ในหนังเรื่อง The Game of Throne ของ HBO ทั้งการออกแบบโดยเฉพาะส่วนที่เป็นลำแสงจากด้านหลัง และจากพื้นเพของเรื่องที่มีการช่วงชิงหักเหลี่ยมกันเพื่อจะได้นั่งบัลลังก์นี้…”
คราวที่แล้วเราได้เดินเข้ามาในวิหารเซ็นต์ปีเตอร์แล้วได้ไปชื่นชมกับ Pieta และไปคารวะรูปหล่อสำริดของนักบุญปีเตอร์ โดยการสัมผัสท่านที่เท้าขวาพร้อมอธิษฐานขอพร หากเดินต่อเข้ามาก็จะพบกับ
ซุ้มพิธีหรือแท่นบูชา บาลเเดกคีโน Baldacchino
หากเราเดินเข้ามาตรงที่ใจกลางของวิหารจุดที่ตัดกันของระหว่างโถงทางเข้าที่เรียกว่า Naive กับส่วนปีกที่เรียกว่า Transept ให้นึกถึงไม้กางเขน เพราะการวางผังสร้างโบสถ์คริสต์นั้นมักจะวางเลย์เอ้าท์แบบไม้กลางเขน และจุดตัดกันของไม้ทั้งสองก็คือจุดที่เป็นปะรำพิธีนั้นเอง
แต่ที่วิหารนี้เราจะพบกับซุ้มพิธีหรือแท่นบูชาของสันตะปาปาที่เรียกว่าบาลเเดกคีโน ซึ่งเป็นฝีมือของ แบร์นินี่ (Gian Lorenzo Bernini) ที่ทำจากโลหะสำริดใช้ทองแดงกว่า 50,000 กิโลกรัม ซึ่งนำบางส่วนมาจากวัดปานเตออนแล้วมาหลอมทำใหม่ นี่คือการรีไซเคิลที่ชาวโรมันรู้จักใช้กันมานานแล้ว โดยเสาทั้ง 4 ต้นมีลวดลายบิดแบบเกลียวของพายุหมุนทอร์นาโดอย่างที่ไม่ปรากฏในงานอื่นของยุคนั้นมากนัก ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์พอควร แต่เนื่องจากแบร์นินี่นำต้นแบบเสาบางต้นของวิหาร St.Peter เดิมมาใช้ และความที่ตัวเองเป็นต้นตำรับคนหนึ่งของศิลปแบบบาโรคที่มีรายละเอียดมากมายคนยุคนั้นจึงรับยังไม่ได้ เสาทั้ง 4 ต้นนั้นสูงประมาณ 100 ฟุตแต่มันดูเตี้ยไปถนัด เมื่อเทียบความสูงของยอดโดมด้านบนที่สูงถึง 452 ฟุต
จุดที่วางบาลเเดกคีโน นั้นนอกจากอยู่ใต้โดมของมิเกลานจิโรพอดีแล้วยังอยู่เหนือ St. Peter’s crypt หรือหลุมศพของนักบุญปีเตอร์พอดีอีกด้วย แต่ที่วาติกันไม่ได้เป็นที่ฝังศพแค่นักบุญคนเดียว แต่ยังมีสันตะปาปาอีก 91 พระองค์จากทั้งหมด 245 พระองค์ นับจากศตวรรษที่ 1 ถึงปัจจุบันที่ถูกฝังไว้ใต้วิหารแห่งนี้ รวมทั้งจักรพรรดิออตโต้ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธ์ (Holy Roman Emperor Otto II) และพระราชินี Christina แห่งสวีเดนที่มาใช้ชีวิตบั้นปลายทำนุบำรุงศาสนาอยู่ที่โรม
บัลลังก์ของสันตปาปา ซึ่งเรียกว่า Cathedra Petri หรือ “Throne of St. Peter”
เก้าอี้ตัวเดิมของนักบุญปีเตอร์ก่อนที่จะมีการสร้างบัลลังก์มาแทนโดยแบร์นินี่
จะเห็นว่าที่อยู่ด้านหลังของซุ้มนั้นมีบัลลังก์ที่สวยงาม ซึ่งเป็นการสร้างแทนเก้าอี้เดิมที่เคยถูกใช้โดยเซ็นต์ปีเตอร์และสาวกคนอื่น แต่เนื่องจากผุพังไปทำให้สันตะปาปา Pope Alexander VII ต้องแต่งตั้งแบร์นินี่ผู้ที่สร้างซุ้มพิธีนั้นรับผิดชอบบัลลังก์นี้ด้วย Bernini จึงสร้างบัลลังก์นี้ด้วยBronze โลหะสำริดแบบเดียวกับที่ใช้สร้างซุ้มพิธี โดยที่ฐานมีนักบุญ Ambrose และ Augustine ซึ่งถือเป็น Doctors of the Church หรือผู้รู้ผู้คงแก่วิชาของศาสนาคริสต์ช่วยอุ้มพยุงบัลลังก์นี้ไว้
มีคนพูดกันว่าบัลลังก์นี้มีส่วนคล้ายกับที่อยู่ในหนังเรื่อง The Game of Throne ของ HBO ทั้งการออกแบบโดยเฉพาะส่วนที่เป็นลำแสงจากด้านหลัง และจากพื้นเพของเรื่องที่มีการช่วงชิงหักเหลี่ยมกันเพื่อจะได้นั่งบัลลังก์นี้ ก็ไม่ต่างกับในหลายยุคหลายสมัยของการขึ้นเป็นสันตะปาปาของที่นี่
