City Break Paris Part XV

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 15

เที่ยววิหารแซ็งต์-ชาแปล

City Break Paris St.Chapelle 11

ก่อนที่เราพักเบรกเรื่องเที่ยวในตอน 12-14 เพื่อคุยเรื่องอาหารเช้าในปารีสนั้น เราอยู่กันแถวๆ วิหารโนเตรอดามซึ่งก่อนจะออกจากย่าน Île de Cité นี้ ผมว่าสมควรอย่างยิ่งที่เราควรแวะชมวิหารแบบกอทิกที่มีการประดิษฐ์แบบประณีตบรรจงซึ่งพิเศษน่าทึ่งอีกแห่งหนึ่ง แล้วก็อยู่ไม่ห่างจากโนเตรอดาม สามารถเดินข้ามถนนผ่านกระทรวงตำรวจมาบล็อกเดียวเราก็จะพบกับวิหาร St.Chapelle

City Break Paris St.Chapelle 3

ภาพด้านบนคือเกาะซิเต้  Île de Cité ในปัจจุบันจะเห็น west façade ของโนเตรอดามและยอดแหลมของวิหารน้อย St.Chapelle

City Break Paris St.Chapelle 4

คำว่า Chapelle ก็มาจากคำว่า Chapel (มีรากมาจากภาษา Latin คือ cappella) ซึ่งหมายถึงโบสถ์ขนาดเล็กหรือแท่นบูชา เราจะสังเกตเห็นแม้ในวิหารขนาดใหญ่ก็จะมี Chapel หรือแท่นบูชาขนาดย่อมอยู่ตามมุมต่างๆ ดังนั้นสำหรับผู้นับถือคริสต์แล้ว ในโรงเรียน,ในโรงพยาบาลหรือแม้แต่ในคุกก็มักจะมี Chapel ไว้สำหรับสักการะบูชาหรือสวด จะว่าไปก็เหมือนห้องพระของพวกเราชาวพุทธหรือแท่นบูชาพระสำหรับบ้านที่ไม่มีห้องพระ แต่สำหรับในวังหลวงแล้ว Chapel ของกษัตริย์นั้นยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับ โบสถ์(Church) ของชาวบ้านทั่วไปครับ และนั่นคือที่มาของโบสถ์น้อยแซ็งต์-ชาแปล

City Break Paris St.Chapelle 5

จะเห็นว่าถ้าดูจากด้านนอกแล้ว St.Chapelle มีขนาดไม่ใหญ่

City Break Paris St.Chapelle 1

Altar ทีเป็นซุ้มหลังคาในรูปก็คือจุดที่เคยใช้เก็บเรลิกหรือมงคลวัตถุ

วิหารแซงต์-ชาแปล ถือเป็นผลงานชิ้นที่มีความงดงามมากที่สุดของสถาปัตยกรรมรูปแบบกอทิกในปารีส สถานที่ตั้งของวิหารแห่งนี้อยู่ภายในพื้นที่ของอาคารศาลยุติธรรม (Palais de Justice) ในปัจจุบัน ซึ่งใน สมัยนั้นถือเป็นบริเวณลานพระราชวังหลวง Palais de la Cité โบสถ์น้อยแห่งนี้มีการประดับประดาหน้าต่างด้วยกระจกสีในช่วงศตวรรษที่ 13 ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของสถาปัตยกรรมแรยอน็องซึ่งนับเป็นยุคหนึ่งของศิลปะแบบกอทิก วิหารแซงต์-ชาแปลก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ทั้งนี้ระยะเวลาในการก่อสร้างที่แท้จริงไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในบันทึกใด (คาดว่ามหาวิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่13 เริ่มจากปี 1239) ส่วนสถาปนิกผู้ออกแบบก็ไม่ปรากฏว่าเป็นใครเช่นกันแม้ว่าจะมีการอ้างว่าเป็นฝีมือของปีแยร์เดอมงเตอโร แต่ก็ยืนยันไม่ได้เต็มที่

City Break Paris St.Chapelle 9

แต่ที่แน่ๆ ก็คือวัตถุประสงค์ในการสร้างแซ็งต์ชาเปลนั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บรักษามงคลวัตถุหรือ(relics) เรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล ซึ่งประกอบด้วย มงกุฎหนามของพระเยซู, ภาพเอเดสซา และเรลิกอื่น ๆ เกี่ยวกับพระเยซูอีก 22 ชิ้นที่เดิมเป็นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9

City Break Paris St.Chapelle 2

ภาพบนนี้คือเรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล ที่มีค่าของชาวคริสต์ นั่นคือเศษไม้กางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซู

โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1239 ที่ทรงได้รับมาจากนักบวชคณะดอมินิกันสององค์ที่เวนิสจากนั้นเมื่อครั้งที่พระเจ้าหลุยส์ทรงเสด็จไปทำสงครามครูเสด ก็ได้ทำการซื้อเรลิกที่เกี่ยวกับพระทรมานของพระเยซูจาก จักรพรรดิโบดูอินที่ 2 Emperor Baudouin II แห่งคอนสแตนติโนเปิลเป็นจำนวนเงินมหาศาลถึง 135,000 ลีฟวร์ตูร์นัว ซึ่งตอนนั้นจักรพรรดิท่านได้จำนำเรลิกนี้ จำนำไว้กับธนาคารในเวนิส Venetian bank (ซึ่งมาถึงตอนนี้บางท่านอาจะสงสัยว่าสมัยนั้นมี Bank ด้วยหรือ? ต้องบอกว่าในยุโรปนั้นระบบการเงิน (Monetary system)นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้วครับ แต่มาเริ่มเป็นระบบธนาคารแบบจริงจังก็ในสมัยปี 1397 โดยนาย Giovanni Medici ตระกูลMedici ก็คือเศรษฐีดังของเมืองฟลอเรนซ์อิตาลี เป็นผู้ตั้งธนาคารชื่อ Banca Monte dei Paschi di Siena, มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Siena, Italy ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังเปิดบริการอยู่ถือเป็นธนาคารแห่งแรกของโลก และคำว่า Bank ก็มาจากคำว่า Banca ซึ่งหมายถึง Bench หรือม้านั่ง ในยุคแรกนั้นพ่อค้าเงินจะนั่งอยู่ตามม้านั่งแถวหน้าตลาด เพื่อรับแลกเงินหรือให้กู้เงินโดยผู้กู้ต้องเอาหลักประกันมาจำนำไว้)

City Break Paris St.Chapelle 12

ภาพบนเป็น นิทรรศการที่จัดเรื่อง กรุสมบัติของกษัตริย์แซงต์ลุยส์

กลับมาเรื่องเดิมจะเห็นว่า เมื่อเทียบกับ ค่าก่อสร้างแซ็งต์-ชาแปลเองที่เป็นที่เก็บตกมงคลวัตถุซึ่งมีราคาเพียง 40,000 ลีฟวร์ตูร์นัว ถือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ทรงลงทุนในเรลิกหรือมงคลวัตถุเป็นเงินมหาศาลทีเดียว และก่อนหน้าที่จะสร้างเสร็จ เรลิกได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังแวงแซนส์ และในชาเปลที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะที่พระราชวังแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล โดยในปี ค.ศ. 1241 ก็ได้เรลิกเพิ่มขึ้นอีกรวมทั้งไม้กางเขนแท้และอื่นๆ ฉะนั้นแซ็งต์-ชาแปลที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 เมษายนค.ศ. 1248 จึงเป็นเสมือน “หีบบรรจุวัตถุมงคล” (Reliquary) ไปโดยบริยาย โดยที่ในสมัยของกษัตริย์ Saint-Louis ท่านจะนำวัตถุมงคลหรือ relics ออกแสดงให้กับชาวคริสต์ทุกวันศุกร์ของเทศกาลอีสเตอร์หรือที่เรียกว่า Good Friday ของทุกๆ ปี

City Break Paris St.Chapelle 16

ภาพบนนี้คือ:เรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล ที่มีค่าของชาวคริสต์ มงกุฎหนามของพระเยซู

นั่นหมายความว่าจะมีนักแสวงบุญหรือ pilgrims มากมายมาที่ที่นี่ เพื่อสักการะบูชาและแน่นอนมียอดบริจาคและทำให้ปารีสมีศักดิ์ศรีเป็นเมืองเอกทางคริสต์ศาสนาอย่างน่าภาคภูมิ ต้องให้เครดิตนี้แก่พระเจ้าหลุย์ที่ 9 ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานตำแหน่ง ‘Saint’ให้เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเมืองปารีสสมกับที่ท่านเป็นผู้มุ่งมั่นทุ่มเททำนุบำรุงและสนับสนุนคริสต์ศาสนาอย่างแท้จริง

City Break Paris St.Chapelle 13

รูปปั้นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 หรือ เซ็นต์หลุยส์ อยู่ที่บริเวณ ชาเปลด้านล่าง

City Break Paris St.Chapelle 14

เเซ็งต์ชาเปล จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยชาแปลชั้นล่าง the lower chapel จะเป็นที่สวดบูชาสำหรับเจ้าหน้าที่พนักงาน

City Break Paris St.Chapelle 15

ในชาเปลชั้นบน the upper chapel จะเป็นชาเปลสำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนสิ่งที่เด่นที่สุดของแซ็งต์-ชาแปลโดยเฉพาะในชาเปลชั้นบนคือหน้าต่างประดับกระจกสีที่แคบและสูงและตกแต่งด้วยกระจกที่เป็นสีแพรวพราวมีความสูงโปร่งบางแบบไร้น้ำหนักเพราะกำแพงโดยรอบแทบจะประกอบด้วยกระจกทั้งหมด เป็นพื้นที่ถึง 618 ตรม. ของกระจกย้อมสี stained glass และเป็นเรื่องราวจากพระคัมภีร์เก่าและใหม่ที่มีตัวละครประกอบ biblical figures ถึง 1,130 รูป

City Break Paris St.Chapelle 6

และยังมีหน้าต่างกุหลาบมาเพิ่มเติมบนชั้นบนของชาเปลภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยมีการประกอบส่วนของกระจกทั้งหมด 87 ชิ้นงาน (petals)

ชาเปลได้รับความเสียหายอย่างหนักในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อยอดและเบญจา“grande châsse” ก็ถูกรื้อ และเรลิกกระจัดกระจายหายไป ยังคงเหลืออยู่แต่ “เรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล” ที่ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกางเขน เล็บของพระเยซู และมงกุฎหนาม( a fragment of the cross, a nail, and the crown of thorns) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิหารโนเตรอดามแห่งปารีส

และชาเปลที่เห็นในปัจจุบันเป็นงานที่สร้างใหม่ แต่สองในสามของหน้าต่างประดับกระจกสีนั้นเป็นหน้าต่างดั้งเดิม งานบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ได้รับการบันทึกอย่างถี่ถ้วนทำโดยเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุกในปี ค.ศ. 1855 ถือกันโดยผู้ร่วมสมัยว่าเป็นงานบูรณะปฏิสังขรณ์ชั้นเยี่ยม และเที่ยงตรงต่อภาพวาดและคำบรรยายดั้งเดิมของชาเปลที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะ ในส่วนที่เป็น upper chapel ต่างจากส่วนที่เป็น lower chapel นั้นถือว่าเป็นงานสร้างใหม่ล้วนๆ “reinvented” เพราะไม่มีต้นแบบพิมพ์เขียวดั่งเดิมหลงเหลืออยู่

City Break Paris St.Chapelle 10

แซ็งต์-ชาแปลมีฐานะเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862

City Break Paris St.Chapelle 7

นอกจากนี้วิหารแซงต์-ชาแปลยังเป็นสถานที่ในการจัดแสดงดนตรีคลาสสิกในเทศกาลหรือวาระต่างๆ เพื่อมอบความบันเทิงให้แก่ประชาชนด้วย ผมได้มีโอกาสมาปารีสครั้งล่าสุดเป็นช่วงสัปดาห์วันคริสต์มาสยังอยากซื้อตั๋วเข้าฟังดนตรีที่นี่ ต้องยอมรับระบบ Acoustic ในโบสถ์วิหารต่างๆ ในยุโรปนั้นดีเยี่ยมสำหรับการแสดงดนตรีตั้งแต่ 3-5 ชิ้นขึ้นไป หรือแม้แต่บางแห่งก็สามารถรองรับวง Orchestra ขนาดเล็กถึงกลางโดยเสียงยังไม่ก้องจนเกินไป ก็จริงๆ แล้ววิวัฒนาการทางดนตรีก็เริ่มจากโบสถ์ครับ จากการฟังพระเทศน์ฯอย่างเดียวก็กลายมาเป็นร้องเพลงประสานเสียงแล้วก็เกิดการนำเครื่องดนตรีเข้ามาในโบสถ์ทีละชิ้น 2 ชิ้น โมซาร์ต Mozart ก็เริ่มดังมาจากในโบสถ์ครับ

ก่อนจะออกจาก Île de Cité ก็คงต้องขอพูดถึงเรื่องราวของ La Conciergerie ลา กงซีแยร์เฌอรี ซึ่งเคยเป็นวังเก่าคือ ปาเลเดอลาซีเต แต่คงต้องมาสรุปกันในตอนหน้าครับ

City Break Paris Part XIV

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 14
อาหารเช้าในปารีส (ตอนจบ)

แบบไม่ธรรมดา
ความหมายของอาหารเช้าแบบไม่ธรรมดาที่ปารีส มันก็คือแบบที่มันแปลกออกมาสักหน่อย เช่นปกติแล้วที่ฝรั่งเศสจะไม่นิยมกินไข่เป็นอาหารเช้า เช่นเดียวกับประเทศในยุโรปภาคพื้นทวีปที่ทานอาหารเช้าแบบ continental breakfast ดังนั้นถ้าร้านไหนมันโดดเด่นจัดอาหารเช้าแบบเต็มที่มีไข่ ผมก็ถือว่ามันเป็นแบบไม่ธรรมดาแล้ว หรืออะไรที่มันมีความ Unique หรือเก๋ไก๋ไม่ธรรมดาก็อยู่ในหมวดนี้

1. แบบแพนเค้ก (Galette with andouille) แพนเค้กฝรั่งเศสกับไส้กรอกหมูอานดูอี่
ว่ากันว่าต้นตำรับแพนเค้กแบบอเมริกันก็คือเครปของฝรั่งเศส แต่ต้นตำรับเครปของฝรั่งเศสมาจากเขต Brittany หรือ Breton ซึ่งเคยถูกปกครองโดยอังกฤษมาก่อน และความที่คนอังกฤษนิยมทานอาหารเช้าแบบชุดใหญ่มีไข่มีไส้กรอกหรือแฮม ก็เป็นไปได้ว่าเป็นที่มาของอาหารที่ขึ้นชื่อของBreton จานนี้

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 20

มาทำความรู้จักกับแพนเค้กฝรั่งเศสที่มีอยู่ 2 แบบครับ
แบบแรกก็คือเครป Crêpes จะใช้แป้งแบบทำจากข้าวสาลี หรือ Wheat Flour ที่จะทำได้แผ่นบางมักใช้ทาหรือเติม filling ที่ใช้ทานเป็นของหวาน (sweet) มีต้นตำรับมาจากทางเหนือของบริตานี่(Basse -Bretagne)ที่ขึ้นชื่อก็คือ”Suzette”
แบบที่สองก็คือกาแร๊ต Galettes ใช้ทานเป็นของคาว (Savory) มักใช้แป้ง Buckwheat ที่จะทำให้สีออกเข้มขึ้นและแผ่นจะหนาหน่อย มีต้นตำรับมาจากทางเหนือของบริตานี่ (Haute-Bretagne)

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 15

และจานที่ผมแนะนำนี้ต้องทานกับไส้กรอกหมูชื่อดังของบริตานี่ก็คือ Andouille de Guémené ซึ่งต้นตำรับก็มาจากแถวหมู่บ้าน Guemene โดยลูกชาวนาที่ชื่อ Joseph Quidu, คิดสูตรนี้ขึ้นมาเมื่อปี1930 ทำจากไส้หมูและเนื้อหมูส่วนท้องนำมารมควัน ใครมาแถบนี้ต้องแวะกินหรือซื้อกลับบ้านกัน เหมือนเราไปแวะซื้อแหนมที่ขอนแก่นนั่นแหละครับ

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 10

จานข้างบนนี้คือกาแร๊ตกับไส้กรอกอานดูอี่และแอ๊ปเปิ้ล

ทีนี้ถ้าเราจะทานเป็นอาหารเช้าหรือมื้อสายแบบ Brunch ที่ถูกต้องตามวัฒนธรรมของเขา เราต้องทานคู่กับ Apple cider ครับ ให้สั่ง Sorre cider ไม่ใช่น้ำส้มหรือน้ำผลไม้แบบอื่น เพราะบริตานี่หรือนอร์มงดีคือแหล่งปลูกแอปเปิ้ลที่มีชื่อที่สุดของฝรั่งเศส และเนื่องจากเราอยู่ในปารีสร้านที่จะแนะนำให้ไปทานอาหารจานนี้ก็คือ ร้าน Bretons Crêperie, 56 Avenue de la République, 75011 Paris

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 18

2. อาหารจานไข่

อย่างที่บอกว่าโดยวัฒนธรรมและคนฝรั่งเศสไม่นิยมทานไข่เป็นอาหารเช้า เพราะที่นี่เป็นสไตล์ Continental ฺBreakfast การทานไข่จึงเป็นเรื่องไม่ธรรมดาไปโดยปริยาย แต่ถ้าผมจะแนะนำร้านที่ขายอาหารเช้าแบบอังกฤษหรืออเมริกันที่ขายไข่ดาวเบคอนมันก็ธรรมดาไปครับ เรามาทานไข่แบบฝรั่งเศสดีกว่า นี่เลยครับขอให้สั่ง oeufs en cocotte เอิฟอองโก๊ต หรือไข่อบในถ้วยเซรามิคแบบ Ramekins ซึ่งเค้าจะผสม Cheeseหรือมัสตาดและอื่นๆ มีหลายสูตร น่าสนใจ

oeufs en cocotte เอิฟอองโก๊ต

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 22

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 19

หรือบางครั้งก็จะดัดแปลงมาอบในขนมปัง คล้ายกับที่เวลาเราไปทานซุป Clam Chowder แถวนิวอิงแลนด์

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 9

หรือสำหรับคนที่ชอบไข่ลวกที่ฝรั่งเศสจะมีจานไข่ที่เรียกว่า oeufs à la coque เอิฟอาลาคอ๊ก คือเขาจะไม่กินไข่ลวกอย่างเดียวแต่มักจะมีtoastหรือแฮมหั่นเป็นแท่งหรือผักที่ใช้dipลงไปในไข่ลวกแล้วจึงกิน

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 11

oeufs à la coque เอิฟอาลาคอ๊ก

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 17

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 21

Crème Brulee French Toast ปกติ French Toast จะจุ่มไข่กับนมและลงกะทะแต่สูตรนี้จะจุ่ม Crème Brulee

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 14

Caprese Eggs Benedict ดัดแปลงมาจาก Caprese สลัดที่มีมะเขือเทศใบโหระพาอิตาเลี่ยนและมอสซาเรล่าสดที่ทำจากนมกระบือ โดยมาใส่ไข่แบบ Poach Egg และราด Hollandaise Sauce

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 1

Croissant Croque Madame ดัดแปลงมาจาก Croque Madameที่ใช้toastกับ Gruyere Cheese

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 5

อาหารจานไข่ในปารีส ขอแนะนำให้ไปที่ร้าน Eggs & Co 11 rue Bernard Palissy, อยู่เขต 6th ย่านแซงแฌแมงเดเพร Saint-Germain-des-Prés

หรือหากอยูในเขต 10 ให้ไปลองที่ร้าน Holybelly 5 Rue Lucien Sampaix, 75010 Paris, France ซึ่งทำอาหารจานไข่ได้อร่อยและขนมปังก็สดใหม่สั่งจากร้านดังชื่อ Du Pain et Des Idées ที่อยู่ไม่ไกล และทีเด็ดที่นี่ต้องลองสั่ง ไส้กรอกดำ ทำมาจากเลือดหมูที่เรียกว่า บูแดง boudin noir sausage

