เบรกเที่ยวในโรม…ดื่มอะไรในโรม ตอนที่ 1
โดย Paul Sansopone
…”ถ้าอากาศดีก็ต้องนั่งoutdoorหน้าร้านเพื่อความchill อาจเสียงดังล้งเล้งหน่อย เพราะชาวอิตาเลี่ยนเวลาคุยกันแล้วมันออกรสชาติเหมือนคนจีน เอ…หรือว่ามาร์โกโปโลเอาวัฒนธรรมเสียงดังนี้กลับมาจากเมืองจีนด้วย?……”
เรื่องการดื่ม ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องการกินในโรมซึ่งเราพูดถึงกันไปแล้วในคราวก่อน สำหรับเรื่องดื่มน่าจะแบ่งออกเป็น 2-3 ตอน โดยผมจะขอเริ่มจากเครื่องดื่มnon-alcohol และในตอนนี้ขอเริ่มจากเรื่องกาแฟก่อนเลยครับ
1. กาแฟ…ดื่มกาแฟแบบอิตาเลี่ยน
ถ้าจะให้พูดถึงโรมโดยไม่กล่าวถึงวัฒนธรรมกาแฟของที่นี่คงไม่ได้ เพราะไม่ว่าคุณจะเคยชินกับร้านกาแฟอย่าง Starbucks หรือร้านกาแฟร้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันจนจำชื่อไม่ไหวแล้วนั้น ทุกร้านต่างมีความเหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือการหาวิธีชงกาแฟให้เหมือนกาแฟอิตาลีนั่นเอง ก็คำว่า Espresso, Capuccino หรือ Americano มันก็คือภาษาอิตาเลี่ยนทั้งหมด Macchiato ก็ใช่ แล้วเครื่องทำกาแฟที่เรียกว่า Espresso Machine ยี่ห้อดังๆ นั้นก็มาจากอิตาลีกว่า 80% แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่าต้นตำรับได้ยังไง
จริงอยู่ที่กาแฟนั้นถือกำเนิดมาจากโลกมุสลิม แต่กาแฟนั้นเริ่มเป็นที่นิยมและเกิดเป็นธุรกิจแพร่ขยายไปทั่วนั้น ต้องบอกว่ามันเริ่มมาจากที่อิตาลี เพราะกาแฟมาถึงยุโรปครั้งแรกในปี1600 ก็มาขึ้นฝั่งที่เมืองเวนิสนั่นเอง ทำให้เกิดร้านกาแฟแห่งแรกของอิตาลีขึ้นที่นั่น และถ้าเราสังเกตชื่อของกาแฟประเภทต่างๆ ที่อยู่ในเมนูตามร้านกาแฟก็มักจะเป็นภาษาอิตาเลี่ยนทั้งสิ้น อาจเป็นเพราะว่าเครื่องชงกาแฟแบบเอสเปรสโซถูกคิดค้นขึ้นมาในอิตาลี โดย แองเจโล โมริออนโต (Angelo Moriondo) ทำให้ในช่วงศตวรรษที่18 เริ่มมีร้านกาแฟชื่อดังเกิดขึ้นในทุกภาคของอิตาลี เช่น Caffè Florian ใน Venice, Antico Caffè Greco ใน Rome, Caffè Pedrocchi ใน Padua, Caffè dell’Ussero ใน Pisa และ Caffè Fiorio ใน Turin เป็นต้น และกาแฟประเภทต่างๆ นั้นก็ใช้ Espressoเป็นฺBaseทั้งนั้น ในอิตาลีจึงเป็นต้นกำเนิดของกาแฟในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
