City Break Paris Part XX

By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 20

เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 4

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 3

แล้วก็มาถึงการต่อเติมครั้งล่าสุดและอาจเป็นครั้งที่ยากที่สุดตั้งแต่มีการพัฒนาปรับปรุงมากว่า 700 ปีของ Lourve ก็คือในช่วงปี 1980 สมัยของประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ชื่อ François Mitterrand ซึ่งมีโครงการขยายและปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ที่เรียกว่า ‘Grand Louvre’ ตอนนั้น Louvre ซึ่งมีอายุหลายศตวรรษพยายามต่อสู้กับจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้น ทางเข้ามีขนาดเล็กเกินไป แต่ละปีกมีทางเข้าที่แตกต่างกัน และเค้าโครงมีความสับสน ทำให้ผู้เข้าชมต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะหาทางเข้าหรือทางออก ประธานาธิบดี Mitterrand จึงเสนอให้ขยายพิพิธภัณฑ์โดยย้ายกระทรวงการคลัง ซึ่งครอบครองปีก Richelieu ของ Louvre ตั้งแต่ 1873 ไปยังพื้นที่ใกล้เคียงย่านแบร์ซี่ Bercy และในที่สุดพิพิธภัณฑ์ลูฟว์สามารถครอบครองอาคารรูปตัว U ทั้งหมด

Miterrand ไม่ได้จัดให้มีการประกวดแบบแข่งขันโครงการ Grand Louvre แต่ได้แต่งตั้งสถาปนิกชาวจีนอเมริกันชื่อ Leoh Ming Pei เพื่อมาปรับปรุง Louvre และรวมทางเข้าด้านปีกอาคารที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เมื่อครั้งที่ Miterrand ไปอเมริกาได้มีโอกาสชมผลงานของ I.M Pei ที่พิพิธภัณฑ์ดังของอเมริกามาแล้ว

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre Leoh Ming Pei

Leoh Ming Pei สถาปนิกที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศสคนแรก ที่เข้ามารับงานปรับปรุง Louvre

Pei เสนอให้ขุดใจกลางลานนโปเลียน (Cour Napoléon) และสร้างห้องโถงทางเข้าใต้ดินโดยทำห้องโถงนโปเลียน Hall Napoléon ที่สามารถเข้าถึงปีกอาคารและพื้นที่ทั้งสามตึกได้ รวมทั้งยังสามารถทำพื้นที่สำหรับร้านค้าร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งจะแก้ปัญหาหลักทุกอย่างของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าชม (Accessibility Problem)

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 1

สำหรับโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือตรง Main Entrance ที่จะมีการลงสู่ระดับใต้ดิน Pei ไม่ต้องการให้มันแค่เหมือนกับการลงไปสถานีรถไฟใต้ดินเท่านั้น มันต้องมี Impact และมี Wow factor ที่ต้องฮือฮาด้วย เพื่อดึงดูดผู้เข้าชมเข้าสู่ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ แต่ครั้นจะทำให้กลมกลืนกับอาคารซึ่งเก่าหลายศตวรรษ เพราะการสร้างของเก่าในยุคสมัยใหม่มันก็เหมือนไปซื้อของ Antiqueแต่ไม่ได้ของเก่าจริงๆ แต่เป็นของ Reproduction ที่เลียนแบบ และกับโจทย์ข้อที่ว่าให้ Modernize Louvre Museum นั้นก็ต้องตอบให้ได้ด้วย คือ Modernize แล้วต้องมี Link หรือ Connection กับ Louvreและฝรั่งเศสให้ได้

Pei จึงได้ศึกษาผลงานของ André Le Nôtre นักออกแบบภูมิทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามรูปแบบทางเรขาคณิตอย่างเคร่งครัด Le Nôtre คือผู้ที่ออกแบบสวนแวร์ซายและสวนตูเลอรีใกล้ๆ กับลูฟว์ หากดูภาพ 2 ภาพด้านล่างจะเป็นงานแบบแปลนของ เลอโนตร์ ที่เน้นรูปทรงเรขาคณิตอย่างชัดเจน รูปแรกเป็นแบบพิมพ์เขียวของสวนแวร์ซายและอีกรูปเป็นแบบพิมพ์เขียวของสวนตูเลอรี (Le Nôtre ‘symmetrical style of the French Formal Garden)

Versailles Garden Plan, Plan du Jardin desTuileries

Pei จึงเลือกที่จะสร้างรูปทรงปิรามิดซึ่งจะเป็นจุดเด่นที่โผล่ขึ้นมากลางลาน เขาเลือกใช้กระจกหุ้มโครงสร้างทั้งหมดเพื่อต้องการให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้าห้องโถงใต้ดินด้านล่างได้ และไม่สร้างความอึดอัดเหมือนลงไปในสถานีรถไฟใต้ดิน
แต่ทันทีที่มีข่าวแพร่กระจายออกไปว่าจะมีปิรามิดแก้วเกิดขึ้นตรงลานหน้าลูฟว์ ก็เกิดกระแสต่อต้านวิจารณ์จากชาวปารีสเกินกว่าครึ่งโดยเฉพาะพวกอนุรักษ์นิยม เช่นเดียวกับที่มีกรณีทำนองนี้เกิดขึ้นเมื่อตอนสร้างหอไอเฟิล Pompidu Centerประตูลาเดฟองซ์ที่เป็นประตูชัยสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 หรือแม้แต่อาคาร Montparnasse Tower ที่มีความสมัยใหม่ และยังประณามประธานาธิบดี François Mitterrand ว่าไปเลือก Pei ซึ่งไม่ใช่คนฝรั่งเศส มีความคิดที่ไม่สามารถเข้าถึงศิลปะแบบฝรั่งเศสได้

อย่างไรก็ตามไม่นานหลังจากการเปิดอย่างเป็นทางการของปิรามิดแก้วในเดือนมีนาคมปี 1989 เสียงค้านก็ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว และปิรามิด Louvre กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ทันสมัยที่ชาวปารีสรักมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงปารีส

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 6

ปิรามิดแก้วมีความสูงประมาณ 22 เมตร (72 ฟุต) และอยู่ห่างจากฐานเพียง 35 เมตร (116 ฟุต) ล้อมรอบด้วยปิรามิดเล็กๆ สามแห่ง มีสระน้ำล้อมรอบ และน้ำพุที่ทันสมัย ซึ่งสระน้ำจะทำหน้าที่สะท้อนเป็นเงาของรูปปิรามิดออกมาเป็นปิรามิดกลับหัวดูคล้ายกับทรงข้าวหลามตัดหรือเพชร

ในการออกแบบ Pei มีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้ปิรามิดโปร่งใสที่สุด กรอบรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัดแบบDiamond Shape 675 รูป และกรอบรูปสามเหลี่ยม 118 รูปถูกออกแบบมาเพื่อให้ขนาดพอเหมาะ มีเหล็กเส้น 128 เส้นและสายสลิง 16 สายที่ยึดบานหน้าต่างด้วยกัน Pei นำเทคโนโลยีจากเรือยอชท์ไฮเทคมาใช้เพื่อให้ดูล้ำสมัย มีเรื่องพูดกันตอนที่มีกระแสต่อต้านปิรามิดแก้วนี้จากพวกอนุรักษ์นิยม บอกว่ากรอบรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัดแบบ Diamond Shape นั้นมีจำนวน 666 รูปซึ่งเป็นเลขของซาตาน ตามคริสต์ศาสนาทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีมีจำนวน 675 รูป