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 7

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 2

3. อาหารเช้าแบบปิกนิก
ให้ไปที่ร้าน Claus ร้านแบบ Specialty Store for Breakfast อยู่ในเขต 1 (ตอนนี้น่าจะมีมากว่า1สาขา) เป็นร้านอาหารที่เน้นอาหารเช้าหรือเรียกว่า Dedicated to Breakfast เลยครับ “l’épicerie du petit-déjeuner”, ร้าน Claus ถือเป็นร้านแบบ Delicatessen ที่ชำนาญอาหารเช้าโดยเฉพาะ สำหรับคู่หนุ่มสาวที่มีความโรแมนติกต้องการสั่งอาหารเช้าใส่ตะกร้าไปกินแบบปิกนิกกับแฟนที่ริมแม่น้ำเซน เปลี่ยนบรรยากาศให้มาที่นี่เท่านั้นรับรองไม่ธรรมดาแน่นอนครับ

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 13

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 12
4. อาหารเช้าแบบเข้าฉาก Painting ของเหล่าศิลปินดัง
สุดท้ายคงต้องแนะนำร้าน Le Consulat 18 Rue Norvins, 18ème คือต้องบอกว่าร้านที่จะแนะนำนี้ไม่ได้สมัยใหม่หรือมีเมนูโดดเด่นมากมาย มันได้บรรยากาศมากๆ ทำให้อาหารมื้อเช้าของท่านเป็นประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมและยังเป็นการตามรอยเหล่าจิตรกรและศิลปินชื่อดังอีกด้วย
อยู่ที่ย่าน Butte Montmartre ในสมัยก่อนก็เป็นเหมือนหมู่บ้านเล็กๆ ที่เหล่าศิลปินก่อนดังจะมาใช้เป็นที่พักพิงและวาดรูปขาย ซึ่งศิลปินก่อนดังพวกนั้นก็รวมทั้ง Pissarro, Sisley, Cézanne, Toulouse-Lautrec, Renoir, Monet, Zola et Vincent Van Gogh ที่กลายเป็นศิลปินระดับปรมาจารย์ในเวลาต่อมา และแน่นอนว่าเหล่าศิลปินนั้นถ้าขายภาพได้มีเงินขึ้นมาก็ต้องฉลองโดยเฉพาะที่โรงเตี๊ยมและไวน์บาร์ที่ชื่อ La Bonne Franquette ที่เปิดมา 400 ปีแล้วเคยบันทึกไว้ว่าได้เคยต้อนรับศิลปินเหล่านี้ทุกคน

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 3

แต่เนื่องจากเรากำลังแนะนำเรื่องอาหารเช้าไม่ใช่ไวน์ก็เลยขอแนะนำร้าน Le Consulat เลอ กองซูลา ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้าน La Bonne Franquette ซึ่งก็เป็นร้านกาแฟเก่าแก่มากๆ เช่นกัน ถือเป็น Historic Café ของปารีส ซึ่งมีศิลปินดังๆ ในอดีตมากินอาหารเช้าที่นี่และร้านนี้ยังปรากฏในรูปPainting ของศิลปินดังมากมาย ผมก็เลยอยากแนะนำถ้าคุณจะต้องมาเที่ยวมงมาร์ตอยู่แล้ว

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 16

ที่มี Setting และLocation แบบทำให้เรานึกถึงหนังฝรั่งเศสหลายเรื่องที่ถ่ายทำย่านมงมาร์ต ซึ่งโดยเฉพาะเรื่อง Amélie ที่ได้หลายรางวัลยอดเยี่ยมนำแสดงโดย Audrey Tautou แม้ว่าในหนังเธอจะแสดงเป็น Waitess อยู่อีกร้านนึงใกล้ๆ กันที่ชื่อ Café des2 Moulins แต่ไม่ดังเท่า Le Consulat ที่มักจะเต็มตลอดในวันที่อากาศดีๆ ถ้าเราไม่ไปแต่เช้าจริง ก็ถ้าเราได้นั่งจิบกาแฟบนterraceที่มี backdrop เป็น Sacré-Cœur แถมยังเป็นร้านประวัติศาสต์ของกรุงปารี มันไม่ธรรมดาแน่นอนครับ
Le Consulat 18 Rue Norvins, 18ème

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 8

บรรดารูป Painting ที่มีร้าน Le Consulat

City Break Paris French Breakfast Pancake & Egg 6

 

City Break Paris Part XIII

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 13

อาหารเช้าในปารีส (ตอน 2)

แบบคลาสสิก (ต่อ)
ในเมื่อพูดถึงครัวซองต์ไปในตอนที่แล้ว ครั้นจะไม่พูดถึงบาแก็ตต์คงไม่ได้ ก็ภาษาไทยเองก็ได้คำว่า “ขนมปัง”มาจากภาษาฝรั่งเศสนั่นเอง คือตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าหลุย์ที่ 14 ซึ่งตรงกับยุคของสมเด็จพระนารายณ์ ที่ประเทศไทยกับฝรั่งเศสเริ่มมีสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว คณะทูตของฝรั่งเศสนำโดยเชอร์วัลลิเยร์ เดอโชมงค์ เป็นผู้นำขนมปังเข้ามาและคำว่า “ปัง” ก็เพี้ยนมาจากคำฝรั่งเศสว่า ‘ pain’ อ่านว่า “แปง หรือ ปัง” นั่นเอง

City Break Paris French Breakfast Baguette 1

City Break Paris French Breakfast Baguette 6

และในบรรดาขนมปังหลายหลากที่ฝรั่งเศสมีอยู่ ไม่มีแบบไหนที่โดดเด่นเท่ากับบาแก็ตต์ เพราะสัญลักษณ์ของฝรั่งเศสนอกจากหอไอเฟิลแล้วก็คงจะหนีไม่พ้นขนมปัง ‘กระบอง’หรือบาแก็ตต นี่แหละครับ ขนมปังถือว่าสำคัญมาก สังเกตได้ว่าถ้าเราเข้าไปในร้านอาหารฝรั่งเศสแท้ๆ นั้น ขนมปังอุ่นๆ จะมาเสิร์ฟก่อนอย่างอื่น แล้วมันก็ใช้ทานประกอบกับอาหารทุกคอร์ส เริ่มจากซุป, อาหารเรียกน้ำย่อย (hors d’oeuvre), อาหารจานหลัก, เนยแข็ง เพราะฉะนั้นถ้าขนมปังไม่ได้เรื่อง อย่างอื่นก็จบไปด้วย

ไม่มีใครอยากจะล้อเล่นเรื่องขนมปังกับชาวฝรั่งเศสอีก หลังจากเมื่อครั้งที่ชาวกรุงปารีสเดินขบวนกันไปที่ พระราชวังแวร์ซายส์ เพื่อจะกราบทูลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงทราบว่าพวกเขาอดอยาก ไม่มีขนมปังจะกินกันแล้ว แต่กลับเจอประโยคเด็ดของพระชายาท่านคือพระนาง มารี อังตัวแนต ที่ตอกกลับมาว่า “ไม่มีขนมปังก็ให้ไปกินเค้กแทนสิ” “Qu’ils mangent de la brioche” ว่ากันว่านั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา (แต่หลังจากที่ผมค้นคว้าแนวลึกก็ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเป็นความจริง เพราะนักประวัติศาสตร์บอกไม่มีหลักฐานแต่เป็นการปรักปรำพระนาง เพราะมีคนไม่ชอบเยอะ Lady Antonia Fraser,ผู้เขียนอัตชีวประวัติของพระราชินีฝรั่งเศสพระองค์นี้ที่ได้ค้นคว้า และศึกษาบุคลิกลักษณะอุปนิสัยที่แท้จริงของพระนาง ยืนยันว่าท่านไม่ใช่คนที่จะพูดประโยคแบบนี้ในสถานการณ์แบบที่เย้ยหยันคนที่กำลังลำบาก แล้วพระนางก็มักจะทำตรงข้ามด้วยซ้ำ เพราะมักจะช่วยเรื่องการกุศล และที่แน่ๆ คือพระนางค่อนข้างฉลาดหลักแหลมรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร)

City Break Paris French Breakfast Let Them Eat Cake

ต้นกำเนิดบาแก็ตต์
จริงๆ ไอ้เจ้าบาแก็ตต์ซึ่งมีลักษณะเหมือน ’กระบอง’ ตามชื่อของมันนั้น เพิ่งจะนิยมทำรูปทรงนี้เมื่อปี 1920 นี่เอง เพราะมีกฎหมายออกมาห้ามไม่ให้อบขนมปังระหว่างช่วงสี่ทุ่มถึงตีสี่ (รบกวนชาวบ้านตอนเวลานอน)ทำให้ขนมปังต้นตำรับของชาวฝรั่งเศส รูปร่างกลมๆ คล้ายลูกบอลที่มีชื่อว่าขนมปัง “บูล” (Boule) นั้นทำไม่ทันขาย เพราะใช้เวลาอบนานกว่า ต้องปรับเปลี่ยนรูปทรงให้อบเสร็จเร็วขึ้นจริงๆ แล้วไอ้ขนมปังบูลนี่ต่างหากที่คนฝรั่งเศสกินกันมานมนานจนเป็นที่มาของคำว่าเบเกอรี่ของภาษาฝรั่งเศสที่ออกเสียงว่า “บูลองเฌอรี” (Boulangerie)

City Break Paris French Breakfast Boule

ขนมปัง “บูล” (Boule)

บาแก็ตต์ นั้นต้องมีขนาดยาวประมาณ 28 นิ้ว หรือ 70 ซม. กรอบนอกนุ่มใน จะให้อร่อยต้องทานแบบอบใหม่ๆ เพราะจะหอมและกรอบกว่า สีด้านนอกจะเป็นสีทองที่เปลือก(Crust) จะกรอบเกือบแข็ง เนื้อด้านในจะเป็นสีครีมไม่ขาวมาก เคี้ยวค่อนข้างเหนียวนิดหน่อย ต้องมีเทคนิคการบั้ง

ที่เอาขนมปังกระบองนี้มาพูดในเรื่องอาหารเช้า ก็เพราะว่า 70% ของชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศจะทานขนมปังแบบนี้เป็นอาหารเช้า เพราะปกติบาแก็ตต์จะมีติดบ้านคนฝรั่งเศสไว้ตลอดเวลา แต่ครัวซองต์จะขึ้นอยู่กับว่าวันไหนไปตลาดหรือลงไปซื้อตอนเช้ากลับเข้ามาหรือไปทานที่ร้านกาแฟ

City Break Paris French Breakfast Baguette 8

วิธีทานบาแก็ตต์เป็นอาหารเช้าก็ทำเป็น Tartine (ตาทีน) จะใช้มีดที่มีฟันเลื่อยหั่นออกมาขนาดยาวสัก 4-5นี้ว แล้วจากนั้นก็จะสไลด์แนวนอนผ่ากลางให้กลายเป็น 2 แผ่นแล้วทาเนยในแผ่นแรก ส่วนแผ่นที่ 2 นั้นทาเนยก่อนแล้วทาแยมผลไม้ (Confiture) ทับอีกที ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องทาด้วยเนย จาก เขตบริตานีหรือนอร์มองดี และแยมชั้นดี หรือที่เรียกกันว่า Gourmet Jam ที่มีขายตามร้าน Specialty Store อย่าง Fauchon, Hédiard หรือร้านเฉพาะที่ขายแต่แยมพิเศษ เช่น La Chambre aux Confitures ในปารีส

เมื่อคราวที่แล้วเราพูดถึงเนยชั้นดีระดับมี AOC กันไปแล้ว คราวนี้ขอพูดถึงแยมบ้างเล็กน้อย พอดีไปเห็นTOP10 ของแยมจากร้านดังๆ ในปารีส (credit: https://girlsguidetoparis.com) เลยขอนำมาแชร์ครับ

City Break Paris French Breakfast Baguette 5

แยมชั้นดีที่ขายอยู่ที่ร้าน La Chambre aux Confitures

Top 10 Parisian Confiture
1. Confiture Abricot Gingembre (แยมapricot และขิง) จากร้าน La Chambre aux Confitures
2. Confiture Cassis et Violette จากร้าน La Chambre aux Confitures
3. Confiture Extra de Figues Blanches จากร้าน Aubertine
4. Fortnum & Mason’s Lemon Curd จากร้าน La Grande Epicerie
5. Abricot Confit จากร้าน A la Mère de Famille
6. Dulce con Leche/Confiture du Lait จากร้าน La Cocotte
7. Confiture Clémentines de Corse จากร้าน Fauchon
8. Mara des Bois Confiture de Ré by Le Jardin de Lydie จากร้าน Aubertine
9. Confidiet Rhubarbe จากร้าน Aubertine
10. Miel du Gâtnais จากร้าน Hédiard

City Break Paris French Breakfast Baguette 7

ทีนี้มารู้จัก Chef ที่เก่งเรื่องทำแยมระดับ Artisan เป็นที่ยอมรับในบรรดาร้านอาหารดังหรือโรงแรม 5 ดาวของปารีส เช่น ร้านอาหารของchef ระดับ 3 ดาวมิเชแลงอย่าง Alain Ducasse หรือ Chef Michel Troisgrois ของร้าน Maison Troisgros ที่ Lyon หรือ Patisserie Chef ชื่อดัง Pierre Hermé ต่างก็ไว้วางใจใช้ Artisan Jam ของ Christine Ferber เป็นส่วนประกอบของอาหารหรือของหวานที่เชฟเหล่านี้ทำ และโรงแรม 5 ดาว อย่าง Crillon หรือ Georges V ในปารีส, Four Seasons ในฮ่องกง, หรือ Connaught ในลอนดอน ก็จะใช้แยมของ Christine Ferber เสิร์ฟกับชุดน้ำชาตอนบ่าย

City Break Paris French Breakfast Baguette Christine Ferber Jam

Christine Ferber และทีมงานของเธอไม่ได้มีร้านอยู่ที่ปารีส แต่จะอยู่ในเขต Alsace อัลซาส (ติดชายแดนเยอรมัน) ที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อ Niedermorschwihr ตั้งอยู่ใจกลางสวนผลไม้ ที่จะเก็บมาผลิตแยมครั้งละไม่เกิน 4 กิโลกรัม โดยจะทำในหม้อทองแดงชั้นดีแบบโบราณและสูตรเก่าแก่เพื่อให้ได้แยมที่ดีที่สุด

กลับมาพูดถึงเจ้า บาแก็ตต์ ต่อ ว่าบทบาทของมันที่มีต่อชีวิตประจำวันของคนฝรั่งเศสนั้นมันไม่ได้เป็นแต่อาหารเช้าเท่านั้นนะครับ แน่นอนว่าคงไม่มีใครทานบาแก็ตต์ได้หมดในครั้งเดียว ยกเว้นจะเป็นครอบครัวใหญ่ ถ้าเหลือชาวฝรั่งเศสก็จะทิ้งไว้บนโต๊ะนั่นแหละครับ ตกกลางวันก็เอาไปทำเป็นแซนวิชต่อแบบง่ายเลยก็เป็น Sandwich aux fromage et jambon และแน่นอนว่า Jambon หรือหมูแฮมแบบบ้านเรานั้นที่ดีที่สุดต้องเป็น Jambon de Paris ครับ

บาแก็ตต์ที่เริ่มเก่าหรือค้างคืนก็จะเริ่มแข็งจะต้องทานแบบเปียกๆ หน่อยจะได้นุ่ม ดังนั้นวิธีทานบาแก็ตต์ค้างคืนก็มีดังนี้นะครับ ถ้าเป็นมื้อเช้าจะใช้วิธีจุ่มกับช็อกโกแลตร้อนหรือกาแฟที่ใช้นมต้มแล้วมาผสมกาแฟทีหลัง ฝรั่งเศสเรียกว่า ‘กาเฟ โอ เลต์’ Café au lait ส่วนใหญ่แล้วตอนเช้าเขาจะทานกาแฟแบบนี้กัน โดยจะใส่ถ้วยค่อนข้างใหญ่เป็นเหมือนชามเลยครับ ใหญ่กว่าmugปกติเยอะ

City Break Paris French Breakfast Baguette 4 Cafe au Lait

ถ้าเป็นมื้อเย็นก็หั่นเป็นลูกเต๋าทานโดยจุ่มกับเนยแข็งกรุยแยร์ (Gruyere) เคี่ยวกับไวน์ขาวทานเป็นแบบ Cheese Fondu หรือจะเอาไปโรยชีส Gruyere อบ แล้วโยนลงไปในซุปหัวหอมก็ได้ (French Onion Soup) สุดท้ายถ้ามันแข็งมากก็เอามาขูดให้เป็นเกล็ดขนมปัง (Bread Crumb) ใส่ขวดโหลเก็บไว้ทำอาหารอย่างอื่นต่อได้ เห็นความหลากหลายของบาแกตต์หรือยังครับ

ข้อเท็จจริง(fact) : ในฝรั่งเศสนั้นมีร้านทำขนมปังมากกว่า 35,000 ร้าน ผลิตขนมปังได้ 3.5ล้านตันต่อปี (คนไทยผลิตข้าวได้เฉลี่ย 30ล้าน ตันต่อปี) ในบรรดาขนมปังทั้งหมดที่ขายได้หลาย 10 ชนิดนั้น 1 ใน 3 เป็นบาแก็ตต์ซึ่งขายได้ตกวันละ 10 ล้านชิ้นในฝรั่งเศสอย่างเดียว ปัจจุบันคนฝรั่งเศสนิยมการบริโภคบาแก็ตต์น้อยลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่คนละ 150 กรัมต่อวัน จากที่เคยเฉลี่ยอยู่ที่ 500 กรัมต่อวันในสมัยศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้เนื่องจากบาแก็ตต์นั้นทำจากแป้งขาวซึ่งมีปริมาณ Gluten ค่อนข้างสูง ทำให้หันมานิยมบริโภคขนมปังที่ทำจากธัญพืช Whole Grain มากขึ้น (credit:Culinaria France by AndreDomine)

ร้านแนะนำ สำหรับท่านที่ต้องการจะลองทานบาแก็ต์ตรสชาติดั้งเดิมติดอันดับในปารีสก็ต้องนี่เลยรายชื่อของร้านที่มักติด Top10 ในการประกวดการแข่งขันการทำบาแก็ตต์ประจำปี “Grand Prix de la Baguette de Paris” และร้านที่ชนะจะได้รับเกียรติจากพระราชวังเอลิเซ่ ซึ่งเป็นทำเนียบประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ให้เป็นผู้จัดส่งบาแก็ตต์ขึ้นโต๊ะประธานาธิบดีทานทุกเช้าตลอดปีนั้น ๆ

Paris’ Top Baguettes
1. Le Grenier à Pain Abbesses, 38 rue des Abbesses, 75018
2. Brun Boulangerie Patisserie 193 rue de Tolbiac Paris, 75013
3. Huré, 150 avenue Victor Hugo, 75016
4. L’Académie du Pain, 30 rue d’Alésia, 75014
5. Le Puits d’Amour, 249 boulevard Voltaire, 75011
6. Le Moulin du 16ième, 152 avenue de Versailles, 75016
7. Tchouassi 63 rue de Turbigo, 75003
8. Aux Pains Garnis, 25 avenue Saint Ouen, 75017
9. Gourmandises d’Eiffel, 187 rue De Grenelle, 75007
10. Douceurs et Traditions, 85 rue Saint Dominique, 75007
(Credit: http://parisbymouth.com/paris-bakeries/ )

แต่ผมขอแนะนำให้ไปกิน 2 ร้านแรกครับก็คือ
1. ร้าน Le Grenier à Pain 38 rue des Abbesses, 75018
เป็นร้านแบบเบสิคดั้งเดิมแต่ได้รางวัลที่ 1“Grand Prix de la Baguette de Paris” เรื่องบาแก็ตต์ เราต้องลองครับถ้าเป็นเซียนขนมปังจริงๆ ซึ่งบางช่วงต้องต่อคิวยาวหน่อยครับ ถ้าโชคดีก็จะเจอกับคุณ Djibril Bodian ซึ่งเป็น Artisan หรือเปรียบเสมือนศิลปินผู้สร้างสรรค์รสชาติและรูปลักษณะกลิ่นสีของบาแก็ตชนะเลิศนี้ ลูกค้าของเขามักจะขอถ่ายรูปด้วยเพราะถือว่าเขาคือ Celeb

City Break Paris French Breakfast Baguette 4

City Break Paris French Breakfast Baguette Chef Djibril Bodian

คุณ Djibril Bodian เป็น Artisan หรือเปรียบเสมือนศิลปินในการสร้างสรรค์ขนมปังฝรั่งเศสหรือบาแก็ตต์จนได้รางวัลชนะเลิศ

2. ร้าน Brun 193 rue de Tolbiac Paris, 75013
ร้านนี้ดูทันสมัยกว่าและมีเอกลักษณะตรงที่ขนมปังของเขาจะเป็นหัวแหลมหน่อยเหมือนปากปลาโลมา ต้องบอกว่าบางช่วงก็ต่อคิวยาวเหยียดไม่แพ้กันครับ