• Caffè: มันแปลว่ากาแฟในอิตาลีแต่ถ้าสั่งมันคุณจะได้ Espresso เพราะที่นี่ไม่มีกาแฟแบบอเมริกันหรือ Americano ที่เป็น filtered coffee กาแฟผ่านกระดาษกรอง ซึ่งความที่นักท่องเที่ยวไม่คุ้นเคยกับความรุนแรงของระดับคาเฟอีนใน Espresso ที่อาจทำให้หัวใจสั่นไหวหรือที่เรียกว่าอาการใจสั่นบ้างก็ตาแข็งนอนไม่ได้ ทำให้เมนู Americano เริ่มมีปรากฏแต่มันก็คือEspressoเติมน้ำร้อนนั่นเอง
• Cappuccino: มันก็คือEspresso ที่ก้นแก้วแล้วเติมฟองนมร้อน มันถูกตั้งชื่อมาจากคำว่า Cappuccini ที่แปลว่า hoodสวมหัวของพระ Capuchin Monks ซึ่งพระนิกายนี้จะใส่ชุดสีออกน้ำตาลหม่นๆ เหมือนน้ำตาลแก่ผสมนมมีฮู๊ดคลุมศีรษะ สีกาแฟคาปูชิโนก็คือสีกาแฟดำผสมฟองนม ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ อย่างไรก็ตามมีประวัติว่ามีการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรวิธีการกาแฟคาปูชิโนในอิตาลีมาตั้งแต่ปี 1901
Caffè Latte: มันก็คือEspresso ที่ก้นแก้วแล้วเติมนมร้อนที่ไม่ตีฟองลงไป คำว่า Latte ก็คือ Milkในภาษาอังกฤษนั่นเอง
• Caffè Macchiato: มันแปลว่ากาแฟที่มีรอยแต้ม“spotted”or“stained”เพราะมันมีการสาดนมอุ่นลงมาผสมเล็กน้อย
• Latte Macchiato: มันแปลว่ากาแฟที่มีรอยแต้มเช่นกัน แต่มันหนักนมเพราะมันคือนมอุ่นที่มีการสาดกาแฟลงมาผสมเล็กน้อย
• Caffè Americano: กาแฟแบบอเมริกันAmericano ที่เป็น filtered coffee กาแฟผ่านกระดาษกรองมันไม่มีในสารบบอิตาเลี่ยน แต่มันก็ต้องเอาใจนักท่องเที่ยวซึ่งแท้จริงมันก็คือ Espresso เติมน้ำร้อนเพิ่ม
• Caffè Lungo: คือ “long” coffee หรือespressoที่ใช้เทคนิคจากเครื่องชงโดยเฉพาะที่มีเครื่องโยก บางเครื่องจะมีเทคนิคโยกให้ช้า เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นได้กาแฟแก้วใหญ่ขึ้นแต่เข้มกว่า Americano
มาทำความรู้จักกับ Espresso กัน
ในเมื่อกาแฟในทุกเมนูต่างก็ใช้Espressoเป็นพื้นฐาน(Base) ก่อนนำไปเติมนมหรือผสมโกโก้ และการชงEspressoมันเป็นการทำถ้วยต่อถ้วย ไม่ใช่แบบการแฟต้มผ่านไส้กรองที่ทำเป็นหม้อๆ ทิ้งไว้แล้วคอยอุ่นเอาเวลาเสิร์ฟ ดังนั้นการชงถ้วยต่อถ้วยมันต้องใช้ฝีมือคนชงที่เรียกว่า บาริสต้า เพราะมันมีรายละเอียดเยอะเช่นบดกาแฟละเอียดไปหรือหยาบไปอัดกาแฟแน่นไปความดันของเครื่องทำอ่อนไป หรือ โน่นนี่นั่น เรามารู้จักEspresso แบบคร่าวๆ กันครับ