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 2

ในการปรับปรุงLouvre Phase 2 ปี 1993 มีการขยายพื้นที่ใต้ดินไปสู่การเป็นห้างสรรพสินค้าทันสมัยที่เรียกว่า Carrousel du Louvre การออกแบบก็ยึดแนวเดิมคือต้องการให้มีแสงธรรมชาติเข้าถึงมากที่สุด มันเลยออกมาเหมือนการปักหมุดด้วยปิรามิดแก้วกลับหัวซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Pyramide Inversée (Inverted Pyramid) ซึ่งปิรามิดแก้วนั้นได้เป็นสัญลักษณ์ของ Louvre อยู่แล้วไม่แน่ใจว่าได้แนวคิดมาจากเงาของปิรามิดแก้วที่สะท้อนลงน้ำเกิดเป็นปิรามิดกลับหัวเหมือนภาพด้านบนหรือเปล่า

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 7

Inverted Pyramid

แน่นอนว่าปิรามิดกลับหัวได้รับการออกแบบโดย บริษัท สถาปัตยกรรมอเมริกันเจ้าเก่า คือ Pei Cobb Freed & Partners ซึ่งเป็นผู้สร้างปิรามิดแก้วเดิม และที่จุดจบของปิรามิดแก้วกลับหัว ยังมีปิรามิดหินที่โผล่มาจากพื้นซึ่งมีนัยยะหลายแง่มุม แม้แต่ Dan Brown ยังเอาไปใช้เป็นบทสรุปของหนังสือชื่อดัง The Da Vinci Code

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 4

ภาพบนคือปิรามิดแก้วของ Louvre ถูกสร้างขึ้นในช่วงปี 1980 เป็นทางเข้าหลักของ Louvre Museum โครงสร้างกระจกอันทันสมัยซึ่งสร้างความ Contrast แตกต่างอย่างดีกับอาคารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ในขณะที่ตัวปิรามิดแก้วเองก็ได้กลายเป็น Landmark อีกแห่งของปารีสด้วยตัวของมันเอง

City Break Paris Louvre Museum Grand Louvre 5

ประตูทางเข้าใต้ดินไปยังโถงนโปเลียน Louvre Hall Napoléon

เป็นอันว่าการต่อเติมครั้งล่าสุดของ Louvre ก็จบไปอย่างอลังการ ปัจจุบันนี้พิพิธภัณฑ์ลูฟว์เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีกว่า 70,000 ชิ้นงานศิลปะกระจายทั่วพื้นที่ 652,300 ตารางฟุตซึ่งเป็นพื้นที่เกือบ 15 เอเคอร์ และมีผู้เข้าชมมากที่สุดโดยเฉลี่ย 8.8 ล้านคนต่อปี โดยในแต่ละวัน Louvre ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว 15,000 คนต่อวัน และ70% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีการจ้างคนกว่า 2,000 คนทำการดูแลรักษาและบริหารพิพิธภัณฑ์และงานศิลปะ

หลังจากการเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ของฝรั่งเศสเป็นเวลากว่า 600 ปี และยังเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งตลอดจนอำนาจของฝรั่งเศสในยุคการล่าอาณานิคม และการขยายอาณาเขตซึ่งทำให้ได้ของมีค่ามากมายมาสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งนี้

ถ้าต้องการดูทุกอย่างในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์โดยใช้เวลาหยุดดู 30 วินาทีต่อชิ้นตลอดวันโดยไม่หยุดพัก จะต้องใช้เวลา 100 วัน จึงจะได้ดูครบทุกชิ้น!

แกลเลอรี่ที่มีกว่า 70,000 ชิ้นงานศิลปะนั้น เป็นภาพวาดประมาณ 7,500 ภาพ และ66% ของภาพเหล่านี้ถูกวาดขึ้นโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส และยังมีคอลเลคชั่นอียิปต์โบราณมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แกลเลอรี่ยังแบ่งออกเป็น 8 แผนก:
•โบราณวัตถุตะวันออก
•โบราณวัตถุอียิปต์
•โบราณวัตถุกรีก, อิทรูเรียและโรมัน
•ศิลปะอิสลาม
•ประติมากรรม
•ศิลปะการตกแต่ง
•ภาพวาด
•ภาพพิมพ์และภาพวาด

ก่อนจบเรื่องราวความเป็นมาของ Louvre ในครั้งนี้ ต้องขอพูดถึง Louvre แห่งที่ 2 ที่ อาบูดาบี Abu Dhabi สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก่อตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลปารีสกับอาบูดาบีเมื่อปี 2007 แต่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้เอง ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการนำเสนองานสถาปัตยกรรมที่ไม่น้อยหน้าของที่ Paris

Louvre Abu Dhabi 1

ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจแบบ Franchises นั้นมันมาใช้ในงาน G to G ก็ได้ เพราะงานนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้เงินถึง 399 ล้านยูโรจากรัฐบาลอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับลิขสิทธิ์การใช้ชื่อ “Louvre” เป็นเวลา 30 ปี เห็นหรือยังครับว่าชื่อ Louvre นั้นมีความขลังขนาดไหน แต่ก็ไม่ใช่ได้มาแค่ชื่อ ยังถือเป็นที่ปรึกษาในการจัดแสดงและการนำชิ้นงานศิลปะจาก Louvre Paris มาโชว์ในลักษณะยืมมา Exhibit เป็นครั้งคราวอีกด้วย ซึ่งทางลูฟว์อาบูดาบี คาดหวังจะสร้างพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมแห่งหนึ่งของโลกในอนาคต

Louvre Abu Dhabi

พิพิธภัณฑ์ลูฟว์แห่งที่สอง หรือ พิพิธภัณฑ์ลูฟว์อาบูดาบี ถือเป็นพิพิธภัณฑ์สากลแห่งแรกในโลกอาหรับ มีเนื้อที่ 24,000 ตารางเมตร (260,000 ตารางฟุต) ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอาหรับ ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังชาวฝรั่งเศส ฌอง นูเวล (Jean Nouvel) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานสถาปัตยกรรมอันรุ่งโรจน์ของอารยธรรมอาหรับ และจุดเด่นอยู่ที่การออกแบบโดมของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นลักษณะรังผึ้งแปดชั้นรูปทรงเรขาคณิตแบบอาหรับ มีน้ำหนักมากถึง 7,500 ตันซึ่งเท่ากับหอไอเฟล โดมสีเงินสะท้อนวัฒนธรรมและศิลปะแบบตะวันออกกลาง ความพิเศษอยู่ที่หลังคาจะสะท้อนแสงระยิบระยับเมื่อแสงแดดสาดส่องลงมา ทั้งยังช่วยลดความร้อนภายในได้อีกด้วย

มันใช้เวลาก่อสร้างนานร่วม 10 ปี โดยโครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2007 ฝ่าฟันทั้งมรสุมของราคาน้ำมันที่ลดลงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้จากเดิมที่ตั้งงบประมาณไว้ที่ 340 ล้านปอนด์ หรือราว 14,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2012 แปรสภาพเป็นโครงการมูลค่า 1 พันล้านปอนด์ หรือราว 43,500 ล้านบาท

Louvre Abu Dhabi 3

ภายในลูฟว์อาบูดาบี บรรจุชิ้นงานทางศิลปะกว่า 600 ชิ้น เป็นงานศิลปะที่นี่ และอีก 300 ผลงานที่ยืมมาบางส่วนจากลูฟว์ และจาก 13 สถาบันชั้นนำของฝรั่งเศสจาก 23 แกลเลอรี่ เช่น Paul Gauguin, Vincent Van Gogh, Pablo Picasso มีทั้งงานศิลปะ จิตรกรรม ประติมากรรม งานประดิษฐ์ล้ำค่ารวมทั้งศิลปินชาวอเมริกันอย่าง เจมส์ แอบบ็อตต์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์ รวมไปถึงผลงานของศิลปินจีนอย่าง อ้ายเหว่ยเหว่ย อีกต่างหาก