City Break Paris French Breakfast Baguette 3

City Break Paris French Breakfast Baguette 2

 

เป็นอันว่าเราจบเรื่องอาหารเช้าแบบคลาสสิกไปแล้ว เดี๋ยวตอนหน้าเราจะไปลองอาหารเช้าแบบไม่ธรรมดากันนะครับ

City Break Paris Part XII

By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 12

อาหารเช้าในปารีส
เที่ยวโนตเตรอดามกันมา 4 ตอนแล้วจะเที่ยวต่ออีกตอนคงจะเหนื่อย ตอนนี้เลยขอสลับเป็นเรื่องกินบ้างครับ มาปารีสทั้งทีมันต้องครบสูตร สำหรับตอนนี้คงต้องเริ่มจากมื้อแรกของวันก็คือมื้อเช้า

Le Petit Déjeuner

City Break Paris French Breakfast 8

จริงอยู่การมาปารีสสมัยนี้ไม่จำเป็นทานอาหารเช้าที่เรียบง่ายแบบ Tartine Au Beurre หรือ Croissant กับ กาแฟ ที่ชงจากนมต้มที่เรียกว่า กาเฟ โอ เลต์ เหมือนสมัยก่อนอีกแล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนไปมาก ตัวเลือกมันเพิ่มมากขึ้นเพื่อไม่ให้ซ้ำซากจำเจ ผมจึงขอนำเสนอในสองรูปแบบก็แล้วกันครับ

I.แบบคลาสสิก

ยังไงๆ ผมก็ยังชอบสไตล์คลาสสิกของที่นี่ เพราะกลิ่นหอมของครัวซองต์เนยสดตอนออกจากเตาอบใหม่ๆ นั้น ทำให้คุณรู้สึกเลยว่าชีวิตที่ดีของวันนี้นั้นต้องเริ่มจากครัวซองต์สักชิ้น ผมเคยลงจากเครื่องตอนเช้าที่สนามบินปารีสที่คนที่นี่เรียก Roissy แล้วก็ขึ้นรถไฟ RER เข้ามาโผล่ที่สถานนีปารีส เหนือ Gare Du Nord ตอนก่อน 7 โมงเช้า ยังจำได้ว่ากลิ่นหอมของครัวซองต์ก็ลอยมาจากร้าน Café แถวนั้นซึ่งมันแทบจะเป็นเหมือนมนต์สะกดให้ต้องตามกลิ่นนั้นไป แบบไม่สนใจอะไรอย่างอื่นแล้ว

จากขนมแบบเพลสทรี่อบกรอบ (Flaky Not Crunchy) ที่เป็นอาหารเช้าของฝรั่งเศสมา 200 กว่าปีแล้ว แต่มันกลับไม่ใช่สิ่งที่ชาวฝรั่งเศสคิดขึ้นมาเอง ว่ากันว่ามันเป็นของฮังการีต่างหาก Croissant มาจากคำว่า Cresant ที่แปลว่าพระจันทร์เสี้ยว ต้นกำเนิดมาจากการที่พวกเติร์ก(แห่งอาณจักรออตโตมานส์เจ้าของธงที่มีรูปพระจันทร์เสี้ยว)ได้พยายามจะบุกยึดฮังการีโดยการขุดอุโมงค์ลอดใต้กำแพงเมืองบูดาเปสเข้ามาตอนเช้ามืด แต่พวกพนักงานร้านขนมปังซึ่งก็ตื่นแต่เช้ามืดมาอบขนมเหมือนกันเกิดได้ยินเสียงเข้าเลยไปแจ้งทหารให้เข้าไปป้องกันเมืองไว้ทัน พอได้รับชัยชนะก็เลยฉลองด้วยการทำขนมปังเพรสทรี่อบเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวนี้ขึ้นมา เพราะเป็นสัญลักษณ์ของพวกเติร์กหรืออิสลาม(สังเกตจากธงตุรกี) คงเหมือนได้กินพวกเติร์กมั้งครับ

City Break Paris French Breakfast 4

รู้ถึงเจ้าแห่งเมืองขนมของโลกต้นกำเนิดขนมอบกรอบแบบ Pastry ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลก็คือกรุงเวียนนา ซึ่งก็เอาสูตรนี้มาทำแล้วก็ทำเป็นที่นิยมจนกระทั่งสมเด็จพระนางมาเรีย เทเรซ่า จักรพรรดินีแห่งราชวงศ์แฮบสเบิร์วก ซึ่งต้องการมีความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสตอนนั้นได้ส่งพระราชธิดาพระองค์ดังชื่อว่า “มารี อองตัวเนตต์” มาสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ XVI ก็เลยมาพร้อมกับวัฒนธรรมการกิน Croissant ด้วย จึงทำให้ขนมพวก Puff Pastryแบบนี้ในฝรั่งเศสมีชื่อเรียกหรือมีขายอยู่ในร้านประเภท Viennoiseries** หมายถึง “ร้านขนมเพรสทรีแบบเวียนนา” จนทุกวันนี้กลายเป็นว่าไม่มีใครทำครัวซองต์ได้หอมและอร่อยเท่ากับชาวฝรั่งเศสแม้แต่เมืองต้นตำรับ ***(ร้านขนมในฝรั่งเศสถ้าเป็นขนมหวานจะขายใน Patisseries แต่ถ้าเป็นขนมแบบ Pastry จะขายใน Viennoiseries แต่หลายๆครั้ง ร้านทั้ง 2 แบบก็มีทั้งเพรสทรี่และขนมหวาน รวมทั้งขนมปังซึ่งปกติจะขายใน Boulangerie ดูภาพด้านล่างคือร้านดังของฝรั่งเศสที่เป็นทุกแบบที่พูดถึง)

City Break Paris French Breakfast PAUL

แต่เพราะอะไรรู้ไหมครับที่ฝรั่งเศสทำขนมอบกรอบเเบบนี้ได้เหนือกว่า ก็เพราะเนยสดครับ เนยของฝรั่งเศสที่มาทางเหนือหรือแถบตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น แคว้นบริตานี่หรือและนอร์มองดีนั้น สามารถผลิตเนยมีชื่อและหาคู่แข่งยาก เป็นเนยระดับ AOC (Appellation D’Origine Controlee) ที่มีอยู่แค่ 4 แหล่งเท่านั้น
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเนยสดที่ทำตามกรรมวิธีแบบโบราณจากนมวัวที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อแบบสมัยใหม่(Unpasteurized Milk)

แต่ก่อนจะไปดูว่ามีเนยดังอะไรบ้าง ขอพูดถึงวิธีการทำเนย(เหลว) แบบ Butter และข้อแตกต่างของมันกับเนยแข็ง (Cheese) เป็นเกร็ดความรู้สักนิดก็คือ

City Break Paris French Breakfast Butter Cheese 1

City Break Paris French Breakfast Butter Cheese

รูปข้างบนเป็นเครื่องปั่นนมเพื่อทำเนยแบบโบราณ

• เนยเหลว (Butter) ทำจากไขมันในนม ซึ่งเกิดจากการปั่นนม ไขมันจะรวมตัวกันเป็นเม็ด จากนั้นก็กรองน้ำออกไป นำไขมันมาเติมแบคทีเรีย Steptococcus Lactic กับ Leuconostoc citrovorum ซึ่งจะทำให้เนยมีกลิ่น และรสชาติเฉพาะตัว
• เนยแข็ง (Cheese) จะเริ่มทำจากเนยเหลว แต่จะใช้ระยะเวลานานกว่า ต้องรอจนกรดที่แบคทีเรียสร้างขึ้นทำให้นมจับตัวกันเป็นก้อนเคิร์ดcurd จากนั้นจะเติมเอนไซม์เรนนินลงไป เพื่อช่วยเร่งการแข็งตัวของนม ซึ่งจะทำให้มีการแยกส่วนที่เป็นน้ำ หรือหางนม Whey ออกมาจะทำให้เนยแข็งขึ้น มีการเติมเกลือลงไปเพื่อไล่ความชื้น หลังจากนี้จะนำไปบ่มด้วยแบคทีเรียหรือ รา อีกครั้ง

ทีนี้มาดูแหล่งผลิตเนยชั้นยอดของฝรั่งเศส ซึ่งเนยเหล่านี้มีคุณสมบัติเด่นคือคุณภาพของนมและความCreamy ของ Texture มีการละลายที่ช้ากว่าเพราะความหนาแน่นมากกว่าจะทำให้คุณสมบัติการเคลือบ เช่น เคลือบเส้นพาสต้าดีกว่าแถมยังมีเรื่องของรสที่มีความเค็มเล็กน้อยและกลิ่นซึ่งจะมี Hazelnut Note ทำให้ได้รับตราสัญลักษณคุ้มครองแหล่งกำเนิด AOC ของฝรั่งเศสและยังได้ AOP ตราสัญลักษณคุ้มครองแหล่งกำเนิดของ EU อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดก็มี 4 ย่านในรูปข้างล่าง

City Break Paris French Breakfast 13

แต่ถ้าให้แนะนำแบบที่หาซื้อทานได้ง่ายแม้ในเมืองไทยก็หาไม่ยากนั้น ให้จำแค่ 2 แหล่งนี้ก็พอคือ
1. Beurre d’Isigny จาก Normandy
Beurre Isigny เป็นประเภทของเนยนมวัวที่ทำในบริเวณอ่าว Veys แถบหุบเขาที่มีแม่น้ำที่ไหลลงผ่านลงไปที่อ่าวได้แก่ บริเวณโดยรอบ Isigny-sur-Mer รวมทั้งบริเวณ Manche และ Calvados ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส

City Break Paris French Breakfast 3

โฆษณาเนย Isigny ตั้งแต่ปี 1900

เนย Isigny จะมีสีทองตามธรรมชาติอันเป็นผลมาจากระดับ Carotenoids ที่สูง ทำให้เนยมีไขมัน 82% และอุดมไปด้วยกรดโอลิอิกและเกลือแร่ (โดยเฉพาะโซเดียม) เกลือเหล่านี้ให้รสชาติและทำให้เก็บรักษาได้นาน

City Break Paris French Breakfast 1

เนย AOP Charentes-Poitou

2. Beurre Charentes-Poitou
Charentes-Poitou เป็นชื่อของแหล่งกำเนิดของเนยฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงของภูมิภาค New Aquitaine รวมทั้งในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของ Pays de la Loire เนยนี้ผลิตขึ้นเฉพาะจากครีมพาสเจอร์ไรส์ที่สกัดจากน้ำนมดิบที่ผลิตโดยเกษตรกรในภูมิภาค Charente (Charente, Charente-Maritime) และ Poitou (Deux-Sèvres, Vienne, Vendée) โดยจะใช้น้ำนมจากวัวสายพันธุ์ดีเยี่ยมของฝรั่งเศสที่เรียกว่า วัวลิมูแซง Limousin ทำให้ได้รับประกาศให้เป็น AOC ตั้งแต่ปี 2534

City Break Paris French Breakfast 2

ส่วนข้างบนนี้เป็นเนยที่มาจาก Deux-Sevres หรือ Beurre des Deux-Sevres ซึ่งก็ได้ AOC เช่นกัน

รายชื่อร้านข้างล่างคือร้านที่เคยเป็นผู้ชนะหรือติดอันดับการประกวดแข่งขัน Grand Prix การทำครัวซองต์ประจำปีของกรุงปารีสบ่อยๆ โดยกติกาจะต้องทำครัวซองต์เนยสดที่ใช้เนย AOCเท่านั้น (Meilleur Croissant au Beurre AOC Charentes-Poitou ) ซึ่งร้านที่ชนะจะได้รับเกียรติจากพระราชวังเอลิเซ่ซึ่งเป็นทำเนียบประธานาธิบดีของฝรั่งเศสให้เป็นผู้จัดส่งครัวซองต์ขึ้นโต๊ะประธานาธิบดีทานทุกๆ เช้า ดังนั้นถ้าเราไปลอง 1 ในร้านดังกล่าวก็ไม่น่าจะผิดหวังนะครับ

Best AOC Butter Croissants (Meilleur Croissant au Beurre AOC Charentes-Poitou)
1. Michel Lyczak, 68 rue Paul Vaillant Couturier, 92240 (Malakoff)
2. Boulangerie Schou, 96 rue de la Faisanderie, 75016
3. Cocardon of L’Artisan des Gourmands, 60 rue de la Convention, 75015
4. Douceurs et Traditions, 85 rue St Dominique, 75007
5. Au Duc de la Chapelle, 32 rue Tristan Tzara, 75018
6. Le Grenier à Pain des Abbesses, 38 rue des Abbesses, 75018
7. Liberté, 39 rue des Vinaigriers, 75010
8. La Fournée Gourmande, 9 rue de la Mairie, 92320 (Chatillon)
9. Boulangerie Pichard, 88 rue Cambronne, 75015
10. 134 RdT, 134 rue de Turenne, 75003
11. Boulangerie-Pâtisserie Colbert, 49 rue de Houdan, 92330 (Sceaux)

เป็นอันว่าข้างบนคือร้านที่ Plain Croissant อร่อยแบบถูกต้องตามจารีตประเพณีการทำ (เพราะการแข่งขันจะเน้นเรื่องความดั่งเดิม) ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องประสบการณ์การกินครังซองต์แบบอื่น เช่น ครัวซองต์อัลมอนด์หรือครัวซองต์ช็อกโกแลตล่ะ หรือในแง่ความโด่งดังของร้านครังซองต์ในปารีสในรูปแบบสมัยใหม่หรือแบบประวัติศาสตร์คงจะแนะนำร้านต่อไปนี้ครับ

1.แบบ Artisan คงต้องไปลอง Maison Kayser ของ Eric Kayser

City Break Paris French Breakfast 5

ร้านนี้ชื่อดังเพราะมีกว่า 80 สาขาตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกแม้แต่กรุงเทพฯ แต่ถ้าพูดถึงร้านแรกต้นตำรับแล้วก็ต้องไปที่ย่านละตินตรงถนนมง ใกล้ถนนแซงต์มิเชล (8 rue Monge) ร้านนี้จะโดดเด่นเรื่อง Almond Croissant และเปิดแต่เช้ามืด ในขณะที่ร้านอื่นๆ ยังไม่ค่อยจะเปิดกัน

City Break Paris French Breakfast 7

สาขาแรก ของ Eric Kayser เลขที่ 8 rue Monge

2.แบบประวัติศาสตร์ต้องไปที่ร้าน Stohrer – ร้านเพรสทรี่ขายครัวซองต์ที่เก่าแก่ที่สุดของปารีส

City Break Paris French Breakfast 11

Patisserie Stohrer อยู่ในเขต 2 (2nd arrondissement) บนถนน Rue Montorgueil เปิดมาตั้งแต่ปี 1730 ถือเป็นร้านเพรสทรี่ที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส ตกแต่งสวยงาม ที่สำคัญไม่ใช่เก่าแก่อย่างเดียว เพรสทรี่ที่นี่อร่อยด้วย ขึ้นชื่อเรื่อง Croissant Aux Amandes (Almond Croissant)

City Break Paris French Breakfast 10

3.แบบ Fashion หรือแบบสมัยใหม่ต้องไปที่ Des Gâteaux et du Pain – Croissants In A Modern Pastry Shop

City Break Paris French Breakfast 12

Des Gâteaux et du Pain คือร้านเพรสทรี่สมัยใหม่ สร้างสรรค์โดย นักอบขนมเพรสทรี่ชื่อดังที่ชื่อ Claire Damon เธอตั้งใจทำร้านนี้ให้เป็นร้านขนมอบแบบแฟชั่น แต่ก็ชำนาญการทำครัวซองต์แบบขั้นเทพด้วย ไม่งั้นชาวเมืองปารีสคงไม่ยอมรับ ถ้าแค่จะมีกิมมิคเรื่องร้านสวยทันสมัยแค่นั้น ร้านนี้ให้ลอง Plain Croissant

City Break Paris French Breakfast 9

ก่อนจะจบตอนนี้คงต้องพูดถึงของโปรดของผมก่อน นั่นคือ ครัวซองต์ช็อกโกแล็ต หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Pain au chocolat (อ่านว่า แปงโอ ช็อกโกลา)แต่ทางใต้ของฝรั่งเศสมักเรียกว่า ชอกโกลาตีน ‘chocolatine’ ต้องบอกว่า มันหอม ผิวมันกรอบนอกจนเกือบป่น เมื่อสัมผัสมีกลิ่นหอมของวานิลาและช็อกโกแล็ต และรสชาติที่ไม่หวานมากมายแบบที่เคลือบน้ำตาลเช่นพวกเดนนิสเพรสทรี่ ผมมักจะชอบซื้อจากร้าน Paul เพราะมีขนาดเล็กให้เลือก สำหรับช่วงควบคุมน้ำหนัก จริงๆ แล้วร้านเพรสทรี่ของฝรั่งเศสที่เรารู้จักกันดีที่ชื่อร้าน Paul นี้ก็เก่าแก่อยู่พอสมควร เปิดมาตั้งแต่ปีที่หอไอเฟิลสร้างเสร็จก็คือปี 1889 ตอนนี้มีกว่า 400 สาขาแล้ว แต่ที่ผมไม่ได้แนะนำก็เพราะร้าน Original ร้านแรกไม่ได้อยู่ในปารีสแต่อยู่ที่เมือง Lille

City Break Paris French Breakfast 6

สำหรับร้านที่แปงโอ ช็อกโกลา ขึ้นชื่อต้องไปลองในปารีสนั้นต้อง 2 ร้านนี้ครับ
1. Eran Mayer
เจ้าของชื่อ Eran Mayer มีร้านอยู่ที่เขต 15th โดยคุณ Eran มีความเชื่อว่าของที่อร่อยนั้นต้องมาจากพื้นฐานที่ดี นั่นคือ วัตถุดิบที่ดีที่สุดที่หาได้ เขาคิดว่าเนยก็เหมือนไวน์คือจะต้องมาจากแหล่งที่นมดี ซึ่งก็ไม่แปลกที่เขาจะใช้เนยแบบโบราณยี่ห้อ Lescure หรือ เนย AOC จาก Poitou-Charentes แป้งเพรสทรี่จากเมือง Voiron และด๊ากช๊อกโกแลตยี่ห้อ Callebaut ของเบลเยี่ยม ซึ่งแน่นอนว่ารสชาติของมันสำหรับคนที่เคยลองแล้วต้องยอมรับ เพราะมันครีมมี่มากตรงไส้ช็อกโกแลตและทั้งหอม(กลิ่นเนย) ทั้งเหนียว(แป้งด้านใน) และกรอบผิวcrustด้านนอก

City Break Paris French Breakfast 14

2. Blé Sucré
Blé Sucré แปลว่า แป้งสาลีเคลือบน้ำตาล เป็นร้านของ Chef Fabrice มี “Pain au chocolat” ราคา€1.20 ที่กรอบนอกเหนียวนุ่มด้านใน แป้งมีความเค็มจากเนย Montaigu ที่ผลิตในย่าน Poitou-Charentes ร้านนี้เป็นที่ยอมรับของคนปารีสแล้วยังสะดวกตรงที่อยู่ใกล้ตลาดเช้าที่ชื่อ “Marché d’Aligre” ซึ่งเหมาะมากสำหรับแม่บ้านหรือพ่อบ้านที่มาทั้งทีได้จ่ายกับข้าวและหิ้วครัวซองต์ชั้นเลิศกลับไปบ้านด้วย

 

อาหารเช้ายังไม่จบนะครับไปต่อกันคราวหน้า

City Break Paris Part VII

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 7
มหาวิหารแซงต์เดนีส์ และนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศฝรั่งเศส Patron Saint of France
By Paul Sansopone

…” ในปี 1909 ช่างทำผมที่ชื่อ Monsieur Antoine เป็นชาวโปลีส(โปแลนด์)เกิดในปารีสซึ่งเป็นสไตล์ลิส ออกแบบผมที่มีชื่อเสียงได้นำทรงผมของ ฌาน ดาร์ก มาเป็นแรงบันดาลใจ ตัดให้ผู้หญิงที่ต้องการไว้ผมสั้นและเรียกว่าทรง “bob” ซึ่งก็เป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้…..”

