City Break Paris Part XXV

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 25
เมื่อคราวที่แล้วผมได้พูดถึง ‘หอยนางรมฝรั่งเศส’ ว่ามีที่มาจากภูมิภาคไหนเมืองไหนกัน แล้วก็มีรูปแบบหรือชื่อเรียกว่าอย่างไรกันไปแล้ว คราวนี้จะเป็นเกร็ดความรู้เพิ่มเติมและจะแนะนำร้านว่าถ้าอยู่ในปารีสแล้วอยากกินหอยนางรมขึ้นมาควรไปกินร้านไหนที่ขึ้นชื่อเรื่องนี้

ฤดูเก็บเกี่ยวหอยนางรม:
จริงๆ แล้วเราสามารถหาหอยนางรมกินได้ตลอดปีในฝรั่งเศส แต่ว่าถ้าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวได้หอยตัวอวบอ้วนดีนั้นเขาบอกว่าให้เลือกกินในเดือนที่มีตัว ‘R’ เริ่มจาก September ไปจนถึง March คงเป็นเพราะเดือน May ไปจนถึง August ซึ่งไม่มีตัว ‘R’ นั้นอากาศมันอบอุ่นเกินไป แบคทีเรียในน้ำมีเยอะแต่พออากาศหนาวแบคทีเรียอยู่ไม่ได้ สรุปก็คือหอยนางรมจะมีสุขภาพดีสมบรูณ์เมื่ออากาศเย็น

วิธีการกินหอยแบบชาวฝรั่งเศส:

City Break Paris Oyster Story in Paris 18

ในขณะที่คนไทยเราอาจคิดถึงน้ำจิ้มอาหารทะเลเมื่อเห็นหอยนางรมอยู่ตรงหน้า แต่ในฝรั่งเศสเนื่องจากหอยนางรมนั้นควรต้องpairกับไวน์ขาวที่รสกริ๊บและไม่หวานหรือ Dry& Crisp** เช่น Muscadet หรือ Sauvignon Blanc แต่ Sancerre หรือ Chablis/Chardonnay ก็ไปได้สวย ถ้าชอบแบบมีฟองก็ต้อง Champagnes ไปเลย ก่อนจะไปต่อขอแชร์**ความหมายของ Dry White Wine เล็กน้อย คือไวน์ขาวที่จะจัดว่าเป็นประเภท Dry หรือภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า ‘SEC’ ก็คือจะไม่หวานอาจมีรสเปรี้ยวของกรด(acidic= pH below 7.) แบบมะนาวหรือส้มนิดหน่อย ในทาง ทฤษฎีคำว่าไม่หวานก็คือมีปริมาณน้ำตาลอยู่ต่ำกว่า 4 กรัมต่อลิตร แต่ถ้ามากกว่า 4 กรัมแต่ไม่เกิน 12 กรัมต่อลิตร จะเรียกว่า Medium Dry หรือหวานน้อย

City Break Paris Oyster Story in Paris 14

ดังนั้นถ้าใช้น้ำจิ้มรสเผ็ดมันจะฆ่า (Over Power) รสชาติของไวน์ขาวราคาแพงไปหมด ชาวฝรั่งเศสจึงใช้น้ำจิ้มเป็นน้ำมะนาวเหลืองไม่กี่หยดหรือ Traditional Sauce ที่เรียกว่า มินโยเนต (Mignonette) ซอสที่ทำจากหอม Shallots สับละเอียดผสมกับน้ำส้มสายชู ไวน์แดง และเนื่องจากตัวหอยเองจะมีรสเค็ม (Briny) ของน้ำทะเลติดอยู่ แล้วเราก็ไม่ควรไปเพิ่มความเค็มด้วยเกลือใดๆ แต่ก็ใช่ว่าหอยนางรมแต่ละประเภทจะมีรสเหมือนกัน เราก็ควรเรียนรู้แบบเดียวกับการดื่มไวน์นั่นเอง ว่ารสของหอยนางรมนั้นมันมีกี่รูปแบบและมันใช้ศัพท์เฉพาะที่เรียกแบบไหน ดูตัวอย่างจากรูปข้างล่างนี้เราก็น่าจะพอได้ไอเดียครับ

