By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 31
‘พระราชวังแวร์ซาย’ ตอนที่ 3
ต้นแบบของความยิ่งใหญ่
หลายคนคงไม่ทราบว่าพระราชวังแวร์ซาย มีต้นแบบมาจากไหน สถานที่แห่งไหนที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตัดสินใจตั้งใจทำแวร์ซายให้เป็นพระราชวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปหรือในโลกของช่วงนั้น วันนี้ผมจะขอเล่าถึงปราสาทนอกกรุงปารีสแห่งหนึ่ง และขอแนะนำให้ท่านหาโอกาสไปเที่ยวด้วยครับเพราะมันอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปแค่ประมาณ 45 กิโล และก็คุ้มค่าในการไปเยี่ยมชม เพราะที่นั่นมันคือปราสาทต้นแบบของพระราชวังแวร์ซายที่เราพูดถึงกันอยู่นั่นเอง
นั่นคือปราสาท Château de Vaux-le-Vicomte ชาโต เดอ โวเลอวีกง หากท่านเคยไปเที่ยวชมแวร์ซายมาแล้วและเบื่อความแออัดของผู้คนที่ต่อคิวยาวเป็นชั่วโมงแบบผม ให้มาที่นี่ก็ดีครับแค่ไม่ถึงชั่วโมงจากปารีส คุณจะพบกับปราสาทที่สวยงามซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำหรับแวร์ซาย มีประวัติอันน่าสนใจ มีการตกแต่งภายในที่สวยงาม และแน่นอนว่ามีสวนฝรั่งเศสที่สวยสมบูรณ์แบบ
Château de Vaux-le-Vicomte เป็นปราสาทฝรั่งเศสแบบบาโรกที่ตั้งอยู่ใน Maincy ใกล้ Melun ทางตะวันออกเฉียงใต้ของปารีสในเขต Seine-et-Marne ของประเทศฝรั่งเศส
คำว่า Château กับ Palais (Castle and Palace) เมื่อจะพูดกันถึงวังหรือปราสาทเราควรพูดถึงความแตกต่างกันระหว่างทั้งสองอย่างก่อน คำว่า Palais หรือ Palace ในภาษาอังกฤษก็คือพระราชวังหรือ Royal Residence ที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน หรือโป๊ปในสมัยก่อน และมักต้องอยู่ในเมือง แต่คำว่าปราสาท Château หรือ Castle นั้นมักเป็นของขุนนางระดับสูงเจ้าผู้ครองนคร เช่น ดยุค หรือ ลอร์ด แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีChâteauได้แต่มักจะอยู่นอกเมืองในชนบทหรือในป่าริมทะเลสาบหรือเชิงเขา เป็นปราสาทสำหรับแปรพระราชฐานเพื่อล่าสัตว์หรือเป็นปราสาทตามฤดูนั่นเอง จะเห็นว่าแวร์ซายนั้นเคยถูกเรียกว่า Château de Versailles เพราะมันเคยเป็นกระท่อมล่าสัตว์อยู่ในป่าแต่ภายหลังพอพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ย้ายมาประทับที่นี่ถาวรในปี 1682 ทำให้เปลี่ยนสถานะกลายเป็น Royal Residence จึงต้องเรียกว่า Palais de Versailles
คือต้นแบบของ Castle หรือ Château มันมีมาตอนยุคกลางที่ตอนนั้นหลังจากอาณาจักรโรมันสิ้นสลาย เมืองขึ้นทั้งหลายก็เป็นอิสระ แบ่งแยกเป็นแค้วนเล็กแค้วนใหญ่ที่ปกครองตนเองในลักษณะนครรัฐ (City State) ก็เลยต้องสร้างเมืองที่ป้องกันตัวเองได้ เช่นไปอยู่บนภูเขาสูงที่เรียกว่า Hill town หรือถ้าอยู่ที่ราบก็มักสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบสูงและหนามีป้อมปราการ Fortress แบบนี้ก็คือ “Walled Town”และใน walled town ก็มักจะมี Castle อยู่ด้านในใจกลางสุดอาจมีการขุดคูคลองล้อมลอบมีสะพานยกเปิดปิดได้หรือถ้าเป็นHill Townก็มักต้องอยู่จุดที่สูงสุดของเมือง เอาล่ะครับปูพื้นกันแล้วเรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า
