ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่อ๊อด อนณ พวงทับทิม บรรณาธิการบริหาร The Editors Society ที่ได้ให้เกียรติผู้เขียนในการส่งเรื่องราว และประสบการณ์แฟชั่นสนุกๆ มาแชร์กันที่เว็บไซต์ศูนย์รวมเอดิเตอร์แห่งนี้
จริงๆ ผู้เขียนได้ยินและรู้จักชื่อ อนณ พวงทับทิม มานานหลายปีก่อนที่จะได้รู้จักกันอย่างจริงๆ จังๆ เสียอีก ย้อนกลับไปเมื่อสามสิบปีก่อนในช่วงกลางยุค 80s ผู้เขียนยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น และอยู่ในช่วงที่เริ่มชื่นชอบ และสนใจในแฟชั่น นิตยสารที่ติดตามอ่านเป็นประจำได้แก่เปรียว และลลนาซึ่งเรียกว่าเก๋สุดขีด ในนิตยสารเปรียวสมัยนั้น
นอกจากจะมีภาพแฟชั่นประจำฉบับที่เก๋สุดแล้ว ยังมีคอลัมน์เปรี้ยวเก๋ทันสมัยใหม่ล่าสุดอีกมากมายที่ทำให้วัยรุ่นในประเทศเล็กๆ ในเอเซีย ได้เห็นความเป็นไปของแฟชั่นล่าสุดจากปารีส คอลัมน์เหล่านั้นได้แก่ “แต่งแบบเปรียว” “แถมพกหนุ่มเปรียว” “ข่าวของ NON จากปารีส” ฯลฯ ซึ่งเป็นการนำเสนอด้วยการคัดสรรภาพแฟชั่นเซ็ตสวยๆจากนิตยสารดังๆของปารีสและอิตาลีในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น Jardin des Modes, Jill, Marie Claire, Depeche Mode, Elle, Per Lui, L’Uomo Vogue และอีกมากมาย มาจัดวางให้เห็นถึงเทรนด์ แบบเสื้อผ้า การแต่งหน้าและทรงผมล่าสุด

ภาพบรรยากาศที่ปารีส ที่ผู้เขียนกับพี่อ๊อดมักชอบไปเดินเล่นหลังเสร็จงานแถวย่าน Saint Germain des Prés
นอกจากภาพแฟชั่นจากช่างภาพดังๆ อย่าง Paolo Roversi, Sarah Moon, Patrick Demarchelier, Peter Lindbergh, Steven Meisel, Olivier Toscani ฯลฯ ยังมีบทความแฟชั่น บทสัมภาษณ์ดีไซเนอร์ และรายงานข่าวจากรันเวย์แฟชั่นโชว์ที่ผู้เขียนอ่านแล้วอ่านอีก เพราะอยากรู้ไปหมดว่าใครเป็นใคร ใครออกแบบอย่างไร นางแบบมีใครบ้าง สถานที่จัดโชว์ที่ใด
อาจเป็นเพราะว่าสมัยนั้นผู้เขียนเองเพิ่งเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่เกี่ยวกับปารีสจึงอยากรู้อยากเห็นเป็นทวีคูณ นอกจากหอไอเฟล ประตูชัย และถนนชองเซลิเซ ที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่ผู้เขียนกลับอยากเห็นย่าน Les Halles, Etienne Marcel, Place des Victoires และ Galeries Vivienne (ย่านเก๋ของปารีสตามที่พี่อ๊อดเขียนถึงในสมัยนั้น) เจ้าของคอลัมน์เก๋ไก่ต่างๆ ดังกล่าวเหล่านี้ก็คือพี่อ๊อด อนณ พวงทับทิม บรรณาธิการและเจ้าของเว็บไซต์ The Editors Society แห่งนี้นี่เอง

พี่อ๊อดรื่นเริงขณะกำลังเดินไปร้านอาหารฝรั่งเศสเก่าแก่อายุ 100 ปีร้านโปรดชื่อ Polidor (เราชอบเรียกร้านนี้กันว่า “สามอนงค์” เพราะเสิร์ฟกันโดยป้าๆสามท่าน) ซึ่งยังคงดำเนินกิจการจนทุกวันนี้