City Break Paris Oyster Story in Paris 8

ภาพด้านบนนี้ อธิบายถึงรูปและรสที่แตกต่างกันของหอยนางรมแบบที่อยู่ตลาดบนได้ดี

City Break Paris Oyster Story in Paris 6

City Break Paris Oyster Story in Paris 20

อุปกรณ์และวิธีการแกะหอย

เพื่อรักษากลิ่นรส หอยนางรมจะไม่ถูกแกะล้างหรือนำไปแช่น้ำ มันมักจะอยู่ในเปลือกจนกระทั่งมาเสิร์ฟเราซึ่งขั้นตอนสำคัญก็คือมันจะต้องผ่านกรรมวิธีการแกะโดยผู้ชำนาญในการแกะหอยนางรมหรือเรียกว่า Ecailleur (Oyster Shucker) ซึ่งการแกะนั้นบ่อยครั้งทำแค่เปิดฝาเท่านั้นแม้แต่เอ็นกล้ามเนื้อ (Adductor) ที่ติดเปลือก ก็จะไม่หั่นออกให้ เพื่อโชว์ความสด เราจะต้องใช้มีดหรือส้อมเล็กๆ ค่อยๆ งัดแงะเอาเอง ควรบีบมะนาวเล็กน้อยและหรือใส่ซอส Mignonette ในเปลือกหอยแล้วก็ยกทั้งเปลือกกระดกเทเข้าปากพร้อมเงยหน้าตามจังหวะ, มีคำแนะนำจากผู้สันทัดกรณี บอกว่าวิธีที่จะมีความสุขกับการกินหอยนางรมนั้นให้ใช้หลักการเดียวกับการลิ้มรสชาติไวน์คือให้ดมกลิ่นความสดของมันก่อนที่รินมันเข้าปากพร้อมกับน้ำคลุกคลิกที่ประกอบด้วยซอสหรือน้ำมะนาวที่เราใส่ผสมผสานกับน้ำจากตัวหอย แล้วเคี้ยว 2-3 ครั้งจึงกลืน

City Break Paris Oyster Story in Paris 24

City Break Paris Oyster Story in Paris 25

ประโยชน์หรือคุณค่าทางโภชนาการ
เนื่องจากสมัยนี้นั้นมีข้อเท็จจริงมากมายที่ออกมาในรูปแบบของ Advertorial ไม่ว่าจะกินเบียร์กินไวน์กินไข่มันกลายเป็นมีประโยชน์ไปซะหมดป้องกันโรคร้ายโน่นนี่นั่น ผมก็เลยจะไม่ชี้นำใดๆ เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ทำวิจัยเองเอาเป็นว่าแนะนำให้ใช้หลักเกณฑ์ ‘เดินสายกลางและคิดบวก’ ก็คืออะไรก็แล้วแต่ที่มนุษย์เรากินกันมากว่า 2,000 ปีแล้ว เช่นหอยนางรมก็นิยมกินมาตั้งแต่สมัยโรมัน ถ้าบริโภคในปริมาณพอเหมาะมันก็น่าจะมีประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่ง อย่างน้อยก็ด้านจิตใจถ้าเราคิดบวก เช่นถ้าเราคิดว่ากินแล้วมันช่วยเพิ่มพลังทางเพศ ก็กินไปเลยครับ จากนั้นคุณก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ เพราะเรื่องเพศมันอาจจะต้องการแค่ความมั่นใจในตัวเองก็ได้

ความเชื่อเรื่องการกินหอยนางรมแล้วเพิ่มพลังทางเพศ (Aphrodisiac)อาจเป็นเพราะว่าหอยนางรมมีสารzinc อยู่มาก ซึ่งว่ากันว่าคนที่สมถะภาพทางเพศถดถอย (Impotence)ไปก็เพราะขาดzinc นี่แหละ สำหรับประโยชน์อื่นๆน่าจะมีคำอธิบายในรูปข้างล่างนี้ครบถ้วนแล้ว

City Break Paris Oyster Story in Paris 21

กินหอยนางรมที่ไหนดีในปารีส

หอยนางรมนั้นมีขายเยอะไปหมดในบรรดาร้านอาหารทั้งหลายของเมืองแห่งอาหารอย่างปารีส แต่จะมีร้านไหนที่ขึ้นชื่อเรื่องหอยนางรมคุณภาพบ้าง ต้องลองเช็คร้านข้างล่างนี้ดูครับ