ปราสาท Château de Vaux-le-Vicomte ชาโต เดอ โวเลอวีกง พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถึงแวร์ซายในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1641 เมื่อบิดาของเขาพระเจ้าหลุยส์13 ส่งเขาและพี่ชายของเขามาเพื่อหนีการระบาดของไข้ทรพิษที่ระบาดถึงพระราชวังที่ประทับที่ Saint-Germain-en-Laye ตอนนั้นพระองค์เพิ่งมีพระชนมายุแค่สามขวบไม่น่าเชื่อว่าอีกเพียง2 ปีต่อจากนั้นพระองค์ก็ขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสแล้วเพราะพระเจ้าหลุยส์13 สิ้นพระชนม์ไป และการเยือนแวร์ซายครั้งต่อไปของท่านก็เมื่อท่านอายุ13เป็นในปี ค.ศ. 1651 ซึ่งตอนนั้นพระองค์เริ่ม “หลงใหลในการล่าสัตว์”
ในปี ค.ศ. 1657 เมื่อแวร์ซายก็ยังเป็นเพียงแค่ที่พักล่าสัตว์แบบเจียมเนื้อเจียมตัวแบบเดิมๆ ไม่ได้มีการขยายอะไรเพิ่มเติม แต่ในปีนั้นเองเมื่อ พระเจ้าหลุยส์ที่14 มีพระชนม์ได้ 19 ปี และปีนี่เองที่ปราสาท Château de Vaux-le-Vicomte ชาโต เดอ โวเลอวีกง ได้ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชองท่านที่มีชื่อว่า Nicolas Fouquet นิโกลา ฟูเก่ต์ ซึ่งได้รวบรวมสถาปนิกสุดยอดของฝรั่งเศสตอนนั้น Louis Le Vau กับ สุดยอดนักปฎิมากรรม/จิตรกรรม Charles le Brun และนักออกแบบภูมิทัศน์ André le Nôtre ซึ่งต้องถือเป็น Dream Team มารวมตัวกันเพื่อสร้างChâteauส่วนตัวอันงดงาม และจากทำงานร่วมกันในโครงการขนาดใหญ่เป็นครั้งแรก ความร่วมมือของพวกเขาถือเป็นจุดเริ่มต้นของสถาปัตยกรรมแบบรวมของหลุยส์ที่สิบสี่
เรื่องราวมีอยู่ว่า Fouquet ได้ซื้อปราสาทเล็ก ๆ อยู่ระหว่าง Château de Vincennes และ Fontainebleau เป็นอสังหาริมทรัพย์ของ Vaux-le-Vicomteในปี ค.ศ. 1641 ซึ่งตอนนั้น Fouquet เป็นเพียงเป็นสมาชิกคนหนึ่งของรัฐสภากรุงปารีส Parlement of Paris ในรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม มีอายุเพียง 26 ปีแต่มีความทะเยอทะยานสูง Fouquet มักจะเป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปะการดึงดูดศิลปินมากมาย ด้วยความเอื้ออาทรของเขาทำให้มักได้รับการตอบแทนเป็นผลงานที่ล้ำค่า จากนั้นในปีค.ศ.1656 Fouquet แต่งงานครั้งที่สองโดย ภรรยาคนใหม่ของเขาเป็นเป็นทายาทคนเดียวของครอบครัวที่ร่ำรวยมาก มรดกของเธอได้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับ Fouquet และเมื่อ Fouquet กลายเป็นผู้คุมเงินของกษัตริย์หลุยส์ที่สิบสี่ของในปี ค.ศ.1657 ความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้นอย่างมาก Fouquet จึงตัดสินใจที่จะพัฒนาที่ดินและปราสาทเล็กๆ ของเขาที่ทรุดโทรมให้กลายเป็นปราสาทในเทพนิยาย