Louvre Abu Dhabi 2

ทางพิพิธภัณฑ์หวังว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จากทั่วโลก เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนกรุงอาบูดาบีกันมากขึ้น หลังจากเมื่อปีที่แล้วเมืองหลวงของยูเออีแห่งนี้มียอดนักท่องเที่ยวไปเยือนเพียง 4.4 ล้านคน ในพิธีเปิดตัว ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ‘เป็นเสมือนสะพานเชื่อมอารยธรรม’

 

โปรดติดตามตอนจบของ Louvre ในหัวข้อเรื่อง “มา Louvre แล้วต้องดูอะไร?” ในตอนหน้า

City Break Paris Part XIX

By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 19

เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 3
การปรับเปลี่ยนของ Louvre จากการเป็นพระราชวังมาเป็นพิพิธภัณฑ์

กลับมาพูดเรื่อง Louvre จริงๆ แล้วในช่วงที่มีการย้ายเมืองหลวงไปแวร์ซายส์ในช่วง 3 รัชสมัยนั้น ได้มีความคิดจากราชสำนักจะนำเอาวัง Louvre ไปทำประโยชน์ เช่น การทำเป็นหอศิลป์ นำโดย พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ได้นำภาพศิลปะที่พระองศ์สะสมจากวังลุกซอมบูรก์ The Luxembourg Palace โดยมีผลงานสุดยอดจากศิลปินชั้นนำ

เช่น Andrea del Sarto, Raphael, Titian, Veronese, Rembrandt, Poussin มีการเปิดให้สาธารณะชนชมอาทิตย์ละ 2 วัน ทำให้ในรัชสมัยของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีนโยบายที่จะทำ Louvre ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย จนกระทั่งมาถึงยุคปฏิวัติก็มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ Louvre เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี ค.ศ 1793 โดยมีภาพวาดชั้นนำ 537 ชิ้น และศิลปวัตถุอื่นๆ อีก 184 ชิ้น โดย 3 ใน 4 ของทั้งหมดมาจากราชสำนัก

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -8

ภาพวาดในปี 1810 ของ  Louis Léopold Boilly (1761–1845 Paris) ชื่อ The Public Viewing David’s “Coronation” at the Louvre ซึ่งเป็นภาพสาธารณะชนไปชมภาพราชาภิเษกของนโปเลียน Coronation of the Emperor ที่ Louvre ซึ่งวาดโดย Jacques Louise David ศิลปินประจำพระองค์ของนโปเลียน

หลังจากการสลายตัวของการปฏิวัติ เมื่อถึงยุคของ จักรพรรดินาโปเลองโบนาปารด์ หรือ นโปเลียนที่ 1 เข้ามามีอำนาจ ท่านได้เปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านเอง โดยใช้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์นโปเลียน “Museum Napoleon” ในปี ค.ศ. 1803

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -4

Napoléon on the Battlefield of Eylau เป็นภาพสีน้ำมันวาดในปี 1808 โดย Antoine-Jean Gros. บรรยายเหตุการณ์หลังการสู้รบที่ ไอลอ โดยในครั้งนั้นกองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ต (Grande Armée )สามารถเอาชนะกองทัพรัสเซียได้ ภาพนี้อยู่ที่ Louvre ในยุคปัจจุบัน เป็นภาพในสไตล์ที่เรียกว่า French Romanticism

เนื่องจากศิลปวัตถุส่วนใหญ่ได้มาจากชัยชนะในสงครามต่างๆ เรียกว่าพิพิธภัณฑ์นั้นล้นไปกับงานศิลป์ที่กองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ต (Grande Armée) ไปกวาดมาจากทั้งทวีปยุโรปรวมทั้งแอฟริกาตอนเหนือโดยเฉพาะประเทศอียิปต์

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -1

ภาพวาดงานแต่งงานครั้งที่ 2 ของนโปเลียนกับมารีหลุยส์ ที่ Louvre โดยศิลปินชื่อ Corbis จะเห็นว่าตอนนั้น Louvre เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เต็มรูปแบบแล้ว

หลังจากที่ลูฟว์ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และได้ทำการอนุรักษ์และนำเสนอผลงานศิลปะนับพันๆ ชิ้น รวมทั้งมรดกของอารยธรรมในอดีต ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จักรพรรดิได้เปลี่ยนการตกแต่งภายใน และยังได้สร้างประตูชัยที่ยิ่งใหญ่ 2 แห่ง เนื่องจากท่านถือว่าท่านเป็นจักรพรรดิเฉกเช่นจักรพรรดิโรมันแห่งโรมที่มีประเพณีตัดไม้ข่มนาม ด้วยการนำกองทัพเดินลอดประตูชัยเอาฤกษ์เอาชัยก่อน ทำให้ทหารมีกำลังใจและฮึกเหิมและดูเหมือนว่าจะได้ผลดี เพราะกองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ตนั้นแทบจะไม่เคยปราชัยจากการสู้รบ 60 สงคราม นโปเลียนแพ้เพียง 8 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็เป็นสงครามหลังจากที่ไม่สามารถบุกยึดรัสเซียได้ก็ไม่ค่อยได้ชนะอีกจนแพ้ครั้งสุดท้ายที่ Waterloo เมื่อปี 1815

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -9

ภาพทหารของนโปเลียนสวนสนามลอดประตูชัย  Carrousel หน้าวัง Tuileries วาดโดย Hippolyte Bellangé ในปี 1810

ทั้งนี้ นโปเลียนได้สร้างประตูชัยเล็กที่ชื่อการ์รูเซล Arc de Triomphe du Carrousel อยู่ใกล้กับพระราชวัง Tuileries ตรงจุดที่เรียกว่า Place du Carrousel มันถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1806 และ1808 เพื่อรำลึกถึงชัยชนะทางทหารของนโปเลียนเมื่อปีก่อนๆ เช่น ชัยชนะที่ออสเตรียและเพื่อเป็นเกียรติกองทัพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -7

Arc du Carrousel หรือประตูชัยเล็กนี้ สร้างขึ้นตรงพื้นที่ระหว่าง Louvre และ Palais de Tuileries

มันมี 3 ซุ้มประตู ซึ่งก็ได้ต้นแบบมาจากประตูชัยคอนสแตนตินและประตูชัยเซปติมุส ( Arch of Constantine, Arch of Septimius Severus) ในกรุงโรม ออกแบบโดย Charles Percier และ Pierre François Léonard Fontaine มีจุดเด่นอยู่ที่เสาโครินธ์ทั้ง 8 ต้น ทำจากหินอ่อนสีชมพู และรูปปั้นด้านบนของซุ้มประตูเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่เรียกว่า “Triumphal Quadriga” เป็นชุดรถม้าโรมัน Chariot ทองสัมฤทธิ์เทียมม้า 4 ตัวที่นโปเลียนนำมาจากจัตุรัสเซนต์มาร์กในเวนิส โดยตั้งใจจะทำรูปปั้นนโปเลียนเป็นผู้ทรงรถม้าแต่ในที่สุดรูปปั้นทั้งหมดก็ถูกส่งกลับไปยังเมืองเวนิสหลังจากการล่มสลายของ นโปเลียนที่ Waterloo แต่ก็ทำแทนที่ด้วยชุดรถม้าที่สร้างโดย François Joseph Bosio ในปี 1828