 

Atao

City Break Paris Oyster Story in Paris 16

City Break Paris Oyster Story in Paris 19

นักออกแบบแฟชั่นและสไตล์ลิสต์ที่ชื่อ Laurence Mahéo ได้รับมรดกเป็นฟาร์มหอยนางรมที่บริตตานีหลังจากที่พ่อของเธอเสียชีวิต ในช่วงแรกเธอก็ขายส่งหอยจากฟาร์มนี้ให้กับโรงแรมชื่อดังอย่าง Le Meurice ต่อมาก็เลยมาเปิดร้านเป็นของตัวเองที่ปารีสตั้งชื่อว่าร้าน Atao ซึ่งเป็นร้านอาหารทะเลสไตล์ ‘ฮิป’ (ที่อยู่ 86 rue Lemercier, 17e,tel. 01-46-27-81-12) เธอได้พ่อครัวชาวญี่ปุ่นมาช่วยทำให้ได้อาหารทะเลที่แตกต่าง เช่น การผัดอาหารทะเลโดยใช้เหล้าสาเก Sautéed In Sake

 

Le Bar a Huitres

City Break Paris Oyster Story in Paris 3

เป็นร้านอาหารทะเลชื่อดัง มีถึง 4 สาขาทั่วเมือง (112 boulevard du Montparnasse, 14e, 01-43-20-71-01; 33 Boulevard Beaumarchais, 3e, 01-48-87-98-92; 33 rue Saint-Jacques, 5e, 01-44-07-27- 37; 69 avenue de Wagram, 17e, 01-43-80-63-54) โดดเด่นด้วยการตกแต่งภายในแบบทันสมัยมีเอกลักษณเฉพาะตัวคือจะมีตู้น้ำทะเลอยู่ในร้าน และที่สำคัญทางร้านได้เน้นคัดเลือกเลือกหอยหอยนางรมที่ยอดเยี่ยมจากฟาร์ม Ostreiculteur Yvon Madec ในบริตตานีและหอยนางรมที่หายาก เช่น Etang de Diana จากเกาะคอร์ซิก้า อาหารทะเลอื่น ๆ ก็มีมากอยู่ ถ้าชอบสถานที่แบบหรูหน่อยก็แนะนำที่นี่นะครับ

City Break Paris Oyster Story in Paris 4

รูปบนเป็นร้าน Le Bar a Huitres สาขา Saint-Germain rue Saint-Jacques, 5e

City Break Paris Oyster Story in Paris 5

รูปบนเป็นร้าน Le Bar a Huitresสาขา Place des Vosges Boulevard Beaumarchais, 3e

 

L’Ecailler du Bistrot

City Break Paris Oyster Story in Paris 23

City Break Paris Oyster Story in Paris 7

ไม่แปลกใจเลยว่าบริสโตรแห่งนี้มักจะเต็มตลอดเวลาอาจเป็นเพราะมันอยู่ใกล้ๆกับบริสโตรชื่อดังของเขต 11 ที่ชื่อ Le Paul Bert Bistro (22 Rue Paul Bert, 11e, 01-43-72-76-77) ซึ่งดูเหมือนเจ้าของร้านทั้งสองจะเป็นญาติกันด้วย แต่ร้านนี้ให้บริการหอยนางรมที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากสุภาพสตรีเจ้าของร้านที่ชื่อGwenaëlle Cadoret มีคุณพ่อซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงจากการทำฟาร์มหอยนางรมอยู่ที่ Riec-sur-Belon ใน บริตตานี และจะให้สิทธิพิเศษกับร้านนี้โดยการคัดเลือกอย่างดีก่อนที่จะsupplyให้บริสโตรแห่งนี้เป็นอันดับแรกอีกด้วย มาที่นี่ต้องลองสั่งจานปลา Sole Meunière ด้วยนะครับเด็ดมากร้านนี้ผมไปลองมาแล้วครับ

 