สัญลักษณ์แห่งอำนาจและอิทธิพล วัตถุประสงค์ของ Nicolas Fouquet สำหรับการพัฒนา Vaux-le-Vicomte ก็คือตั้งใจสะท้อนความยิ่งใหญ่ของมันจะเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจความมั่งคั่งและอิทธิพลของเขา ในฐานะผู้อำนวยการด้านการเงินเป็นหน้าที่ของเขาในการระดมทุนที่จำเป็นสำหรับการทำงานของรัฐ ในขณะที่รายได้บางส่วนมาจากภาษีส่วนใหญ่มาจากเงินให้สินเชื่อและ Fouquet มักต้องยืมด้วยเครดิตของตัวเองเพื่อให้มั่นใจว่ารัฐนั้นมีเงินสดเป็นอย่างดี ความงดงามของ Châteauและสวนของ Vaux-le-Vicomte ได้ให้หลักฐานที่ชัดเจนแก่เจ้าหนี้ว่าที่นี่เป็นของผู้ที่คุ้มค่ากับการลงทุนได้และสามารถชำระหนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
อย่างไรก็ตาม Vaux-le-Vicomte เป็นมากกว่า “หน้าตา” สำหรับผู้กำกับการคลังคนนี้ Fouquet มองว่ามันเป็นปราสาทแห่งความสุขและความเลิศหรูในรสนิยม มันถูกใช้ในการจัดงานวรรณกรรมละครและบัลเล่ต์มีห้องพักผ่อนสำหรับเล่นเกม และได้เตรียมส่วนหนึ่งไว้สำหรับรับรองพระมหากษัตริย์สามารถรองรับการเสด็จของพระเจ้าหลุยส์และคณะผู้ติดตาม ด้วยเหตุนี้ Vaux-le-Vicomte ได้รวมอพาร์ทเมนท์ที่หรูหราตระการตาไว้มีศิลปะทั้งภาพวาดและรูปแกะสลักบรรดาเหล่าเทพต่างๆ ที่เชิดชูกษัตริย์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น Jupiter หมายถึงการมีอำนาจ, Mar สำหรับความกล้าหาญ, Venus สำหรับความอุดมสมบูรณ์และการเฝ้าระวัง Diana หมายถึงชีวิตกับ โชคชะตา เหมือนการล่าสัตว์ หนึ่งในเพดานเป็นจุดเด่นของ Triumph of Fidelity แสดงความจงรักภักดีของ Fouquet ต่อกษัตริย์ในช่วง Fronde สงครามกลางเมืองที่ทำให้ฝรั่งเศสวุ่นวาย, ภาพทอในแสดงถึงวัยหนุ่มของหลุยส์ ทอจากโรงงานที่ก่อตั้งโดย Fouquet ที่บริเวณใกล้เคียงในเขต Maincy ภาพตกแต่งผนัง “พระราชวังของดวงอาทิตย์” แสดงเห็นอพอลโลซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งแสงความฉลาดและแรงบันดาลใจ และมีภาพกระรอกที่เป็นสัญญลักษณ์ของตระกูล Fouquet
หลังจากใช้เวลา 5 ปี (ค.ศ1656 ถึง 1661) ปราสาทก็เสร็จสมบูรณ์ ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1661 Fouquet ก็ได้(บังอาจ)เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยเห็นมาก่อนเพื่อแนะนำผลงานชิ้นเอกที่เพิ่งสร้างใหม่ของเขาให้กับกษัตริย์หลุยส์ที่14 และบรรดาเหล่าขุนนางและนักการเมืองทหารผู้ใหญ่ ที่ใช้คำว่าบังอาจในวงเล็บก็เพราะ Fouquet ไม่รู้ตัวได้อย่างไรว่ากำลังเล่นอะไรอยู่ แม้ว่าในขณะนั้นพระเจ้าหลุยส์มีพระชันษาแค่ 23 แต่ท่านก็คือ The Sun King ใครบังอาจมาเปล่งรัศมีแข่งกับแสงอาทิตย์ย่อมพ่ายแพ้ในที่สุด
แม้ว่าความตั้งใจจริงของ Fouquet คือการประจบกษัตริย์ตั้งใจจะให้ตนเองได้รับการเลื่อนขั้นมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลเพราะในปีนั้น Mazarin ผู้สำเร็จราชกาลของพระเจ้าหลุยส์เสียชีวิตไป (ค.