Espresso เอสเปรสโซ่ เป็นภาษาอิตาเลี่ยนที่มีความหมายว่า Expressในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า เร่งด่วน รีบ หรือรวดเร็ว นั่นเอง เพราะการชงกาแฟสมัยก่อนนั้นจะเป็นต้มเป็นหม้อๆ ทิ้งไว้แล้วอุ่นร้อนเวลาเสิร์ฟ ไม่ได้ชงกันเป็นแก้วต่อแก้วแต่หลังจากที่แองเจโล โมริออนโต (Angelo Moriondo) ชาวอิตาเลี่ยนที่คิดค้น Espresso Machineขึ้นมา ก็เลยทำให้วิธีชงกาแฟในอิตาลีนั้นแตกต่างไปเป็นการสกัดกาแฟด้วยแรงดันไอน้ำหรือปั๊มน้ำ Espresso ดั่งเดิมในอิตาลีจะใช้กาแฟ 7-8 กรัม น้ำกาแฟหลังสกัดรวมครีมม่าจะออกมาที่ 25-30 cc.ใช้เวลาสกัด 20-30 วินาที และเพื่อช่วยให้ครีมม่าสวยงามเนียน เขาอาจไม่ใช้กาแฟอาราบิก้าล้วนแต่มักผสมกาแฟแบบโรบัสต้าเข้าไป10%
ส่วนผสมของEspressoจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ
1.ครีมม่า (Crema) ฟองสีทองด้านบน ซึ่งประกอบด้วย ไอน้ำ,ก๊าซคาบอนไดออกไซค์,ผนังของเยื่อกาแฟ และน้ำมันที่อยู่ในเม็ดกาแฟ
2.บอดี้(Body) ส่วนของเหลวส่วนกลาง
3.ฮาร์ท(Heart) ส่วนของเหลวด้านล่างประกอบด้วย ไอน้ำ, สารแขวงของของแข็งที่ไม่ละลายน้ำ และฟองอากาศ
การจะได้ซึ่ง Perfect Shot of espresso
คือต้องมีการสกัดกาแฟ(Extraction) ออกมาอย่างพอดีไม่เข้มเกินไปที่เรียกว่า Over Extraction (มีของแข็งไม่ละลายน้ำออกมาจากกาแฟที่เราสกัดมากเกินไปทำให้ได้รส ขม, ไหม้, หนักลิ้น, เฝื่อน รสชาติเข้มไป)
หรือไม่สกัดออกมาอ่อนเกินไปที่เรียกว่า Under Extraction (มีของแข็งไม่ละลายน้ำออกมาจากกาแฟที่เราสกัดน้อยเกินไปทำให้ได้รส เปรี้ยว, จืด, ฝาดแห้งลิ้น รสชาติอ่อนไป)
ปัจจุบันมีการใช้เครื่อง TDS Refractometer วัดค่าการละลายของแข็งในน้ำกาแฟเพื่อหาจุดที่พอเหมาะอย่างไรก็ตามการสกัดกาแฟจะมีองค์ประกอบที่ต้องใส่ใจ ดังนี้ คือ เวลาการสกัดว่านานหรือน้อยไป(ส่วนใหญ่จะ22-25วินาที),อุณหภูมิน้ำสูงหรือต่ำไป, ปริมาณกาแฟ(มาตรฐาน20กรัม), กาแฟใหม่หรือเก่า(ไม่ควรเกิน2-3เดือน), กาแฟละเอียดไปหรือหยาบไป, การเกลี่ยผงกาแฟต้องเสมอไม่เอียง,การกดแน่นเกินหรือเบาไป(มาตรฐาน 10-15 กก.), กาแฟคั่วมาเข้มไปหรืออ่อนไป(มาตรฐานคือคั่วปานกลาง), แรงดันน้ำสูงไปหรือต่ำไป(มาตรฐานคือ9บาร์),น้ำมีค่า TDSสูงไปเช่น น้ำแร่,น้ำประปา หรือต่ำไป เป็นต้น
การดื่มกาแฟเอสเพรสโซ่ต้องดื่มจากแก้วเซรามิคเท่านั้น ไม่มีการใส่แก้วกระดาษtake away ควรกระดกทีเดียวหมดแก้วหรือเต็มที่ก็ไม่เกิน2ครั้ง(Single Short Espresso) ไม่ควรดื่มน้ำตามทันที เพราะจะเสียอรรถรสของ After Taste ที่เราควรได้enjoyจาก espresso
