City Break Paris Part XIX

By Pusit Sansopone
เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 19

เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 3
การปรับเปลี่ยนของ Louvre จากการเป็นพระราชวังมาเป็นพิพิธภัณฑ์

กลับมาพูดเรื่อง Louvre จริงๆ แล้วในช่วงที่มีการย้ายเมืองหลวงไปแวร์ซายส์ในช่วง 3 รัชสมัยนั้น ได้มีความคิดจากราชสำนักจะนำเอาวัง Louvre ไปทำประโยชน์ เช่น การทำเป็นหอศิลป์ นำโดย พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ได้นำภาพศิลปะที่พระองศ์สะสมจากวังลุกซอมบูรก์ The Luxembourg Palace โดยมีผลงานสุดยอดจากศิลปินชั้นนำ

เช่น Andrea del Sarto, Raphael, Titian, Veronese, Rembrandt, Poussin มีการเปิดให้สาธารณะชนชมอาทิตย์ละ 2 วัน ทำให้ในรัชสมัยของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มีนโยบายที่จะทำ Louvre ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย จนกระทั่งมาถึงยุคปฏิวัติก็มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ Louvre เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี ค.ศ 1793 โดยมีภาพวาดชั้นนำ 537 ชิ้น และศิลปวัตถุอื่นๆ อีก 184 ชิ้น โดย 3 ใน 4 ของทั้งหมดมาจากราชสำนัก

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -8

ภาพวาดในปี 1810 ของ  Louis Léopold Boilly (1761–1845 Paris) ชื่อ The Public Viewing David’s “Coronation” at the Louvre ซึ่งเป็นภาพสาธารณะชนไปชมภาพราชาภิเษกของนโปเลียน Coronation of the Emperor ที่ Louvre ซึ่งวาดโดย Jacques Louise David ศิลปินประจำพระองค์ของนโปเลียน

หลังจากการสลายตัวของการปฏิวัติ เมื่อถึงยุคของ จักรพรรดินาโปเลองโบนาปารด์ หรือ นโปเลียนที่ 1 เข้ามามีอำนาจ ท่านได้เปลี่ยนชื่อพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านเอง โดยใช้ชื่อว่าพิพิธภัณฑ์นโปเลียน “Museum Napoleon” ในปี ค.ศ. 1803

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -4

Napoléon on the Battlefield of Eylau เป็นภาพสีน้ำมันวาดในปี 1808 โดย Antoine-Jean Gros. บรรยายเหตุการณ์หลังการสู้รบที่ ไอลอ โดยในครั้งนั้นกองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ต (Grande Armée )สามารถเอาชนะกองทัพรัสเซียได้ ภาพนี้อยู่ที่ Louvre ในยุคปัจจุบัน เป็นภาพในสไตล์ที่เรียกว่า French Romanticism

เนื่องจากศิลปวัตถุส่วนใหญ่ได้มาจากชัยชนะในสงครามต่างๆ เรียกว่าพิพิธภัณฑ์นั้นล้นไปกับงานศิลป์ที่กองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ต (Grande Armée) ไปกวาดมาจากทั้งทวีปยุโรปรวมทั้งแอฟริกาตอนเหนือโดยเฉพาะประเทศอียิปต์

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -1

ภาพวาดงานแต่งงานครั้งที่ 2 ของนโปเลียนกับมารีหลุยส์ ที่ Louvre โดยศิลปินชื่อ Corbis จะเห็นว่าตอนนั้น Louvre เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เต็มรูปแบบแล้ว

หลังจากที่ลูฟว์ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ และได้ทำการอนุรักษ์และนำเสนอผลงานศิลปะนับพันๆ ชิ้น รวมทั้งมรดกของอารยธรรมในอดีต ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จักรพรรดิได้เปลี่ยนการตกแต่งภายใน และยังได้สร้างประตูชัยที่ยิ่งใหญ่ 2 แห่ง เนื่องจากท่านถือว่าท่านเป็นจักรพรรดิเฉกเช่นจักรพรรดิโรมันแห่งโรมที่มีประเพณีตัดไม้ข่มนาม ด้วยการนำกองทัพเดินลอดประตูชัยเอาฤกษ์เอาชัยก่อน ทำให้ทหารมีกำลังใจและฮึกเหิมและดูเหมือนว่าจะได้ผลดี เพราะกองทัพใหญ่ของนโปเลียนโบนาปาร์ตนั้นแทบจะไม่เคยปราชัยจากการสู้รบ 60 สงคราม นโปเลียนแพ้เพียง 8 ครั้ง ส่วนใหญ่ก็เป็นสงครามหลังจากที่ไม่สามารถบุกยึดรัสเซียได้ก็ไม่ค่อยได้ชนะอีกจนแพ้ครั้งสุดท้ายที่ Waterloo เมื่อปี 1815

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -9

ภาพทหารของนโปเลียนสวนสนามลอดประตูชัย  Carrousel หน้าวัง Tuileries วาดโดย Hippolyte Bellangé ในปี 1810

ทั้งนี้ นโปเลียนได้สร้างประตูชัยเล็กที่ชื่อการ์รูเซล Arc de Triomphe du Carrousel อยู่ใกล้กับพระราชวัง Tuileries ตรงจุดที่เรียกว่า Place du Carrousel มันถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1806 และ1808 เพื่อรำลึกถึงชัยชนะทางทหารของนโปเลียนเมื่อปีก่อนๆ เช่น ชัยชนะที่ออสเตรียและเพื่อเป็นเกียรติกองทัพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -7

Arc du Carrousel หรือประตูชัยเล็กนี้ สร้างขึ้นตรงพื้นที่ระหว่าง Louvre และ Palais de Tuileries

มันมี 3 ซุ้มประตู ซึ่งก็ได้ต้นแบบมาจากประตูชัยคอนสแตนตินและประตูชัยเซปติมุส ( Arch of Constantine, Arch of Septimius Severus) ในกรุงโรม ออกแบบโดย Charles Percier และ Pierre François Léonard Fontaine มีจุดเด่นอยู่ที่เสาโครินธ์ทั้ง 8 ต้น ทำจากหินอ่อนสีชมพู และรูปปั้นด้านบนของซุ้มประตูเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่เรียกว่า “Triumphal Quadriga” เป็นชุดรถม้าโรมัน Chariot ทองสัมฤทธิ์เทียมม้า 4 ตัวที่นโปเลียนนำมาจากจัตุรัสเซนต์มาร์กในเวนิส โดยตั้งใจจะทำรูปปั้นนโปเลียนเป็นผู้ทรงรถม้าแต่ในที่สุดรูปปั้นทั้งหมดก็ถูกส่งกลับไปยังเมืองเวนิสหลังจากการล่มสลายของ นโปเลียนที่ Waterloo แต่ก็ทำแทนที่ด้วยชุดรถม้าที่สร้างโดย François Joseph Bosio ในปี 1828

ในขณะที่ประตูชัยใหญ่ หรือ ประตูชัยนโปเลียน Arc de Triomphe de l’Étoile ที่อยู่ปลายสุดของถนน Champs Élysées ก็เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์โครินธ์ และได้รับการออกแบบในปีเดียวกัน แต่มันใหญ่กว่าประตูการ์รูเซลถึงสองเท่า ทำให้ยังไม่แล้วเสร็จจนถึงปี 1836 ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ – ฟิลิปป์

สำหรับ Arc de Triomphe de l’Étoile นั้นถูกสลักด้วยชื่อแม่ทัพนายพลของนโปเลียน และชื่อสงครามที่นโปเลียนชนะ มันออกแบบโดย Jean Chalgrin มีต้นแบบเป็นประตูชัยติตัส Arch of Titus ในกรุงโรมแต่ Arc de Triomphe ที่ปารีสสูงกว่ามาก (50 เมตรเทียบกับ 15 เมตร) แต่ก็มีความสมมาตรและมีสัดส่วนที่เท่ากัน

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -11

ประตูชัยประดับประดาเป็นปูนปั้นมีมิติที่ส่วนใหญ่เป็นที่ระลึกถึงการสู้รบของจักรพรรดินโปเลียน เช่น การต่อสู้ที่ Aboukir หรือชัยชนะของนโปเลียนเหนือตุรกีและการต่อสู้ Austerliz ที่นโปเลียนชนะออสเตรีย ด้านล่างซุ้มประตูเป็นหลุมฝังศพของทหารนิรนามซึ่งเป็นอาสาสมัครหลายคนที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

สาเหตุที่ประตูชัยนี้เรียกว่า Arc de Triomphe de l’Étoile ที่หมายถึงประตูชัยแห่งดาว (l’Étoile) นั้นก็เพราะประตูชัยนี้ตั้งอยู่ที่จัตุรัสดาว หรือ Place de l’Étoile (ชื่อเป็นทางการปัจจุบันคือ Place Charles de Gaulle) เป็นวงเวียนซึ่งมีถนน 12 สายวิ่งเข้าสู่วงเวียนนี้ มองจากด้านบนจะเหมือนดาวกระจายนั่นเอง

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -6

เราสามารถขึ้นไปดูวิวกรุงปารีสจากดาดฟ้าของประตูชัยนโปเลียนนี้ ซึ่งเราสามารถมองเห็นวิวของ La Defense, Champs-Elysées และSacré-Coeur แต่ควรใช้อุโมงค์ลอดใต้วงเวียนไปโผล่ที่ประตูชัยอย่าข้ามถนนเด็ดขาดมันอันตรายมาก แต่อย่าคิดว่าได้ขึ้นลิฟท์ไปดาดฟ้านะครับคุณต้องปีนบันได 234 ขั้นเพื่อแลกกับวิวสวยๆ

เมื่อตอนที่ประตูชัยทั้ง 2 แห่งสร้างเสร็จนั้น เราจะเห็นว่ามันมีพระราชวัง Tuileries บังหรือกั้นประตูทั้ง 2 อยู่แบบภาพด้านล่างนี้ครับ

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -2

ในขณะที่ปัจจุบันนี้กลับเปิดโล่งก็เพราะต่อมาในปี 1871 พระราชวัง Tuilerie ก็ถูกวางเพลิงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ฟิลลิปป์ โดยพวกปฏิวัติหลังจากการที่ท่านไปแพ้สงครามกับปรัสเซียและซากอาคารก็ถูกทุบทิ้งโดยไม่มีการบูรณะใหม่

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -12

ในภาพด้านบนจะเห็นส่วน (อาคารที่เป็นสีแดง)ที่เคยเป็นพระราชวัง Tuilerie ที่ถูกไฟไหม้ไปแต่ไม่มีการบูรณะ จึงทำให้ (ดูภาพด้านล่าง)ทิศตะวันตกของ Louvre เปิดโล่งไปหาสวน Tuilerie และได้ทิวทัศน์ที่สวยงามของเมืองปารีส

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -3

ซึ่งในยุคของประธานาธิบดี Charles de Gaulle เคยพยายามจะหาทุนสร้างอาคารส่วนนี้ขึ้นมาใหม่เพราะมีแบบของเดิมอยู่แต่แล้วจนถึงวันนี้ก็ไม่มีการสร้างใหม่เพราะใช้ทุนสูงมาก

ดังนั้น Louvre ด้านทิศตะวันตกนี้จึงเปิดโล่งต่อเนื่องกับสวน Tuilerie มองเห็นจัตุรัสกองกอร์และ ต้นถนนชองเซลิเซ ตลอดไปจนถึงประตูชัยนโปเลียน เป็นมุมมองที่สวยงามมากที่หันหน้าไปทางตะวันตกของกรุงปารีส มันถูกเรียกว่าแกนประวัติศาสตร์ของปารีส Paris Axe historique (“historic axis”) ยาว 9 กิโลเมตรเป็นเส้นตรงวัดจากประตูชัยเล็กหรือประตูชัย Carrousel