ในขณะที่ประตูชัยใหญ่ หรือ ประตูชัยนโปเลียน Arc de Triomphe de l’Étoile ที่อยู่ปลายสุดของถนน Champs Élysées ก็เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โครินธ์ และได้รับการออกแบบในปีเดียวกัน แต่มันใหญ่กว่าประตูการ์รูเซลถึงสองเท่า ทำให้ยังไม่แล้วเสร็จจนถึงปี 1836 ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ – ฟิลิปป์

สำหรับ Arc de Triomphe de l’Étoile นั้นถูกสลักด้วยชื่อแม่ทัพนายพลของนโปเลียน และชื่อสงครามที่นโปเลียนชนะ มันออกแบบโดย Jean Chalgrin มีต้นแบบเป็นประตูชัยติตัส Arch of Titus ในกรุงโรมแต่ Arc de Triomphe ที่ปารีสสูงกว่ามาก (50 เมตรเทียบกับ 15 เมตร) แต่ก็มีความสมมาตรและมีสัดส่วนที่เท่ากัน

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -11

ประตูชัยประดับประดาเป็นปูนปั้นมีมิติที่ส่วนใหญ่เป็นที่ระลึกถึงการสู้รบของจักรพรรดินโปเลียน เช่น การต่อสู้ที่ Aboukir หรือชัยชนะของนโปเลียนเหนือตุรกีและการต่อสู้ Austerliz ที่นโปเลียนชนะออสเตรีย ด้านล่างซุ้มประตูเป็นหลุมฝังศพของทหารนิรนามซึ่งเป็นอาสาสมัครหลายคนที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

สาเหตุที่ประตูชัยนี้เรียกว่า Arc de Triomphe de l’Étoile ที่หมายถึงประตูชัยแห่งดาว (l’Étoile) นั้นก็เพราะประตูชัยนี้ตั้งอยู่ที่จัตุรัสดาว หรือ Place de l’Étoile (ชื่อเป็นทางการปัจจุบันคือ Place Charles de Gaulle) เป็นวงเวียนซึ่งมีถนน 12 สายวิ่งเข้าสู่วงเวียนนี้ มองจากด้านบนจะเหมือนดาวกระจายนั่นเอง

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -6

เราสามารถขึ้นไปดูวิวกรุงปารีสจากดาดฟ้าของประตูชัยนโปเลียนนี้ ซึ่งเราสามารถมองเห็นวิวของ La Defense, Champs-Elysées และSacré-Coeur แต่ควรใช้อุโมงค์ลอดใต้วงเวียนไปโผล่ที่ประตูชัยอย่าข้ามถนนเด็ดขาดมันอันตรายมาก แต่อย่าคิดว่าได้ขึ้นลิฟท์ไปดาดฟ้านะครับคุณต้องปีนบันได 234 ขั้นเพื่อแลกกับวิวสวยๆ

เมื่อตอนที่ประตูชัยทั้ง 2 แห่งสร้างเสร็จนั้น เราจะเห็นว่ามันมีพระราชวัง Tuileries บังหรือกั้นประตูทั้ง 2 อยู่แบบภาพด้านล่างนี้ครับ

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -2

ในขณะที่ปัจจุบันนี้กลับเปิดโล่งก็เพราะต่อมาในปี 1871 พระราชวัง Tuilerie ก็ถูกวางเพลิงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปป์ โดยพวกปฏิวัติหลังจากการที่ท่านไปแพ้สงครามกับปรัสเซียและซากอาคารก็ถูกทุบทิ้งโดยไม่มีการบูรณะใหม่

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -12

ในภาพด้านบนจะเห็นส่วน (อาคารที่เป็นสีแดง)ที่เคยเป็นพระราชวัง Tuilerie ที่ถูกไฟไหม้ไปแต่ไม่มีการบูรณะ จึงทำให้ (ดูภาพด้านล่าง)ทิศตะวันตกของ Louvre เปิดโล่งไปหาสวน Tuilerie และได้ทิวทัศน์ที่สวยงามของเมืองปารีส

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -3

ซึ่งในยุคของประธานาธิบดี Charles de Gaulle เคยพยายามจะหาทุนสร้างอาคารส่วนนี้ขึ้นมาใหม่เพราะมีแบบของเดิมอยู่แต่แล้วจนถึงวันนี้ก็ไม่มีการสร้างใหม่เพราะใช้ทุนสูงมาก

ดังนั้น Louvre ด้านทิศตะวันตกนี้จึงเปิดโล่งต่อเนื่องกับสวน Tuilerie มองเห็นจัตุรัสกองกอร์และ ต้นถนนชองเซลิเซ ตลอดไปจนถึงประตูชัยนโปเลียน เป็นมุมมองที่สวยงามมากที่หันหน้าไปทางตะวันตกของกรุงปารีส มันถูกเรียกว่าแกนประวัติศาสตร์ของปารีส Paris Axe historique (“historic axis”) ยาว 9 กิโลเมตรเป็นเส้นตรงวัดจากประตูชัยเล็กหรือประตูชัย Carrousel

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -5

โดยถ้าเราไปยืนใต้ซุ้มประตูชัย Carrousel และมองไปจะเห็น Landmarks ของกรุงปารีสที่สำคัญเป็นเส้นตรง ตั้งแต่จัตุรัสคองคอรด์ที่มีเสาโอเบลิกซ์ยอดแหลม,ประตูชัยนโปเลียน,ไปสิ้นสุดที่ประตูลาเดฟองซ์ที่เป็นประตูชัยสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 สร้างในยุคของประธานาธิบดีฝรั่งเศสฟรองซัวร์มิเตอรงด์ โดยรำลึกถึง 200 ปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส 14 กรกฏาคม 1989

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -10

ในรูปทรงลูกบาศก์และมีความสูง 110 เมตร Arch ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอุดมคติด้านมนุษยธรรมมากกว่าชัยชนะทางทหารใดๆ มันทันสมัยมากและค่อนข้างตรงกันข้ามกับความ “เก่า” ของปารีส ทำให้มีทั้งคนรักและเกลียดมัน ผู้ออกแบบเป็นชาวเดนมาร์กชื่อ Otto von Spreckelsen

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -13

กลับมาเรื่อง Louvre ซึ่งในที่สุดก็มีการปรับปรุงต่อเติมในส่วนอาคารครั้งใหญ่อีกครั้งในยุคของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งทำให้กลุ่มอาคารครบถ้วนเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้มีการสร้าง ปีก Denon ทางด้านแม่น้ำเซน และ ปีก Richelieu Wing บนถนน Rivori (ดูจากภาพด้านบนก็คืออาคารส่วนที่มี color code เป็นสีส้ม) เพื่อให้ส่วนหนึ่งใช้เป็น พระราชวังของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 Napoleon III ด้วยซึ่งถือเป็น State Apartment ที่ Louvre ซึ่งภายหลังต่อมาก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ห้องพักแสดงถึงพลังและความมั่งคั่งของรัฐฝรั่งเศสในเวลานั้น

กลับมาติดตามเรื่องราวของการต่อเติมครั้งสุดท้ายล่าสุด และอาจเป็นครั้งที่ยากที่สุดตั้งแต่มีการพัฒนาปรับปรุงมากว่า 700 ปี ของ Louvre ในตอนต่อไปครับ

City Break Paris Part VII

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 7
มหาวิหารแซงต์เดนีส์ และนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศฝรั่งเศส Patron Saint of France
By Paul Sansopone

…” ในปี 1909 ช่างทำผมที่ชื่อ Monsieur Antoine เป็นชาวโปลีส(โปแลนด์)เกิดในปารีสซึ่งเป็นสไตล์ลิส ออกแบบผมที่มีชื่อเสียงได้นำทรงผมของ ฌาน ดาร์ก มาเป็นแรงบันดาลใจ ตัดให้ผู้หญิงที่ต้องการไว้ผมสั้นและเรียกว่าทรง “bob” ซึ่งก็เป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้…..”