เมื่อตอนที่แล้วเราได้ปูพื้นกันไปแล้วว่าสถาปัตยกรรมแบบ กอติก ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยเฉพาะที่ปารีสนั้นมีที่มาความเป็นมาและลักษณะเฉพาะแบบไหน มาคราวนี้เราไปเที่ยวของจริงกันเลยครับ

1. มหาวิหารแซ็งต์เดนีส์ ที่ถือเป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม เพราะเป็นสิ่งก่อสร้างแห่งแรกที่ออกแบบและก่อสร้างเป็นแบบกอติก แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่ามหาวิหารโนตเตรอดามกลางกรุงปารีส คือวิหารแบบกอติกแห่งแรกของฝรั่งเศสซึ่งไม่ใช่
มหาวิหารแซ็งต์-เดนีส์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ไม่ไกลจากสนามฟุตบอลสต๊าดเดอฟรองที่สร้างเมื่อตอนฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ’98 ที่ฝรั่งเศสชนะ บราซิลในรอบชิง 3-0

Saint Denis - La Basilique

โดยเรื่องราวที่มาของวิหารแห่งนี้มีดังนี้

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 3

มหาวิหารแซ็งต์-เดนีส์ ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดย พระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 บนที่ตั้งของที่ฝังศพของ นักบุญเดนีส์แห่งปารีส ซึ่งเป็นนักบุญและมรณสักขี**(คำอธิบายด้านล่าง)ในศาสนาคริสต์ ท่านเกิดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ในอิตาลี และต่อมาท่านได้ถูกส่งตัวจากอิตาลีมาเพื่อเปลี่ยนผู้คนชาวกอลที่ลูเทเทียที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณ Île de la Cité บนฝั่งแม่น้ำเซนให้หันไปนับถือคริสต์ศาสนา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ภายใต้ความรับผิดชอบของพระสันตะปาปาฟาเบียน ซึ่งการส่งมาในครั้งนั้นทำให้ นักบุญแซง-เดนีส์นั้นถือเป็นบาทหลวงราชาคณะหรือ บิชอปพระองค์แรกแห่งปารีสไปโดยปริยาย

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 10

แน่นอนว่าการมาconvert ให้ผู้คนหันมานับถือคริสต์ศาสนาเป็นจำนวนมากนั้น ทำให้ท่านต้องขัดแย้งกับนักบวชในลัทธินอกศาสนาอย่างหนัก จนในที่สุดก็ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยการตัดคอที่เนินสูงในปารีสที่ปัจจุบันคือมงมาทร์ ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของดรูอิด การสังหารเดนิสและเพื่อนนักบวชเชื่อกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของชื่อมงมาทร์ ที่มาจากคำว่า “mons martyrium” หมายถึง ‘เนินมรณสักขี’ ตำนานยังบอกว่า หลังจากที่ศีรษะหลุดจากบ่า นักบุญเดนีส์ก็หยิบหัวของตนเองขึ้นมาถือและเดินต่อไปอีกหกไมล์ โดยเทศนาไปตลอดทางซึ่งทำให้เดนิสกลายเป็นนักบุญองค์ที่มักจะเป็นที่รู้จักว่าคือ “นักบุญถือศีรษะ” (Cephalophore) เป็นเอกลักษณ์ปรากฎตามรูปภาพหรือรูปปั้นตามวัดคาธอลิคเช่นเดียวกับภาพหรือรูปปั้นนักบุญปีเตอร์(ปีเอโดร)ที่มักจะมีเอกลักษณ์คือจะถือกุญแจ(สู่)สวรรค์ที่ได้มาจากพระเจ้า เป็นต้น

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 4

และจุดที่นักบุญเดนีส์เสียชีวิตจริงหลังจากที่เดินเทศน์มา ก็คือบริเวณที่มีการสร้างวิหาร St.Denis แห่งปัจจุบันนี้นั่นเอง ในปีประมาณค.ศ. 258 และมีการสร้างโบสถ์หลังเล็กอุทิศให้ท่าน ณ จุดที่พระศพนักบุญถูกฝังไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยพระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 ต่อมาวิหารแห่งนี้เป็นที่ๆ ผู้คนเลื่อมใสกันอย่างมากกลายเป็นสถานที่สำหรับการแสวงบุญ ในยุคกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในปี 1137 อธิการ ซูว์เฌ (ผู้เป็นทั้งพระสหายและที่ปรึกษาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 และ ที่ 7 ผู้เป็นอธิการ-รัฐบุรุษและยังเป็นสถาปนิกคนแรกที่มีบทบาทสำคัญในการวิวัฒนาการลักษณะสถาปัตยกรรมกอติก) ได้สร้างบางส่วนของมหาวิหารใหม่โดยใช้วิธีการก่อสร้างที่ล้ำสมัยสำหรับยุคนั้น ถือกันว่าเป็นก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมกอติกที่แท้จริงเป็นครั้งแรก โดยสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1144 มีบุคคลสำคัญต่างๆ เข้าร่วมในพิธีที่รวมทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 7นอกจากนั้นมหาวิหารก็ยังเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง และกลายมาเป็นแบบการก่อสร้างของมหาวิหารและแอบบีย์อื่นๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม,เ ยอรมันและประเทศอื่นๆ ต่อมา

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 11

และในที่สุดได้กลายมาเป็นมหาวิหารที่มีความสำคัญคือใช้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและพระราชวงศ์เป็นเวลาหลายร้อยปีจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุสานหลวงแห่งฝรั่งเศส” (Royal Necropolis of France) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1789 พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสเกือบทุกพระองค์รวมทั้งพระศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวแนตต์ที่โดนประหารชีวิตโดยคณะปฎิวัติด้วยกิลโยตีน หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของฝรั่งเศสเช่นพระเจ้าโคลวิสที่ 1 (ค.ศ. 465-ค.ศ. 511) ซึ่งเคยถูกบรรจุที่ Abbey of St Genevieve (St. Pierre) มาก่อน แต่ต่อมาก็ถูกนำมาไว้ที่แซ็งต์-เดนีส์

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 2

พระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่16และพระนางมารี อองตัวแนตต์ ถูกบรรจุไว้ที่มหาวิหาร แซงต์ เดนีส์

อย่างไรก็ตามที่นี่ไม่ใช่สถานที่สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษก ซึ่งโดยประเพณีจะทำกันที่มหาวิหารแห่งแร็งส์ (Notre-Dame de Reims) นอกจากพระราชพิธีราชาภิเษกพระราชินีมักทำกันที่นี่

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 6

ภาพมหาวิหารแร็งส์ (Notre-Dame de Reims) ซึ่งเป็นวิหารแบบกอติกที่สำคัญมากอีกแห่งเพราะเป็นสถานที่สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตรย์ของฝรั่งเศสแทบทุกพระองค์ ซึ่งโดยประเพณีจะทำกันที่นี่ เริ่มต้นจากกษัตรย์องค์แรกของอาณาจักรแฟงค์ Clovis ที่1 ได้ทำพิธีรับศีลจุ่ม(baptism) เพื่อเปลี่ยนมานับถือคริสต์โดยSaint Remi บิชอบแห่งแรงส์

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 8

จากเรื่องราวที่กล่าวมาทำให้ นักบุญเดนิส ถูกยกย่องให้เป็น Patron saint of France หรือนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศฝรั่งเศสองค์หนึ่งในสามองค์ ซึ่ง การได้เป็นนักบุญหรือ Saint นั้นจะได้ตำแหน่งนี้ก็ต่อเมื่อเสียชีวิตไปแล้วและคริสต์จักรแห่งโรมลงมติให้ถือเป็นนักบุญ เนื่องจากอุทิศทุ่มเทและเสียชีวิตจากการเผยแพร่ศาสนาคาธอลิค หรือเป็น มรณสักขี** (martyr)หมายถึงเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ถูกทรมานจนตายหรือถูกฆ่าหรือถูกลงโทษให้ประหารชีวิต เพราะความเชื่อ ในศาสนาคริสต์ยุคแรกมีผู้ถูกทรมานและฆ่าด้วยความทรมาน เช่น ถูกขว้างด้วยก้อนหินให้ตาย ถูกตรึงกางเขน ถูกเผาทั้งเป็น และอื่นๆ แต่การได้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศไหนก็เพราะได้ทำคุณประโยชน์ทางด้านการศาสนาทำให้ผู้คนหันมานับถือหรือเลื่อมใสอย่างเป็นรูปธรรม ไหนๆ พูดถึงหนึ่งในสามแล้วก็คงต้องพูดถึงนักบุญองค์อุปถัมภ์ของฝรั่งเศสอีก 2 พระองค์ที่เหลือซึ่งก็คือ

ฌาน ดาร์ก Jeanne d’Arc หรือ โจน ออฟ อาร์ก (ค.ศ. 1412 – ค.ศ. 1431) เป็นวีรสตรีของฝรั่งเศสและเป็นนักบุญในนิกายโรมันคาทอลิก โจนมาจากครอบครัวชาวนาที่เกิดทางตะวันออกของฝรั่งเศสและเป็นผู้นำกองทัพฝรั่งเศสในสงครามร้อยปีหลายครั้งที่ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายอังกฤษ โดยที่สำคัญที่สุดก็ตอนที่รบชนะที่เมือง ออร์เลออง Orléans ในตอนแรกมีแต่คนหาว่าเธอเป็นคนเสียสติอ้างว่าได้ยินเสียงและมีนิมิตจากพระเจ้าให้เป็นผู้ชี้ทางให้นำฝรั่งเศสไปสู่ชัยชนะและเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ได้ขึ้นครองราชย์ และตัดสินใจสู้แม้กำลังของอังกฤษแข็งแกร่งกว่า อย่างไรก็ตามเธอมาพลาดถูกจับโดยพวกอังโกล-เบอร์กันเดี้ยน Anglo-Burgundians ที่เป็นพันธมิตรกับอังกฤษและถูกพิจารณาคดี ถูกพิพากษาให้ถูกเผาทั้งเป็นในข้อหาว่าเป็นพวกนอกรีตเชื่อลัทธิแม่มด เพราะพิสูจน์ไม่ได้เรื่องนิมิตที่เธอกล่าวอ้างเมื่ออายุ 19 ปี แต่อีกยี่สิบสี่ปีต่อมาในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 3 ได้ทรงมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ โดยมีการพิจารณาคดีที่มหาวิหาร Notre Dame ศาลพิพากษาว่าฌานเป็นผู้บริสุทธิ์ และทางสำนักวาติกันได้ประกาศให้ฌานเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1920 ชาวฝรั่งเศสถือว่า ฌาน ดาร์กเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศส

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 7

ที่น่าสนใจก็คือตอนที่เธอได้ยินเสียงเรียกจากพระเจ้าเพื่อให้ไปปลดแอกฝรั่งเศสจากอังกฤษ เสียงนั้นได้สั่งให้เธอแต่งกายแบบผู้ชายและตัดผมสั้นให้เหมือนเด็กหนุ่ม ให้เหมือนพวกอัศวินทั้งหลายนำกองทัพฝรั่งเศสไป ไม่น่าเชื่อว่ามรดกที่ฌานได้ทิ้งไว้ก็คือผมทรงนั้น ซึ่งในปี 1909 ช่างทำผมที่ชื่ออองตวน Monsieur Antoine เป็นชาวโปลีส (โปแลนด์) เกิดในปารีสซึ่งเป็นสไตล์ลิสออกแบบผมที่มีชื่อเสียง ได้นำทรงผมของ ฌาน ดาร์ก มาเป็นแรงบันดาลใจ ตัดให้ผู้หญิงที่ต้องการไว้ผมสั้นและเรียกว่าทรง “bob” ซึ่งก็เป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้

และอีกพระองค์ก็คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 (Louis IX) หรือ นักบุญหลุยส์ (Saint Louise) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสแห่งราชวงศ์กาเป ประสูติเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1214 พระราชบิดาของพระองค์คือ พระเจ้าหลุยส์ ที่ 8 พระมารดาของพระองค์มีพระนามว่า พระนางบลองช์ แห่ง กาสตีย์ พระเจ้าหลุยส์ ที่ 9 ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่เมื่อยังทรงพระชนมายุได้เพียง 11 ชันษา เท่านั้น เนื่องด้วยพระราชบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1226 ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ พระราชมารดาของพระองค์ผู้เปี่ยมด้วยความปรีชาสามารถ จึงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลา 10 ปี ยังผลให้ประเทศฝรั่งเศสเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 1

กษัตริย์หลุยส์ที่ 9 ทรงสมรสกับ พระนางมาร์เกอริต แห่ง โปรวองซ์ เมื่อทรงพระชนมายุได้ 19 ชันษา และมีบุตรธิดาด้วยกัน 10 พระองค์ ตลอดพระชนมายุของพระองค์ พระองค์ได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะ สามี และ พ่อของลูก

พระเจ้าหลุยส์เติบโตมาภายใต้การอบรมสั่งสอนของแม่ที่ปลูกฝังลูกให้มีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาอย่างลึกซึ้ง พระองค์ไม่เคยลืมคำสั่งสอนของแม่ที่ว่า “แม่ปรารถนาจะเห็นลูกตายที่แทบเท้าของแม่เสียยังดีกว่า เห็นลูกทำบาปหนักแม้แต่ประการเดียว” พระเจ้าหลุยส์อุทิศเวลาในการไปร่วมพิธีมิสซาวันละสองครั้ง และใช้เวลาในการสวดภาวนาเฝ้าศีลมหาสนิทนานนับชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญกิจกรรมในการใช้โทษบาปเสมอๆ พระเจ้าหลุยส์เป็นผู้เริ่มธรรมเนียมในการย่อเข่าแสดงความเคารพอย่างสูงในบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเจ้า ตอนที่กล่าวว่า “ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า” และการย่อเข่าในเวลาอ่านที่ข้อความจากพระวรสารที่กล่าวการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูด้วยเช่นกัน พระเจ้าหลุยส์ไม่ใช่ผู้ที่มุ่งแสวงหาความสะดวกสบายใส่ตัวเอง ตรงกันข้ามพระองค์ใส่ใจในคนจน และบรรดาผู้ตกทุกข์ได้ยากในรูปแบบต่างๆ พระองค์จัดตั้งโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อผู้ป่วย นอกจากนี้ยังจัดสร้างสถานที่อุปการะคนตาบอด และ สถานฟื้นฟูจิตใจหญิงโสเภณี พระองค์จัดตั้งโรงทานสำหรับเลี้ยงอาหารคนยากจน และ สถานที่บำบัดรักษาคนเป็นโรคเรื้อน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงระบบการตัดสินคดีความ ให้มีการให้การของพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ และอนุญาตให้มีการอุทรณ์คดีด้วยการยื่นเรื่องมาร้องขอความยุติธรรมจากพระองค์ได้โดยตรง

พระองค์เป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวแต่ก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งจิตใจที่ตั้งมั่นในศาสนา พระองค์ยังมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับคณะนักบวชฟรังซิสกัน และคณะดอมินิกัน และก่อนที่พระองค์จะออกเดินทางไปร่วมสงครามครูเสดครั้งที่ 7 พระองค์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกชั้นที่ 3 ของคณะฟรังซิสกันอีกด้วย ในฐานะที่พระองค์คืออัศวินนักรบผู้ห้าวหาญที่ยึดมั่นอยู่บนกรอบศีลธรรมตามแนวทางของคริสต์ศาสนา พระองค์ไม่อนุญาตให้ใครใช้ถ้อยคำที่หยาบคายไม่เหมาะสมในระหว่างที่พระองค์ปฏิบัติหน้าที่ของการรบ ในบทบาทของการเป็นผู้ก่อสร้าง พระองค์โปรดให้มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ที่งดงามหลายแห่ง ที่ควรนำมากล่าวถึงในที่นี้คือ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่ต่อมาเป็นที่ตั้งของคณะเทววิทยาแห่งปารีสด้วย และวิหารแซงชัปแปลที่เป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุไม้กางเขน และ มงกุฏหนามอีกด้วย

ในด้านการเมืองการปกครอง พระเจ้าหลุยส์ ที่ 9 เป็นผู้ยุติสงครามกับอัลบีเจนเซียน ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนานทางใต้ของประเทศ พระองค์เป็นผู้ปราบกบฏเคาท์เดอลามาร์ช และเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงระหว่างปารีสกับอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1259 แต่สิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของพระองค์คือการกอบกู้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในเขตปาเลสไตน์ที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพวกเตอร์ก ในปีค.ศ.1248 พระองค์ประสบความสำเร็จในการเข้ายึดเมือง ดามีเอตตา ในสงครามครูเสดครั้งที่ 7 แต่พระองค์กลับเสียทีพลาดท่าถูกจับกุมเป็นเชลยศึก และต้องจ่ายค่าไถ่เพื่อแลกกับอิสรภาพของพระองค์ ในอีก 22 ปีต่อมาคือ ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1270 ระหว่างที่พระองค์ออกไปเพื่อการศึกอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ติดเชื้อโรคระบาดและสิ้นพระชนม์ลงที่เมืองตูนิส

พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ ในปีค.ศ. 1297 โดยพระสันตะปาปา โบนีฟาซ ที่ 8 ชาวฝรั่งเศสถือว่าท่านเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย รวมทั้งการได้เป็นองค์อุปถัมภ์ของช่างแกะสลักหิน ช่างพิมพ์ และ ช่างตัดผม

Credit:Wikipedia,History channel และวัดเซ็นต์หลุยส์สาธร

พบกันตอนต่อไปเป็นเรื่องของอีก 2 วิหารแบบกอติก ที่ไม่ควรพลาดไปชมเมื่อท่านไปถึงปารีส ใน City Break Paris Part 8

City Break Paris Part VI

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 6
By Paul Sansopone

และที่นี้เราก็มาทำความรู้จักสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ช่วงยุคกลางของกรุงปารีสกัน

สถาปัตยกรรมแบบโรมันเนส (Romanesque)

City Break PARIS Romanesque Gothic 9

วิหารเซ็นต์ปีเตอร์แบบโรมันเนสที่มงมาตร์ที่ชื่อ Saint-Pierre de Montmartre

สถาปัตยกรรมยุคกลางของปารีสที่ยังอยู่ดี ส่วนใหญ่มักเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในศาสนา เพราะตอนต้นยุคกลางถือเป็นยุคมืดหรือยุคแห่งความยากลำบากต้องการความหวังและที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ทำให้การก่อสร้างโบสถ์วิหารทำออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่เพราะแรงศรัทธา โดยในยุคกลางช่วงแรก (ก่อนปี ค.ศ 1000) วิหารจะออกมาในสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ที่เรียกว่า Romanesque ซึ่งตอนนั้นเทคนิคการก่อสร้างจะมาจากพวกโรมัน โบสถ์วิหารจะเป็นลักษณะที่เป็นกำแพงหนาทึบเพราะตัวกำแพงต้องรับน้ำหนักหลังคาวิหารด้วย ทำให้มืดแสงเข้าได้น้อย ส่วนซุ้มประตูหรือหน้าต่างก็จะโค้งเป็นตัว U คว่ำ (Round Arches) รับน้ำหนักรับแรงเครียดหรือstressได้แบบมีขีดจำกัด

City Break PARIS Romanesque Gothic 10

Saint-Pierre de Montmartre

หากสร้างอาคารสูงมากๆ หรือบริเวณนั้นมีการสั่นสะเทือนเพราะอยู่ในเขตแผ่นดินไหวมักถล่มง่าย อย่างไรก็ตามวิหารยุคกลางซึ่งถือว่าเป็นวิหารแห่งแรกๆ ของกรุงปารีสหรือพูดอีกอย่างก็คือวัดที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ของปารีสที่ต้องไปชมก็คือ

อารามแซงแฌแมงเดเพร Église et abbaye Saint-Germain des Prés

City Break PARIS Romanesque Gothic 7

ภาพเขียน Abbey of Saint-Germain-des-Prés ในสมัยแรก

สถานที่ตั้งของวิหาร แซงแฌแมงนั้น เคยเป็นสุสานของกษัตริย์เนอเตรีย Nuestria จากราชวงศ์เมโรวีเฌียงแห่งอาณาจักรแฟรงค์ หรือ ฟรังซ์ มาก่อนในช่วงศตวรรษที่ 5 ต่อมาวิหารได้ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6 ยุคสมัยของพระโอรสกษัตริย์ Clovisที่ 1ที่พระนามว่า ชิลเดแบร์ที่ 1, Childebert I (ครองราชย์ในช่วง ค.ศ 511–558) ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้ท่านได้ไปรบชนะที่เมือง Saragossa ที่อยู่ในเขต Aragon ของสเปนแต่ไม่ยึดเมืองเพื่อเป็นการขอบคุณที่ชาวเมืองได้ให้เสื้อคลุมของนักบุญ Vincent และยังได้เศษไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของไม้กางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซูมาด้วยจึงต้องการสร้างสถานที่บูชา (Shrine) ของขลัง (Relic)หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 ชิ้นนี้ โดยตั้งอยู่ในจุดที่พระองค์สามารถมองเห็นจากวังของพระองค์ที่เกาะซิเต้ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างวิหาร ณ จุดนี้ด้วย เพราะท่านสามารถมองข้ามแม่น้ำเซนมาก็จะเห็น