วัฒนธรรมกาแฟในอิตาลี
A “bar” is really a “cafe” ไปร้านกาแฟก็เหมือนไปบาร์
ร้านกาแฟส่วนใหญ่ในอิตาลีก็คือบาร์ที่ขายเครื่องดื่มแบบแอลกอฮอล์ด้วย ไม่ทราบว่าจะเป็นสาเหตุที่ชาวอิตาเลี่ยนส่วนใหญ่มักจะยืนดื่มกาแฟที่บาร์ด้วยหรือเปล่า หรืออาจเป็นเพราะว่าถ้าเรานั่งที่โต๊ะมันจะโดนService Chargeด้วย การดื่มกาแฟของคนที่นี่ส่วนใหญ่จะดื่มกาแฟผสมนมเฉพาะแก้วแรกตอนเช้าเท่านั้น เพราะเขาเชื่อว่าหลังมื้ออาหารแล้วการดื่มนมจะเป็นอุปสรรคต่อการย่อย ดังนั้นตลอดวันเค้าจะดื่มแต่ Espressoเป็นหลักซึ่งเวลาสั่งเขาจะไม่บอกว่า ‘un caffè’ หมายถึงขอ”กาแฟที่นึง”ไม่ใช่ขอ เอสเปรสโซที่นึง เพราะการสั่งกาแฟนั้นคุณก็จะได้เอสเปรสโซนั่นเอง วิธีการก็คือดื่มเหมือนเหล้า1ช็อตนั่นแหละครับ คือต้องกระดกทีเดียวหมด ไม่มีการจิบ ต้องขอบอกว่า Espresso นั้นเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เครื่องจักรทำงานจะเห็นว่าคนอิตาเลี่ยนกระดกมันวันละเฉลี่ย 2-4shot เลยทีเดียว และมันก็ราคาถูกมากๆ ครับ ไม่ถึงยูโรแค่ 80 cents. เท่านั้น แต่ไม่นิยมสั่งแบบ 2 ช็อตแบบดับเบิ้ลเอสเปรสโซ่ หรือ un caffè doppio คือเขาจะนิยมสั่งเป็นถ้วยเล็ก 2 แก้วมากกว่า แล้วก็ประเภทสั่งไปดื่มที่อื่นหรือ ‘to go’ ก็ลืมๆ ไปเลย เพราะคนที่นี่บอกว่ากาแฟต้องดื่มกับถ้วยceramicเท่านั้นจึงจะได้รสชาติ ก็เหมือนไวน์ที่ไม่ควรดื่มจากแก้วพลาสติกนั่นเอง ประเภทร้านกาแฟแบบอเมริกันที่มักจะรีบร้อนขนาดกาแฟแก้วเดียวไม่มีเวลาดื่มที่ร้านนั้นที่อิตาลีไม่เข้าใจครับ โดยเฉพาะเวลากินเวลาดื่มนั่นคือต้องenjoyต้องได้ทักทายคนโน้นคนนี้ที่คุ้นเคยในละแวก แนวคิดของเค้าเป็นแบบนั้นถ้าไม่ใช่ร้านนักท่องเที่ยวจ๋าละก็ไม่มีเจอแก้วกระดาษto go แน่ๆ ครับ
เมื่อกาแฟอเมริกันจะมาแข่งกับกาแฟอิตาเลี่ยน
ไหนๆ พูดถึงเรื่องกาแฟอิตาเลี่ยนแล้วคงต้องขอพูดถึงchainกาแฟอเมริกันชื่อดังอย่างStarbucks ด้วยอันที่จริงแล้ว สตาร์บัคส์ได้แรงบันดาลใจมาจากร้านกาแฟในอิตาลีนี่เอง ในการทำร้านกาแฟธรรมดาๆ ในซีแอทเทิลให้กลายเป็นเชนกาแฟยักษ์ใหญ่อย่างในปัจจุบัน เพราะเมื่อ 34 ปีที่แล้วนาย Howard Schultz ซึ่งเป็น Chairman และCEOคนปัจจุบันของStarbucks ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทได้มีโอกาสมาประชุมในงานกาแฟนานาชาติที่มิลานและเวโรน่าของอิตาลีเมื่อปี 