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -5

โดยถ้าเราไปยืนใต้ซุ้มประตูชัย Carrousel และมองไปจะเห็น Landmarks ของกรุงปารีสที่สำคัญเป็นเส้นตรง ตั้งแต่จัตุรัสคองคอรด์ที่มีเสาโอเบลิกซ์ยอดแหลม,ประตูชัยนโปเลียน,ไปสิ้นสุดที่ประตูลาเดฟองซ์ที่เป็นประตูชัยสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 สร้างในยุคของประธานาธิบดีฝรั่งเศสฟรองซัวร์มิเตอรงด์ โดยรำลึกถึง 200 ปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส 14 กรกฏาคม 1989

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -10

ในรูปทรงลูกบาศก์และมีความสูง 110 เมตร Arch ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอุดมคติด้านมนุษยธรรมมากกว่าชัยชนะทางทหารใดๆ มันทันสมัยมากและค่อนข้างตรงกันข้ามกับความ “เก่า” ของปารีส ทำให้มีทั้งคนรักและเกลียดมัน ผู้ออกแบบเป็นชาวเดนมาร์กชื่อ Otto von Spreckelsen

City Break Paris Louvre Museum ตอน 3 -13

กลับมาเรื่อง Louvre ซึ่งในที่สุดก็มีการปรับปรุงต่อเติมในส่วนอาคารครั้งใหญ่อีกครั้งในยุคของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งทำให้กลุ่มอาคารครบถ้วนเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบันนี้ได้มีการสร้าง ปีก Denon ทางด้านแม่น้ำเซน และ ปีก Richelieu Wing บนถนน Rivori (ดูจากภาพด้านบนก็คืออาคารส่วนที่มี color code เป็นสีส้ม) เพื่อให้ส่วนหนึ่งใช้เป็น พระราชวังของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 Napoleon III ด้วยซึ่งถือเป็น State Apartment ที่ Louvre ซึ่งภายหลังต่อมาก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชม ห้องพักแสดงถึงพลังและความมั่งคั่งของรัฐฝรั่งเศสในเวลานั้น

กลับมาติดตามเรื่องราวของการต่อเติมครั้งสุดท้ายล่าสุด และอาจเป็นครั้งที่ยากที่สุดตั้งแต่มีการพัฒนาปรับปรุงมากว่า 700 ปี ของ Louvre ในตอนต่อไปครับ

City Break Paris Part XVIII

By Pusit Sansopone

เบรกเที่ยวในกรุงปารีส ตอนที่ 18
เที่ยวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ Louvre ตอนที่ 2
การปรับเปลี่ยนของ Louvre ในศตวรรษที่17-18

กลับมาเรื่องพระราชวังลูฟว์กันต่อครับ สำหรับเรื่องการต่อเติมที่เป็นเรื่องราวหลังจากสมัยพระเจ้าอองรีที่ 4 ก็มามีในสมัยเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ที่ทำลายกำแพงด้านเหนือของปราสาท (ในปี 1624) เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ลูฟว์ไม่ใช่ลูกผสมคือเป็นทั้งสถาปัตยกรรมแบบยุคกลางและยุคเรเนอซองส์ปนกันอยู่ เพราะ Lescot Wing ที่สร้างขึ้นมาใหม่เป็นเรเนอซองส์ไปแล้ว ดังนั้นแนวคิดของสถาปนิกคนใหม่ Jacques Lemercier ก็คือการทำเลียนแบบปีกเลส์โกต์นี้ทางเหนือด้วย จึงมี Lemercier Wing (1636) เกิดขึ้น และสร้าง Pavilion หรือมุขระหว่างสองปีกคือ Pavillon de l’Horloge แต่ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Pavillon de Sully