แต่วิหารนี้กลับไม่ได้ใช้ชื่ออุทิศให้แซงค์แวงซง (นักบุญ Vincent) เนื่องจากในวันที่สร้างเสร็จพระราชาชิลเดแบร์ที่ 1 สวรรคต จึงมาใช้ชื่อวิหารว่าแซงแฌแมง (St.Germain) ตามชื่อนักบุญ Germain ที่เป็นพระราชาคณะ หรือ Bishop แห่งปารีสในขณะนั้น แต่วัดแห่งนี้ต่อมาก็มีเหตุการณ์หลายครั้งเช่นเคยถูกยึดโดยพวกไวกิ้งและเผาทำลายจึงมีการสร้างต่อเติมกันหลายครั้งหลายสมัย ที่เป็นต้นฉบับจริงๆ จะอยู่บริเวณมุมตึกซ้ายด้านใน หากยืนหันหน้าเข้าจากหน้าวิหาร นอกนั้นทำใหม่เลียนแบบพิมพ์เดิมทั้งหมดและยังมีที่ไม่ทำขึ้นใหม่ก็คือส่วนที่ที่เป็นกุฏิของพระหรือบาทหลวง Monastery นั้นเคยถูกนำไปใช้เป็นที่เก็บดินปืนในช่วง ปฏิวัติการปกครองของฝรั่งเศสในปี 1789 แล้วเกิดระเบิดขึ้นทำให้ไม่เหลือให้เห็นในวันนี้

แต่ก็ถือเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมีที่ดินมากมายจนมีการบริจาคที่ดินสร้างสถานศึกษาที่เก่าแก่ของปารีสแถบย่านละติน Quartier Latin แถวถนน St.Michel และย่านของวิหารเองกลายมาเป็นชุมชนที่นิยมและน่าอยู่ที่สุดในฝั่งซ้ายของปารีส

City Break PARIS Romanesque Gothic 2

**แอบบีย์ Abbey คืออารามหรือคอนแวนต์ในนิกายโรมันคาทอลิก ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอธิการอาราม (Abbot) หรืออธิการิณีอาราม (Abbess) ซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อหรือแม่ฝ่ายจิตวิญญาณของเหล่านักพรตที่อาศัยในแอบบีย์

City Break PARIS Romanesque Gothic 4

ภายในของอารามแซงแฌแมงเดเพร

วิหารเซ็นต์ปีเตอร์แห่งมงมาตร์ Saint-Pierre de Montmartre
เราคงยังไม่พูดถึงวิหารซาเครเกอเรอะ Sacré-Cœur ที่เป็นที่สุดของวิหารในปารีสอีกแห่งที่อยู่ที่Montmartre เพราะไม่ได้สร้างในยุคกลางแต่เราจะพูดถึงวิหารเล็กๆ ในสไตล์ Romanesque นั่นคือ Church of Saint-Pierre de Montmartre ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ในเขต 18 และถือว่าเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในปารีสรองจากแซงแฌแมงเดเพร St. Germain-des-Prés
City Break PARIS Romanesque Gothic 8

ที่นี่เริ่มก่อสร้างในปี 1134 และแล้วเสร็จในช่วงศตวรรษที่ 12 โดยมีผู้ผลักดันคือสันตะปาปา อูเฌอเนียสที่ 3 Pope Eugenius III โดยสร้างทับโบสถ์ของราชวงศ์เมโรวีเฌียงเดิมอุทิศให้นักบุญปีเตอร์และนักบุญแซงเดนีส โดยการก่อสร้างเริ่มมาในแบบโรมันเนสแต่ก็พอดีเป็นช่วงสมัยรอยต่อก็เลยมีสไตล์กอติกปนอยู่ ที่นี่มีซุ้มประตูโค้งแบบแหลม Pointed Arch ที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของสถาปัตยกรรมแบบกอติกแห่งแรก ในปารีส (1147) ในส่วนทางเดินกลางโบสถ์nave จะมีเสาหินดั้งเดิมแบบโรมันของวัดเดิมของราชวงศ์เมโรวีเฌียงหลงเหลืออยู่ ส่วนด้านหน้าคือ Western Façade นั้นมาปรับสร้างเป็นแบบ Neo-Classical Style ในปี1765 โดยล่าสุดในปี 1980 ก็มีการทำประตูสำริด 3 บานตรงทางเข้าซึ่งอุทิศให้ St. Denis, St. Peter และ Virgin Marry

 

สถาปัตยกรรมแบบกอติก Gothic Style

City Break PARIS Romanesque Gothic 3

เนื่องจากการสร้างวิหารในสมัยนั้น หลักการที่สำคัญคือต้องพยายามทำให้สูงที่สุดเพื่อให้ได้เข้าใกล้กับพระเจ้าที่อยู่เบื้องสูงแต่สถาปัตยกรรมแบบโรมันเนสมีขีดจำกัดในการทำให้อาคารสูงโปร่ง จึงทำให้ใน 140 ปีต่อมา (คศ.1140) เกิดสถาปัตยกรรมแบบกอติก Gothic Style ซึ่งถือกำเนิดในฝรั่งเศสนี่เองและก็เพราะมาจากแรงศัรทธาเป็นหลักใหญ่ โดยแบบกอติกนี้คือการพัฒนาด้านวิศวกรรมมีการปรับปรุงในหลักการใหญ่ๆก็คือซุ้มประตูแบบโค้งแหลมคล้ายตัว Vตรงยอด (ซุ้ม) โค้ง (Pointed Arches) จะทำให้รับน้ำหนักและแรงเครียดลงแนวดิ่งได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนำซุ้มโค้งตั้งแต่ 2 ตัวมาไข้วกันเป็นตัว X ที่เรียกว่า Cross Vaults เป็นที่มาของ ‘เพดานสัน’ จะทำให้รับน้ำหนักหลังคาได้ดีไม่ต้องพึ่งกำแพงหนาๆ มารับน้ำหนัก

‘หน้าต่างกุหลาบ’หรือ Rose Window

โบสถ์กอติกจึงใช้กำแพงที่มีหน้าต่างเยอะๆ ได้ทำให้รับแสงได้มากและหน้าต่างก็นิยมที่จะประดับด้วย Stained Glass หรือแก้วย้อมสีที่ทำโดยการผสมสารที่แตกต่างกันให้ได้สีนั้นๆ ออกมาและมักทำเป็นภาพเรื่องราวในพระคัมภีร์เพราะผู้คนสมัยนั้นอ่านหนังสือไม่ได้ การสอนศาสนาจึงมาในรูปแบบของรูปภาพเล่าเรื่อง และมักจะมีไฮไลท์อยู่ตรงหน้าต่างทรงกลมด้านหน้าโบสถ์ที่เรียกว่า ‘หน้าต่างกุหลาบ’ หรือ Rose Window

ภาพ Stained Glass หรือแก้วย้อมสีที่มักทำเป็นภาพเรื่องราวในพระคัมภีร์

แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหาซะทีเดียวหากต้องสร้างอาคารสูงมากก็หนีไม่พ้นแรงดันแบะออกด้านนอกทำให้ต้องมีการคิดระบบค้ำยันจากด้านนอกของผนังที่ก่อบนรากฐานของ Cross Vaults ทั้งหลายเหล่านี้ ตัวค้ำยันนี้เรียกว่า ‘ค้ำยันแบบปีก Flying Buttresses’ ซึ่งจะทำหน้าที่Support ตัวอาคารจากด้านนอกเป็นตัวกระจายน้ำหนักของโครงสร้างหลังคาลงดิน เราจะสังเกตเห็นว่าโบสถ์กอติกนั้นดูจากด้านนอกเหมือนมีขาแบบแมงมุมอยู่ 2 ด้านของอาคาร และความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้โบสถ์กอติกจะมีลักษณะสูงโปร่งสง่างาม

ภาพตัวอย่างของค้ำยันแบบปีก Flying Buttresses

จึงถือว่าสถาปัตยกรรมกอติกนั้นเริ่มขึ้นในฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และรุ่งเรืองต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในระยะแรก สถาปัตยกรรมทรงนี้เรียกกันว่า “แบบฝรั่งเศส” (Opus Francigenum) คำว่า “กอติก” มาเริ่มใช้กันในตอนปลายยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

เอาเป็นว่าถ้าเรามาถึงปารีส เราควรต้องไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรม กอติก ให้ได้ อย่างน้อยก็ 1ใน 3 วิหาร ที่ผมแนะนำต่อไปนี้ครับ…แต่คงต้องติดตามตอนต่อไปใน City Break Paris ตอนที่ 7 นะครับ

City Break Paris Part V

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 5
By Paul Sansopone

City Break Paris History 8

ปารีสยุคกลาง The Medieval Paris

City Break Paris History 7

Credit pic: http://www.indiana.edu

จากตอนที่แล้วเราได้ทราบว่าโรมันได้สร้างเมือง Lutetia ไว้ทางฝั่งซ้าย (The Left Bank) ของแม่น้ำเซน ต่อเนื่องจากเกาะกลางแม่น้ำที่ชื่อซิเต้ ที่พวกเซลติกเผ่า Parissi ตั้งถิ่นฐานอยู่ ที่เลือกฝั่งซ้ายก็เพราะเป็นที่ดอนมีโอกาสน้ำท่วมน้อยกว่าฝั่งขวา ซึ่งตอนนั้นเป็นพื้นที่ต่ำมีหนองน้ำเฉอะแฉะแบบ Swamp แต่ฝั่งขวาก็ยังมีความสำคัญ เพราะใช้เป็นที่เทียบเรือหรือท่าเรือนั่นเอง มีการเอาสินค้าขึ้นตรงนั้น (ปัจจุบันก็คือจัตุรัสแกรฟ Place de Grève บริเวณลานหน้า Town Hall หรือศาลากลางเมืองปารีส (Hôtel de Ville de Paris) ทำให้ตรงนั้นก็กลายเป็นตลาดโดยปริยาย แต่ต่อมาเมืองขยายทำให้มีการย้ายตลาดขึ้นไปทางเหนือที่ Les Champeaux และในปี 1183 ก่อนที่กษัตริย์ฟิลิป (Philippe-Auguste) จะทรงเสด็จไปทำสงครามครูเสด ท่านได้มีดำริให้สร้างตลาด ‘เลอาน’ Les Halles ถือเป็นตลาดสดกลางเมืองปารีสที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคกลางและเป็นมาต่อเนื่องจนยุคปัจจุบัน จนปี 1970 ถึงมีการย้ายตลาดทางใต้ของปารีสที่ย่าน Rungis ส่วนที่เดิมถูกปรับเปลี่ยนมาเป็น Forum des Halles ศูนย์การค้าชุมทางรถไฟใต้ดินของปารีสในปี 1979

บางครั้ง(จริงๆ แล้วทุกครั้ง) ที่การท่องเที่ยวชมบ้านเมืองในต่างประเทศนั้นมันต้องอิงประวัติศาสตร์ ไม่งั้นมันไม่รู้เรื่องราวที่มา ในตอนนี้เลยต้องมีการทบทวนความจำพื้นฐานประวัติศาสตร์ของเมืองที่เราไปเที่ยวนั้นอยู่บ้าง ก่อนจะไปชมสิ่งก่อสร้างที่เกิดในยุคนั้น

City Break Paris History 5

Tapestryหรือศิลปะบนผ้าทอ ที่ชื่อ The Lady and the Unicorn (La Dame à la licorne) 1ใน6 ของทั้งเซ็ท ซึ่งถือเป็นสุดยอดงานศิลปะจากยุคกลางตอนปลาย สามารถไปชมได้ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งยุคกลาง Musée national du Moyen Âge ที่เขต5 ถนนแซงต์มิเชล กรุงปารีส

เรื่องราวในยุคกลางนั้นมีอะไรเกิดขึ้นมากมาย คำว่ายุค(สมัย)กลาง Middle Ages ก็คือช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 นับตั้งแต่การล่มสลายลงของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (การสิ้นสุดของสมัยคลาสสิก) จนถึงจุดเริ่มต้นของสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและยุคแห่งการสำรวจ (ทวีปใหม่) ซึ่งเป็นยุคที่นำไปสู่สมัยใหม่ในเวลาต่อมา สมัยกลางคือช่วงเวลาตรงกลางของกระบวนการเปลี่ยนผ่านในประวัติศาสตร์ตะวันตกคือ สมัยคลาสสิก, สมัยกลาง และสมัยใหม่ และสมัยกลางยังถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลาคือ ต้นสมัยกลาง (Early Middle Ages AD.500-1000) ซึ่งบางตำราถือเป็นยุคมืดหรือยุคถดถอย, สมัยกลางยุครุ่งโรจน์ (High Middle Ages AD.1000-1300) และปลายสมัยกลาง (Late Middle Ages AD.1300-1500)

City Break Paris History 4

อาวุธของพวก Franks ในตอนต้นยุคกลางถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ของเยอรมันในเมืองเนินแบร์ก

หลังจาก ค.ศ. 357 ที่โรมเสื่อมอำนาจพวก(Salian) Franks เผ่าพันธุ์ที่เป็นผู้มีวินัยทางการดำรงชีพและวินัยทางการรบมีถิ่นกำเนิดมาจากฝั่งขวาของแม่น้ำไรน์ สามารถพิชิตและขับไล่พวกโรมันและพวกกอล Gaul ซึ่งก็คือพวกอนารยชน (Barbarian)ออกไปอย่างราบคราบและยังรวบรวมพวกกอล Gaul ที่เคยภักดีกับโรมันมาเป็นพวกเดียวกัน จากนั้นก็สร้างอาณาจักร Franks ของตัวเอง โดยการนำของกษัตริย์ Clovis ที่ 1ผู้กล้าหาญแห่งราชวงศ์เมโรวีเจี้ยน Merovingian Dynasty (ค.ศ.486–751)ที่ได้รับฉายาว่าเป็น The founder of France ผู้ให้กำเนิดแผ่นดินฝรั่งเศส บางตำราก็บอกว่าท่านคือกษัตริย์พระองค์แรกของฝรั่งเศสซึ่งก็น่าจะใช่ แม้จะยังเป็นแค่อาณาจักร Franks ท่านขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 16 แต่เก่งและชำนาญเรื่องการต่อสู้มาก เพราะฝึกฝนและติดตามพระบิดาไปสู้รบตั้งแต่ทรงพระเยาว์ซึ่งท่านก็ได้ตั้งปารีสให้เป็นเมืองหลวง โดยที่กษัตริย์ Clovis ก็ได้ประกาศให้อาณาจักรแห่งนี้เป็นคริสเตียนChristendom เพราะพระองค์ศรัทธาในพระเจ้า

City Break Paris History 9

กษัตริย์ คลาวิส เมื่อครั้งทำพิธีรับศีลล้างบาป หรือศีลจุ่ม (Baptism) เพื่อการเป็นคริสเตียน

และต่อมาในศตวรรษที่ 8 อาณาจักร Franks แห่งนี้ก็ขยายกลายเป็นจักรวรรดิการอแล็งเฌียง (Carolingian Empire)ตามชื่อราชวงศ์ การอแล็งเฌียง Carolingian Dynasty (ค.ศ.751–888) ของจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ที่ชื่อพระเจ้าชาร์เลอมาญ มหาราช Charlemagne (The Great) ซึ่งต่อมาสามารถขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ในยุโรปตะวันตกทั้งหมดเทียบเท่ากับจักรวรรดิโรมัน(ตะวันตก)**ในอดีต(จริงๆแล้วใหญ่กว่าเพราะโรมันจะไม่ขยายดินแดนเกินไปกว่าบริเวณแม่น้ำไรน์หลังจากการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในปี ค.ศ. 9 ในยุทธการที่ป่าทิวโทเบิร์ก (Battle of the Teutoburg Forest) แต่ชาร์เลอมาญขยี้ผู้ต่อต้านที่เป็นชาวเจอร์มานิคทั้งหมดและขยายดินแดนของจักรวรรดิไปจนถึงแม่น้ำเอลเบ)
หมายเหตุ ** เพื่อไม่ให้สับสนกับ อาณาจักรโรมันตะวันออก หรือ “จักรวรรดิไบแซนไทน์” Byzantine ซึ่งก่อตั้งโดยจักรพรรดิ “Flavius Valerius Aurelius Constantinus” หรือที่รู้จักกันว่า “คอนสตันไทน์ที่ 1” ซึ่งท่านได้สถาปนานครคอนสแตนติโนเปิลให้เป็นเมืองหลวงใหม่ (New Rome) ของจักรวรรดิโรมันใน พ.ศ. 873 และท่านก็เป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์แรกที่หันมานับถือศาสนาคริสต์ จากก่อนหน้านั้น จักรพรรดิโรมันทั้งหมดนับถือทวยเทพ(เทพเจ้าหลายองค์ ลัทธิเพเกินบูชาเทพเจ้าโรมัน) ขณะที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายไปในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ส่วนตะวันออกยังดำเนินต่อมาอีกพันปีก่อนจะเสียแก่เติร์กออตโตมันใน ค.ศ. 1453

และในช่วงปี ค.ศ 800 ความยิ่งใหญ่กว้างไกลของอาณาเขตเทียบเท่ากับจักรวรรดิโรมัน ทำให้ชื่อจักรวรรดิการอแล็งเฌียงถูกเปลี่ยนมาเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) และที่มีชื่อ “อันศักดิ์สิทธิ” ต่อท้าย ก็เพราะสมัยโรมัน(ตะวันตก)**ก่อนหน้านั้นจักรพรรดิโรมันนับถือทวยเทพ แต่สมัย พระเจ้าชาร์เลอมาญ ทรงเคร่งศาสนาคริสต์ และประกอบกับก่อนหน้านั้นเป็นช่วงยุคมืดที่ศาสนาเป็นที่พึ่ง ก็ทำให้ประชาชนทุกเขตดินแดนหันมาภักดีต่อพระองค์มากขึ้น ในขณะที่สันตะปาปาที่โรมก็มองเป็นกลยุทธแห่งชัยชนะเช่นกัน (win-win) ที่จะทำให้คริสต์ศาสนาแผ่ไปทั่วยุโรปแบบไม่ต้องออกแรง เพราะการที่ชาร์เลอมาญไปชนะดินแดนไหนท่านก็จะฟื้นฟูศาสนาที่นั่นหรือแม้แต่ให้มีการ convert ปรับเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียนไปเลย จึงมีการจัดพิธีราชาภิเษกขึ้นครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นที่กรุงโรม โดย สันตะปาปาลีโอที่ 3เป็นผู้ทำพิธีสวมมงกุฎ ในวันคริสมาสต์ ปี ค.ศ 800 ที่ กรุงโรม ณ วิหาร St. Peter’s (อาคารหลังเก่าก่อนมีการสร้างหลังปัจจุบันครอบ)

เนื่องจากจักรวรรดินี้กินพื้นที่กว้างใหญ่เป็นพื้นที่ของเยอรมัน, ฝรั่งเศส, เบลเยี่ยม, เนเธอร์แลนด์สวิสเซอร์แลนด์, อิตาลีทางเหนือ ทำให้เป็นที่มาของฉายาที่ท่านได้รับว่า The Father of Western Europe และพระองค์ได้ทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองอาเคิน Aachen (อยู่ในเยอรมันในปัจจุบัน) เพราะอยู่ใจกลางมากขึ้น เมื่อเทียบกับปารีสแต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเพราะ Aachen นั้นใกล้บ้านเกิดของท่าน

พระเจ้าชาร์เลอมาญ ในพิธีราชาภิเษกขึ้นครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ โดย สันตะปาปาลีโอที่3 Pope Leo III เป็นผู้ทำพิธีสวมมงกุฎ ในวันคริสมาสต์ ปี ค.ศ 800 ที่ กรุงโรม ณ วิหาร St. Peter’s (อาคารเก่าก่อนมีการสร้างหลังปัจจุบันครอบ)