1983 เขาได้สัมผัสวัฒนธรรมเอสเพรสโซบาร์ของชาวอิตาเลี่ยน ที่ใครๆ ก็ไปร้านกาแฟเพื่อดื่มด่ำทั้งกาแฟรสดี และบรรยากาศของความอบอุ่นเป็นกันเองระหว่างบาริสตากับลูกค้า แรงบันดาลใจจากอิตาลีเป็นต้นกำเนิดของการเปลี่ยนโฉมสตาร์บัคส์จากร้านกาแฟธรรมดาๆ ให้กลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์และจุดหมายที่ต้องแวะ
ภาพ Howard Schultzซึ่งเป็น Chairman และ CEOคนปัจจุบันของStarbucks ถ่ายที่galleriaที่Milan (Photo cr.starbucks com)
แต่ไม่ว่า Starbucksจะขยายสาขามากมายไปได้ทุกหนแห่งในโลกนี้ แต่ก็ยังไม่กล้าเปิดสาขาในอิตาลีเจ้าตำรับร้านกาแฟที่ไม่ว่าจะเดินไปไหนก็จะมีคาเฟ่หรือเอสเพรสโซบาร์ซ่อนตัวอยู่ทุกมุมถนน ที่สำคัญแต่ละร้านจะมีรสชาติเปี่ยมด้วยคุณภาพและจิตวิญญาณ และจากการทำ Market Test คนอิตาเลี่ยนต่างก็มองว่าธุรกิจกาแฟเชนคงไปรอดได้ยากในอิตาลี เพราะถูกมองว่าเป็นของเลียนแบบไม่ใช่ของแท้และรสชาติ“ไม่ถึง”ขนาดที่ขนานนามกาแฟเชนนี้ว่าเป็น”diluted coffee” ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านการตลาดเองก็มองว่าสตาร์บัคส์ต้องเจอกระดูกชิ้นใหญ่ในการบุกตลาดอิตาลีแน่นอน เพราะที่นี่คู่แข่งเขาไม่ใช่เชนอื่นๆ แต่คือร้านกาแฟที่เรียกว่าบาร์ท้องถิ่นที่มีอยู่ถึง 149,300 แห่งในอิตาลี(ที่มา: 2016 annual report issued by Federazione Italiana Pubblici Esercizi (FIPE)
ร้านกาแฟร้านแรกของสตาร์บัคในอิตาลีขึ้นป้ายโฆษณา ณ ตำแหน่งที่จะเป็นที่ตั้งของร้านจริง
แต่ในที่สุดชูลท์สก็ประกาศจะเปิดสาขาสตาร์บัคส์ในอิตาลีครั้งแรกตั้งแต่ต้นปี 2016 โดยบอกว่าจะเปิดสาขาแรกในมิลาน สถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขา ภายในหนึ่งปีโดยกำหนดสถานที่ว่าจะเป็นที่ Palazzo Delle Poste อาคารที่ทำการไปรษณีย์เก่าในจตุรัสคอรดุสซิโอ Piazza Cordusio แต่เมื่อถึงต้นปี 2017 เข้าจริงๆ ชูลท์สก็กลับเลื่อนออกไปบอกว่าจะเปิดสาขาสตาร์บัคส์ในอิตาลีในปลายปี 2018 แทน โดยเป็น Starbucks Roastery หรือร้านกาแฟพรีเมียมที่คั่วเมล็ดกาแฟเองในร้าน และโชว์กระบวนการทำกาแฟทุกขั้นตอนให้ลูกค้าได้ดูแบบสดๆ ทั้งวัน นอกจากนี้ สาขาในอิตาลียังจะมีกาแฟแบบใหม่ๆ ที่ไม่มีเสิร์ฟในสาขาอื่น เพื่อจูงใจนักดื่มกาแฟชาวอิตาเลี่ยนให้หันมาลองกาแฟอเมริกันอย่างสตาร์บัคส์ โดยจะเน้นเอสเพรสโซเป็นพิเศษ เพราะคนอิตาเลี่ยนนิยมกินกาแฟเอสเพรสโซเป็นหลัก ก็คงต้องมาเอาใจช่วยกันสำหรับแฟน Starbucks มันท้าทายมากเพราะถ้าทำสำเร็จกาแฟของเขาจะได้ชื่อว่าเป็นกาแฟที่ผ่านมาตรฐานต้นตำรับ และระดับผู้บริโภคกาแฟที่เอาใจยากที่สุดในโลกมาแล้ว