Garnier

City Break Paris Oyster Story in Paris 13

อยู่ตรงข้ามถนนจากสถานีรถไฟแซงต์ ลาซาร์ (Gare Saint Lazare) ในละแวกเดียวกับย่านช็อปปิ้งที่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ Printemps และ Galeries Lafayette ถ้าท่านมาช็อปปิ้งแถวนี้ต้องแวะครับ ผมไปลองมาแล้วแต่เป็นมื้อเย็น มันคือร้านอาหารทะเลที่เป็นที่นิยม (111 Rue St Lazare, 8e, 01-43-87-50-40) แต่หากมาคนเดียวหรืออยากกินแต่หอยนางรม ที่นี่ก็มีเคาร์เตอร์บาร์หอยรมอยู่ไกล้ประตูหน้าซึ่งเหมาะสำหรับการรับประทานอาหารแบบเดี่ยวหรืออาหารเที่ยงแบบง่ายๆ

City Break Paris Oyster Story in Paris 1

 

 

L’ Huîtrier

City Break Paris Oyster Story in Paris 15

Francisco Pires ซึ่งเป็นผู้ชำนาญในการแกะหอยนางรมหรือเรียกว่า Ecailleur (Oyster Shucker)ไม่ใช่ผู้ชำนาญธรรมดา แต่ได้ตำแหน่งชนะเลิศผู้ที่แกะหอยนางรมที่ดีที่สุดในประเทศฝรั่งเศสโดยได้รับรางวัลจากการแข่งขันประจำปีที่รัฐบาลจัดมาหลายครั้งแล้ว Francisco Pires เล็งเห็นโอกาสก็เลยตั้งร้านอาหารทะเลขายหอยนางรมที่ชื่อ L ‘Huîtrier (16 Rue Saussier-Leroy, 17e, 01-40-54-83-44) ดังนั้นหากคุณได้ไปกินหอยที่ร้านนี้ให้ลองยืนดูเขาทำงานก่อน คือเขาจะแกะหอยจานที่จะเสิร์ฟคุณเป็นการโชว์ฝีมือให้ประจักษ์

 

Huîtrerie Régis

City Break Paris Oyster Story in Paris 22

ร้านนี้แฟนหอยนางรมทุกคนรู้จักดีมันอยู่ในย่านทันสมัย Saint-Germain-des-Pres (3 Rue Montfaucon, 6e, 01-44-41-10-07) ร้านก็ไม่ใหญ่มากแต่คนที่เข้าไปกินดูเหมือนจะเป็นคนดังๆ ของวงการแฟชั่นฝรั่งเศสรวมทั้งวงการอื่นๆ เพราะที่นี่เสิร์ฟหอยนางรมที่มาจาก Marennes- Oléron ซึ่งเป็นทีเด็ด ส่วนจานรองก็เป็นกุ้งต้มและหอยเม่นทะเล แน่นอนว่าเสบียง อาหารอาจดูน้อยแต่ร้านนี้ไม่ขาดเรื่องเสบียงไวน์ขาวจากย่าน Loire Valley เป็นอะไรที่มันเข้ากันได้ดีกับหอยจาก Marennes- Oléron เป็นอย่างดีครับ

ก่อนจบเรื่องแนะนำร้านจะของปิดท้ายด้วยการแนะนำร้านแบบ “Good Deal”! สัก 3 ร้านครับ

 

Le Mary Celeste (เล มารี เซเล่ส)

1 Rue Commines, 75003 Paris, France

City Break Paris Oyster Story in Paris 17

เริ่มด้วยหอยนางรมที่ร้านแบบเรียบง่ายคือราคาเริ่มจากตัวละ1€ เท่านั้นในช่วง Happy Hours แถมที่นี่ใช้ซอสที่ปรุงแบบเผ็ดใส่เครื่องเทศเยอะสไตล์ซอสของชาวเอเซียแบบเรา

 

Le Bouillon de l’Est! (เลอบุยยองเดอเลส)
5, rue d’Alsace, 75010

City Break Paris Oyster Story in Paris 9

ร้านนี้ทุกวันพุธตั้งแต่6โมงเย็น เราสามารถกินหอยนางรมชิลลาโด( Gillardeau oysters)ที่ได้ฉายาว่าเป็นโรลสรอยส์ของหอยนางรมราคาเพียงตัวละ 1€ หาได้ที่ไหนกันละครับ แถมยังมีดนตรีสดเล่นให้ดูอีกด้วย บรรยากาศแบบปารีสบิสโทรแท้ๆ เยี่ยมครับ

 

LE COMPTOIR DES MERS (เลอ กอมพ์ตัวร์เดส์แมรส์)