และเมื่อครั้นท่านสิ้นพระชนม์ทายาทพระองค์เดียวที่ชื่อพระเจ้าหลุยส์ผู้ศัรทธา(เคร่งในศาสนา) Louis the Pious ขึ้นครองราชย์ต่อแต่นั้น เนื่องจากท่านมีทายาทถึง 3 พระองค์จึงมีการแบ่งดินแดนออกเป็น 3 ส่วนให้เท่าเทียมกันตามกฎมณเฑียรบาลของชาว Franks อาณาจักรจึงถูกแบ่งเป็น 3 อาณาจักรตามสนธิสัญญา Verdun ค.ศ 843 คือ
1. ฟรังเกียตะวันตกWest Francia ซึ่งก็กลายมาเป็น the Kingdom of France ในเวลาต่อมา (ดินแดนของฝรั่งเศสในปัจจุบัน)
2. ฟรังเกียตะวันออก East Francia แต่มักใช้ชื่อเดิมคือจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ The Holy Roman Empire (ดินแดนของประเทศเยอรมันในปัจจุบัน)
3. อาณาจักรกลาง Central kingdom (กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ The Low Countries ดินแดนของ เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม และลักซัมบรูกร์ รวมทั้งดินแดนต่อเนื่องคือสวิสเซอร์แลนด์ และดินแดนทางเหนือของอิตาลีที่เป็นนครรัฐ)

City Break Paris History 1

กลับมาเรื่องฝรั่งเศส เรื่องราวที่เล่ามาทำให้เราสามารถพูดได้ว่าบรรพบุรุษของฝรั่งเศสและเยอรมัน ก็คือพวกFranks นี่เอง และมันก็คือที่มาของคำว่า ‘France’ เพราะคำว่า France ในภาษาเยอรมันและดัชท์คือ Frankreich และ Frankrijk ,มันมีความหมายว่า “Realm of the Franks” หรือ อาณาจักรของ Franks นั่นเอง ซึ่งก็มีความเจริญต่อเนื่องมาโดยเฉพาะในยุคสมัยของกษัตริย์ อูก กาเป มหาราช Hugh Capet หรือ Hugh the Great ต้นสายของราชวงศ์กาเปเชียง Capetian Dynasty (987–1589) ได้วางรากฐานระบบการปกครองแบบกษัตริย์แบบมั่นคงต่อเนื่องมาจนถึงราชวงศ์วาลัวร์และบูร์บอง (Valois (until 1589) and Bourbon (until 1848)ซึ่งเป็นสายและแขนงต่อเนื่องมาจากราชวงศ์กาเปเชียงนั่นเอง

City Break Paris History 3

ภาพไวกิ้งบุกยึดปารีสที่เรียกว่า The Siege of Paris

อย่างไรก็ตามอาณาจักร West Francia แห่งนี้ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่หลายส่วนที่เราเห็นเป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน เพราะก็ยังมีส่วนที่เป็น Normandy ซึ่งเป็นของพวก Normans ซึ่งมาจากคำว่า Norseman พวกที่มาจากทางเหนือซึ่งก็คือพวกไวกิ้ง Viking ที่รู้ว่าปารีสช่วงนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองจึงเข้ามาปล้นสะดมและบุกยึดเมืองในปี 845 ที่เรียกว่า The Siege of Paris ถ้าเราดูหนังซีรี่ย์ดังของ National Geo ก็จะรู้ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ดีที่น้องชายของ “เรกน่าร์ (Ragnar Lodbrok) ที่ชื่อ รอลโล่ (Rollo) เมื่อครั้งที่บุกเข้ามาตามแม่น้ำเซนได้ทำสัญญากับกษัตริย์ King Charles III โดยสัญญาจะป้องกันการรุกรานของพวกไวกิ้งเพื่อแลกกับดินแดนทางเหนือของช่วงปลายของลำน้ำเซน ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณ นอร์มองดี นั่นเอง และได้สถาปนาตัวเองขึ้นเป็น ดยุกแห่งนอร์มองดี คนแรก Duchy of Normandy แล้วยังมีดินแดน ‘อ็องฌู’(Angevin Empire) ทางภาคตะวันตก ที่ปกครองโดยราชวงศ์ปลองตาเจเนท์ Plantagenet จากอังกฤษ ที่ระหองระแหงอยู่ต่อเนื่องจนเกิดสงคราม 100 ปี ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในเวลาต่อมา ในช่วงนั้นจึงยังไม่มีผู้ที่ปกครอง(ruled)อย่างเด็ดขาดในดินแดนที่ยังมีอาณาจักรเล็กใหญ่อยู่ในดินแดน West Francia จนกระทั่งถึงยุคของกษัตริย์ฟิลิปที่ 2 Philip August (Philip II, 1180–1223 ตรงกับยุคก่อนสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (1238–1257)กษัตริย์พระองค์แรกแห่งอาณาจักรสุโขทัยเล็กน้อย) ที่ท่านรวบปกครองทั้งหมดได้และสถาปณาตนเป็น Roi de France หรือ king of France เป็นครั้งแรก เป็นพระองค์แรกที่ไม่ใช้คำว่า King of the Franks(Roi des Francs) อีกต่อไป และปารีสก็ได้รับบทบาทในการเป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสแบบสมศักดิ์ศรีโดยในยุคของพระองค์มีการพัฒนาก่อสร้างมากมายรวมทั้งกำแพงกรุงปารีส Wall of Paris ที่สร้างเพื่อป้องกันปารีสถูกรุกรานในช่วงที่ท่านเสด็จไปทำสงครามครูเสดโดยเฉพาะจากอังกฤษ( ราชวงศ์ปลองตาเจเน Plantagenet)

City Break Paris History 2

กำแพงเมืองปารีส ที่สร้างสมัยพระเจ้าพิลิปที่ 2

และที่นี้เราก็มาทำความรู้จักสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ของช่วงยุคกลางของกรุงปารีสกัน แต่คงต้องติดตามอ่านในตอนต่อไปนะครับ ใน City Break Paris ตอน 6

Credit: Wikipedia, http://www.metmuseum.org

City Break Paris Part IV

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 4
By Paul Sansopone

เที่ยวปารีสแบบคุ้มค่า
เที่ยวปารีสแบบไหนดี เริ่มต้นแบบไหนถึงจะเรียกว่าได้ทำความรู้จักนครหลวงแห่งนี้ในทุกแง่ทุกมุม สมกับสิ่งที่ปารีสมีนำเสนอให้ จากประวัติศาสตร์กว่า 2000 กว่าปี จากการบรรจงก่อร่างสร้างความศิวิไลซ์ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรมหรือศิลปะของแต่ละยุคสมัย ประกอบกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในแบบชาวปารีเซียนที่รักความสนุกร่าเริงแบบมีสไตล์ ตลอดจนความประณีตพิถีพิถันในการกินการดื่มที่ไม่ธรรมดา นั่นทำให้การมาเที่ยวที่นี่แบบผิวเผินถือว่าไม่คุ้มค่าเลยครับ เริ่มจากตอนนี้ผมจะพาท่านไปเที่ยวปารีสในแบบที่มีสาระ

1.เที่ยวชมสถาปัตยกรรมระดับโลกของกรุงปารีส 

เป็นธรรมดาที่โปรแกรมท่องเที่ยวไม่ว่าไปที่ไหนย่อมต้องมี “ทัวร์วัด-ทัวร์วัง” (ยกเว้นประเทศเกิดใหม่อย่างอเมริกาหรือออสเตรเลียซึ่งมักไปดูทิวทัศน์ของเมืองหรือสถาปัตยกรรมที่เป็นLandmarkของเมืองแทน) เราต้องยอมรับว่าการที่ปารีสติดอันดับเมืองที่สวยติดอันดับโลกมาก็เพราะ สิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากทำเลที่ตั้งของปารีสก็ไม่ได้ถือว่าโดดเด่นเหมือนกับเมือง Sydneyหรือ San Francisco ที่ตั้งอยู่บนอ่าวธรรมชาติมองไปทางไหนก็สวยงาม เพียงแค่ปารีสตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเซนซึ่งหากไม่มีสถาปัตยกรรมของนครหลวงแห่งนี้มาช่วยเสริมบารมีแล้วมันก็อาจเป็นแม่น้ำธรรมดาสายหนึ่ง

ปารีสเป็นเมืองเก่าแก่ ทำให้มีสถาปัตยกรรมของแต่ละยุคสมัยเกือบทุกรูปแบบ เริ่มจากความที่เป็นเมืองคาธอลิคที่เคร่งครัดศรัทธาในคริสต์ศาสนา ประกอบกับความที่เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่ของยุโรปและมีระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข จึงสามารถเกณฑ์ช่างฝีมือหรือสถาปนิกหัวหน้าโครงการที่เก่งที่สุดในแต่ละยุคมาสร้างสรรค์งานในแบบที่ไม่มีขอบเขตจำกัดได้ ทำให้วัดวังของที่นี่ไม่เป็นรองที่ไหนๆ

เราจะเที่ยวชมสิ่งก่อสร้างของกรุงปารีสโดยไล่จากยุคเริ่มแรกมาจนถึงยุคปัจจุบันไปด้วยกัน ได้เรียนรู้(เล็กๆ น้อยๆ)เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแต่ละยุคไปด้วยในตัว

I.สถาปัตยกรรมในยุคโรมัน Gallo Roman Era (50BC -508AD)

ตั้งแต่สมัยยุคปี 225 BC มีหลักฐานบ่งชัดว่าบริเวณที่ตั้งเมืองปารีสนั้นเป็นที่อยู่ของชาว ‘Celtic’ เผ่าปาริซี่ ‘Parisii’ มานมนานแล้ว โดยจุดที่ได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ก็คือที่เกาะกลางแม่น้ำเซนที่ชื่อ ‘ซิเต้’ ซึ่งชื่อเผ่านี้ก็เป็นที่มาของชื่อเมืองParis นั่นเอง แต่พอมาในปี 52 BC ซึ่งเป็นยุคที่โรมันเรืองอำนาจนั้น ต้องบอกว่าไม่มีใครทานอำนาจของกองทัพโรมันได้ ที่นี่จึงกลายมาเป็นเมืองอาณานิคมของโรมัน นำโดยจอมพลชื่อ Titus Labienus และถูกตั้งชื่อว่าเมือง ลุดเตเตีย Lutetia(Lutèce)หรือ Lutetia Parisiorum (Lutece of the Parisii) และแน่นอนว่าถ้าทหารโรมันไปที่ไหนก็มักจะฝากผลงานในรูปแบบของวิศวกรรมโรมันอย่างใดอย่างหนึ่งฝากเอาไว้ อาจเป็นป้อมค่าย หรือถนน หรือ Aqueduct สะพานลำเลียงน้ำหรือบ่ออาบน้ำ Roman Bath และสนามกีฬาหรือโรงละครกลางแจ้งที่เรียกว่า Amphitheatre สำหรับในฝรั่งเศสนั้นจะพบมรดกของโรมันได้ทุกรูปแบบแต่มักจะอยู่ในหัวเมืองทางตอนใต้เป็นส่วนใหญ่แถบ Provence

City Break PARIS Roman Paris Architecture 13

ภาพบนเป็น ปารีสในศตวรรษที่ 3 ตอนเป็นเมืองอาณานิคมของโรมันที่ชื่อลุดเตเตีย Lutetia (Lutèce)

สำหรับที่ปารีสนั้นก็ถือว่ามีโรมันสถานเกือบทุกรูปแบบที่กล่าวมาแต่หลงเหลืออยู่ไม่มาก เพราะหลังจากโรมันเริ่มเสื่อมอำนาจไป พวกบาร์บาเรี่ยน (Barbarians) ก็เข้ามาทำลายหลายๆ อย่างแบบไม่เห็นคุณค่าและพอเข้าช่วงยุคกลางหรือที่ได้รับฉายาว่ายุคมืดนั้น ทุกอย่างเหมือนเป็นการเดินถอยหลัง สิ่งที่โรมันทิ้งไว้ถูกรื้อถอนทำลายเพื่อเอาอิฐหินปูนไปทำอาคารบ้านเรือนของตนเอง แทบไม่เหลืออะไรในยุคโรมันให้ดูเท่าไร แต่เนื่องจากเราเป็นนักท่องเที่ยวแบบชอบเสาะแสวงหา ดังนั้นบทความในตอนนี้ขอเอาใจนักโบราณคดี แบบ Indiana Jones หน่อยครับ จึงแนะนำให้ไปดูสถานที่เหล่านี้

1.ถนนโรมันในปารีส
ถ้าเป็นถนนก็แน่นอนว่าไม่ว่าโรมันไปที่ไหนจะมีการวางผังเมือง โดยการวางถนนสายหลักเป็นเส้นจากทิศเหนือลงทิศใต้ (north–south-oriented street ) เสมอไม่ว่าไปสร้างเมืองที่ไหน โดยถนนนี้จะเรียกว่า ‘Cardo Maximus’ ปัจจุบันเป็นถนนแซงช๊าคและแซงค์มาแตง (Rue Saint-Jacques, Rue Saint-Martin) ที่ตัดผ่านกลางเมือง แม้ว่าหลักฐานในปัจจุบัน(วัสดุก่อสร้างเดิม)ไม่มีให้เห็นมากนัก

City Break PARIS Roman Paris Architecture 14

City Break PARIS Roman Paris Architecture 10

และยังมีที่ถนน Rue de la colombe ในเกาะซิเต้ ที่มีร่องรอยของถนนในยุคโรมันชัดเจน ในส่วนที่คล้ายกับเป็นทางข้ามแต่มันคือแนวกำแพงเดิมที่ใช้หินในยุคนั้น

City Break PARIS Roman Paris Architecture 2

City Break PARIS Roman Paris Architecture 9

 

2.สนามกีฬาหรือโรงละครกลางแจ้งแบบโรมันในปารีส (Les Arènes de Lutèce – Paris Amphitheatre)

City Break PARIS Roman Paris Architecture 1

ภาพปัจจุบันเปรียบเทียบกับสมัยที่ยังสมบูรณ์แบบภาพล่าง

City Break PARIS Roman Paris Architecture 3

ไม่น่าเชื่อว่าปารีสก็มีสนามกีฬาหรือโรงละครกลางแจ้งที่เรียกว่า Amphitheatre แบบคอลอสเซี่ยมที่กรุงโรม แต่ขนาดแตกต่างกันเยอะ เนื่องจากประชากรของ Lutetia ตอนนั้นมีแค่ไม่ถึง 20,000 คน สนามกีฬาแห่งนี้จึงทำไว้ที่ความจุประมาณ 17,000 ที่นั่งเท่านั้น สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ใช้เป็นที่แสดงให้ความบันเทิงทุกรูปแบบและเป็นสนามประลองของเชลยศึกที่เรียกว่า Gladiatorial Combats ด้วย สนามกีฬานี้ถูกทำลายลงโดยพวกบาร์บาเรี่ยนในปี ค.ศ.280 โดยมีการนำอิฐหินไปก่อสร้างกำแพงที่เกาะซิเต้ อย่างไรก็ตามในปี 1860 สถานที่แห่งนี้ได้ถูกค้นพบอีกครั้งในช่วงการก่อสร้างอาคารและพบว่ามันเป็นโบราณสถานที่มีค่า ทำให้มีการบูรณะอีกครั้ง นำโดย Victor Hugo นักเขียนบทกวีชื่อดังชาวฝรั่งเศส และถูกเรียกว่า เลซาเรนน์ Les Arènes ที่แปลว่า Arena มาตั้งแต่ตอนนั้น และกลายเป็น จัตุรัสสาธารณะ( Public Square) มาตั้งแต่ปี 1896

 

3. บ่ออาบน้ำสาธารณะแบบโรมัน Roman Bathhouse – Thermes de Cluny

City Break PARIS Roman Paris Architecture 8

แตร์เม เดอ คลูนี (Thermes de Cluny) เป็นสถานที่อาบน้ำสาธารณะแบบโรมันที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่3 แต่มีความสมบูรณ์แบบอยู่มาก เนื่องจากมีการใช้ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงยุคกลาง การออกแบบและการใช้วัสดุเป็นแบบโรมันแท้ๆ มีบ่อน้ำร้อนและน้ำเย็นที่ Frigidarium และมีกำแพงสูง 14 เมตร ของเดิมที่ในสมัยนั้นจะประดับด้วย Mosaics ปัจจุบันเราสามารถไปดูได้เพราะสถานที่นี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์สถานชาติแห่งยุคกลางหรือ Musée National du Moyen Age ของปารีส

 

4. ซากปรักโรมันหรือ Roman Ruin ที่ Notre Dame Archaeological Crypte

City Break PARIS Roman Paris Architecture 6

ซากปรักโรมันหรือ Roman Ruin ที่ชัดๆ ในปารีสและเป็นเรื่องเป็นราวน่าศึกษาอีกแห่งจะอยู่แถวบริเวณใต้ลานหน้าวิหารโนเตรอดามที่เรียกว่า พลาซดูปาร์วิส (Place du Parvis) ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่จอดรถใต้ดิน มีทั้งที่เป็นซากที่เหลือของท่าเรือริมแม่น้ำเซนและที่อาบน้ำสาธารณะแบบโรมัน

City Break PARIS Roman Paris Architecture 7

ภาพบนเป็นที่อาบน้ำแบบโรมันที่ค้นพบอีกแห่งที่นี่

แต่ที่นี่ไม่ได้มีแต่ซากปรักของโรมันเท่านั้น เนื่องจากต้นกำเนิดของเมืองนี้มีชาว Celtic เผ่าปาริซี่ ‘Parisii’ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และต่อจากสมัยโรมันเข้าสู่ยุคกลางจุดนี้ก็ถือเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของพวก Franks บรรพบุรุษของชาวฝรั่งเศสที่สามารถเอาชนะพวกโรมันได้อย่างราบคราบ และปักหลักสร้างฐานอยู่ที่นี่ ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เรียกว่ามีโบราณวัตถุของหลายยุคหลายสมัยอยู่จนเข้าสู่ยุคกลาง น่าสนใจมากเพราะไหนๆ เราก็ต้องมาเที่ยวโนเตรอดามอยู่แล้ว

 

5.สุสานใต้ดินของปารีส THE CATACOMBS OF PARIS

City Break PARIS Roman Paris Architecture 12

ไม่น่าเชื่อว่าสุสานใต้ดินของกรุงปารีสจะอยู่ในลิสต์อันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวหลายๆ คนที่มาแล้วต้องไปดูให้ได้ จริงๆ แล้วที่สุสานมันไม่ได้มีความเก่าแก่อะไรขนาดอยู่ในสมัยโรมัน ซึ่งเป็นธีมการเที่ยวของเราในตอนนี้ แต่ว่าอิฐหินปูนที่นำมาสร้างอุโมงค์ใต้ดินนั้นต่างหากที่พบว่ามันเป็นวัสดุของยุคเมืองลุคเตเตียอยู่มากพอสมควร ประกอบกับการเก็บศพไว้ในสุสานใต้ดินที่เรียกว่า คาตาคอม แบบนี้ชาวโรมันเป็นผู้ริเริ่ม ท่านที่ไปเที่ยวโรมมาแล้วก็จะทราบ เพราะโรมในยุคนั้นมีสิ่งก่อสร้างมากมาย เริ่มต้องการพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มเรื่อยจึงต้องมีการรื้อสุสานหลายแห่งและนำศพหรือโครงกระดูกลงไปเก็บไว้ใต้ดินและตามแนวถนนAppiaที่เก่าแก่ เลยขอเอารวมในตอนนี้ด้วย

City Break PARIS Roman Paris Architecture 5

หนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ช่วงเกิดสงครามศาสนา ที่มีการพูดถึง ป่าช้าที่เก่าแก่ที่สุดของปารีสที่ชื่อ Cimetière des Saints-Innocents

เรื่องราวของกรุงโรมก็เหมือนที่ปารีสหรือเมืองใหญ่ทุกแห่งในโลกก็คือต้องมีการย้ายหรือล้างป่าช้า เมื่อเมืองมีการขยายตัว

ที่ปารีสนั้นป่าช้าในเมืองแห่งแรกที่ถูกย้ายคือป่าช้าที่เก่าแก่ที่สุดของปารีสที่ชื่อ Cimetière des Saints-Innocents ในสมัยก่อนยุคปฏิวัติฝรั่งเศสช่วงปี 1785 นี่เอง เนื่องจากเมืองขยายและผู้คนก็กลัวเรื่องเชื้อโรคและต้องการสุขลักษณะในการอยู่อาศัยเลย ย้ายไปอยู่ใต้ดินในย่านนั้นซึ่งใต้ดินแถวนั้น(ปารีส ฝั่งซ้าย)จะเป็นหินปูนที่มีโพรงมีช่องอยู่มากมาย จนช่วงต่อมาเริ่มนำศพลงไปมากขึ้นจึงมีการทำระบบอุโมงค์ที่มีกำแพงแข็งแรงยาวเป็นระยะทาง 2 กม.ลึกลงไปใต้ดิน 30 เมตรและว่ากันว่ามีศพที่อยู่ใน คาตาคอม ถึง 6 ล้านศพ ถึงขนาดมีชื่อฉายาว่า เป็น Empire of the dead บ้าง Largest grave in the world บ้าง ภาพข้างล่างคือผู้ที่มาเข้าคิวชมสุสานใต้ดินที่บางครั้งคิวยาวเป็น 2-3 ชั่วโมง และต้องเดินเกือบ 45 นาที (ไม่มีห้องน้ำ) กว่าจะสุดทางกลับออกมาได้แถมราคาตั๋วจองล่วงหน้าก็ไม่ถูกครับ €27 สำหรับผู้ใหญ่ เรียกว่าต้องใจรักจริงๆ