เนื่องจากการเป็นสันตะปาปาหรือ Pope คือการได้มาซึ่งอำนาจที่ยิ่งใหญ่ เพราะก็คือการเป็นประมุขของคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคธอริคซึ่งนั่นหมายถึงเครือข่ายของศาสนานิกายนี้จากทั่วโลกต้องขึ้นตรงกับวาติกัน และอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นประมุขของกรุงวาติกันหรือเปรียบเสมือนกษัตริย์ของรัฐอิสระหรือประเทศวาติกันที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มาถึงตรงนี้คงต้องเท้าความถึงความเป็นมาของกรุงวาติกันก่อน ซึ่งจะว่าไปนั้นมีความรุ่งเรืองต่อเนื่องติดต่อกัน หลังจากที่กรุงโรมและอาณาจักรโรมันตะวันตกถึงยุคเสื่อมเมื่อเจริญสูงสุดแล้วก็เริ่มอ่อนแอจนพวกบาบาเรี่ยนหรือพวกป่าเถื่อนเอาชนะกองทัพโรมันได้กรุงโรมก็แตกไป ยังคงอยู่แต่อาณาจักรโรมันตะวันออกที่มีเมืองหลวงที่ชื่อคอนสแตนติโนเปิล(อีสตันบูล ในปัจจุบัน) ซึ่งก็ตั้งชื่อตามจักรพรรดิคอนสแตนตินที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้กรุงโรมเริ่มกลับมามีการฟื้นฟูใหม่แต่ครั้งนี้เป็นอาณาจักรทางศาสนา ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคกลางในช่วงปีค.ศ.750-800 โดยประมาณ ยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันตะวันตกก็ถูกรวบรวมเข้ามาอยู่ภายใต้อาณาจักรโรมันอันศักด์สิทธ์ (Holy Roman Empire) ซึ่งกินอาณาเขตพื้นที่ปัจจุบันของฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์, เยอรมัน, อิตาลี โดยการนำองกษัตริย์ชาวแฟงค์ที่ชื่อ ชารล์มานย์ Charlemagne หรือที่ได้ฉายาว่า Charles the Great (ละติน Carolus or Karolus Magnus)
ซึ่งท่านก็ปกป้องและเคร่งศาสนาโรมันแคธอลิคพอควร ถึงขนาดขอให้ สันตะปาปาลิโอที่3 (Pope Leo III) ทำพิธีสถาปนาขึ้นครองตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักด์สิทธ์ในวันคริสมาสต์ปีค.ศ.800 ที่กรุงโรม ณ วิหาร เซนต์ปีเตอร์ (เดิม)หลังแรก และเมื่อได้รับการendoseคือยอมรับที่จะปกป้องโดยจักรพรรดิและกษัตริย์ของยุโรปในทุกยุคสมัย ก็ทำให้อาณาจักรของสันตะปาปานั้นยิ่งใหญ่เป็นประเทศเรียกว่าปาปาสเตท Papal State กินอาณาเขตในภาคกลางของคาบสมุทรอิตาลีเกือบหมด ใครจะท้าทายอำนาจของคริสตจักรนั้นก็มักแพ้ราบคราบไป
พอเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือ Renaissance นั้น วิทยาการสมัยใหม่ทำให้นักวิทยาศาสตร์อย่างกาลิเลโอเริ่มออกมาพูดขัดแย้งกับความเชื่อเดิมๆ เช่น พระเจ้าสร้างโลกและโลกแบนตลอดจนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลนั้นเริ่มไม่ใช่ และความฟุ่มเฟือยในวาติกันที่มักมีงานเลี้ยงและสะสมของมีค่า หรือแม้แต่การสร้างวิหารเซ็นตปีเตอร์ใหม่มีการใช้เงินมหาศาลทำให้เกิดวิธีการหารายได้แปลกๆ เข้ามา เช่น ต้องมีการบริจาคเงินเข้าวัดเท่านี้เท่านั้นจึงได้บุญเท่านั้นเท่านี้ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านมากขึ้นเกิดเป็นศาสนาคริสต์นิกายใหม่ เช่น โปแตสแทนและอื่นๆ ขึ้นมาถ่วงดุลจนทำให้เกิดสงครามศาสนาในยุโรปอยู่เนืองๆ หากว่าผู้นำศาสนานิกายใหม่ไม่ยอมขึ้นตรงต่อวาติกัน
