“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ดได้เงินเดือนละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักทีเขาก็คงถวายเดือนละ100 บาทอยู่เรื่อยมา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่งถึงการเป็นช่างภาพอาชีพ

พระองค์ทรงศึกษาและเรียนรู้การถ่ายภาพจนมีพระปรีชาสามารถ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากโรงเรียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งยังทรงเชี่ยวชาญการถ่ายรูปและล้างรูปด้วยพระองค์เอง ทรงจัดห้องมืดขึ้นที่ชั้นล่างของตึกสถานีวิทยุ อ.ส.จึงปรากฏภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เป็นจำนวนมาก

ความสนพระทัยในเรื่องกล้องถ่ายรูปของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ เนื่องด้วย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โปรดการบันทึกภาพพระโอรส-ธิดาและทรงบันทึกวันและสถานที่ถ่ายภาพไว้อย่างมีระเบียบ ดังที่ปรากฏในหนังสือพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ว่า “การถ่ายรูปเริ่มด้วยกัน แต่รัชกาลที่ 8 เลิกไปภายหลัง รัชกาลที่ 9 ทรงเล่าว่ากล้องแรกราคา 2.5 แฟรงค์ ฟิล์มม้วนละ 0.25 แฟรงค์ ม้วนหนึ่งมี 6 รูป ม้วนแรกเสียไป 5 รูป และรูปที่ 6 ที่ดีนั้น คนอื่นเป็นผู้ถ่าย”

ในช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงพระยศเป็นพระอนุชา ทรงถ่ายภาพรามเกียรติ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้พิมพ์ลงในหนังสือพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ในขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอีกด้วย เมื่อขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ก็ทรงโปรดถ่ายภาพสิ่งต่าง ๆ เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์จะปรากฏบนปกนิตยสารต่าง ๆ เสมอ เช่น วารสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร


พระองค์ทรงสะสมตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้เป็นจำนวนมาก และพระองค์ทรงศึกษาจากตำราเหล่านั้น และทรงคิดค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ อาทิเช่น ทรงเคยนำแว่นกรองแสงชนิดพิเศษติดหน้าเลนส์ ลักษณะของแว่นกรองแสงเป็นแผ่นใส ส่วนบนเป็นสีฟ้า ส่วนล่างเป็นสีแสด และเมื่อถ่ายภาพ ผลที่ได้คือส่วนล่างเป็นสีธรรมชาติ ส่วนบนจะได้สีฟ้า และส่วนล่างจะได้สีแสด พระองค์ทรงเคยใช้แว่นกรองแสงนี้ทดลองฉายพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทำให้สีของสิ่งต่าง ๆ ในภาพ เช่น ชุดฉลองพระองค์ พระเก้าอี้ พระวิสูตร พรม เป็นสีสอดคล้องสัมพันธ์เข้าเป็นสีชุดเดียวกัน พระองค์ทรงประดิษฐ์แว่นกรองพิเศษนี้ ในขณะนั้น ยังไม่มีบริษัทใดผลิตแว่นกรองแสงเพื่อใช้ในการถ่ายภาพ

เมื่อเสด็จออกไปทรงเยี่ยมเยี่ยนประชาชนในสถานที่ต่างๆ พระองค์ทรงใช้ “กล้องถ่ายรูป” เป็นประโยชน์ในการบันทึกความเป็นไปทั้งหลาย มีทั้งภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ดังที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในคำนำของหนังสือ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ไว้ว่า “ในงานด้านการพัฒนา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ก็เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น รูปภูมิประเทศในบริเวณที่น่าสนใจ พื้นที่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ บริเวณหมู่บ้าน เส้นทางคมนาคม ทั้งที่ถ่ายจากพื้นราบ และถ่ายขณะประทับอยู่ในเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ ภาพเหล่านี้สามารถใช้ประกอบพระราชดำริในการพัฒนาได้”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในหลวงของปวงชนชาวไทย