City Break Paris Part VII

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 7
มหาวิหารแซงต์เดนีส์ และนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศฝรั่งเศส Patron Saint of France
By Paul Sansopone

…” ในปี 1909 ช่างทำผมที่ชื่อ Monsieur Antoine เป็นชาวโปลีส(โปแลนด์)เกิดในปารีสซึ่งเป็นสไตล์ลิส ออกแบบผมที่มีชื่อเสียงได้นำทรงผมของ ฌาน ดาร์ก มาเป็นแรงบันดาลใจ ตัดให้ผู้หญิงที่ต้องการไว้ผมสั้นและเรียกว่าทรง “bob” ซึ่งก็เป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้…..”

เมื่อตอนที่แล้วเราได้ปูพื้นกันไปแล้วว่าสถาปัตยกรรมแบบ กอติก ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยเฉพาะที่ปารีสนั้นมีที่มาความเป็นมาและลักษณะเฉพาะแบบไหน มาคราวนี้เราไปเที่ยวของจริงกันเลยครับ

1. มหาวิหารแซ็งต์เดนีส์ ที่ถือเป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม เพราะเป็นสิ่งก่อสร้างแห่งแรกที่ออกแบบและก่อสร้างเป็นแบบกอติก แต่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดคิดว่ามหาวิหารโนตเตรอดามกลางกรุงปารีส คือวิหารแบบกอติกแห่งแรกของฝรั่งเศสซึ่งไม่ใช่
มหาวิหารแซ็งต์-เดนีส์ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปารีส ไม่ไกลจากสนามฟุตบอลสต๊าดเดอฟรองที่สร้างเมื่อตอนฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี ’98 ที่ฝรั่งเศสชนะ บราซิลในรอบชิง 3-0

Saint Denis - La Basilique

โดยเรื่องราวที่มาของวิหารแห่งนี้มีดังนี้

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 3

มหาวิหารแซ็งต์-เดนีส์ ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดย พระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 บนที่ตั้งของที่ฝังศพของ นักบุญเดนีส์แห่งปารีส ซึ่งเป็นนักบุญและมรณสักขี**(คำอธิบายด้านล่าง)ในศาสนาคริสต์ ท่านเกิดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ในอิตาลี และต่อมาท่านได้ถูกส่งตัวจากอิตาลีมาเพื่อเปลี่ยนผู้คนชาวกอลที่ลูเทเทียที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณ Île de la Cité บนฝั่งแม่น้ำเซนให้หันไปนับถือคริสต์ศาสนา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ภายใต้ความรับผิดชอบของพระสันตะปาปาฟาเบียน ซึ่งการส่งมาในครั้งนั้นทำให้ นักบุญแซง-เดนีส์นั้นถือเป็นบาทหลวงราชาคณะหรือ บิชอปพระองค์แรกแห่งปารีสไปโดยปริยาย

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 10

แน่นอนว่าการมาconvert ให้ผู้คนหันมานับถือคริสต์ศาสนาเป็นจำนวนมากนั้น ทำให้ท่านต้องขัดแย้งกับนักบวชในลัทธินอกศาสนาอย่างหนัก จนในที่สุดก็ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยการตัดคอที่เนินสูงในปารีสที่ปัจจุบันคือมงมาทร์ ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของดรูอิด การสังหารเดนิสและเพื่อนนักบวชเชื่อกันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เป็นที่มาของชื่อมงมาทร์ ที่มาจากคำว่า “mons martyrium” หมายถึง ‘เนินมรณสักขี’ ตำนานยังบอกว่า หลังจากที่ศีรษะหลุดจากบ่า นักบุญเดนีส์ก็หยิบหัวของตนเองขึ้นมาถือและเดินต่อไปอีกหกไมล์ โดยเทศนาไปตลอดทางซึ่งทำให้เดนิสกลายเป็นนักบุญองค์ที่มักจะเป็นที่รู้จักว่าคือ “นักบุญถือศีรษะ” (Cephalophore) เป็นเอกลักษณ์ปรากฎตามรูปภาพหรือรูปปั้นตามวัดคาธอลิคเช่นเดียวกับภาพหรือรูปปั้นนักบุญปีเตอร์(ปีเอโดร)ที่มักจะมีเอกลักษณ์คือจะถือกุญแจ(สู่)สวรรค์ที่ได้มาจากพระเจ้า เป็นต้น