ช่วงที่ทำข่าวต่างประเทศให้กับเปรียวนั้น พี่อ๊อดเป็นนักเรียนทางด้านกราฟิกดีไซน์อยู่ปารีส แน่นอนจึงมีโอกาสได้คลุกคลีกับผู้คนในวงการไปโดยปริยาย เมือพบเห็น และมีเรื่องราวอะไรใหม่ๆ ก็ส่งมาให้เปรียวตลอด เราจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวของแฟชั่น และงานดีไซน์จากเมืองแม่บทในนิตยสารเก๋เล่มนี้
หลังจากนั้นอีกหลายปีผู้เขียนก็มีโอกาสได้เข้ามาฝึกงานที่นิตยสารเปรียวที่รักแห่งนี้ ในหนึ่งปีครึ่งที่ฝึกงานอยู่ที่นั่นมีโอกาสได้พบกับพี่อ๊อดเพียงแว๊บเดียว (พี่อ๊อดแวะมาส่งคอลัมน์แบบรวดเร็วและฟึ่บ..ออกไป) ทุกครั้งที่มีจดหมายมาจากปารีส ทันทีที่หัวหน้ากองบ.ก.ส่งซองใหญ่นี้ไปถึงห้องศิลป์ ผู้เขียนจะไปขอเขานั่งดูแฟชั่นล่าสุดว่ามีอะไรบ้าง ก่อนที่เขาจะทำเลย์เอาท์ พี่อ๊อดจะเรียงมาให้โดยคัดมาเป็นเซ็ตๆ เราก็จะสนุก และตื่นเต้นกับได้เห็นภาพแฟชั่นเก๋สุด-ล่าสุด เรื่องของดีไซน์ และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่ที่สนุกที่สุดก็คือข่าวรันเวย์ ซึ่งพี่อ๊อดจะพาตะลุยแบบติดขอบเวที ในสมัยนั้นจะมีนิตยสารไทยนั้นก็คือ Looks โดยพี่ติ๋ว กนกวรรณ มิลินทวานิช และเปรียวโดยพี่อ๊อด ที่พาตะลุยปารีสแฟชั่นวีคกันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกซีซั่น อีกเล่มคือนิตยสารแพรว ฉบับพิเศษที่จะออกปีละครั้ง ส่วนของพี่อ๊อดนั้นจะทยอยลงทุกฉบับๆ ละโชว์สองโชว์ (สมัยนั้นนิตยสารเปรียวออกเป็นรายปักษ์ กล่าวคือเดือนละสองฉบับ) วิธีการเขียนนั้นก็สนุกสนานพี่อ๊อดจะเล่าทุกดีเทล ตั้งแต่การตกแต่งสถานที่ไปจนถึงเพลงที่เลือกในโชว์ ซึ่งนี่ก็ถือเป็นแบบอย่างที่ผู้เขียนได้รับอิทธิพลในการเขียนข่าวคอลัมน์แฟชั่นโชว์มาจนทุกวันนี้

พี่อ๊อดที่ Café de Flore
แล้ววันหนึ่งก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับพี่อ๊อดแบบจริงๆจังๆ ในปี 1993 ที่นิตยสาร Image ผู้เขียนเข้าไปรับตำแหน่งแฟชั่นสไตลิสต์ให้กับนิตยสารไลฟสไตล์ และแฟชั่นที่เรียกว่าเก๋ที่สุดในยุคนั้น ส่วนพี่อ๊อดนั้นอยู่ฝ่ายข่าวแฟชั่นต่างประเทศเช่นเคย เรานั่งทำงานอยู่ในห้องเดียวกันซึ่งอยู่ในแผนกศิลป์ที่สมัยนั้นยังทำเลย์เอาท์กันด้วยมือ (ยังไม่มีคอมพิเตอร์กราฟิก) วางตัวอักษรด้วยกระดาษโบรไมด์ และแปะด้วยกระดาษกาวน้ำ เลย์เอาท์ภาพด้วยเครื่องฉายสไลด์ลงบนกระดาษอาร์ตเวิร์ค และวาดเส้นไปตามขั้นตอนอย่างสนุกสนาน ผู้เขียนได้เรียนรู้การทำเลย์เอาท์มาจากที่เปรียว
เมื่อมาทำงานที่ Image บรรณาธิการบริหาร พี่แอร์ คำรณ ปราโมช ณ อยุธยา ก็ได้เปิดโอกาส และสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการฝึกฝีมือการวางเลย์เอาท์ควบคู่ไปกับการทำแฟชั่น หลังจากทำความคุ้นเคยกันได้ไม่นาน ผู้เขียนกับกับพี่อ๊อดก็จะทักทายกันเป็นภาษาฝรั่งเศส บ่อยครั้งที่เราจะนั่งนินทาคนโน้นคนนี้ (ยกเว้นเจ้านาย) กันเป็นภาษาฝรั่งเศสกันอย่างเมามันส์ราวกับว่าที่นี่คือปารีส!