City Break Paris Louvre 3

ภาพลานจัตุรัสของ Louvre ด้านใน หรือ Cour Carrée (ไม่ใช่ลานนโปเลียนซึ่งปัจจุบันมีปิรามิดแก้วตั้งอยู่) จะเห็นปีกเลสโก้ Lescot Wing ที่อยู่ด้านซ้าย โดยมีหน้ามุขนาฬิกา Pavillon de l’Horloge และมีปีกเลแมซิเอ Lemercier Wing อยู่ด้านขวา ที่สร้างcopyให้เข้ากับปีกเลสโก้

จากนั้นก็มาถึงยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ในปี ค.ศ. 1659 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ภายใต้สถาปนิก Louis Le Vau และจิตรกร Charles Le Brun (ผู้ซึ่งเป็น 2 ใน 3 ประสานของโครงการพระราชวังแวร์ซายย์ ประกอบด้วย Louis Le Vau ออกแบบพระราชวัง, Charles Le Brun ออกแบบงานศิลปะ เช่น ประติมากรรมรูปปั้นรวมทั้งงานภาพวาด และ André Le Nôtre ออกแบบภูมิทัศน์ ซึ่งทั้งหมดจะมีการพูดถึงเมื่อเราไปเที่ยวพระราชวังแวร์ซายย์) มีการทุบกำแพงทางทิศเหนือและทิศตะวันออกที่เป็นส่วนของ Louvre ยุคกลางออกไป แต่แม้ว่ากำแพงถูกทลายไปแต่โครงสร้างคือฐานของกำแพงก็ยังอยู่มีซากให้เห็นในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปัจจุบันดูจากรูปด้านล่าง

City Break Paris Louvre 2

จากนั้น มีการดูแลปรับปรุงและความสมบูรณ์ของพระราชวัง Tuileries และได้มีการก่อสร้างปีกอาคารให้ล้อมรอบตรงลานจัตุรัสหรือ Cour Carrée ให้ครบทั้ง 4 ด้านจากที่ก่อนหน้านี้มีแค่ปีกเลสโก้ Lescot และมีปีกเลแมซิเอเท่านั้น โดยการสร้างปีกทางทิศเหนือและเพิ่มความยาวของปีกใต้เป็นสองเท่ามีการสร้างมุขกษัตริย์ Pavillon du Roi และสร้างแกรนด์ Cabinet du Roi (หอศิลป์คู่ขนานกับ Petite Galerie) รวมทั้งโบสถ์ เลอบูร์น และการตกแต่ง Galerie d’Apollon

City Break Paris Louvre 10

ภาพด้านบนจะเห็น square court หรือ Cour Carrée ที่มีกลุ่มอาคารล้อมรอบทั้ง 4 ด้านครบแล้ว แต่ในภาพจะเห็นว่าส่วนหลังคาของตึกที่ถูกต่อเติมใหม่นั้นยังถูกทิ้งค้างไว้ และมาเสร็จในช่วงของจักรพรรดินโปเลียน เนื่องจากเจ้าหลุยส์ที่ 14 กำลังจะย้ายไปที่พระราชวังแวร์ซายย์ ทำให้มุ่งไปสนพระทัยพระราชวังใหม่ ซึ่งทำให้งานของลูฟว์ไม่เดินหน้าจนในที่สุดก็ถูกทอดทิ้งไปอีก 2 รัชสมัยคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15และ16

Cabinet du Roi ประกอบด้วยห้องพัก 7 ห้องทางด้านตะวันตกของ Galerie d’Apollon ที่ชั้นบนของ Petite Galerie ที่ได้รับการออกแบบใหม่ ภาพวาดของกษัตริย์หลายพระองค์ถูกประดับไว้ในห้องเหล่านี้ในปี ค.ศ. 1673 และกลายเป็นแกลเลอรีศิลปะย่อมๆที่เปิดให้สำหรับคนรักศิลปะสามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญมีหลักฐานระบุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสว่าห้องแกลเลอรี่นี้ได้เคยแสดงให้ทูตจากสยามได้เข้าชมใน ปี ค.ศ.1686

City Break Paris Louvre 5

ปีกด้านตะวันออกของ Louvre (1665-80) ซึ่งมีรูปแบบด้านหน้าอาคารที่คลาสสิก และมีอิทธิพลต่อการออกแบบอาคารต่างๆ ในหลายประเทศทางซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะในยุโรป ข้างหน้าอาคารคือลาน Claude Perrault’s Colonnade ตั้งชื่อตามสถาปนิกผู้รับผิดชอบอาคารด้านตะวันออกนี้

สำหรับปีกอาคารด้านตะวันออกนั้นรับผิดชอบโดย Claude Perrault หลังจากที่มีความพยายามจะให้ปรมาจารย์ศิลปะสไตล์บาร็อค ที่ชื่อ Gian Lorenzo Bernini สถาปนิกชาวอิตาเลียนชื่อดังจากโรมแสดงฝีมือออกแบบซึ่งเขาก็เดินทางมาปารีสโดยเฉพาะเพื่องานนี้ แต่ปรากฎว่ารูปแบบโดนปฏิเสธโดยพระเจ้าหลุยส์เพราะรูปแบบมันได้อิทธิพลมาจากดีไซน์ของอิตาเลียนจนเกินไปไม่ใช่ฝรั่งเศส สถาปนิก Claude Perrault ก็จัดการดำเนินการต่อไปโดยใช้สไตล์บาร็อคแบบ Classic ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับว่ามีความคลาสสิกแบบฝรั่งเศส และมีอิทธิพลต่อการออกแบบอาคารต่างๆ ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกา

City Break Paris Louvre 9

ภาพบนนี้เป็นภาพลานจัตุรัสหรือ Cour Carrée ในปัจจุบันถ่ายจากจุดกึ่งกลางลานที่เป็นบ่อน้ำพุแทบไม่มีใครทราบว่าอาคารแต่ส่วนแต่ละปีกด้านหน้าด้านข้างนั้นสร้างกันคนละยุคสมัยแค่ดูกลมกลืนได้อย่างดี

นอกจากนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังทรงให้ปรับเปลี่ยนสวนตุยเลอรี Tuileries ให้เป็นสวนแบบฝรั่งเศสหรือที่เรียกว่า Jardin à la Française หรือ The French Formal Garden เพราะในยุคของพระองค์ซึ่งมีฉายาว่า “สุริยะราชา” หรือ The Sun King นั้น ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศมหาอำนาจมีความยิ่งใหญ่เกรียงไกร จะต้องมีสไตล์ของฝรั่งเศสเอง

City Break Paris Louvre 11

ภาพแบบแปลนของสวนสวนตุยเลอรี Tuileries ที่เน้นรูปทรงเรขาคณิตและวางรูปแบบให้สมมาตรโดย เลอ โนตร์

เพราะก่อนหน้านั้นพระราชวังนี้มาพร้อมกับสวนในสไตล์อิตาเลียน Italian Renaissance Garden ตามคำสั่งของพระนางคัทรินเดอเมดิชี ที่ให้ใช้ นักออกแบบภูมิทัศน์ จากเมือง Florence ที่ชื่อ Bernard de Carnesse

City Break Paris Louvre 8
รูปปั้นที่สวนตุยเลอรี Tuileries ของ เลอ โนตร์ André Le Nôtre สถาปนิกภูมิทัศน์ ออกแบบสวนตุยเลอรีส์ในสไตล์ฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1564

จริงๆ แล้วสวนสไตล์ฝรั่งเศสก็มีวิวัฒนาการและได้แรงบันดาลใจจากสวนสไตล์เรอเนซองส์ของอิตาลีในตอนต้นของศตวรรษที่ 16 นั่นเอง ต้นแบบก็คือสวนสไตล์อิตาเลียนเรอเนซองส์ที่สวน Boboli ในเมืองฟลอเรนซ์และ Villa Medici in Fiesole มีลักษณะการวางแปลง parterres ไม้ดัดไม้ดอกที่เป็นเหมือนกำแพงมีเส้นขอบมุมตัดกันชัดเจน สร้างขึ้นในรูปทรงเรขาคณิตและวางรูปแบบให้สมมาตร มีการใช้น้ำพุและน้ำตกเพื่อให้มีชีวิตชีวาในสวน มีบันไดและทางลาดไล่ระดับต่างๆ ของสวน, มีถ้ำหรือgrottos, มีเขาวงกต และรูปปั้นประติมากรรม โดยสวนจะถูกออกแบบมาเพื่อแสดงถึงกลมกลืน และความเป็นระเบียบตามอุดมคติของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา เพื่อระลึกถึงสวนโรมันต้นแบบในกรุงโรมเก่า

City Break Paris Louvre 6

แต่ในที่สุดสวนแบบฝรั่งเศสก็หาจุดยืนที่มีความแตกต่างจากสวนอิตาลี ทั้งในด้านรูปลักษณะและในด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่เป็นต้นตำรับและถูกยกย่องว่าเป็นผู้ให้กำเนิด Jardin à la Française นั้น ก็คือนักออกแบบ ภูมิทัศน์ที่ชื่อเลอ โนตร์ André Le Nôtre นั่นเอง สวนที่เขาสร้างขึ้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่และความมีเหตุมีผลของฝรั่งเศสทำให้กลายเป็นสวนสไตล์ยุโรป จนกระทั่งถึงในศตวรรษที่ 18 English Garden หรือสวนภูมิทัศน์แบบอังกฤษจึงมาเป็นที่นิยมแทน

City Break Paris Louvre 1

ภาพบนเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่สร้างชื่อให้กับ André Le Nôtre (1613-1700) ซึ่งเป็นนักออกแบบภูมิทัศน์ที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของสวนฝรั่งเศส มันคือผลงานการออกแบบสวนในปี 1656 ที่ปราสาท โวเลอวีกงต์ Vaux-le-Vicomte ของ นิโกลา ฟูเกต์ Nicolas Fouquet ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้ดูแลท้องพระคลัง (เทียบเท่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลัง) ให้พระเจ้าหลุยศ์ที่ 14

อย่างไรก็ตามการทำงานการปรับเปลี่ยนในช่วงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นั้นค่อนข้างล่าช้า เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องกว้านซื้อที่ดินและบ้านบริเวณนั้น ถ้าดูจากรูปภาพวาดขาวดำด้านบนจะเห็นว่าบริเวณรอบๆ Louvre นั้นค่อนข้างแออัดแม้แต่ในลานจัตุรัสก็ยังมีบ้านคนปลูกอยู่ซึ่งต้องมีการซื้อที่เวรคืน ยิ่งไปกว่านั้นช่วงปี ค.ศ. 1674 พระเจ้าหลุยส์กำลังจะย้ายไปที่พระราชวังแวร์ซายส์ ทำให้มุ่งไปสนพระทัยพระราชวังใหม่ซึ่งทำให้งานของลูฟว์ไม่เดินหน้า

จนในที่สุดโครงการ Louvre ก็ถูกทอดทิ้งไปอีก 2 รัชสมัยคือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และ16 ซึ่งก็ทรงประทับที่แวร์ซายส์จนมีเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส และในวันที่ 6 ตุลาคมปี ค.ศ. 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่16 และพระบรมวงศานุวงศ์ถูกเชิญให้กลับมาอยู่ปารีสใกล้กับประชาชนที่พระราชวังตุยเลอรี Tuileries เนื่องจากประชาชนชาวปารีสเดือดร้อนเศรษฐกิจย่ำแย่ แต่เหตุการณ์ก็ยังไม่ได้ดีขึ้น เพราะกองทัพของพระองค์ก็พยายามจัดการให้พระองค์และคณะหลบหนี จากปารีสไปที่ Montmédy ทำให้เกิดเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม ปี 1792 ที่เรียกว่า Journée du 10 août หรือ “The Second Revolution” มีการบุกโจมตีพระราชวังตุยเลอรีโดยพวกปฏิวัติ ซึ่งในตอนนั้นทหารที่ปกป้องคุ้มครองพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็คือ Swiss Guard (หรือกลุ่มทหารรับจ้างสวิส Mercenary Soldiers ที่ทำหน้าที่รับจ้างคุ้มครองพระราชวังหลายแห่งในยุโรปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 มีชื่อเสียงเรื่องความซื่อสัตย์และภักดีต่อผู้ว่าจ้างสูงสุด จนถึงปี 1874 กฎหมายรัฐธรรมนูญสวิสให้ยกเลิกไป ถือว่าทหารสวิสต้องปกป้องสวิสเท่านั้นไม่ใช่ต่างชาติ ยกเว้นกรณีที่ คุ้มครองพระสันตะปาปาที่กรุงวาติกัน)