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 4

และจุดที่นักบุญเดนีส์เสียชีวิตจริงหลังจากที่เดินเทศน์มา ก็คือบริเวณที่มีการสร้างวิหาร St.Denis แห่งปัจจุบันนี้นั่นเอง ในปีประมาณค.ศ. 258 และมีการสร้างโบสถ์หลังเล็กอุทิศให้ท่าน ณ จุดที่พระศพนักบุญถูกฝังไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 โดยพระเจ้าดาโกแบร์ที่ 1 ต่อมาวิหารแห่งนี้เป็นที่ๆ ผู้คนเลื่อมใสกันอย่างมากกลายเป็นสถานที่สำหรับการแสวงบุญ ในยุคกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในปี 1137 อธิการ ซูว์เฌ (ผู้เป็นทั้งพระสหายและที่ปรึกษาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 6 และ ที่ 7 ผู้เป็นอธิการ-รัฐบุรุษและยังเป็นสถาปนิกคนแรกที่มีบทบาทสำคัญในการวิวัฒนาการลักษณะสถาปัตยกรรมกอติก) ได้สร้างบางส่วนของมหาวิหารใหม่โดยใช้วิธีการก่อสร้างที่ล้ำสมัยสำหรับยุคนั้น ถือกันว่าเป็นก่อสร้างตามสถาปัตยกรรมกอติกที่แท้จริงเป็นครั้งแรก โดยสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1144 มีบุคคลสำคัญต่างๆ เข้าร่วมในพิธีที่รวมทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 7นอกจากนั้นมหาวิหารก็ยังเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแรยอน็อง และกลายมาเป็นแบบการก่อสร้างของมหาวิหารและแอบบีย์อื่นๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม,เ ยอรมันและประเทศอื่นๆ ต่อมา

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 11

และในที่สุดได้กลายมาเป็นมหาวิหารที่มีความสำคัญคือใช้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและพระราชวงศ์เป็นเวลาหลายร้อยปีจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุสานหลวงแห่งฝรั่งเศส” (Royal Necropolis of France) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 10 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1789 พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสเกือบทุกพระองค์รวมทั้งพระศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวแนตต์ที่โดนประหารชีวิตโดยคณะปฎิวัติด้วยกิลโยตีน หรือแม้แต่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของฝรั่งเศสเช่นพระเจ้าโคลวิสที่ 1 (ค.ศ. 465-ค.ศ. 511) ซึ่งเคยถูกบรรจุที่ Abbey of St Genevieve (St. Pierre) มาก่อน แต่ต่อมาก็ถูกนำมาไว้ที่แซ็งต์-เดนีส์

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 2

พระบรมศพของพระเจ้าหลุยส์ที่16และพระนางมารี อองตัวแนตต์ ถูกบรรจุไว้ที่มหาวิหาร แซงต์ เดนีส์

อย่างไรก็ตามที่นี่ไม่ใช่สถานที่สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษก ซึ่งโดยประเพณีจะทำกันที่มหาวิหารแห่งแร็งส์ (Notre-Dame de Reims) นอกจากพระราชพิธีราชาภิเษกพระราชินีมักทำกันที่นี่