ศ. 1661) แต่อนิจจา Fouquet นั้นคาดผิดแบบมือใหม่สุดๆ การต้อนรับพระเจ้าหลุยส์ในวันนั้นมีการจัดแสดงความหรูหราฟุ่มเฟือยเกินหน้าเกินตาแม้แต่กษัตริย์เอง ผู้ที่เป็นคู่แข่งทางการเมือง Baptiste Colbert จึงทูลกษัตริย์ให้เชื่อว่าความหรูหราฟุ่มเฟือยนี้ของรัฐมนตรีคลังซึ่งดูแลการเงินนี้เอาเงินยักยอกเงินมาจากคลังและเรียกเก็บภาษีประชาชนมาแต่ไม่นำส่ง ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่ใช่และ Fouquet เองก็มีความจงรักภักดีสูง แต่การกระทำถือเป็นความผิดพลาดของตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ ประกอบกับในช่วงนั้นเองพระเจ้าหลุยส์ยังพระเยาว์เกินไปและยังฟังความฝ่ายเดียวทำให้เกิดการล่มสลายของ Fouquet ได้ง่ายๆ
Fouquet จึงถูกจับกุมในสามสัปดาห์หลังจากงานฉลองfêteที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1661 ซึ่งการเล่นของศิลปินดัง Les Fâcheux ของ Molière เป็นการเฉลิมฉลองที่น่าประทับใจแต่มากเกินไปในสถานที่คือบ้านเจ้าภาพที่หรูหราเกินไป ต่อมามีการเขียนประวัติศาสตร์ในยุคของวอลแตร์ได้สรุปว่า “วันที่ 17 สิงหาคมเวลาหกโมงเย็น Fouquet เป็นเหมือนกษัตริย์ของประเทศฝรั่งเศส แต่หลังจาก 2 นาฬิกา เขาเป็น nobody!ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรรม และถูกขังคุกเป็นเวลา 10 ปี
หลังจากถูกจับและคุมขัง Fouquet ภรรยาของเขาก็ถูกเนรเทศออกจาก Vaux-le-Vicomte ปราสาทก็ถูกอายัด พระเจ้าหลุยส์ยังยึด 120 รูปปั้นและต้นส้มทั้งหมดจาก Vaux-le-Vicomte จากนั้นเขาได้ส่งดรีมทีมศิลปิน (Le Vau, Le Nôtreและ Le Brun) ไปทำงานออกแบบสิ่งที่จะเป็นโครงการขนาดใหญ่กว่า Vaux-le-Vicomte นั่นคือพระราชวังและสวนของ Versailles จึงไม่แปลกอะไรที่กลิ่นอายของพระราชวังแวร์ซายจะมีความละม้ายกับปราสาท Vaux-le-Vicomte เพราะทีมคุมก่อสร้างทีมเดียวกันมีแต่ตัวอาคารด้านนอกเท่านั้นที่ไม่เหมือนแต่การตกแต่งภายในนั้นเป็นการยกระดับมาจากที่ปราสาทเพราะสำหรับ The Sun King ทุกอย่างต้องยิ่งใหญ่กว่า
ภายหลัง Madame Fouquet กู้คืนทรัพย์สินของเธอเมื่อ 10 ปีต่อมา และออกไปพร้อมกับลูกชายคนโตของเธอ หลังจากการตายของสามีและลูกชายของเธอ เธอตัดสินใจที่จะนำ Vaux-le-Vicomte ออกขาย
Nicolas Fouquet ผู้อำนวยการด้านการคลังของฝรั่งเศสเจ้าของ Vaux-le-Vicomte (ภาพโดย Kean Collection / Getty Images)
สวนจากฝีมือผู้สร้างภูมิทัศน์ในตำนาน André Le Nôtre
แกรนด์ซาลอนที่มีรูปทรงสูงตระหง่านของ Vaux-le-Vicomte ซึ่งเป็นห้องพักที่ใช้รับรอง มีจุดเด่นคือเพดานสูงโล่งโปร่งพร้อมทัศนียภาพอันกว้างไกลของสวน
ถือเป็น Chateau แรกๆ ของฝรั่งเศสที่มีห้องอาหาร Dining Room. Credit รูปถ่ายโดย Sylvia Davis
สุนทรียศาสตร์กับความมั่งคั่ง
ของตกแต่งดั้งเดิมจาก Vaux-le-Vicomte ถูกนำไปแวร์ซายซึ่งก็คงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามเจ้าของปัจจุบันของ Vaux ได้ใช้เวลาห้าชั่วคนสุดท้ายที่ค่อยๆ ฟื้นฟู Château ไปสู่ความงดงามดั้งเดิม จากผนังที่ทาสีและเพดานทองหล่อลงไปที่ห้องครัวที่มีห้องใต้ดินซึ่งมีการปูพื้นด้วยหินผลงานอันโดดเด่นเป็นส่วนหนึ่งของความสง่างามอันเงียบสงบความสนิทสนมและสัดส่วน
ประสบการณ์ที่จะได้จากการเข้าชม