City Break Paris Louvre 7

ภาพนี้ก็คือเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม ปี 1792 ที่ชื่อ Capture of the Tuileries Palace วาดโดย Jean Duplessis-Bertaux (1747–1819) จะเห็น Swiss Guard อยู่ในชุดสีแดงปัจจุบันดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ที่พระราชวังแวร์ซายส์ National Museum of the Chateau de Versailles

ดังนั้นเหตุการณ์ที่มีการบุกโจมตีพระราชวังตุยเลอรีก็เป็นไปตามคาดก็คือ Swiss Guard ไม่ยอมวางอาวุธไม่ยอมให้กลุ่มทหารปฏิวัติ หรือ National Guard ผ่าน จึงเกิดการต่อสู้แบบยอมตายแม้ว่าฝ่ายปฏิวัติจะมีกำลังมากว่าหลายเท่า ทำให้ Swiss Guard เสียชีวิต เพราะความกล้าหาญและซื่อสัตย์ภักดีมากว่า 600 นาย แม้ว่าหลังการต่อสู้ไม่นานพระเจ้าหลุยส์ทรงมีคำสั่งให้ Swiss Guard ยอมแพ้ก็ตาม จึงเป็นที่มาของอนุสาวรีย์ ‘สิงโตเศร้า’ The Lion Monument ที่หน้าผาเมืองลูเซินน์ Lucerne ที่เรารู้จักกันดี โดยมีข้อความจารึกสดุดี ถึงความภักดีและกล้าหาญของคนสวิสจากเหตุการณ์ครั้งนั้น in memory of the Swiss Guards : HELVETIORUM FIDEI AC VIRTUTI (To the loyalty and bravery of the Swiss) โดยเปรียบเสมือนสิงโตผู้เก่งกล้าแต่ก็ยังแพ้ได้แบบมีศักดิ์ศรี ไม่มีหนีแม้รู้ว่าต้องพ่าย

มาถึงตรงนี้ชอบมีคำถามแบบแฟนพันธุ์แท้ถามว่า “แล้วทำไมต้องไปสร้างอนุสรณ์สถานนี้ที่เมืองลูเซินน์Lucerne ทำไมไม่ซูริคหรือเจนีวาล่ะ?” คำตอบก็คือ The Lion Monument เกิดจากแรงผลักดันของร้อยตรีคาลล์ (second lieutenant Carl Pfyffer von Altishofen) นายทหารรับจ้างสวิสชาวลูเซินน์ที่อยู่ในช่วงลาพักร้อนกลับบ้านที่ลูเซินน์พอดี ในขณะที่เพื่อนๆ ต้องต่อสู้กับเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาที่ปารีส ทำให้เกิดสำนึกและรู้สึกผิดอยู่เฉยไม่ได้ต้องสร้างอนุสรณ์ที่รำลึกถึงเพื่อนทหารผู้กล้า จึงได้วิ่งเต้นกับเทศบาลเมืองลูเซินน์และนักการเมืองท้องถิ่นจนได้รับการอนุมัติให้สร้าง The Lion Monument ซึ่งออกแบบโดย Bertel Thorvaldsen ชาวเดนมาร์ก และมีการแกะสลักในปี 1820–21 โดย Lukas Ahorn ชาวเยอรมัน

City Break Paris Louvre 4

ติดตามการเปลี่ยนแปลงของ Louvre ในตอนต่อไปครับ