ที่สุดของสถาบันกาแฟในโรม
เกริ่นถึงเรื่องกาแฟมาพอหอมปากหอมคอ ที่จริงแล้วเราสามารถคุยกันถึงประวัติความเป็นมากันได้อีกยาวเหยียด แต่ตอนนี้อยากให้มาลองของจริงกันดีกว่าว่าหากมาที่โรมแล้ว จะไปแวะ Coffee Break แถวไหนกันดีเรากำลังจะพูดถึงร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงระดับ Top ของ Rome ซึ่งแน่นอนว่ามันก็คือ Top ของโลกด้วยเช่นกัน
Caffé della Pace
Via della Pace, 5
www.caffedellapace.it
ที่นี่น่าจะเป็นร้านกาแฟคลาสสิกของโรมที่ผมชอบที่สุด คือนอกจากมันจะเปิดมานานเป็นร้อยๆ ปีแล้วแต่บรรยากาศมันก็ยังโรแมนติกมากๆ อยู่ อาจเป็นเพราะมันอยู่ใกล้จัตุรัสนาโวนา Piazza Navonaที่ขึ้นชื่อเรื่องความchill สุดๆ อยู่แล้ว หรืออาจเป็นเพราะไม้เลื้อยบนกำแพงเก่าแก่ของร้านที่ปล่อยให้รกรุงรังแบบไม่ตั้งใจหรือประตูไม้โบราณทางเข้าร้านที่แมทช์กับเคาน์เตอร์บาร์ยุคก่อนเราเกิดก็ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ คือห้ามพลาดการมาดื่ม Espresso หรือ Cappuccino ที่นี่สักครั้งและถ้าอากาศดีก็ต้องนั่งoutdoorหน้าร้านเพื่อความchill อาจเสียงดังล้งเล้งหน่อย เพราะชาวอิตาเลี่ยนเวลาคุยกันแล้วมันออกรสชาติเหมือนคนจีน เอ…หรือว่ามาร์โกโปโลเอาวัฒนธรรมเสียงดังนี้กลับมาจากเมืองจีนด้วย? ร้านนี้ตกแต่งแบบคลาสสิกเพราะเปิดมาตั้งสมัยศตวรรษที่ 18thตั้งอยู่ที่จัตุรัส Piazza della Pace
บรรยากาศหน้าร้าน Caffé della Pace
บรรยากาศในร้านและหากมาช่วงพลบค่ำร้านนี้ก็ไม่เป็นรองใคร
Antico Caffé Greco
Via dei Condotti, 86
www.anticocaffegreco.eu
ถ้าคุณมาเดินช้อปปี้งแถวถนน Condotti ซึ่งก็อยู่แถวย่านบันไดสเปน แล้วเกิดอยากนั่งพักดื่มกาแฟสักแก้วที่เป็นร้านกาแฟประวัติศาสตร์ก็ให้มาที่เลขที่86ได้เลย บรรยากาศในร้านอาจไม่ผ่อนคลายมากนัก เพราะดูเป็นงานเป็นการไปหน่อยแถมยังเก่าแก่เคร่งขรึมเกินไปสำหรับยุคปัจจุบัน แต่นี่คือ Historic Grand Coffee House ที่เปิดมาตั้งแต่ก่อนจักรพรรดินโปเลียนเกิดถึง 9 ปี ที่ยกตัวอย่างนโปเลียนก็เพราะในปี 1805 นโปเลียนประกาศสถาปนาตนเองเป็น King of Italy หลังจากยึดดินแดนทางเหนือของอิตาลีได้