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 6

ภาพมหาวิหารแร็งส์ (Notre-Dame de Reims) ซึ่งเป็นวิหารแบบกอติกที่สำคัญมากอีกแห่งเพราะเป็นสถานที่สำหรับพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตรย์ของฝรั่งเศสแทบทุกพระองค์ ซึ่งโดยประเพณีจะทำกันที่นี่ เริ่มต้นจากกษัตรย์องค์แรกของอาณาจักรแฟงค์ Clovis ที่1 ได้ทำพิธีรับศีลจุ่ม(baptism) เพื่อเปลี่ยนมานับถือคริสต์โดยSaint Remi บิชอบแห่งแรงส์

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 8

จากเรื่องราวที่กล่าวมาทำให้ นักบุญเดนิส ถูกยกย่องให้เป็น Patron saint of France หรือนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศฝรั่งเศสองค์หนึ่งในสามองค์ ซึ่ง การได้เป็นนักบุญหรือ Saint นั้นจะได้ตำแหน่งนี้ก็ต่อเมื่อเสียชีวิตไปแล้วและคริสต์จักรแห่งโรมลงมติให้ถือเป็นนักบุญ เนื่องจากอุทิศทุ่มเทและเสียชีวิตจากการเผยแพร่ศาสนาคาธอลิค หรือเป็น มรณสักขี** (martyr)หมายถึงเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ถูกทรมานจนตายหรือถูกฆ่าหรือถูกลงโทษให้ประหารชีวิต เพราะความเชื่อ ในศาสนาคริสต์ยุคแรกมีผู้ถูกทรมานและฆ่าด้วยความทรมาน เช่น ถูกขว้างด้วยก้อนหินให้ตาย ถูกตรึงกางเขน ถูกเผาทั้งเป็น และอื่นๆ แต่การได้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศไหนก็เพราะได้ทำคุณประโยชน์ทางด้านการศาสนาทำให้ผู้คนหันมานับถือหรือเลื่อมใสอย่างเป็นรูปธรรม ไหนๆ พูดถึงหนึ่งในสามแล้วก็คงต้องพูดถึงนักบุญองค์อุปถัมภ์ของฝรั่งเศสอีก 2 พระองค์ที่เหลือซึ่งก็คือ

ฌาน ดาร์ก Jeanne d’Arc หรือ โจน ออฟ อาร์ก (ค.ศ. 1412 – ค.ศ. 1431) เป็นวีรสตรีของฝรั่งเศสและเป็นนักบุญในนิกายโรมันคาทอลิก โจนมาจากครอบครัวชาวนาที่เกิดทางตะวันออกของฝรั่งเศสและเป็นผู้นำกองทัพฝรั่งเศสในสงครามร้อยปีหลายครั้งที่ได้รับชัยชนะต่อฝ่ายอังกฤษ โดยที่สำคัญที่สุดก็ตอนที่รบชนะที่เมือง ออร์เลออง Orléans ในตอนแรกมีแต่คนหาว่าเธอเป็นคนเสียสติอ้างว่าได้ยินเสียงและมีนิมิตจากพระเจ้าให้เป็นผู้ชี้ทางให้นำฝรั่งเศสไปสู่ชัยชนะและเธอเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 ได้ขึ้นครองราชย์ และตัดสินใจสู้แม้กำลังของอังกฤษแข็งแกร่งกว่า อย่างไรก็ตามเธอมาพลาดถูกจับโดยพวกอังโกล-เบอร์กันเดี้ยน Anglo-Burgundians ที่เป็นพันธมิตรกับอังกฤษและถูกพิจารณาคดี ถูกพิพากษาให้ถูกเผาทั้งเป็นในข้อหาว่าเป็นพวกนอกรีตเชื่อลัทธิแม่มด เพราะพิสูจน์ไม่ได้เรื่องนิมิตที่เธอกล่าวอ้างเมื่ออายุ 19 ปี แต่อีกยี่สิบสี่ปีต่อมาในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 3 ได้ทรงมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ โดยมีการพิจารณาคดีที่มหาวิหาร Notre Dame ศาลพิพากษาว่าฌานเป็นผู้บริสุทธิ์ และทางสำนักวาติกันได้ประกาศให้ฌานเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1920 ชาวฝรั่งเศสถือว่า ฌาน ดาร์กเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศส

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 7

ที่น่าสนใจก็คือตอนที่เธอได้ยินเสียงเรียกจากพระเจ้าเพื่อให้ไปปลดแอกฝรั่งเศสจากอังกฤษ เสียงนั้นได้สั่งให้เธอแต่งกายแบบผู้ชายและตัดผมสั้นให้เหมือนเด็กหนุ่ม ให้เหมือนพวกอัศวินทั้งหลายนำกองทัพฝรั่งเศสไป ไม่น่าเชื่อว่ามรดกที่ฌานได้ทิ้งไว้ก็คือผมทรงนั้น ซึ่งในปี 1909 ช่างทำผมที่ชื่ออองตวน Monsieur Antoine เป็นชาวโปลีส (โปแลนด์) เกิดในปารีสซึ่งเป็นสไตล์ลิสออกแบบผมที่มีชื่อเสียง ได้นำทรงผมของ ฌาน ดาร์ก มาเป็นแรงบันดาลใจ ตัดให้ผู้หญิงที่ต้องการไว้ผมสั้นและเรียกว่าทรง “bob” ซึ่งก็เป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้

และอีกพระองค์ก็คือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 (Louis IX) หรือ นักบุญหลุยส์ (Saint Louise) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสแห่งราชวงศ์กาเป ประสูติเมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1214 พระราชบิดาของพระองค์คือ พระเจ้าหลุยส์ ที่ 8 พระมารดาของพระองค์มีพระนามว่า พระนางบลองช์ แห่ง กาสตีย์ พระเจ้าหลุยส์ ที่ 9 ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่เมื่อยังทรงพระชนมายุได้เพียง 11 ชันษา เท่านั้น เนื่องด้วยพระราชบิดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1226 ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ยังทรงพระเยาว์ พระราชมารดาของพระองค์ผู้เปี่ยมด้วยความปรีชาสามารถ จึงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลา 10 ปี ยังผลให้ประเทศฝรั่งเศสเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง

City Break PARIS St.Denis Patron Saint of France 1

กษัตริย์หลุยส์ที่ 9 ทรงสมรสกับ พระนางมาร์เกอริต แห่ง โปรวองซ์ เมื่อทรงพระชนมายุได้ 19 ชันษา และมีบุตรธิดาด้วยกัน 10 พระองค์ ตลอดพระชนมายุของพระองค์ พระองค์ได้ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะ สามี และ พ่อของลูก

พระเจ้าหลุยส์เติบโตมาภายใต้การอบรมสั่งสอนของแม่ที่ปลูกฝังลูกให้มีความเชื่อความศรัทธาในศาสนาอย่างลึกซึ้ง พระองค์ไม่เคยลืมคำสั่งสอนของแม่ที่ว่า “แม่ปรารถนาจะเห็นลูกตายที่แทบเท้าของแม่เสียยังดีกว่า เห็นลูกทำบาปหนักแม้แต่ประการเดียว” พระเจ้าหลุยส์อุทิศเวลาในการไปร่วมพิธีมิสซาวันละสองครั้ง และใช้เวลาในการสวดภาวนาเฝ้าศีลมหาสนิทนานนับชั่วโมงทุกวัน นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญกิจกรรมในการใช้โทษบาปเสมอๆ พระเจ้าหลุยส์เป็นผู้เริ่มธรรมเนียมในการย่อเข่าแสดงความเคารพอย่างสูงในบทข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเจ้า ตอนที่กล่าวว่า “ทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า” และการย่อเข่าในเวลาอ่านที่ข้อความจากพระวรสารที่กล่าวการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนของพระเยซูด้วยเช่นกัน พระเจ้าหลุยส์ไม่ใช่ผู้ที่มุ่งแสวงหาความสะดวกสบายใส่ตัวเอง ตรงกันข้ามพระองค์ใส่ใจในคนจน และบรรดาผู้ตกทุกข์ได้ยากในรูปแบบต่างๆ พระองค์จัดตั้งโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่อผู้ป่วย นอกจากนี้ยังจัดสร้างสถานที่อุปการะคนตาบอด และ สถานฟื้นฟูจิตใจหญิงโสเภณี พระองค์จัดตั้งโรงทานสำหรับเลี้ยงอาหารคนยากจน และ สถานที่บำบัดรักษาคนเป็นโรคเรื้อน นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงระบบการตัดสินคดีความ ให้มีการให้การของพยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ และอนุญาตให้มีการอุทรณ์คดีด้วยการยื่นเรื่องมาร้องขอความยุติธรรมจากพระองค์ได้โดยตรง