City Break PARIS Roman Paris Architecture 11

Credit: Wikipedia https://archaeology-travel.com/

เจอกันคราวหน้าเราจะไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมและศิลปะในช่วงยุคกลางของปารีสกันนะครับ

City Break Paris Part III

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 3
By Paul Sansopone

…… “แม้ว่าย่านนี้จะไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากนักแต่ความที่มีแม่น้ำเซนให้เดินเลียบเลาะไป ยิ่งถ้าชอบออกกำลังเป็นประจำทุกวัน ต้องวิ่งหรือขี่จักรยาน แถบนี้เหมาะมากมีสวนสาธารณะเปิดโล่งไม่อึดอัด”…

พักย่านไหนดีในปารีส
เรารู้ว่ามาปารีสทั้งทีก็ควรอยู่ในเมืองชั้นในก็คือภายในกรอบถนนวงแหวน แต่มันไม่ละเอียดพอ คราวนี้เราจะลงรายละเอียดลงไปอีกหน่อยให้รู้ว่าเขตไหนเป็นอย่างไร ต้องขอบอกว่าแต่ละ Neighborhood หรือที่นี่เรียกว่า ก๊า(ก)ร์ติเอ (Quartier )ของกรุงปารีสนั้นมีบุคลิกที่แตกต่างกันพอสมควรทีเดียว จริงๆ ของกรุงเทพฯ ก็มี Em-quartier ซึ่งเคยมีการถกเถียงกันใน social network แบบสนุกสนานว่าควรอ่านแบบไหนจึงจะถูก

ย่านไหนในปารีสที่เราควรเลือกจองที่พัก
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 1860 ปารีสถูกแบ่งออกเป็น 20 เขตเทศบาลหรือที่เรียกว่า ‘อารรองดีสมงท์’ ( arrondissements) ซึ่งถ้าดูจากแผนที่มันจะถูกวางเรียงแบบลักษณะก้นหอย ขดเป็นวงจากในม้วนวนขวาออกนอกโดยที่ด้านในสุดจะเป็นเขต 1 และนอกสุดก็คือเขต 20 โดยก่อนหน้านั้นปารีสมีแค่ 12 เขตเท่านั้น แต่ละเขตมักจะถูกแบ่งออกไปเป็น 4 ย่านหรือแขวง เรียกว่า Quartier การ์ติเอ และที่มีชื่อก็เช่น Quartier Latin, Quartier des Champs-Élysées และ Quartier Saint-Germain-l’Auxerrois ในแต่ละเขตก็จะมีสำนักงานเขตของตัวเองที่เรียกว่าโอเตลเดอวิล ( Hôtel-de-Ville)และรวมทุกเขตก็มีสถานีตำรวจอยู่ถึง 350 แห่ง

City Break PARIS Population density map of Paris in 2012

1st Arrontissement of Paris – Louvre
2th Arrondissement of Paris – Bourse
3th Arrondissement of Paris – Temple
4th Arrondissement of Paris – Hôtel-de-Ville
5th Arrondissement of Paris – Phantéon
6th Arrondissement of Paris – Luxembourg
7th Arrondissement of Paris – Palais-Bourbon
8th Arrondissement of Paris – Élysée
9th Arrondissement of Paris – Opéra
10th Arrondissement of Paris – Enclos-St.Laurent
11th Arrondissement of Paris – Popincourt
12th Arrondissement of Paris – Reuilly
13th Arrondissement of Paris – Gobelins
14th Arrondissement of Paris – Observatoire
15th Arrondissement of Paris – Vaugirard
16th Arrondissement of Paris – Passy
17th Arrondissement of Paris – Batignolles-Monceau
18th Arrondissement of Paris – Butte-Montmartre
19th Arrondissement of Paris – Buttes-Chaumont
20th Arrondissement of Paris – Ménilmontant

แต่ถ้าเราดูภาพใหญ่สมัยก่อนที่จะมีการแบ่งเป็น 20 เขตแบบนี้ ปารีสนั้นถูกแบ่งง่ายๆ เป็น 2 ฝั่งแม่น้ำเซน (La Seine) คล้ายกรุงเทพฯกับฝั่งธนบุรีในสมัยก่อน โดยแบ่งเป็นฝั่งซ้ายและฝั่งขวา แต่คนช่างสงสัยมักจะถามว่าทำไมไม่เรียกว่าฝั่งเหนือหรือฝั่งใต้เพราะดูจากแผนที่มันไม่น่าจะเรียกฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ต้องอธิบายว่าไม่งั้นมันต้องก็มีฝั่งตะวันออกและตะวันตกด้วย เพราะแม่น้ำเซนมันไหลมาจากใกล้เมืองดีจง Dijon เข้าเขตปารีสทางตะวันออกเฉียงใต้แล้วก็โค้งไปออกจากปารีสทางตะวันตกเฉียงใต้แล้วไหลต่อไปลงทะเลเหนือที่เมืองท่าชื่อ เลอ อาฟร์ Le Havre (ให้ดูรูปจากแผนที่ด้านบน) จะเห็นว่าตอนเข้าตอนออกมันก็จะมีฝั่งตะวันออกและตกด้วยทำให้งง เค้าก็เลยแบ่งเป็นฝั่งซ้ายและขวาโดยถือจากการไหลของแม่น้ำเป็นหลัก เนื่องจากแม่น้ำมันจะไหลจากต้นกำเนิดไปสู่ทะเล ถ้าเรานั่งเรือเข้ามาตามกระแสน้ำ (down stream) เข้าสู่เขตเมืองปารีส ขวามือของเราก็จะเรียก“ฝั่งขวา”ส่วนซ้ายมือก็คือ “ฝั่งซ้าย”เท่านั้นเองง่ายๆ

ในยุคแรกนั้นความเจริญเริ่มมาจากฝั่งซ้ายเพราะมีย่านละติน การ์ติเย ลาแตง Quartier Latin ซึ่งมีศูนย์การศึกษายุคเริ่มต้นเกิดขึ้นที่นั่นซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (Sorbonne University) ซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 และในสมัยนั้นมีการสอนเป็นภาษาละติน

ทีนี้เราก็ลองมาพิจารณากันดูว่าน่าพักฝั่งไหนมากกว่ากันซึ่งผมก็จะขอสรุปความน่าสนใจออกมาให้เลือกเฉพาะเขตที่น่าสนใจจริงๆ เท่านั้น

 

I. ปารีสฝั่งขวาThe Right Bank “La Rive Droite”

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 13

ถ้าดูจากแผนที่ของเมืองปารีสแล้วมันก็คือเขตฝั่งที่อยู่เหนือแม่น้ำเซนแต่ถูกเรียกว่าฝั่งขวา มันมีความหนาแน่นของอาคารสำนักงานสถานที่ทำการค้าขายตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่เพียบพร้อมไปด้วยแหล่งเอ็นเทอร์เทน และพร้อมสรรพไปด้วยแหล่งอาหารการกิน แหล่งช็อปปิ้งตลอดจนที่อยู่อาศัยราคาแพง ทำให้มันพลุกพล่านวุ่นวายอยู่บ้างแต่บรรยากาศมันคึกคักและมีชีวิตชีวาตลอดเวลา แม้ในช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ฝั่งนี้มีเขตเทศบาลอยู่ถึง 14 เขต (arrondissements) ขอแนะนำเขตที่น่าสนใจดังนี้

เขต 1 และเขต 2 ย่านเลอาน Les Halles, ลูฟร์ Louvre และปาเลส์ ฮัวยัล Palais Royal

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 10

ย่านนี้ถือว่าเป็นย่านสุดเก๋ très chic ใจกลางปารีส ไม่ว่าคุณจะเดินเล่นไปตามริมแม่น้ำเซน promenade of the Seine สุดโรแมนติกหรือเข้าชมพิพิธภัณฑ์ Louvre ที่เป็นที่สุดของโลกด้านศิลปะสะสม เดินเล่นไปบนถนน boulevardที่มีเอกลักษณ์ของที่นี่หรือชมสวน Jardin des Tuileries แม้แต่จะช็อปปิ้งแบบไม่หยุด ย่านนี้มีครบทุกอย่างจริงๆ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือไวน์บาร์ ข้อเสียมีอย่างเดียวคือtouristเยอะไปหน่อย

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 15

 

เขต 3และเขต 4 ย่านมารายLe Marais, เกาะแซงหลุยส์ Ile St-Louis และเกาะซิเต้ Ile de la Cité

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 17

ย่านมาราย เป็นย่านTrendyมีความสมัยใหม่ก้าวล้ำแบบไม่ต้องหรูหรา มี Art Galleries มี Brand Start Up และ SMEของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะย่านถนน Rue de Bretagne โดยรวมแล้วเป็น Neighborhood ที่มีความคึกคักทั้งกลางวันกลางคืน เป็นแหล่งชาวยิวและชาวเกย์

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 12

ย่าน Marais พอตกกลางคืนก็คึกคักไม่น่าเบื่อ

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 16

ในขณะที่ย่านเกาะแซงหลุยส์และซิเต้มีความโรแมนติกน่าเดินเล่นถ่ายรูป มีโบสถ์และสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ให้ดูพอควรเช่น วิหารโนเตรอดาม Cathedral of Notre Dame, วิหาร St-Chapelle, หรือ Conciergerie หากข้ามสะพานที่ต่อจากเกาะซิเต้หลังโบสถ์โนเตรอดามไปยังเกาะแซงหลุยส์ก็ให้เดินไปตามถนนสายเมนของเกาะคือ St.Louis en l’Ile ก็จะเจอร้านไอติม หมายเลข1ของกรุงปารีส นั่นคือ แบรติลยง Bertillon (เราจะพูดถึงร้านนี้ตอนแนะนำเรื่องอาหารการกินในปารีสต่อไป)

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 5

 

เขต 8, 16 และเขต 17 ย่านชองเซลิเซ่ Champs-Élysées และฝั่งตะวันตกของปารีส Western Paris 

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 7

ย่านนี้คือย่านหรูหราที่เงินและอำนาจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นย่านธุรกิจและร้านค้าที่ขายของแบบไม่ต้องง้อลูกค้าเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟหรือร้านอาหารก็เช่นกัน มันเหมาะที่จะมาเดินเที่ยวชมมากกว่ามาหาโรงแรมเพื่อพักแถวนี้ซึ่งก็มีให้เลือกเยอะอยู่ แต่ผมว่ามันขาดเสน่ห์ของความเป็นท้องถิ่นแบบต้นตำรับ(Local Charm) เพราะดูเป็นการค้าเกินไป เช่น ตื่นเช้ามาอยากจะหาร้านกาแฟเล็กๆ กับครัวซองส์หอมๆ สักชิ้นมันมักจะเจอแต่ร้านที่ตั้งใจจะขายแต่นักท่องเที่ยว มันได้รับฉายาว่าเป็นสามเหลี่ยมทองคำ The “Golden Triangle” โดยเฉพาะในย่าน 3 ถนนนี้ คือ ถนน Montaigne, George V, และถนน Champs-Élysées เหมาะกับผู้ที่ชอบบรรยากาศหรูหรา และชอบแต่งตัวดีๆ ตลอดเวลา

 

เขต 9 และเขต 10 ย่านโอเปร่าOpéra และคลองแซงมาแตง Canal St-Martin 

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 18

ย่านนี้น่าจะเหมาะกับท่านที่ชอบเดินช็อปปิ้งแบบเดินได้ทั้งวัน เพราะมีห้างแปรงตอง และแกลเลอลี่ลาฟาแย็ต (Printempt ,Gallerie La Fayette) 2 ดีพาร์ทเม็นท์สโตรส์หลักของนครหลวงแห่งนี้และร้านค้าย่อยๆ อีกพอสมควร แล้วก็ยังมีร้านอาหารและร้านกาแฟดีๆ แบบup scale ให้เลือกพอสมควร ในขณะที่ย่านที่อยู่ติดกัน คือย่านคลองแซงมาแตง(Canal St-Martin neighborhood) จะเป็นอีกแบบที่คนปารีเซียนท้องถิ่นชอบไปhangout คือเป็นย่านที่ติดดินหน่อยแต่ก็เท่มีสไตล์ ไม่มีฟอร์มไม่ฟอร์มัล

 

เขต 18 ย่านปิกัลPigalle และย่านมงมาตร์ Montmartre

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 3

ปิกัลเคยเป็นย่านโคมแดงของกรุงปารีสแต่ในปัจจุบันนี้ปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นย่านnightlifeที่ลดความอีโรติกลงไป แต่ก็ยังมีความคึกคักอยู่เ พราะมันมี มูแลงรูจ (Moulin Rouge) กังหันลมสีแดง คลับคาบาเรต์ชื่อดัง อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการท่องราตรีของที่นี่มานมนาน ถึงเคยมีการเปรียบว่าย่าน ปิกัลนั้นก็เหมือน นรกภูมิที่อยู่เชิงเขามงมาตร์ที่เปรียบเป็นสวรรค์ภูมิเพราะมีวิหาร Sacré Cœur (ซัคเคร เกอ(เรอะ) ที่ตั้งอยู่นะจุดสูงสุดของปารีสและมีความศักดิ์สิทธิ์ ส่วนบริเวณรอบๆ ก็ยังถือเป็นย่านศูนย์รวมของเหล่าบรรดาศิลปิน จิตรกร ที่มาปล่อยฝีมือและขายผลงานแถบนี้อยู่

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 8

 

เขต 11ตะวันออก และ12 ย่านรีพุบบริค République, บาสตีล์ Bastille และปารีส

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 14

แถบนี้ไม่หรูหราฟุ่มเฟือยมาก แต่สะท้อนถึงบรรยากาศความเป็นอยู่แท้ๆ ของชนชั้นกลางชาวปารีเซียนอาจรวมถึงผู้อพยพอยู่บ้าง เพราะที่นี่เคยเป็นย่านโรงงานเก่า ปัจจุบันมันเป็นแหล่ง Hangout ตอนหลังเลิกงานมีร้านอาหารแบบBistroหรือ Brasseries ในแบบต้นฉบับของ Paris ตลอดจนไวน์บาร์และคาเฟ่ที่มีบรรยากาศสนุกสนาน ผมก็ชอบย่านนี้ครับไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากและที่จอดรถก็หาง่ายหน่อย
II. ปารีสฝั่งซ้าย The Left Bank “La Rive gauche”
ในขณะที่ฝั่งขวามีความเป็นการค้ามากกว่าฝั่งซ้ายซึ่งมีสวนสาธารณะที่เปิดโล่ง กระทรวง ทบวง กรม และสถานศึกษา แต่ก็ไม่ใช่ว่าฝั่งซ้ายจะขี้เหร่และไม่สนุกคึกคัก เนื่องจากฝั่งนี้เป็นย่านนักศึกษามหาวิทยาลัยและบรรดาศิลปินartistที่มีอุดมการณ์ ย่านที่จะแนะนำก็ดังนี้ครับ

เขต 5 ย่านละติน Latin Quartier

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 4

ความที่เป็นแหล่งนักศึกษาเพราะมีสถาบันการศึกษาชั้นนำอยู่หนาแน่นเช่นมหาวิทยาลัย Sorbonne และอื่นๆ เช่น École Normale Supérieure, École des Mines de Paris, Panthéon-Assas University, Schola Cantorum, และ Jussieu University Campus ทำให้ย่านนี้คึกคักแบบวัยรุ่นและไม่แพงมากมาตั้งแต่สมัยก่อนซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของพวกฮิปปี้ บุปผาชน นักศึกษาศิลปกรรม นักศึกษารัฐศาสตร์นิติศาสตร์ที่มีอุดมการณ์สูง เรียกว่าถ้ามีการประท้วงเดินขบวนก็มักเริ่มจากย่านนี้ แต่ปัจจุบันมันมีสไตล์เป็นของตัวเองตามยุสมัย มีร้านอาหารแบบBistroคลับพับบาร์ทุกรูปแบบ แต่ถ้าชอบร้านขนมปังต้นตำรับระดับartisanในย่านนี้ ให้ไปที่เลขที่ 8 rue Monge จะเป็นร้านดั่งเดิมก่อนจะมีสาขามากมายของ Eric Kayser ที่มักได้รับโหวตให้เป็นร้านที่มีขนมปังฝรั่งเศส (Baguette) และCroissant ที่อร่อยที่สุดในปารีส (จริงหรือไม่เราจะเก็บไว้คุยกันตอนเรื่องอาหารการกินในปารีส)

City Break PARIS Eric Kayser

ส่วนร้านขายของทั่วไปก็เป็นแบบมีสไตล์ในราคาไม่ต้องคิดเยอะ แต่ย่านนี้ก็มีร้านอาหารดีราคาแพงอย่าง ตูดาร์ชง Tour d’Argent อยู่ใกล้ๆ และก็มีสวนสาธารณะลุกซอมบูรก์ ( Luxembourg Gardens ) อยู่ ได้บรรยากาศแบบชีวิตในเมืองแบบ New York, London และถ้าชอบพิพิธภัณฑ์โรมันก็น่าไปชม Museum Cluny

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 11

 

เขต 6 แซงแจแมง เด เพรส์ St-Germain-des-Prés

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 2

เขตที่น่าสนใจที่สุดในฝั่งซ้ายก็คงเป็นเขตนี้มันเป็น Glamorous Neighborhood ที่เป็นที่ชื่นชอบของนักปราชญ์, ศิลปิน,จินตกวี ทั้งชาวฝรั่งเศสและต่างชาติมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วอย่างเช่น Delacroix, ManetหรือBalzac, Benjamin Franklin, Hemingway หรือแม้แต่ Pablo Picasso ก็ยังเคยฝากผลงานที่เป็นรูปที่ชื่อว่า Guernica ตอนที่เขามาอยู่ในย่านนี้ในปี1937 นอกจากนั้นบรรดาศิลปินแจ๊สทั้งหลายอย่าง Miles Davis หรือ John Coltrane ก็แวะเวียนกันมาเล่นในคลับแจ๊สที่มีอยู่พอสมควรในแถบนี้ แต่แฟนฟุตบอลที่ชื่อชอบทีม PSG (Paris Saint Germain) คงทราบนะครับว่า Home Stadium ของทีมที่ชื่อ ปาค เดอ แปรง Parc De Princes นั้นไม่ได้อยู่ย่านนี้ แต่ไปอยู่ทางใต้ของ Bois de Boulogne ใกล้กับสนามเทนนิส ฮอลอง การอส Roland Garros ที่ใช้แข่ง French Open โน่นเลย

City Break PARIS Pablo Picasso GUERNICA

ปัจจุบันชาวปารีส(ท้องถิ่นแท้ๆ แบบไม่ใช่มาจากต่างจังหวัด)มักอยากจะมีอพาร์ตเมนท์อยู่ในเขตนี้ มันมีร้านอาหารร้านกาแฟที่ติดโผ เช่น ร้านกาแฟ Les Deux Magots, Café de Flore หรือBrassarie Lipp มีร้านขายของแบบไม่เชย และมี Modern Art Galleries เหมาะกับคนที่มีความเป็น‘อา-ตีส’มากหน่อย และชอบลองอะไรที่เป็นท้องถิ่นแท้ๆ ไม่มีนักท่องเที่ยวเยอะแยะ

City Break PARIS Les Deux Magots

City Break PARIS Arrondissements & Accommodation 1

สำหรับ Landmark ของที่นี่นั้นต้องอย่าลืมไปแวะเที่ยวโบสถ์ St-Germain-des-Prés

 

