By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 15
เที่ยววิหารแซ็งต์-ชาแปล
ก่อนที่เราพักเบรกเรื่องเที่ยวในตอน 12-14 เพื่อคุยเรื่องอาหารเช้าในปารีสนั้น เราอยู่กันแถวๆ วิหารโนเตรอดามซึ่งก่อนจะออกจากย่าน Île de Cité นี้ ผมว่าสมควรอย่างยิ่งที่เราควรแวะชมวิหารแบบกอทิกที่มีการประดิษฐ์แบบประณีตบรรจงซึ่งพิเศษน่าทึ่งอีกแห่งหนึ่ง แล้วก็อยู่ไม่ห่างจากโนเตรอดาม สามารถเดินข้ามถนนผ่านกระทรวงตำรวจมาบล็อกเดียวเราก็จะพบกับวิหาร St.Chapelle
ภาพด้านบนคือเกาะซิเต้ Île de Cité ในปัจจุบันจะเห็น west façade ของโนเตรอดามและยอดแหลมของวิหารน้อย St.Chapelle
คำว่า Chapelle ก็มาจากคำว่า Chapel (มีรากมาจากภาษา Latin คือ cappella) ซึ่งหมายถึงโบสถ์ขนาดเล็กหรือแท่นบูชา เราจะสังเกตเห็นแม้ในวิหารขนาดใหญ่ก็จะมี Chapel หรือแท่นบูชาขนาดย่อมอยู่ตามมุมต่างๆ ดังนั้นสำหรับผู้นับถือคริสต์แล้ว ในโรงเรียน,ในโรงพยาบาลหรือแม้แต่ในคุกก็มักจะมี Chapel ไว้สำหรับสักการะบูชาหรือสวด จะว่าไปก็เหมือนห้องพระของพวกเราชาวพุทธหรือแท่นบูชาพระสำหรับบ้านที่ไม่มีห้องพระ แต่สำหรับในวังหลวงแล้ว Chapel ของกษัตริย์นั้นยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับ โบสถ์(Church) ของชาวบ้านทั่วไปครับ และนั่นคือที่มาของโบสถ์น้อยแซ็งต์-ชาแปล
จะเห็นว่าถ้าดูจากด้านนอกแล้ว St.Chapelle มีขนาดไม่ใหญ่
Altar ทีเป็นซุ้มหลังคาในรูปก็คือจุดที่เคยใช้เก็บเรลิกหรือมงคลวัตถุ
วิหารแซงต์-ชาแปล ถือเป็นผลงานชิ้นที่มีความงดงามมากที่สุดของสถาปัตยกรรมรูปแบบกอทิกในปารีส สถานที่ตั้งของวิหารแห่งนี้อยู่ภายในพื้นที่ของอาคารศาลยุติธรรม (Palais de Justice) ในปัจจุบัน ซึ่งใน สมัยนั้นถือเป็นบริเวณลานพระราชวังหลวง Palais de la Cité โบสถ์น้อยแห่งนี้มีการประดับประดาหน้าต่างด้วยกระจกสีในช่วงศตวรรษที่ 13 ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของสถาปัตยกรรมแรยอน็องซึ่งนับเป็นยุคหนึ่งของศิลปะแบบกอทิก วิหารแซงต์-ชาแปลก่อสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ทั้งนี้ระยะเวลาในการก่อสร้างที่แท้จริงไม่มีปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ในบันทึกใด (คาดว่ามหาวิหารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่13 เริ่มจากปี 1239) ส่วนสถาปนิกผู้ออกแบบก็ไม่ปรากฏว่าเป็นใครเช่นกันแม้ว่าจะมีการอ้างว่าเป็นฝีมือของปีแยร์เดอมงเตอโร แต่ก็ยืนยันไม่ได้เต็มที่
แต่ที่แน่ๆ ก็คือวัตถุประสงค์ในการสร้างแซ็งต์ชาเปลนั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บรักษามงคลวัตถุหรือ(relics) เรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล ซึ่งประกอบด้วย มงกุฎหนามของพระเยซู, ภาพเอเดสซา และเรลิกอื่น ๆ เกี่ยวกับพระเยซูอีก 22 ชิ้นที่เดิมเป็นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9
ภาพบนนี้คือเรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล ที่มีค่าของชาวคริสต์ นั่นคือเศษไม้กางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซู
โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1239 ที่ทรงได้รับมาจากนักบวชคณะดอมินิกันสององค์ที่เวนิสจากนั้นเมื่อครั้งที่พระเจ้าหลุยส์ทรงเสด็จไปทำสงครามครูเสด ก็ได้ทำการซื้อเรลิกที่เกี่ยวกับพระทรมานของพระเยซูจาก จักรพรรดิโบดูอินที่ 2 Emperor Baudouin II แห่งคอนสแตนติโนเปิลเป็นจำนวนเงินมหาศาลถึง 135,000 ลีฟวร์ตูร์นัว ซึ่งตอนนั้นจักรพรรดิท่านได้จำนำเรลิกนี้ จำนำไว้กับธนาคารในเวนิส Venetian bank (ซึ่งมาถึงตอนนี้บางท่านอาจะสงสัยว่าสมัยนั้นมี Bank ด้วยหรือ? ต้องบอกว่าในยุโรปนั้นระบบการเงิน (Monetary system)นั้นมีมาตั้งแต่สมัยโรมันแล้วครับ แต่มาเริ่มเป็นระบบธนาคารแบบจริงจังก็ในสมัยปี 1397 โดยนาย Giovanni Medici ตระกูลMedici ก็คือเศรษฐีดังของเมืองฟลอเรนซ์อิตาลี เป็นผู้ตั้งธนาคารชื่อ Banca Monte dei Paschi di Siena, มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Siena, Italy ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังเปิดบริการอยู่ถือเป็นธนาคารแห่งแรกของโลก และคำว่า Bank ก็มาจากคำว่า Banca ซึ่งหมายถึง Bench หรือม้านั่ง ในยุคแรกนั้นพ่อค้าเงินจะนั่งอยู่ตามม้านั่งแถวหน้าตลาด เพื่อรับแลกเงินหรือให้กู้เงินโดยผู้กู้ต้องเอาหลักประกันมาจำนำไว้)
ภาพบนเป็น นิทรรศการที่จัดเรื่อง กรุสมบัติของกษัตริย์แซงต์ลุยส์
กลับมาเรื่องเดิมจะเห็นว่า เมื่อเทียบกับ ค่าก่อสร้างแซ็งต์-ชาแปลเองที่เป็นที่เก็บตกมงคลวัตถุซึ่งมีราคาเพียง 40,000 ลีฟวร์ตูร์นัว ถือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ทรงลงทุนในเรลิกหรือมงคลวัตถุเป็นเงินมหาศาลทีเดียว และก่อนหน้าที่จะสร้างเสร็จ เรลิกได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พระราชวังแวงแซนส์ และในชาเปลที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะที่พระราชวังแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล โดยในปี ค.ศ. 1241 ก็ได้เรลิกเพิ่มขึ้นอีกรวมทั้งไม้กางเขนแท้และอื่นๆ ฉะนั้นแซ็งต์-ชาแปลที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 เมษายนค.ศ. 1248 จึงเป็นเสมือน “หีบบรรจุวัตถุมงคล” (Reliquary) ไปโดยบริยาย โดยที่ในสมัยของกษัตริย์ Saint-Louis ท่านจะนำวัตถุมงคลหรือ relics ออกแสดงให้กับชาวคริสต์ทุกวันศุกร์ของเทศกาลอีสเตอร์หรือที่เรียกว่า Good Friday ของทุกๆ ปี
ภาพบนนี้คือ:เรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล ที่มีค่าของชาวคริสต์ มงกุฎหนามของพระเยซู
นั่นหมายความว่าจะมีนักแสวงบุญหรือ pilgrims มากมายมาที่ที่นี่ เพื่อสักการะบูชาและแน่นอนมียอดบริจาคและทำให้ปารีสมีศักดิ์ศรีเป็นเมืองเอกทางคริสต์ศาสนาอย่างน่าภาคภูมิ ต้องให้เครดิตนี้แก่พระเจ้าหลุย์ที่ 9 ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานตำแหน่ง ‘Saint’ให้เป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเมืองปารีสสมกับที่ท่านเป็นผู้มุ่งมั่นทุ่มเททำนุบำรุงและสนับสนุนคริสต์ศาสนาอย่างแท้จริง
รูปปั้นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 หรือ เซ็นต์หลุยส์ อยู่ที่บริเวณ ชาเปลด้านล่าง