ปัจจุบัน Vaux-le-Vicomte มีเจ้าของเป็นครอบครัว De Vogüé ที่เปิดให้ประชาชนเข้าชมมาตั้งแต่ปี 2511 เพื่อระดมทุนในการดูแลรักษาและร่วมแบ่งปันความงดงามของปราสาทที่สวยงามไม่เหมือนใครพร้อมสวนสวย 1,235 เอเคอร์ ซึ่งออกแบบโดยทีมงาน Dream Team ศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในศตวรรษที่ 17: สถาปนิก Le Vau, นักจัดสวน Le Nôtre และจิตรกร Le Brun ซึ่งต่อจากนั้นได้ออกมารับงานแบบแวร์ซาย
ปราสาทและสวนได้รับการดูแลอย่างดี แต่ส่วนใหญ่เสน่ห์ของ Vaux คือปฏิทินกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นตลอดทั้งปีพร้อมโดยครอบครัว De Vogüé เช่น ในเดือนเมษายนไข่ช็อกโกแลตก็จะถูกซ่อนไว้ในสถานที่ตามจุดต่างๆสำหรับล่าไข่อีสเตอร์ขนาดยักษ์
งานแต่งกายแบบยุคศตวรรษที่ 17 ในเดือนพฤษภาคม เป็นการย้อนยุคให้เข้ากับสถานที่ๆสร้างในยุคนั้น ผู้คนแต่งตัวมาเดินในสวนดูแล้วย้อนอดีตแบบหนังperiod มีการฟันดาบ ขี่ม้าและการเต้นรำแบบบาร็อค และในเดือนพฤศจิกายน Chocolatiers จากปารีสที่ยิ่งใหญ่รวมตัวกันที่นี่เพื่อการสาธิตและขนมอบมากมาย
บรรยากาศใต้แสงเทียนตอนเย็น
ไม่มีอะไรที่เหมาะไปกว่าช่วงเย็นใต้แสงเทียนที่แสนโรแมนติกของ Vaux ซึ่งจัดขึ้นทุกวันเสาร์ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมเมื่อพระอาทิตย์ตก ที่นั่งรอบๆสวนและในปราสาทก็สว่างไสวทั้งภายในและภายนอกโดยมีเทียน 2,000 ตัว ผู้เข้าชมสามารถรับประทานอาหารกลางแจ้งได้ที่ลานระเบียงสวนซึ่งหันหน้าไปทาง Château พรั่งพร้อมไปด้วยอาหารรสเลิศจากร้านอาหาร Les Charmilles (แนะนำให้จองล่วงหน้า)
จากนั้นเดินเล่นกลับไปยัง Château ไปจิบแชมเปญสักแก้วในสวนที่ Le Songe de Vaux แล้วมาเอนกายลงในเก้าอี้สนามฟังเพลงคลาสสิก (เปิดตลอดทั้งวัน) เวลา 10:50 จะมีการแสดงดอกไม้ไฟและถ้ามาที่นี่ในวันเสาร์อาทิตย์ที่สองหรือวันเสาร์สุดท้ายของเดือนคุณก็จะได้ชมการแสดงน้ำพุเต้นระบำตั้งแต่เวลาบ่าย 3-6 น.อีกด้วย
เกี่ยวกับสถานที่เพิ่มเติม
ที่ปราสาทยังมี L’Écureuil Café ซึ่งให้บริการเมนูอาหารกลางวันแบบเบา ๆ และของว่างบนเฉลียงกลางแจ้ง (เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 น. ถึง 18.00 น. ถึง 10.30 น. ในช่วงเย็นใต้แสงเทียน) และยังอนุญาตให้ใช้พื้นที่ปิกนิกในพื้นที่ๆจัดไว้เฉพาะบริเวณ นอกจากนั้นร้านบูติกของChâteauยังมีของขวัญและของที่ระลึกที่มีมีรสนิยม สุดท้ายก็คือพิพิธภัณฑ์รถม้าของ Vaux นำเสนอรูปลักษณ์ที่น่าทึ่งสำหรับพาหนะม้าลากยุคศตวรรษที่ 17
การเดินทาง
City-rama-Paris city vision เสนอตั๋วแบบแพคเกจที่มีบริการรถรับส่งจากปารีสไปยัง Vaux-le-Vicomte ทุกวันยกเว้นวันอังคารระหว่างวันที่ 31 มีนาคมถึง 31 ตุลาคม ตั้งแต่เวลา 9:15 น. ขากลับรถออกจากปราสาทเวลา 6.15 น. ถ้าจะใช้บริการรถไฟของฝรั่งเศส SNCF ก็จะออกทุกๆครึ่งชั่วโมงจากปารีส Gare de Lyon ไปยังสถานีรถไฟ Melun (ใช้เวลา25 นาที) ซึ่งคุณสามารถใช้บริการรถรับส่ง Chateau bus (เฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น) หรือแท็กซี่ (ประมาณ 20 ยูโร) จากสถานีรถไฟ