เขต 7 ย่านหอไอเฟล Eiffel Tower

City Break PARIS Eiffel Tower

แม้ว่าย่านนี้จะไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากนักแต่ความที่มีแม่น้ำเซนให้เดินเลียบเลาะไป ยิ่งถ้าชอบออกกำลังเป็นประจำทุกวัน ต้องวิ่งหรือขี่จักรยาน แถบนี้เหมาะมากมีสวนสาธารณะเปิดโล่งไม่อึดอัด แถวๆ ใกล้หอไอเฟลที่มองเท่าไรก็ไม่เบื่อหรือจะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ดอเซ่ Musee d’Osay ที่มีศิลปะ Impressionism หรือจะล่องเรือไปตามแม่น้ำเซนทานมื้อเย็นก็ไม่เลว ผมว่าหากชอบถ่ายรูปและบรรยากาศโรแมนติก ชอบสะพาน ย่านนี้ก็เหมาะครับ

รู้จักย่านที่น่าสนใจของปารีสกันพอสมควรแล้ว ก็แค่ใช้ Booking Application ที่ท่านใช้อยู่จองโรงแรมได้เลยครับแค่filterตัวsearch engineของappให้เอาที่พักในเขตที่คุณชอบเท่านั้น คราวหน้ามาดูกันว่าประสบการณ์ท่องเที่ยวในเมืองหลวงแห่งนี้นั้นไม่ควรพลาดที่ไหน

หมายเหตุ : การออกเสียงภาษาท้องถิ่นที่เขียนเป็นตัวเอียงนั้น เป็นการใช้ภาษาไทยเขียนให้ออกมาใกล้เคียงเท่านั้นเพื่อให้ได้อรรถรส อาจไม่ใช่ภาษาเขียนและการออกเสียงที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการ

City Break Paris Part II

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 2
By Paul Sansopone

…..“ที่ผมชอบก็คือพนักงานเขียนใบสั่ง (Traffic Warden) จะขยันมาตรวจว่าเราหยอดมิเตอร์ถูกต้องหรือไม่ พวกเธอแต่งตัวยูนิฟอร์มสีฟ้าใส่หมวกเก๋ไก๋ นึกว่าเป็นแอร์โอสเตสสายการบินแอร์ฟรานซ์ เรียกว่าไม่เสียชื่อเมืองแฟชั่น……”

การเดินทางในกรุงปารีส
ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องการเลือกย่านหรือเขตที่เหมาะกับการใช้เป็นที่พักพิงในปารีสนั้น เราควรรู้ก่อนว่าเราจะไปไหนมาไหนแบบเที่ยวให้ทั่วอย่างไร เพราะปารีสเป็นมหานครที่กว้างใหญ่กินอาณาเขตกว่า 100 ตารางกิโลเมตร ถ้ารวมเขตปริมณฑลด้วยยิ่งแผ่อาณาเขตไปไกลมาก ถ้าอยู่ขอบนอกจะเดินทางเข้ามาเที่ยวแต่ละครั้งก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงเหมือนกัน เช่นมีครั้งหนึ่งผมเคยไปอยู่เขต อังโตนี่ (Antony) ห่างออกไปทางใต้ของปารีสแค่ 10 กว่ากิโล ฟังดูเหมือนไม่ไกล แต่การเดินทางใช้เวลามากเพราะกว่าจะเดินไปสถานีรถไฟ RER แบบรถชานเมืองที่มีตารางเข้าออกไม่บ่อยนักในสมัยนั้น ก็ใช้เวลานานอยู่
ดังนั้นถ้าถามว่าถ้าเราจะไปเที่ยวปารีสให้สนุกนั้น หากมีเวลาไม่มากก็ควรอยู่ในตัวเมืองครับ แล้วที่ไหนล่ะที่เรียกว่าตัวเมือง ปกติถ้าเป็นเมืองต่างๆ ในยุโรปก็ต้องบอกว่าก็ต้องบอกว่าอยู่ในเขตเมืองเก่าหรือภายในเขต City Wall แต่ถ้าเป็นปารีสก็ต้องบอกว่าจุดไหนก็ได้ที่อยู่ภายในเขตถนนวงแหวนของกรุงปารีสที่เรียกว่า “เปริเฟฮริก “(Périphérique) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Périph ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1958 ตามแนวเขตกำแพงเมืองเก่าบางส่วนของกรุงปารีส ซึ่งถ้าเราขับรถวิ่งไปครบรอบวงแหวนนี้จะได้ระยะทางทั้งสิ้น 35.04 กิโลเมตร ใช้เวลา 30 นาที เพราะต้องวิ่งตามความเร็วจำกัดของถนนวงแหวนนี้ก็คือ 70 กม.ต่อชั่วโมง

City Break Paris Travel in Paris

โดยปกติถ้าเป็นถนนวงแหวนหรือถนนไฮเวย์แบบนี้ก็จะมีทางออกที่เรียกว่า “ซ็อกตี” Sortie (หมายถึง Exit) ไปยังจุดต่างๆแต่เนื่องจากถนนวงแหวนของกรุงปารีสนั้นสร้างตามตามแนวเขตกำแพงเมืองเก่าซึ่งมี ‘ประตูเมือง’ ที่เรียกว่า “ป๊อกต์”Portes (City Gates) อยู่ถึงกว่า 30 แห่ง ทำให้ทางเข้าออกของถนนวงแหวนแห่งนี้ก็จะลงไปที่จุดประตูเมืองนั่นเอง เช่น ประตูคลีนองกูร์( Porte de Clignancourt , ประตูแบร์ซี่( Porte de Bercy) เป็นต้น และประตูที่อยู่ทางทิศเหนือใต้ออกตกก็จะเชื่อมออกสู่ถนนไฮเวย์ (Autoroute) ไปสู่ภูมิภาคซึ่งจะสังเกตว่า ชื่อของไฮเวย์สายต่างๆ จะใช้ A นำเพราะมาจากคำว่า Autoroute นั่นเอง เช่น A1, A2 ในขณะที่ประเทศอังกฤษใช้คำว่า Motorway ทางด่วนในอังกฤษก็เลยเป็น M นำหน้า เช่น M1, M2 (ดูภาพประกอบข้างล่าง)

City Break Paris Travel in Paris 1

แต่การพูดถึงถนนวงแหวน ผมก็ไม่ได้หมายถึงจะแนะนำหรือส่งเสริมให้เช่ารถนะครับ ยกเว้นมีโปรแกรมที่จะเดินทางไปเที่ยวเมืองอื่นต่อด้วย เพราะการจารจรในปารีสมันน่าอึดอัดใจอยู่โดยเฉพาะช่วงเร่งด่วน และการจอดรถนั้นก็ไม่ง่ายเลยยกเว้นว่าคุณจะยอมเสียเงินไปจอดตาม Private Parking ที่เก็บค่าจอดสูงพอควร ยิ่งถ้าจอดค้างคืนด้วยก็เสียค่าจอดคืนละไม่ต่ำกว่า 20-30 ยูโรแน่ๆ ส่วนที่จอดแบบมิเตอร์ข้างถนนนั้นเสี่ยงอยู่ ถ้าจอดในย่านไม่ดีกลับมาอาจโดนทุบกระจกหรือไม่ก็เจอรอยบุบตามกันชนหน้าหลัง เพราะที่ปารีสนั้นเขาจอดกันแบบพอดีคันจริงๆ (ดูรูปข้างล่าง) แล้วเวลาเข้าออกนั้นเขาก็จะขับดันคันหน้าออกไปหรือถอยดันคันหลังออกไปหน้าตาเฉย คุณต้องไปจ่ายค่า Excess ให้บริษัทรถเช่าแน่ๆ

City Break Paris Parking in Paris

แต่ที่เป็นเสน่ห์ของการจอดรถในปารีสก็มีนะครับ ที่ผมชอบก็คือพนักงานเขียนใบสั่ง (Traffic Warden) จะขยันมาตรวจว่าเราหยอดมิเตอร์ถูกต้องหรือไม่ พวกเธอแต่งตัวยูนิฟอร์มสีฟ้าใส่หมวกเก๋ไก๋ นึกว่าเป็นแอร์โอสเตสสายการบิน แอร์ฟรานซ์ เรียกว่าไม่เสียชื่อเมืองแฟชั่น (ดูรูปข้างล่าง: เจ้าหน้าที่เขียนใบสั่งของปารีสในยุคปี 80) แต่จริงๆ แล้วก็ไม่น่าจะต้องกังขาเพราะผู้ออกแบบเครื่องแบบดังกล่าวก็คือ Marie-Louise Carven เจ้าของแบรนด์ดังชื่อการ์วง Carven ที่เป็นห้องเสื้อระดับสูงเจ้าแรกที่ทำชุดสำเร็จรูป (Credit: Wikipedia..first couturieres to launch a prêt-à-porter line) Carven ยังออกแบบชุดพนักงานต้อนรับบนเครื่องของกว่า 20 สายการบินและชุดพนักงานรถไฟ ยูโรสตาร์อีกด้วย

City Break Paris Parking in Paris 1

สรุปก็คือการเช่ารถมาเที่ยวปารีสเป็นเรื่องน่ากังวลใจอยู่ จริงๆ แล้วปารีสคือเมืองที่เหมาะแก่การเดินเที่ยวมากที่สุดในโลกครับ และถ้าต้องการจะไปไหนที่มันไกลกว่าพิกัดการเดินแล้วก็ไม่ต้องกังวล เพราะตราบใดที่เราอยู่ในพื้นที่ด้านในกรอบถนนวงแหวนแล้วการไปไหนก็ไม่ยาก เพราะปารีสมีระบบรถไฟใต้ดินที่ทันสมัยเรียกว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของเขตภายในถนนวงแหวนนั้นคุณก็สามารถจะเดินหาสถานีรถไฟใต้ดินที่เรียกว่า Metro ของที่นี่ได้ภายในระยะทางเดินไม่เกิน 600 เมตร แต่ถ้าเป็นย่านพลุกพล่านกลางเมืองจริงๆ ก็ไม่น่าเกิน 300 เมตรเลยทีเดียว สะดวกมาก ต้องขอพูดถึงซะหน่อย

Métro de Paris

City Break Paris Metro in Paris 2

Métro คือระบบรถไฟใต้ดินของกรุงปารีสอ่านว่า ‘เมะโทร’ย่อ มาจากคำว่า Métropolitain ที่แปลว่านครหลวงหรือมหานคร แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมาจากชื่อบริษัทแรกที่ทำการบริหารระบบรถไฟใต้ดินของมหานครแห่งนี้ที่ชื่อ La Compagnie du chemin de fer métropolitain de Paris หรือบริษัทการรถไฟแห่งนครปารีส ซึ่งก็เพราะชื่อยาวเหยียดแบบนี้คนปารีสหรือที่เรียกว่าปารีเซียน (Parisienne) นั้นก็เลยย่อให้เหลือแค่ Métro สั้นๆ

City Break Paris Metro in Paris 3

มันเริ่มก่อสร้างมากว่า100 ปีแล้วโดยแนวคิดมาตั้งแต่ปี 1845 ตอนแรกก็เพราะรถไฟบนดิน รถรางและรถยนต์สวนกันไ มาเริ่มมีอุบัติเหตุบ่อยประกอบกับรถไฟใต้ดินของเมืองคู่แข่งอย่างลอนดอน ที่มีชื่อเล่นว่า ‘The Tube’ นั้นก็เปิดใช้ประสบความสำเร็จเป็นระบบใต้ดินแห่งแรกของโลกตั้งแต่ปี 1863 ทำให้ปารีสไม่ยอมน้อยหน้ากำหนดเปิดรถไฟใต้ดินสายแรกในปี1889-1900 ซึ่งเป็นช่วงที่ปารีสได้เจ้าภาพจัดงานนิทรรศการสินค้านานาชาติที่เรียกว่า World’s Fair (Exposition Universelle) ซึ่งก็มีหอไอเฟลซึ่งตั้งใจสร้าง (โดย Gustave Eiffel) เพื่องานนี้โดยเฉพาะ เป็นไฮไลท์ และเนื่องจากยุคปี1900 นั้น เป็นยุคศิลปะแบบ Art Nouveau ซุ้มประตูลงรถฟใต้ดินของปารีสจึงถูกออกแบบในสไตล์ Art Nouveau โดยศิลปินที่ชื่อ Hector Guimard ปัจจุบันผลงานที่เป็นซุ้มประตู Metro ของเขาก็ยังมีเหลืออยู่ถึง 86 แห่งในปารีส

City Break Paris Metro in Paris 4

และรถไฟใต้ดินในปารีสนั้นก็ยังมีแนวคิดไม่ยึดติด เช่น เพื่อให้มีความนุ่มนวลในการเดินทาง ได้ออกแบบล้อให้เป็นแบบยางรถยนต์ไม่ได้ใช้ล้อเหล็กเหมือนรถไฟปกติ (เฉพาะในบางเส้นทาง) ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ได้ลองใช้บริการ

City Break Paris Metro in Paris 1

ทุกวันนี้มีคนใช้รถไฟใต้ดินในปารีสเฉลี่ย 4.16 ล้านคนต่อวัน และปัจจุบันมี 16 สาย 303 สถานี โดยมีสถานีชุมทางใหญ่ที่เรียกว่า Correspondence อยู่ที่สถานี Châtelet – Les Halles ที่มีถึง 5 สายตัดผ่านที่นี่สำหรับการเชื่อมต่อ และยังมีระบบรถไฟชานเมืองที่เรียกว่าRER (Réseau Express Régional) ที่ไม่หยุดทุกสถานีเข้ามาเสริมระบบ Metro อีก 5 สาย A, B, C, D, E ซึ่งทำให้สะดวกยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่นอกเขตถนนวงแหวน

รูปด้านล่างเป็นภาพการออกแบบปรับปรุงใหม่ของทางเข้า Forum des Halles ซึ่งเป็น Shopping Complex ที่เชื่อมต่อกับชุมทางรถไฟใต้ดินขนาดใหญ่ของกรุงปารีสคือ Châtelet – Les Halles

City Break Paris Metro in Paris Forum des Halles Chatelet – Les Halles

ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวปารีสก็มักจะมี Plan du metro หรือแผนที่รถไฟใต้ดินติดกระเป๋าไว้แทบจะเรียกว่า 8 ใน 10คนของนักท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้ แต่ของกรุงเทพฯยังไม่ต้องเพราะตอนนี้มีอยู่แค่ 2 สายเท่านั้น จำไม่ยาก

City Break Paris Travel in Paris 2

ตัวอย่างแผนที่ระบบการบริการสาธารณะด้านการเดินทางภายในถนนวงแหวน

ก่อนจะจบตอนนี้ อยากจะขอแนะนำสถานีรถไฟใต้ดินในปารีสที่สวยที่สุดสัก 5-6 สถานี เพราะ ช่วงหลังนี้แต่ละเมืองใหญ่ก็แข่งกันทำสถานีรถไฟใต้ดินของตัวเองให้สวยขึ้น เช่นที่สต็อคโฮม ประเทศสวีเดน ไม่ต้องพูดถึงกรุงมอสโคของประเทศรัสเซีย ที่มีสถานีรถไฟใต้ดินที่ดูแกรนด์ยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว สำหรับในปารีส สถานีที่น่าสนใจ มีดังนี้

สถานีรถไฟใต้ดินที่น่าสนใจของกรุงปารีส

1.สถานี Louvre-Rivoli สถานีนี้เปิดใช้ตั้งแต่ปี 1900 มีการตกแต่งให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Louvre ตามชื่อของสถานี แต่เมื่อปี 1989 หลังจากที่มีการสร้างปิรามิดแก้วทางเข้าใหม่และทางเข้าอีกด้านจากทางสถานี Palais Royal ก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็นLouvre-Rivoli เพราะมีทางออกไปถนน Rivoli ด้านข้างพิพิธภัณฑ์ที่ถือเป็นถนนสาย Shopping แบบ High Street ที่ใครๆก็ชอบเนื่องจากเป็นย่านที่ขายสินค้าในราคาพอเหมาะ

City Break Paris Metro in Paris Louvre Rivoli

 

2.สถานี Concorde ที่เป็นเสน่ห์ของการตกแต่งสถานีกองกอรด์ Concorde ก็คือผนังที่ปูกระเบื้อง (Tiled Walls) จริงๆ ทุกๆ สถานีของกรุงปารีสก็ใช้กระเบื้องปูผนังที่สวยอยู่แล้วแต่ที่นี่คิดรูปแบบโดย Françoise Schein’s เป็นรูปแบบคล้าย Words Puzzle หรือ Cross words ให้หาคำซึ่งจะเกี่ยวกับการประกาศสิทธิมนุษย์ชน Declaration of the Rights of Man ซึ่งเชื่อมโยงมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส เนื่องจากในปี 1989 ที่มีการตกแต่งกำแพงในสถานีนี้นั้นเป็นการฉลองครบรอบ 200 ปีของ French Revolution และจัตุรัสกองกอรด์ก็คือลานประหารชีวิตของผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายปฏิวัติในสมัยนั้น

City Break Paris Metro in Paris Concorde

 

3.สถานี Varenne สถานีนี้อยู่ในเขต 7 (7th arrondissement) ก็มีมุกคล้ายๆ สถานี Louvre ที่จำลองผลงานในพิพิธภัณฑ์มาตกแต่ง เพราะเนื่องจากสถานี Varenne นั้นอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์โรแดง Rodin Museum. ซึ่งRodin เองถือว่าเป็นบิดาแห่งประติมากรรมสมัยใหม่( Modern Sculpture ) เจ้าของผลงาน ‘นักคิด’หรือปงส์เซอร Le Penseur (The Thinker) ซึ่งมีการจำลองไว้ที่สถานีนี้พร้อมมีเรื่องราวบอกว่าที่จริง ประติมากรรมที่ชื่อปงส์เซอร นั้นเมื่อก่อนนี้ชื่อว่า “The Poet” เพราะตั้งใจจะให้หมายถึง Dante ยอดนักปราชญ์ของอิตาลี ดังนั้นหากถ้าเราไม่มีเวลาเข้าพิพิธภัณฑ์โรแดงก็แอบไปselfieกับ‘นักคิด’ ท่านนี้ได้ที่สถานีนี้เลย

City Break Paris Metro in Paris Varenne

 

4.สถานี Cluny-La Sorbonne สถานีนี้อยู่ในย่าน ‘กาติเย่ ลาแตง’ในเขต5 (5th arrondissement) มีผลงานโมเสก (Mosaics)บนเพดานของ Jean Bazaine ที่ชื่อ Les Oiseaux (The Birds) นอกจากนั้นยังมีชื่อของผู้มีชื่อเสียงที่เคยอยู่ในย่านนี้มาก่อน เช่น Rabelais, Molière ฯลฯ สถานี Cluny-La Sorbonne เปิดครั้งแรกในปี 1930 ตั้งชื่อตามพิพิธภัณฑ์ ครูนี่ Musée de Cluny และมหาวิทยาลัย Sorbonne University

City Break Paris Metro in Paris Cluny La Sorbonne

 

5.สถานี Bastille Bastille Day (July 14th) คือวันชาติฝรั่งเศสและถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ของประเทศ สถานีบาสตีล์ Bastilleนั้นตั้งอยู่ ณ บริเวณใดที่เคยเป็นคุกบาสตีล์ที่ขังนักโทษกบฎ และในวันที่14 กรกฎาคมของปี 1789 ก็เป็นวันที่ประชาชนปารีสหมดความอดทนกับระบอบการปกครองและความยากจน จึงมีการลุกฮือกันทำลายคุกนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสัญญาลักษณ์ของการปฎิวัติฝรั่งเศส ดังนั้นที่กำแพงของสถานีนี้จึงมีเรื่องราวในลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนฝรั่งเศส( Life-changing ) หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นมันเป็นผลงานของ Liliane Belembert และ Odile Jacquot มีทั้งหมด 5 ภาพเรียกว่าเหมือนได้เข้าโบสถ์ไปดูภาพ fresco ยังไงยังงั้นเลย

City Break Paris Metro in Paris Bastille

 

6.สถานี Arts et Metiers สถานีArts et Metiers เปิดครั้งแรกในปี 1904 แต่ถูกออกแบบใหม่ในปี 1994 เพื่อฉลองครบรอบ 200 ปีของการรักษาไว้ซึ่งศิลปหัตถกรรมของชาติ โดยการออกแบบใหม่นี้ตกแต่งให้สถานีเป็นเหมือนเรือดำน้ำที่ชื่อ นอติลุส (Nautilus)ในนวนิยายของ Jules Verne เรื่อง “ใต้ทะเล 20000 โยชน์” (20000 leagues under the sea) สถานีนี้ผมชอบมากที่สุด ถ้าคุณอยากไปดูให้นั่งสาย 3 หรือ11 จะผ่านสถานีนี้ครับ

City Break Paris Metro in Paris Arts et Metiers

เจอกันคราวหน้าเราจะมาคุยกันถึงเขตหรือย่านที่น่าพิจารณาว่าเราควรจะเลือกจองที่พักเราในเขตไหนดี