1, rue de Turenne, 75004

สำหรับคนที่กินหอยแบบไม่ยั้งคงต้อง มาที่นี่แล้วละครับ “all you can eat” Oyster Buffet ในราคาต่อท่านที่ 36€ ที่สำคัญมันไม่ได้มีให้เลือกแต่หอยพื้นๆ มันมีหอยระดับ Grand Cru ให้เราเลือกกินไม่อั้นเช่น Belon, Gillardeau, Isigny, Fine de Claire และเนื่องจากที่นี่มีแผนกที่ขายอาหารทะเลด้วยสำหรับท่านที่อยากจะมี”ปาร์ตี้หอย”ที่บ้านหรือที่โรงแรมที่เราพักที่นี่ยังมี take-away หรือสั่ง Delivery มาก็ได้ แค่หาไวน์ขาวดีๆ กลับมาด้วยคุณก็สามารถปาร์ตี้(หอย)ส่วนตัวได้ไม่ยาก

 

Credit: Alexander Lobrano, http://www.insidr.paris

 

โปรดติดตาม City Break Paris ในตอนต่อไปได้ที่นี่ครับ

City Break Paris Part XXIII

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 23
เราจะมาพูดถึงบรรดาอาหารฝรั่งเศสแบบคลาสสิก ที่เราควรต้องลองหรือไปสั่งชิมกันต่อนะครับ เมื่อตอนที่แล้วเราพูดถึงอาหารคลาสสิกแบบจานด่วนคือ คร๊อก เมอซิเออร์ (Croque Monsieur) ไปแล้ว จะขอแนะนำจานด่วนคลาสสิกอีกสักจานนะครับ

Quiche Lorraine

City Break Paris French National Cuisine 16

มันก็คือ คีช ลอร์เรนน์ (Quiche Lorraine) นั่นเอง คำว่า Quiche มาจากคำว่า “kuchen” เป็นภาษาเยอรมันหมายถึงเค้ก ส่วนคำว่า Lorraine ก็คือแคว้นลอร์เรนของฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อก่อนนี้ในสมัยยุคกลางก็คืออาณาจักร Lothringen ดินแดนของประเทศเยอรมนี ดังนั้นอาหารฝรั่งเศสคลาสสิกจานนี้ที่จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี

Quiche มันเป็นพายแบบเปิดหน้าที่มีส่วนประกอบคือ ไข่และคัสตาร์ครีมที่มีเบคอนรมควัน (Lardons) และชีสบ่มนาน (Mature Cheese) ส่วนเปลือกพายทำมาจากแป้งขนมปัง แต่สูตรดัดแปลงก็อาจเป็นแป้งพัฟ สำหรับสูตรของอีกเมืองที่เคยเป็นดินแดนเยอรมันเก่าเหมือนกันอยู่ไมไกลชื่อเมือง อัลซาส* (Alsace) นั้น จะมีการเพิ่มหัวหอมเข้าไปด้วยเรียกว่า Quiche Alsacienne คีช อัลซาเชี่ยน (*เมืองต้นกำเนิดของสุนัข German Shepherd หรือ อัลเซเชี่ยนนั่นเอง)

Mini-Quiche-Lorraine-and-Florentine

Quiche สมัยใหม่อาจมาในรูปแบบพอดีคำ เรียกว่า Mini Quiche

City Break Paris French National Cuisine 15

Quiche มักเสิร์ฟพร้อมสลัดเขียว

Quiche กลายเป็นที่นิยมในอังกฤษและอเมริกา เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองในช่วงปี 1945 ดินแดนแถบ แคว้นอัลซาส-ลอร์เรน นั้นเป็นยุทธภูมิสู้รบ และแม่บ้านฝรั่งเศสก็มักจะทำQuiche เลี้ยงทหารพันธมิตรซึ่งก็มีชาวอังกฤษและอเมริกัน หรือบางทีก็ทำใส่กล่องไปกินระหว่างทาง จนทหารพวกนี้ติดใจก็นำสูตรกลับไปให้แม่บ้านของตัวเองทำจนทุกวันนี้ มาในสมัยปัจจุบัน Quiche มีหลายชนิด เช่น Quiche กับผักโขม (Quiche Aux Epinards) Quiche กับเห็ด (Quiche Aux Champignons)