เมื่อตอนที่แล้วเราได้ปูพื้นกันไปแล้วว่าสถาปัตยกรรมแบบ กอติก ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยเฉพาะที่ปารีสนั้นมีที่มาความเป็นมาและลักษณะเฉพาะแบบไหน มาคราวนี้เราไปเที่ยวของจริงกันเลยครับ

1. มหาวิหารแซ็งต์เดนีส์ ที่ถือเป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม เพราะเป็นสิ่งก่อสร้างแห่งแรกที่ออกแบบและก่อสร้างเป็นแบบกอติก แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่ามหาวิหารโนตเตรอดามกลางกรุงปารีส คือวิหารแบบกอติกแห่งแรกของฝรั่งเศสซึ่งไม่ใช่
มหาวิหารแซ็งต์-เดนีส์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ไม่ไกลจากสนามฟุตบอลสต๊าดเดอฟรองที่สร้างเมื่อตอนฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ’98 ที่ฝรั่งเศสชนะ บราซิลในรอบชิง 3-0

Saint Denis - La Basilique

โดยเรื่องราวที่มาของวิหารแห่งนี้มีดังนี้

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 3

มหาวิหารแซ็งต์-เดนีส์ ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดย พระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 บนที่ตั้งของที่ฝังศพของ นักบุญเดนีส์แห่งปารีส ซึ่งเป็นนักบุญและมรณสักขี**(คำอธิบายด้านล่าง)ในศาสนาคริสต์ ท่านเกิดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ในอิตาลี และต่อมาท่านได้ถูกส่งตัวจากอิตาลีมาเพื่อเปลี่ยนผู้คนชาวกอลที่ลูเทเทียที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณ Île de la Cité บนฝั่งแม่น้ำเซนให้หันไปนับถือคริสต์ศาสนา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ภายใต้ความรับผิดชอบของพระสันตะปาปาฟาเบียน ซึ่งการส่งมาในครั้งนั้นทำให้ นักบุญแซง-เดนีส์นั้นถือเป็นบาทหลวงราชาคณะหรือ บิชอปพระองค์แรกแห่งปารีสไปโดยปริยาย

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 10

แน่นอนว่าการมาconvert ให้ผู้คนหันมานับถือคริสต์ศาสนาเป็นจำนวนมากนั้น ทำให้ท่านต้องขัดแย้งกับนักบวชในลัทธินอกศาสนาอย่างหนัก จนในที่สุดก็ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยการตัดคอที่เนินสูงในปารีสที่ปัจจุบันคือมงมาทร์ ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของดรูอิด การสังหารเดนิสและเพื่อนนักบวชเชื่อกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของชื่อมงมาทร์ ที่มาจากคำว่า “mons martyrium” หมายถึง ‘เนินมรณสักขี’ ตำนานยังบอกว่า หลังจากที่ศีรษะหลุดจากบ่า นักบุญเดนีส์ก็หยิบหัวของตนเองขึ้นมาถือและเดินต่อไปอีกหกไมล์ โดยเทศนาไปตลอดทางซึ่งทำให้เดนิสกลายเป็นนักบุญองค์ที่มักจะเป็นที่รู้จักว่าคือ “นักบุญถือศีรษะ” (Cephalophore) เป็นเอกลักษณ์ปรากฎตามรูปภาพหรือรูปปั้นตามวัดคาธอลิคเช่นเดียวกับภาพหรือรูปปั้นนักบุญปีเตอร์(ปีเอโดร)ที่มักจะมีเอกลักษณ์คือจะถือกุญแจ(สู่)สวรรค์ที่ได้มาจากพระเจ้า เป็นต้น

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 4

และจุดที่นักบุญเดนีส์เสียชีวิตจริงหลังจากที่เดินเทศน์มา ก็คือบริเวณที่มีการสร้างวิหาร St.Denis แห่งปัจจุบันนี้นั่นเอง ในปีประมาณค.ศ. 258 และมีการสร้างโบสถ์หลังเล็กอุทิศให้ท่าน ณ จุดที่พระศพนักบุญถูกฝังไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยพระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 ต่อมาวิหารแห่งนี้เป็นที่ๆ ผู้คนเลื่อมใสกันอย่างมากกลายเป็นสถานที่สำหรับการแสวงบุญ ในยุคกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในปี 1137 อธิการ ซูว์เฌ (ผู้เป็นทั้งพระสหายและที่ปรึกษาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 และ ที่ 7 ผู้เป็นอธิการ-รัฐบุรุษและยังเป็นสถาปนิกคนแรกที่มีบทบาทสำคัญในการวิวัฒนาการลักษณะสถาปัตยกรรมกอติก) ได้สร้างบางส่วนของมหาวิหารใหม่โดยใช้วิธีการก่อสร้างที่ล้ำสมัยสำหรับยุคนั้น ถือกันว่าเป็นก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมกอติกที่แท้จริงเป็นครั้งแรก โดยสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1144 มีบุคคลสำคัญต่างๆ เข้าร่วมในพิธีที่รวมทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 7นอกจากนั้นมหาวิหารก็ยังเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง และกลายมาเป็นแบบการก่อสร้างของมหาวิหารและแอบบีย์อื่นๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม,เ ยอรมันและประเทศอื่นๆ ต่อมา

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 11

และในที่สุดได้กลายมาเป็นมหาวิหารที่มีความสำคัญคือใช้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและพระราชวงศ์เป็นเวลาหลายร้อยปีจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุสานหลวงแห่งฝรั่งเศส” (Royal Necropolis of France) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1789 พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสเกือบทุกพระองค์รวมทั้งพระศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวแนตต์ที่โดนประหารชีวิตโดยคณะปฎิวัติด้วยกิลโยตีน หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของฝรั่งเศสเช่นพระเจ้าโคลวิสที่ 1 (ค.ศ. 465-ค.ศ. 511) ซึ่งเคยถูกบรรจุที่ Abbey of St Genevieve (St. Pierre) มาก่อน แต่ต่อมาก็ถูกนำมาไว้ที่แซ็งต์-เดนีส์

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 2

พระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่16และพระนางมารี อองตัวแนตต์ ถูกบรรจุไว้ที่มหาวิหาร แซงต์ เดนีส์

อย่างไรก็ตามที่นี่ไม่ใช่สถานที่สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษก ซึ่งโดยประเพณีจะทำกันที่มหาวิหารแห่งแร็งส์ (Notre-Dame de Reims) นอกจากพระราชพิธีราชาภิเษกพระราชินีมักทำกันที่นี่

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 6

ภาพมหาวิหารแร็งส์ (Notre-Dame de Reims) ซึ่งเป็นวิหารแบบกอติกที่สำคัญมากอีกแห่งเพราะเป็นสถานที่สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตรย์ของฝรั่งเศสแทบทุกพระองค์ ซึ่งโดยประเพณีจะทำกันที่นี่ เริ่มต้นจากกษัตรย์องค์แรกของอาณาจักรแฟงค์ Clovis ที่1 ได้ทำพิธีรับศีลจุ่ม(baptism) เพื่อเปลี่ยนมานับถือคริสต์โดยSaint Remi บิชอบแห่งแรงส์