พระองค์เป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวแต่ก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งจิตใจที่ตั้งมั่นในศาสนา พระองค์ยังมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับคณะนักบวชฟรังซิสกัน และคณะดอมินิกัน และก่อนที่พระองค์จะออกเดินทางไปร่วมสงครามครูเสดครั้งที่ 7 พระองค์ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกชั้นที่ 3 ของคณะฟรังซิสกันอีกด้วย ในฐานะที่พระองค์คืออัศวินนักรบผู้ห้าวหาญที่ยึดมั่นอยู่บนกรอบศีลธรรมตามแนวทางของคริสต์ศาสนา พระองค์ไม่อนุญาตให้ใครใช้ถ้อยคำที่หยาบคายไม่เหมาะสมในระหว่างที่พระองค์ปฏิบัติหน้าที่ของการรบ ในบทบาทของการเป็นผู้ก่อสร้าง พระองค์โปรดให้มีการก่อสร้างอาคารสถานที่ที่งดงามหลายแห่ง ที่ควรนำมากล่าวถึงในที่นี้คือ มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ที่ต่อมาเป็นที่ตั้งของคณะเทววิทยาแห่งปารีสด้วย และวิหารแซงชัปแปลที่เป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุไม้กางเขน และ มงกุฏหนามอีกด้วย

ในด้านการเมืองการปกครอง พระเจ้าหลุยส์ ที่ 9 เป็นผู้ยุติสงครามกับอัลบีเจนเซียน ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนานทางใต้ของประเทศ พระองค์เป็นผู้ปราบกบฏเคาท์เดอลามาร์ช และเป็นผู้ลงนามในข้อตกลงระหว่างปารีสกับอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1259 แต่สิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของพระองค์คือการกอบกู้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในเขตปาเลสไตน์ที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพวกเตอร์ก ในปีค.ศ.1248 พระองค์ประสบความสำเร็จในการเข้ายึดเมือง ดามีเอตตา ในสงครามครูเสดครั้งที่ 7 แต่พระองค์กลับเสียทีพลาดท่าถูกจับกุมเป็นเชลยศึก และต้องจ่ายค่าไถ่เพื่อแลกกับอิสรภาพของพระองค์ ในอีก 22 ปีต่อมาคือ ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1270 ระหว่างที่พระองค์ออกไปเพื่อการศึกอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ติดเชื้อโรคระบาดและสิ้นพระชนม์ลงที่เมืองตูนิส

พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ ในปีค.ศ. 1297 โดยพระสันตะปาปา โบนีฟาซ ที่ 8 ชาวฝรั่งเศสถือว่าท่านเป็นหนึ่งในสามนักบุญองค์อุปถัมภ์ประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย รวมทั้งการได้เป็นองค์อุปถัมภ์ของช่างแกะสลักหิน ช่างพิมพ์ และ ช่างตัดผม

Credit:Wikipedia,History channel และวัดเซ็นต์หลุยส์สาธร

พบกันตอนต่อไปเป็นเรื่องของอีก 2 วิหารแบบกอติก ที่ไม่ควรพลาดไปชมเมื่อท่านไปถึงปารีส ใน City Break Paris Part 8