เเซ็งต์ชาเปล จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชั้น โดยชาแปลชั้นล่าง the lower chapel จะเป็นที่สวดบูชาสำหรับเจ้าหน้าที่พนักงาน
ในชาเปลชั้นบน the upper chapel จะเป็นชาเปลสำหรับกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนสิ่งที่เด่นที่สุดของแซ็งต์-ชาแปลโดยเฉพาะในชาเปลชั้นบนคือหน้าต่างประดับกระจกสีที่แคบและสูงและตกแต่งด้วยกระจกที่เป็นสีแพรวพราวมีความสูงโปร่งบางแบบไร้น้ำหนักเพราะกำแพงโดยรอบแทบจะประกอบด้วยกระจกทั้งหมด เป็นพื้นที่ถึง 618 ตรม. ของกระจกย้อมสี stained glass และเป็นเรื่องราวจากพระคัมภีร์เก่าและใหม่ที่มีตัวละครประกอบ biblical figures ถึง 1,130 รูป
และยังมีหน้าต่างกุหลาบมาเพิ่มเติมบนชั้นบนของชาเปลภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยมีการประกอบส่วนของกระจกทั้งหมด 87 ชิ้นงาน (petals)
ชาเปลได้รับความเสียหายอย่างหนักในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อยอดและเบญจา“grande châsse” ก็ถูกรื้อ และเรลิกกระจัดกระจายหายไป ยังคงเหลืออยู่แต่ “เรลิกแห่งแซ็งต์-ชาแปล” ที่ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกางเขน เล็บของพระเยซู และมงกุฎหนาม( a fragment of the cross, a nail, and the crown of thorns) ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิหารโนเตรอดามแห่งปารีส
และชาเปลที่เห็นในปัจจุบันเป็นงานที่สร้างใหม่ แต่สองในสามของหน้าต่างประดับกระจกสีนั้นเป็นหน้าต่างดั้งเดิม งานบูรณะปฏิสังขรณ์ที่ได้รับการบันทึกอย่างถี่ถ้วนทำโดยเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุกในปี ค.ศ. 1855 ถือกันโดยผู้ร่วมสมัยว่าเป็นงานบูรณะปฏิสังขรณ์ชั้นเยี่ยม และเที่ยงตรงต่อภาพวาดและคำบรรยายดั้งเดิมของชาเปลที่ยังหลงเหลืออยู่โดยเฉพาะ ในส่วนที่เป็น upper chapel ต่างจากส่วนที่เป็น lower chapel นั้นถือว่าเป็นงานสร้างใหม่ล้วนๆ “reinvented” เพราะไม่มีต้นแบบพิมพ์เขียวดั่งเดิมหลงเหลืออยู่
แซ็งต์-ชาแปลมีฐานะเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์แห่งฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862
นอกจากนี้วิหารแซงต์-ชาแปลยังเป็นสถานที่ในการจัดแสดงดนตรีคลาสสิกในเทศกาลหรือวาระต่างๆ เพื่อมอบความบันเทิงให้แก่ประชาชนด้วย ผมได้มีโอกาสมาปารีสครั้งล่าสุดเป็นช่วงสัปดาห์วันคริสต์มาสยังอยากซื้อตั๋วเข้าฟังดนตรีที่นี่ ต้องยอมรับระบบ Acoustic ในโบสถ์วิหารต่างๆ ในยุโรปนั้นดีเยี่ยมสำหรับการแสดงดนตรีตั้งแต่ 3-5 ชิ้นขึ้นไป หรือแม้แต่บางแห่งก็สามารถรองรับวง Orchestra ขนาดเล็กถึงกลางโดยเสียงยังไม่ก้องจนเกินไป ก็จริงๆ แล้ววิวัฒนาการทางดนตรีก็เริ่มจากโบสถ์ครับ จากการฟังพระเทศน์ฯอย่างเดียวก็กลายมาเป็นร้องเพลงประสานเสียงแล้วก็เกิดการนำเครื่องดนตรีเข้ามาในโบสถ์ทีละชิ้น 2 ชิ้น โมซาร์ต Mozart ก็เริ่มดังมาจากในโบสถ์ครับ
ก่อนจะออกจาก Île de Cité ก็คงต้องขอพูดถึงเรื่องราวของ La Conciergerie ลา กงซีแยร์เฌอรี ซึ่งเคยเป็นวังเก่าคือ ปาเลเดอลาซีเต แต่คงต้องมาสรุปกันในตอนหน้าครับ