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 8

จากเรื่องราวที่กล่าวมาทำให้ นักบุญเดนิส ถูกยกย่องให้เป็น Patron saint of France หรือนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศฝรั่งเศสองค์หนึ่งในสามองค์ ซึ่ง การได้เป็นนักบุญหรือ Saint นั้นจะได้ตำแหน่งนี้ก็ต่อเมื่อเสียชีวิตไปแล้วและคริสต์จักรแห่งโรมลงมติให้ถือเป็นนักบุญ เนื่องจากอุทิศทุ่มเทและเสียชีวิตจากการเผยแพร่ศาสนาคาธอลิค หรือเป็น มรณสักขี** (martyr)หมายถึงเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ถูกทรมานจนตายหรือถูกฆ่าหรือถูกลงโทษให้ประหารชีวิต เพราะความเชื่อ ในศาสนาคริสต์ยุคแรกมีผู้ถูกทรมานและฆ่าด้วยความทรมาน เช่น ถูกขว้างด้วยก้อนหินให้ตาย ถูกตรึงกางเขน ถูกเผาทั้งเป็น และอื่นๆ แต่การได้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศไหนก็เพราะได้ทำคุณประโยชน์ทางด้านการศาสนาทำให้ผู้คนหันมานับถือหรือเลื่อมใสอย่างเป็นรูปธรรม ไหนๆ พูดถึงหนึ่งในสามแล้วก็คงต้องพูดถึงนักบุญองค์อุปถัมภ์ของฝรั่งเศสอีก 2 พระองค์ที่เหลือซึ่งก็คือ

ฌาน ดาร์ก Jeanne d’Arc หรือ โจน ออฟ อาร์ก (ค.ศ. 1412 – ค.ศ. 1431) เป็นวีรสตรีของฝรั่งเศสและเป็นนักบุญในนิกายโรมันคาทอลิก โจนมาจากครอบครัวชาวนาที่เกิดทางตะวันออกของฝรั่งเศสและเป็นผู้นำกองทัพฝรั่งเศสในสงครามร้อยปีหลายครั้งที่ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายอังกฤษ โดยที่สำคัญที่สุดก็ตอนที่รบชนะที่เมือง ออร์เลออง Orléans ในตอนแรกมีแต่คนหาว่าเธอเป็นคนเสียสติอ้างว่าได้ยินเสียงและมีนิมิตจากพระเจ้าให้เป็นผู้ชี้ทางให้นำฝรั่งเศสไปสู่ชัยชนะและเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ได้ขึ้นครองราชย์ และตัดสินใจสู้แม้กำลังของอังกฤษแข็งแกร่งกว่า อย่างไรก็ตามเธอมาพลาดถูกจับโดยพวกอังโกล-เบอร์กันเดี้ยน Anglo-Burgundians ที่เป็นพันธมิตรกับอังกฤษและถูกพิจารณาคดี ถูกพิพากษาให้ถูกเผาทั้งเป็นในข้อหาว่าเป็นพวกนอกรีตเชื่อลัทธิแม่มด เพราะพิสูจน์ไม่ได้เรื่องนิมิตที่เธอกล่าวอ้างเมื่ออายุ 19 ปี แต่อีกยี่สิบสี่ปีต่อมาในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 3 ได้ทรงมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ โดยมีการพิจารณาคดีที่มหาวิหาร Notre Dame ศาลพิพากษาว่าฌานเป็นผู้บริสุทธิ์ และทางสำนักวาติกันได้ประกาศให้ฌานเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1920 ชาวฝรั่งเศสถือว่า ฌาน ดาร์กเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศส

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 7

ที่น่าสนใจก็คือตอนที่เธอได้ยินเสียงเรียกจากพระเจ้าเพื่อให้ไปปลดแอกฝรั่งเศสจากอังกฤษ เสียงนั้นได้สั่งให้เธอแต่งกายแบบผู้ชายและตัดผมสั้นให้เหมือนเด็กหนุ่ม ให้เหมือนพวกอัศวินทั้งหลายนำกองทัพฝรั่งเศสไป ไม่น่าเชื่อว่ามรดกที่ฌานได้ทิ้งไว้ก็คือผมทรงนั้น ซึ่งในปี 1909 ช่างทำผมที่ชื่ออองตวน Monsieur Antoine เป็นชาวโปลีส (โปแลนด์) เกิดในปารีสซึ่งเป็นสไตล์ลิสออกแบบผมที่มีชื่อเสียง ได้นำทรงผมของ ฌาน ดาร์ก มาเป็นแรงบันดาลใจ ตัดให้ผู้หญิงที่ต้องการไว้ผมสั้นและเรียกว่าทรง “bob” ซึ่งก็เป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้

และอีกพระองค์ก็คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 (Louis IX) หรือ นักบุญหลุยส์ (Saint Louise) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสแห่งราชวงศ์กาเป ประสูติเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1214 พระราชบิดาของพระองค์คือ พระเจ้าหลุยส์ ที่ 8 พระมารดาของพระองค์มีพระนามว่า พระนางบลองช์ แห่ง กาสตีย์ พระเจ้าหลุยส์ ที่ 9 ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่เมื่อยังทรงพระชนมายุได้เพียง 11 ชันษา เท่านั้น เนื่องด้วยพระราชบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1226 ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ พระราชมารดาของพระองค์ผู้เปี่ยมด้วยความปรีชาสามารถ จึงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลา 10 ปี ยังผลให้ประเทศฝรั่งเศสเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 1

กษัตริย์หลุยส์ที่ 9 ทรงสมรสกับ พระนางมาร์เกอริต แห่ง โปรวองซ์ เมื่อทรงพระชนมายุได้ 19 ชันษา และมีบุตรธิดาด้วยกัน 10 พระองค์ ตลอดพระชนมายุของพระองค์ พระองค์ได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะ สามี และ พ่อของลูก

พระเจ้าหลุยส์เติบโตมาภายใต้การอบรมสั่งสอนของแม่ที่ปลูกฝังลูกให้มีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาอย่างลึกซึ้ง พระองค์ไม่เคยลืมคำสั่งสอนของแม่ที่ว่า “แม่ปรารถนาจะเห็นลูกตายที่แทบเท้าของแม่เสียยังดีกว่า เห็นลูกทำบาปหนักแม้แต่ประการเดียว” พระเจ้าหลุยส์อุทิศเวลาในการไปร่วมพิธีมิสซาวันละสองครั้ง และใช้เวลาในการสวดภาวนาเฝ้าศีลมหาสนิทนานนับชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญกิจกรรมในการใช้โทษบาปเสมอๆ พระเจ้าหลุยส์เป็นผู้เริ่มธรรมเนียมในการย่อเข่าแสดงความเคารพอย่างสูงในบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเจ้า ตอนที่กล่าวว่า “ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า” และการย่อเข่าในเวลาอ่านที่ข้อความจากพระวรสารที่กล่าวการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูด้วยเช่นกัน พระเจ้าหลุยส์ไม่ใช่ผู้ที่มุ่งแสวงหาความสะดวกสบายใส่ตัวเอง ตรงกันข้ามพระองค์ใส่ใจในคนจน และบรรดาผู้ตกทุกข์ได้ยากในรูปแบบต่างๆ พระองค์จัดตั้งโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อผู้ป่วย นอกจากนี้ยังจัดสร้างสถานที่อุปการะคนตาบอด และ สถานฟื้นฟูจิตใจหญิงโสเภณี พระองค์จัดตั้งโรงทานสำหรับเลี้ยงอาหารคนยากจน และ สถานที่บำบัดรักษาคนเป็นโรคเรื้อน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงระบบการตัดสินคดีความ ให้มีการให้การของพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ และอนุญาตให้มีการอุทรณ์คดีด้วยการยื่นเรื่องมาร้องขอความยุติธรรมจากพระองค์ได้โดยตรง