แต่กฎแห่งแรงโน้มถ่วงที่ว่า “what goes up must come down” นั้นมีอยู่จริง การที่พระสันตะปาปาทรงมีอำนาจทางโลกล้นฟ้า และเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองมากเกินไป ทำให้กลุ่มอำนาจรัฐในยุโรปหลายแห่งจึงเริ่มที่จะเล่นเกมต่อต้านพระองค์ เพื่อลิดรอนอำนาจลง จนทำให้เขตการปกครองอย่างปาปาสเตทหดหายไป เหลืออยู่แค่รอบๆ กรุงโรมเท่านั้น ในปี ค.ศ. 1860 เมื่อ พระเจ้าวิคเตอร์ เอมานูเอลที่ 2 ผู้ที่รวบรวมอิตาลีจากแค้วนใหญ่เล็กให้เป็นประเทศอิตาลี มีการทำประชามติว่าสมควรให้กรุงโรมเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี หรือเป็นปาปาสเตทของวาติกันต่อไป ผลออกมาปรากฏว่า ประชาชนเทคะแนนให้โรมเป็นส่วนหนึ่งของอิตาลี แต่องค์สันตะปาปาปิอุสที่ 4 ซึ่งเป็นประมุขศาสนาในขณะนั้นก็ไม่ออกมาคุยกับรัฐบาลเพื่อยอมรับว่าอาณาจักร Papal State ไม่มีอีกแล้ว แต่ได้ประกาศตัดขาดกับโลกภายนอก ประทับอยู่ภายในนครรัฐวาติกันเพียงอย่างเดียวรวมทั้งสันตะปาปาองค์ต่อๆ มาอีก 4 พระองค์ก็ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับโลกภายนอกต่อเนื่องกินเวลาถึง 60 ปี (1870-1929)
จนถึงสมัยของนายกคนดังที่ชื่อ เบนิโต้ มุสโสลินี (Benito Amilcare Andrea Mussolini) ในปี ค.ศ. 1929 ได้มีการทำสนธิสัญญา ลาเตรัน (Lateran Treaty ได้ชื่อนี้มาเพราะมีการเซ็นกันที่พระราชวังลาเตรัน) ให้การรับรองและคํ้าประกันอธิปไตยของนครรัฐวาติกัน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกสบายอีกหลายๆ อย่าง เพื่อให้นครแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ในฐานะรัฐอิสระ เหมาะสมที่จะให้สันตะปาปาปฏิบัติภารกิจ ในฐานะองค์ประมุขของชาวคาทอลิกทั่วโลกได้ แถมรัฐบาลอิตาลียังให้เงินที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันได้นับ 1,000 ล้านดอลล่าร์อเมริกัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Vatican จึงกลายเป็นประเทศที่สมบูรณ์แบบ ถือเป็นรัฐอิสระที่เล็กที่สุดในโลก มีสถานีวิทยุ, ที่ทำการไปรษณีย์, สถานีรถไฟ,ธนาคารของวาติกันเอง และร้านค้าปลอดภาษีทุกชนิด มีสำนักพิมพ์ของตนเอง เช่น มีหนังสือพิมพ์ชื่อ โลสเสอร์วาโตเร โรมาโน , มีป้ายทะเบียนรถ, หรือโดเมนเนม .VA
ถ้าพูดถึงเนื้อที่รวมจะมีประมาณ 250 ไร่ ในนครแห่งนี้ด้วยวังวาติกันมีเนื้อที่ 150 ไร่ ซึ่งรวมวิหารเซนต์ปีเตอร์ พิพิธภัณฑ์วาติกัน หอสมุดวาติกัน และที่ประทับขององค์พระสันตะปาปาตลอดจนอุทยานวาติกันอันงดงาม พื้นที่นอกเขตดังกล่าวที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวาติกันด้วยก็คือ วังกัสเตลกันดอลโฟ (Castelgendolfo) อันเป็นที่ประทับ ที่อยู่นอกชานกรุงโรมไปทางทิศใต้, มหาวิทยาลัยเกรโกเรียน (Gregorian University) และโบสถ์ 13 แห่งในกรุงโรม
วาติกันมีพลเมืองประมาณ 900 คน ไม่มีกองกำลังทหารของตัวเอง มีแต่ Swiss Guards ผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งต้องว่าจ้างทหารสวิสที่มีคุณสมบัติคือเป็นคาธอลิก ยังไม่แต่งงาน ได้รับการฝึกทหารแบบสวิส อายุระหว่าง 19-30 และสูงอย่างน้อย 174 ซม. จริงๆ แล้วทหารสวิสมีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1506 แล้วถูกว่าจ้างมาเป็นองครักษ์ของสันตะปาปา Pope Julius II ที่น่าสนใจคือการแต่งกายของทหารสวิส ซึ่งชุดปัจจุบันนั้นมีสีส้ม,เหลือง,แดง,ฟ้า ออกแบบโดย Jules Repond ในปี 1914 โดยได้รับอิทิพลจากชุดทหารสวิสเดิมในสมัย Renaissance ที่ออกแบบโดย “มีเกลันเจโล” และดัดแปลงโดย “ราฟาเอล” เลยเชียว