Quiche กับผักโขม

อย่างที่บอกนะครับ แบบจานด่วนที่แนะนำไป 2 จานนั้นส่วนใหญ่หากินที่คาเฟ่ ย่านไหนก็มี ทีนี้หากท่านอยากกินกลางวันแบบเป็นเรื่องเป็นราวในร้านอาหารแบบ Bistro ก็มาว่ากันในหัวข้อต่อไปเลย

2.แบบเป็น Course หรือเป็นSet Lunch

ร้านอาหารทั่วไปในฝรั่งเศสมักจะมีการจัด Set Menu ไว้ อย่างที่เราทราบกันดีว่า อาหารฝรั่งเศส (French National Cuisine) นั้นประกอบด้วยอาหารอย่างต่ำ 3 Courses เริ่มจาก จานเรียกน้ำย่อย hors d’œuvre หรือ entrée ซึ่งก็คือจานเปิดเริ่มต้น อาจเป็นซุปหรืออาหารที่เป็นกุ้งหอยปูปลาที่ไม่ใช่ทำจากเนื้อแดง จะเป็นร้อนหรือเย็นก็ได้ ตามด้วยอาหารจานหลักplat principal (main course แต่ในแบบอเมริกัน entrée จานหลัก) มักจะเน้นโปรตีนอาจเป็นเนื้อแบบไหนก็ได้ ตบท้ายโดยจานเนยแข็ง, fromage (cheese course)หรือของหวาน dessert, แต่ก่อนจานของหวานอาจมีจานสลัด salad คั่นก่อนก็ได้ (แต่ในแบบอเมริกันสลัดจะไปอยู่ในคอร์สก่อน entrée จานหลัก) โดยถ้าเป็นอาหารกลางวันก็มักจะเป็น 3-4 Course เมนูซะเป็นส่วนใหญ่ต่างจากมื้อเย็นที่จะเป็นมื้อใหญ่ที่อาจมีประมาณ 5-7 Course หรือสมัยนี้อาจมี Menu ที่เรียกว่า Tasting Menu ซึ่งจะ Highlight จานที่เป็น Signature ของ Chef ประจำร้านจะมาเป็น Portionเล็กๆ แต่ได้ลองอาหารหลายอย่างหน่อยซึ่งเราค่อยไปพูดถึงรายละเอียดกันอีกครั้งตอนเราพูดถึง’มื้อเย็น’ในปารีสกัน คราวนี้เราจะพูดถึง 3-4 Course Menu ซึ่งเป็นเบสิคเซ็ท ปกติ 3 คอร์ส จะประกอบด้วยอองเทร่ entrée (ซึ่งในแบบอเมริกันจะเรียกว่า appetizer) แล้วตามด้วยจานหลัก ปลาต์แปลงซิปาล plat principal (main course) ตามด้วยของหวาน เดสแซรต์ dessert ในตอนนี้เราจะแนะนำไล่ไปตามลำดับครับ

อาหารจานเปิด (อองเทร่ l’entrée)
ผมจะแนะนำแต่อาหารที่เป็นแบบจารีตของฝรั่งเศสที่เราควรได้ลองเมื่อมาถึงปารีสเป็นหลักนะครับ

หอยทากเอสการ์โกต์จากบูร์โกนญ์ Escargots de Bourgogne

City Break Paris French National Cuisine 4

มันคือหอยทากไร่องุ่น Vineyard Snails ก็เนื่องจากแถบบูร์โกนญ์หรือที่เรารู้จักในภาษาอังกฤษว่า Burgundy นั้นนิยมปลูกองุ่นทำไวน์กันแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว (ตั้งแต่สมัยยังเป็นเมืองหนึ่งของอณาจักรโรมัน)หอยทากพวกนี้เดินป้วนเปี้ยนอยู่ในไร่องุ่นน่ารำคาญนัก จึงโดนจับไปทำอาหารซะงั้น ผัดกินกับเห็ดท้องถิ่นบ้าง หรือเสียบไม้ย่างทานบ้างแต่คงไม่มีสูตรไหนอร่อยเท่ากับสูตรอบเนยเครื่องเทศแบบบูร์โกนญ์อีกแล้ว