พระองค์เป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวแต่ก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งจิตใจที่ตั้งมั่นในศาสนา พระองค์ยังมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับคณะนักบวชฟรังซิสกัน และคณะดอมินิกัน และก่อนที่พระองค์จะออกเดินทางไปร่วมสงครามครูเสดครั้งที่ 7 พระองค์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกชั้นที่ 3 ของคณะฟรังซิสกันอีกด้วย ในฐานะที่พระองค์คืออัศวินนักรบผู้ห้าวหาญที่ยึดมั่นอยู่บนกรอบศีลธรรมตามแนวทางของคริสต์ศาสนา พระองค์ไม่อนุญาตให้ใครใช้ถ้อยคำที่หยาบคายไม่เหมาะสมในระหว่างที่พระองค์ปฏิบัติหน้าที่ของการรบ ในบทบาทของการเป็นผู้ก่อสร้าง พระองค์โปรดให้มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ที่งดงามหลายแห่ง ที่ควรนำมากล่าวถึงในที่นี้คือ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่ต่อมาเป็นที่ตั้งของคณะเทววิทยาแห่งปารีสด้วย และวิหารแซงชัปแปลที่เป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุไม้กางเขน และ มงกุฏหนามอีกด้วย

ในด้านการเมืองการปกครอง พระเจ้าหลุยส์ ที่ 9 เป็นผู้ยุติสงครามกับอัลบีเจนเซียน ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนานทางใต้ของประเทศ พระองค์เป็นผู้ปราบกบฏเคาท์เดอลามาร์ช และเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงระหว่างปารีสกับอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1259 แต่สิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของพระองค์คือการกอบกู้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในเขตปาเลสไตน์ที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพวกเตอร์ก ในปีค.ศ.1248 พระองค์ประสบความสำเร็จในการเข้ายึดเมือง ดามีเอตตา ในสงครามครูเสดครั้งที่ 7 แต่พระองค์กลับเสียทีพลาดท่าถูกจับกุมเป็นเชลยศึก และต้องจ่ายค่าไถ่เพื่อแลกกับอิสรภาพของพระองค์ ในอีก 22 ปีต่อมาคือ ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1270 ระหว่างที่พระองค์ออกไปเพื่อการศึกอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ติดเชื้อโรคระบาดและสิ้นพระชนม์ลงที่เมืองตูนิส

พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ ในปีค.ศ. 1297 โดยพระสันตะปาปา โบนีฟาซ ที่ 8 ชาวฝรั่งเศสถือว่าท่านเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย รวมทั้งการได้เป็นองค์อุปถัมภ์ของช่างแกะสลักหิน ช่างพิมพ์ และ ช่างตัดผม

Credit:Wikipedia,History channel และวัดเซ็นต์หลุยส์สาธร

พบกันตอนต่อไปเป็นเรื่องของอีก 2 วิหารแบบกอติก ที่ไม่ควรพลาดไปชมเมื่อท่านไปถึงปารีส ใน City Break Paris Part 8

City Break Paris Part VI

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 6
By Paul Sansopone

และที่นี้เราก็มาทำความรู้จักสถาปัตยกรรมสำคัญๆ ช่วงยุคกลางของกรุงปารีสกัน

สถาปัตยกรรมแบบโรมันเนส (Romanesque)

City Break PARIS Romanesque Gothic 9

วิหารเซ็นต์ปีเตอร์แบบโรมันเนสที่มงมาตร์ที่ชื่อ Saint-Pierre de Montmartre

สถาปัตยกรรมยุคกลางของปารีสที่ยังอยู่ดี ส่วนใหญ่มักเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเลื่อมใสอย่างแรงกล้าในศาสนา เพราะตอนต้นยุคกลางถือเป็นยุคมืดหรือยุคแห่งความยากลำบากต้องการความหวังและที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ทำให้การก่อสร้างโบสถ์วิหารทำออกมาได้อย่างยิ่งใหญ่เพราะแรงศรัทธา โดยในยุคกลางช่วงแรก (ก่อนปี ค.ศ 1000) วิหารจะออกมาในสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ที่เรียกว่า Romanesque ซึ่งตอนนั้นเทคนิคการก่อสร้างจะมาจากพวกโรมัน โบสถ์วิหารจะเป็นลักษณะที่เป็นกำแพงหนาทึบเพราะตัวกำแพงต้องรับน้ำหนักหลังคาวิหารด้วย ทำให้มืดแสงเข้าได้น้อย ส่วนซุ้มประตูหรือหน้าต่างก็จะโค้งเป็นตัว U คว่ำ (Round Arches) รับน้ำหนักรับแรงเครียดหรือstressได้แบบมีขีดจำกัด

City Break PARIS Romanesque Gothic 10

Saint-Pierre de Montmartre

หากสร้างอาคารสูงมากๆ หรือบริเวณนั้นมีการสั่นสะเทือนเพราะอยู่ในเขตแผ่นดินไหวมักถล่มง่าย อย่างไรก็ตามวิหารยุคกลางซึ่งถือว่าเป็นวิหารแห่งแรกๆ ของกรุงปารีสหรือพูดอีกอย่างก็คือวัดที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ของปารีสที่ต้องไปชมก็คือ

อารามแซงแฌแมงเดเพร Église et abbaye Saint-Germain des Prés

City Break PARIS Romanesque Gothic 7

ภาพเขียน Abbey of Saint-Germain-des-Prés ในสมัยแรก

สถานที่ตั้งของวิหาร แซงแฌแมงนั้น เคยเป็นสุสานของกษัตริย์เนอเตรีย Nuestria จากราชวงศ์เมโรวีเฌียงแห่งอาณาจักรแฟรงค์ หรือ ฟรังซ์ มาก่อนในช่วงศตวรรษที่ 5 ต่อมาวิหารได้ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 6 ยุคสมัยของพระโอรสกษัตริย์ Clovisที่ 1ที่พระนามว่า ชิลเดแบร์ที่ 1, Childebert I (ครองราชย์ในช่วง ค.ศ 511–558) ซึ่งกษัตริย์พระองค์นี้ท่านได้ไปรบชนะที่เมือง Saragossa ที่อยู่ในเขต Aragon ของสเปนแต่ไม่ยึดเมืองเพื่อเป็นการขอบคุณที่ชาวเมืองได้ให้เสื้อคลุมของนักบุญ Vincent และยังได้เศษไม้ที่เป็นส่วนหนึ่งของไม้กางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซูมาด้วยจึงต้องการสร้างสถานที่บูชา (Shrine) ของขลัง (Relic)หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 2 ชิ้นนี้ โดยตั้งอยู่ในจุดที่พระองค์สามารถมองเห็นจากวังของพระองค์ที่เกาะซิเต้ซึ่งเป็นที่มาของการสร้างวิหาร ณ จุดนี้ด้วย เพราะท่านสามารถมองข้ามแม่น้ำเซนมาก็จะเห็น

แต่วิหารนี้กลับไม่ได้ใช้ชื่ออุทิศให้แซงค์แวงซง (นักบุญ Vincent) เนื่องจากในวันที่สร้างเสร็จพระราชาชิลเดแบร์ที่ 1 สวรรคต จึงมาใช้ชื่อวิหารว่าแซงแฌแมง (St.Germain) ตามชื่อนักบุญ Germain ที่เป็นพระราชาคณะ หรือ Bishop แห่งปารีสในขณะนั้น แต่วัดแห่งนี้ต่อมาก็มีเหตุการณ์หลายครั้งเช่นเคยถูกยึดโดยพวกไวกิ้งและเผาทำลายจึงมีการสร้างต่อเติมกันหลายครั้งหลายสมัย ที่เป็นต้นฉบับจริงๆ จะอยู่บริเวณมุมตึกซ้ายด้านใน หากยืนหันหน้าเข้าจากหน้าวิหาร นอกนั้นทำใหม่เลียนแบบพิมพ์เดิมทั้งหมดและยังมีที่ไม่ทำขึ้นใหม่ก็คือส่วนที่ที่เป็นกุฏิของพระหรือบาทหลวง Monastery นั้นเคยถูกนำไปใช้เป็นที่เก็บดินปืนในช่วง ปฏิวัติการปกครองของฝรั่งเศสในปี 1789 แล้วเกิดระเบิดขึ้นทำให้ไม่เหลือให้เห็นในวันนี้

แต่ก็ถือเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมีที่ดินมากมายจนมีการบริจาคที่ดินสร้างสถานศึกษาที่เก่าแก่ของปารีสแถบย่านละติน Quartier Latin แถวถนน St.Michel และย่านของวิหารเองกลายมาเป็นชุมชนที่นิยมและน่าอยู่ที่สุดในฝั่งซ้ายของปารีส

City Break PARIS Romanesque Gothic 2

**แอบบีย์ Abbey คืออารามหรือคอนแวนต์ในนิกายโรมันคาทอลิก ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอธิการอาราม (Abbot) หรืออธิการิณีอาราม (Abbess) ซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อหรือแม่ฝ่ายจิตวิญญาณของเหล่านักพรตที่อาศัยในแอบบีย์

City Break PARIS Romanesque Gothic 4

ภายในของอารามแซงแฌแมงเดเพร

วิหารเซ็นต์ปีเตอร์แห่งมงมาตร์ Saint-Pierre de Montmartre
เราคงยังไม่พูดถึงวิหารซาเครเกอเรอะ Sacré-Cœur ที่เป็นที่สุดของวิหารในปารีสอีกแห่งที่อยู่ที่Montmartre เพราะไม่ได้สร้างในยุคกลางแต่เราจะพูดถึงวิหารเล็กๆ ในสไตล์ Romanesque นั่นคือ Church of Saint-Pierre de Montmartre ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ในเขต 18 และถือว่าเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในปารีสรองจากแซงแฌแมงเดเพร St. Germain-des-Prés
City Break PARIS Romanesque Gothic 8

ที่นี่เริ่มก่อสร้างในปี 1134 และแล้วเสร็จในช่วงศตวรรษที่ 12 โดยมีผู้ผลักดันคือสันตะปาปา อูเฌอเนียสที่ 3 Pope Eugenius III โดยสร้างทับโบสถ์ของราชวงศ์เมโรวีเฌียงเดิมอุทิศให้นักบุญปีเตอร์และนักบุญแซงเดนีส โดยการก่อสร้างเริ่มมาในแบบโรมันเนสแต่ก็พอดีเป็นช่วงสมัยรอยต่อก็เลยมีสไตล์กอติกปนอยู่ ที่นี่มีซุ้มประตูโค้งแบบแหลม Pointed Arch ที่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของสถาปัตยกรรมแบบกอติกแห่งแรก ในปารีส (1147) ในส่วนทางเดินกลางโบสถ์nave จะมีเสาหินดั้งเดิมแบบโรมันของวัดเดิมของราชวงศ์เมโรวีเฌียงหลงเหลืออยู่ ส่วนด้านหน้าคือ Western Façade นั้นมาปรับสร้างเป็นแบบ Neo-Classical Style ในปี1765 โดยล่าสุดในปี 1980 ก็มีการทำประตูสำริด 3 บานตรงทางเข้าซึ่งอุทิศให้ St. Denis, St. Peter และ Virgin Marry

 

สถาปัตยกรรมแบบกอติก Gothic Style

City Break PARIS Romanesque Gothic 3

เนื่องจากการสร้างวิหารในสมัยนั้น หลักการที่สำคัญคือต้องพยายามทำให้สูงที่สุดเพื่อให้ได้เข้าใกล้กับพระเจ้าที่อยู่เบื้องสูงแต่สถาปัตยกรรมแบบโรมันเนสมีขีดจำกัดในการทำให้อาคารสูงโปร่ง จึงทำให้ใน 140 ปีต่อมา (คศ.1140) เกิดสถาปัตยกรรมแบบกอติก Gothic Style ซึ่งถือกำเนิดในฝรั่งเศสนี่เองและก็เพราะมาจากแรงศัรทธาเป็นหลักใหญ่ โดยแบบกอติกนี้คือการพัฒนาด้านวิศวกรรมมีการปรับปรุงในหลักการใหญ่ๆก็คือซุ้มประตูแบบโค้งแหลมคล้ายตัว Vตรงยอด (ซุ้ม) โค้ง (Pointed Arches) จะทำให้รับน้ำหนักและแรงเครียดลงแนวดิ่งได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนำซุ้มโค้งตั้งแต่ 2 ตัวมาไข้วกันเป็นตัว X ที่เรียกว่า Cross Vaults เป็นที่มาของ ‘เพดานสัน’ จะทำให้รับน้ำหนักหลังคาได้ดีไม่ต้องพึ่งกำแพงหนาๆ มารับน้ำหนัก

‘หน้าต่างกุหลาบ’หรือ Rose Window

โบสถ์กอติกจึงใช้กำแพงที่มีหน้าต่างเยอะๆ ได้ทำให้รับแสงได้มากและหน้าต่างก็นิยมที่จะประดับด้วย Stained Glass หรือแก้วย้อมสีที่ทำโดยการผสมสารที่แตกต่างกันให้ได้สีนั้นๆ ออกมาและมักทำเป็นภาพเรื่องราวในพระคัมภีร์เพราะผู้คนสมัยนั้นอ่านหนังสือไม่ได้ การสอนศาสนาจึงมาในรูปแบบของรูปภาพเล่าเรื่อง และมักจะมีไฮไลท์อยู่ตรงหน้าต่างทรงกลมด้านหน้าโบสถ์ที่เรียกว่า ‘หน้าต่างกุหลาบ’ หรือ Rose Window

ภาพ Stained Glass หรือแก้วย้อมสีที่มักทำเป็นภาพเรื่องราวในพระคัมภีร์

แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหาซะทีเดียวหากต้องสร้างอาคารสูงมากก็หนีไม่พ้นแรงดันแบะออกด้านนอกทำให้ต้องมีการคิดระบบค้ำยันจากด้านนอกของผนังที่ก่อบนรากฐานของ Cross Vaults ทั้งหลายเหล่านี้ ตัวค้ำยันนี้เรียกว่า ‘ค้ำยันแบบปีก Flying Buttresses’ ซึ่งจะทำหน้าที่Support ตัวอาคารจากด้านนอกเป็นตัวกระจายน้ำหนักของโครงสร้างหลังคาลงดิน เราจะสังเกตเห็นว่าโบสถ์กอติกนั้นดูจากด้านนอกเหมือนมีขาแบบแมงมุมอยู่ 2 ด้านของอาคาร และความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้โบสถ์กอติกจะมีลักษณะสูงโปร่งสง่างาม

ภาพตัวอย่างของค้ำยันแบบปีก Flying Buttresses

จึงถือว่าสถาปัตยกรรมกอติกนั้นเริ่มขึ้นในฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และรุ่งเรืองต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในระยะแรก สถาปัตยกรรมทรงนี้เรียกกันว่า “แบบฝรั่งเศส” (Opus Francigenum) คำว่า “กอติก” มาเริ่มใช้กันในตอนปลายยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

เอาเป็นว่าถ้าเรามาถึงปารีส เราควรต้องไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรม กอติก ให้ได้ อย่างน้อยก็ 1ใน 3 วิหาร ที่ผมแนะนำต่อไปนี้ครับ…แต่คงต้องติดตามตอนต่อไปใน City Break Paris ตอนที่ 7 นะครับ