ร้านนี้มีบุคคลดังๆในอดีตแวะมาเยี่ยมเยียนเช่นนักปราชญ์และจินตกวีชาวเยอรมันชื่อเกอร์เต้ Johann Wolfgang von Goethe ดังนั้นหากคุณมีอารมณ์และรสนิยมเหมือนศิลปินชื่อดังจินตกวีนักดนตรีที่ทั่วโลกรู้จักในอดีตและชอบการตกแต่งแบบร้านกาแฟในเวียนนากับรสชาติกาแฟอมตะเหมือนฉายาของกรุงโรม (The Eternal city) มาที่นี่ให้ได้ครับเปิดบริการมาตั้งแต่ปี1760 แต่ขอเตือนว่าก่อนสั่งให้ดูเมนูและราคาดีๆก่อนเพราะราคาอาจแตกต่างกับร้านกาแฟทั่วไปอยู่บ้าง
Tazza D’Oro
Via degli Orfani, 84
www.tazzadorocoffeeshop.com
ร้านนี้อยู่ใจกลางโรมใกล้กับวิหารเก่าแก่ที่สุดของโรมที่ยังคงความสมบรูณ์แบบและมีชื่อว่า Pantheon และหากคุณใจตรงกันกับผู้ที่เป็น Coffee Lover จากทั่วโลกที่มาต่อคิวรอชิมกาแฟของร้านนี้มาเลยครับ มีชื่อเสียงในเรื่อง Espresso ถึงขนาดเข้าชิงอันดับ1 เพื่อครองตำแหน่ง The Best Espresso In Rome กับร้านคู่แข่งที่อยู่ใกล้กันคือ Caffé Sant’Eustachio ที่จะพูดถึงต่อไป
หรือถ้ามาที่นี่หน้าร้อนก็เข้าทางแบบไทยๆ เรา คือชอบดื่มเย็นที่นี่ก็มีชื่อครับสั่งเลย Granita (Frozen Coffee) แต่ต้องขอเตือนไว้ก่อนนะครับกาแฟที่นี่เข้มยิ่งกว่ากาแฟสำหรับคนขับสิบล้อบ้านเราที่ต้องการขับรวดเดียวจากเชียงใหม่ถึงสุไหง-โกลกเลยครับ นอกจากนี้ทางร้านยังมีกาแฟคั่วใส่ถุงกลับไปชงดื่มที่บ้านที่ยอดเยี่ยมขึ้นชื่อต้องซื้อ ถุงแดง La Regina dei caffe แบบรูปข้างล่างนี้กลับไปลองครับที่สุดของ Espresso
Sant’Eustachio
Piazza Sant’Eustachio, 82
www.santeustachioilcaffe.it
ร้านดังร้านนี้มีสัญลักษณ์เป็นหัวกวางอยู่ระหว่างจัตุรัสโนวาน่ากับวิหารพันเตออน ถ้าคุณเป็นนักดื่มกาแฟแบบซีเรียสที่ค้นหา The Best Espresso In Rome หรือต้องการจะหากาแฟคั่วเกรด Grand Cru แบบนักชิมไวน์ คุณต้องมาหาซื้อกาแฟที่เป็น Gourmet Coffee ที่แท้จริงจากที่นี่ เพราะเจ้าของร้านที่ชื่อว่านาย Roberto Ricci เป็นคนทุ่มเทในการสรรหาแหล่งที่มาของกาแฟที่ดีที่สุดตลอดจนกรรมวิธีการคั่วที่หาตัวเทียบยากในด้านของคุณภาพ และกลิ่นรสที่คอกาแฟโหยหา มีลูกค้าที่เป็นระดับผู้นำประเทศที่สั่งกาแฟจากร้านนี้ไปชงที่บ้านเป็นประจำ รวมทั้งดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังอย่าง Tom Hanks