วิธีทำจะเอาหอยออกจากฝาก่อน โดยนำไปต้มในน้ำซุปเครื่องเทศ (ใบไทม์,ใบเบย์แล้วก็พริกไทย) ซึ่งน้ำซุปนี้ก็เอาไปใช้เป็นซุปขายได้เลย ผมเคยทาน’ ซุปเอสกาโกต์’ แบบรถเข็น ข้างถนนที่ กรุงบรัสเซลในเบลเยี่ยม ซึ่งจะมีขายในช่วงหน้าหนาว ตักใส่แก้วกระดาษแล้วเดินจิบแก้หนาวไป ต้องบอกว่าสุดยอดจริง แต่ในซุปนี้จะมีเศษเนื้อหอยน้อยมากจะมีก็ที่มันแตกตัวเป็นเศษเล็กๆเท่านั้น ส่วนตัวหอยน่ะเขาเอามากลับไปคลุกกับเนยเครื่องเทศแล้วยัดลงฝาใหม่แล้วไปแช่เย็นเก็บไว้ คราวนี้ก่อนเสิร์ฟก็แค่นำไปอบแล้วเสิร์ฟบนถาดอลูมิเนียมที่เป็นหลุมเหมือนถาดขนมครก จะมี 2 ขนาด คือแบบครึ่งโหล (ถาด 6 ตัว) และแบบ 1 โหล (ถาด 12 ตัว) มาพร้อมอุปกรณ์ที่คีบเปลือกหอยที่ออกแบบมาเฉพาะกันลื่นและกันร้อน เพราะต้องเสิร์ฟร้อนๆ ถึงจะถูกต้อง จะมีส้อมเล็กๆ ปลายแหลมจิ้มแล้วดึงออกมาจากฝา (ดูรูปด้านบน)

เคล็ดลับในการกินให้อร่อยคงต้อง Pairing กับไวน์จากโบโกนญ์ (Burgundy Wine) เช่น Marsannay Rosé หรือ Aligoté เย็นๆ แต่ถ้าไม่มีจะเป็นไวน์แดงก็ไม่ได้น่าเกลียดนะครับ ข้อสำคัญอย่าลืมเอาขนมปังทาซอสเนยที่อยู่ก้นถาดกินแกล้มไปด้วยนะครับ ไม่เสียมารยาทแน่นอน

ทีนี้หากอยากกินเอสกาโกต์ในปารีสในร้านที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารจานนี้ น่าจะลองไปที่ร้านข้างล่างนี้ โดย 2 ร้านแรกจะเป็นแบบคลาสสิก ส่วนร้านที่เหลือจะเป็นร้านที่อยู่ในย่านท่องเที่ยวคือถ้าแวะไปเที่ยวแถวนั้นก็น่าจะแวะทานกลางวันไปเลย

 

ร้าน L’ESCARGOT MONTORGUEIL เลสกาโกต์มงโตเกยย์

City Break Paris French National Cuisine 6

บิสโตรฝรั่งเศสแบบดั้งเดิมนี้ได้ให้บริการอาหารฝรั่งเศสแท้ๆ โดยเฉพาะจานหอยทากในกรุงปารีสมากว่าสองศตวรรษแล้ว โปรดสังเกตว่าที่หน้ามุขของร้านจะเป็นรูปปั้นหอยทากทองคำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร้านนี้คือร้านที่เป็นผู้ชำนาญด้านไหน และทางการก็ได้ประกาศให้ร้านนี้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม (listed heritage site)การตกแต่งของร้านเป็นแบบ Second Empire หรือในยุคของจักรพรรดินโปเลียนที่3 อาจจะเก่าแก่สักหน่อยแต่ถ้าหากต้องการลิ้มลองจานหอยทากที่มีชื่อเสียงที่ประกอบด้วย หอยทากเบอร์กันดี 12 ตัวปรุงแบบสามรสของแท้ต้องมาลองที่นี่ครับ หรือถ้ามาเป็นคณะใหญ่ก็สั่งแบบ 36 ตัวมาแบบถาดหลุมเงินเก่าแก่ของร้าน

City Break Paris French National Cuisine 9

City Break Paris French National Cuisine 2

ที่อยู่ 38 Rue Montorgueil, 1st arrondissement (เขต 1)

City Break Paris French National Cuisine 11

 

ร้าน ALLARD อัลลารด์

City Break Paris French National Cuisine 1

ร้านอาหารรสเลิศแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีในปีค.ศ.1932 เป็นร้านเก่าที่เก่าแก่ที่สุดร้านหนึ่งของกรุงปารีสแต่บรรยากาศดูเรียบหรูน่านั่ง และจานเด็ดของร้านซึ่งก็คือ escargots มีรสชาติไม่เก่าไปตามอายุร้าน เพราะกลิ่นเนยกระเทียมเคล้ากับผักชีฝรั่งที่อยู่ในจานเด็ดจานนี้ส่งกลิ่นหอมที่แบบว่านักท่องเที่ยวมือใหม่ต่างถิ่นที่อยู่โต๊ะข้างๆคุณต้องแอบชะเง้อมองแล้วบอกกับบริกรว่า “me too”

ความเป็นจริงแล้วที่มาของความเจ๋ง มันเริ่มจากประวัติเก่าแก่ของร้านที่ริเริ่มมาจากชาวชนบทที่ชื่อ Marthe Allard อพยพมาจาก Burgundy และตั้งใจนำเอาวัฒนธรรมอาหารแถบบูร์โกนญ์มาเผยแพร่โดยได้เปิดร้านนี้อยู่ใจกลางย่าน Saint-Germain-des-Prés แต่ที่แน่ไปกว่านั้นก็เพราะร้านนี้ปัจจุบันได้ผ่านมือมาเป็นของสุดยอดเชฟฝรั่งเศสที่ชื่อ Alain Ducasse ซึ่งมีร้านอาหารติดดาวมิชเชลแลงอยู่เป็น10 ร้าน และนโยบายที่ตั้งใจจะทำกับร้านนี้ของเขาก็คือ: “ร้านอาหารแห่งนี้ถูกคงไว้ซึ่งบุคลิกภาพและความเป็นตัวของมันเองไว้ตลอดไป” ไม่ว่าจะรสชาติอาหารบรรยากาศและราคาในแบบบิสโตรต้นตำรับ

City Break Paris French National Cuisine 17

ที่อยู่ 41 Rue St-Andre des Arts, เขต 6

 

ร้าน CHEZ FERDINAND CHRISTINE เช่ เฟอร์ดินัล ถนน คริสตีน

City Break Paris French National Cuisine 7

จริงๆ ร้านนี้นักท่องเที่ยวมักได้เคยไปลองมาแล้วเพราะเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีบรรยากาศแบบดิบๆ แต่อบอุ่นเป็นมิตร ใช้ผ้าปูโต๊ะลายหมากรุกสีแดงตามจารีตประเพณี ตั้งอยู่แถวแซงมิชเชลใกล้กับวิหาร Notre Dame Cathedral ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งส่วนใหญ่ใครมาปารีสก็ต้องไปวิหารแห่งนี้ ก็เลยต้องจัดมื้อกลางวันอาหารฝรั่งเศสที่ดี (แถมไม่แพง) สักมื้อที่มีจานเด็ดที่เป็นจานหอยทากแสนอร่อย!

City Break Paris French National Cuisine 10

ที่อยู่ 9 Rue Christine, 6th arrondissement (เขต 6)

City Break Paris French National Cuisine 8

 

LE HIDE เลอฮิดด์

City Break Paris French National Cuisine 14

ห้องอาหารบรรยากาศสบายๆ ตั้งอยู่ห่างจากประตูชัยนโปเลียน Arc de Triomphe ไม่ไกลและให้บริการอาหารจานเปิดด้วย Escargot แสนอร่อยซึ่งปรุงด้วยสูตรพิเศษของร้าน และมาในรูปแบบใหม่ที่มีขนมปังประกบแบบแซนวิซแต่อร่อยมีชื่อ พร้อมด้วยการบริการที่อบอุ่นและเป็นมิตรประกอบกับที่ร้านอยู่ในย่านยอดนิยมทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่อาจเป็นนักท่องเที่ยวแต่คุณจะไม่รู้สึกว่าคุณกำลังรับประทานอาหารในร้านที่เป็นกับดักท่องเที่ยว (Tourist Trap Restaurant) อย่างแน่นอน

City Break Paris French National Cuisine 12

City Break Paris French National Cuisine 13

10 rue du Général Lanrezac, เขตที่ 17

 

คราวหน้าเรามาพูดถึงอาหารจานเปิด ( อองเทร่ l’entrée) จานอื่นๆ กันต่อครับ