พี่อ๊อดที่หน้า Brasserie Lipp
วันหนึ่งพี่แอร์เดินมาบอกว่าคราวหน้าไปถ่ายแฟชั่นที่ปารีสก็ตามพี่อ๊อดเข้าไปดูแฟชั่นโชว์สิ อยากบอกว่าดีใจที่สุดในโลก ในการถ่ายแฟชั่นที่ปารีสครั้งนั้น พี่อ๊อดเป็นคนโทรศัพท์ประสานงานจากกรุงเทพฯ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการติดต่อนางแบบ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม ขออนุญาตสถานที่ ติดต่อเช่ารถที่ใช้ในการออกกองซึ่งมีชื่อว่า มิลู (Milou) เป็นรถกองถ่ายแฟชั่นคันใหญ่ยักษ์ที่มีโต๊ะกระจกแต่งหน้า ราวแขวนเสื้อพร้อมสตีมเมอร์ แพนทรี่เล็กๆ และตู้เย็นพร้อมเสร็จสรรพ (ขาดแต่ไวน์…) พอลงจากรถทุกครั้งจะมีป้าๆ ปาริเซียนเหลียวมอง บางทีมายืนดูว่าเอเซียพวกนี้มาทำอะไรกัน (เพราะจริงๆ ที่นั่นเขาถ่ายแฟชั่นกันเป็นเรื่องปกติ)
เรื่องการใช้ภาษาฝรั่งเศสในการติดต่อประสานงานต่างๆ ผู้เขียนก็ได้รับแบบอย่างมาจากพี่อ๊อดเช่นกัน หลายๆ ครั้งที่ปารีสเวลาผู้ใหญ่คุยกันเราก็จะนั่งฟังว่าเขาพูดกันอย่างไร เมื่อถึงสถานการณ์จริงพี่อ๊อดก็คอยแนะนำการใช้ที่ถูกต้อง การออกเสียงสูงต่ำ คำศัพท์ที่เราไม่เคยได้เรียนมา รวมไปถึงศัพท์แสลง!! เนื่องจากที่ผู้เขียนเรียนมาจากชั้นมัธยมต่อด้วยที่มหาวิทยาลัยในเมืองไทยนี้อาจถูกต้องตามหลักไวยากรณ์เป๊ะก็จริง แต่ในภาษาพูดที่ปารีสนั้นไม่เหมือนกับที่เราเรียนมา ด้วยสำเนียง การควบกล้ำ การรวมคำเวลาพูด ฯลฯ ทำให้ผู้เขียนต้องศึกษาเพิ่มเติมจากประสบการณ์จริง ทั้งอัดเทปจากรายการวิทยุ อัดเสียงประกาศชื่อสถานีรถใต้ดินกลับมานั่งฟัง โดยพยายามฟัง และตั้งใจว่าวันหนึ่งจะต้องพูดให้ได้เหมือนกับเจ้าของภาษาถึงไม่เหมือนก็ให้ได้ใกล้เคียง
นอกจากเรื่องของการถ่ายแฟชั่นในปารีสที่เต็มไปด้วยเรื่องราวสนุกสนานแล้ว ฝันที่เป็นจริงของผู้เขียนก็เริ่มต้นขึ้นในเช้าวันหนึ่งของฤดูร้อนที่ปารีส พี่อ๊อดกริ๊งมาที่ห้องในโรงแรม และส่งเสียงสดใสมาตามสายว่า
“โก้จ๊ะ เดี๋ยววันนี้ตามพี่เข้าไปดู Haute Couture นะ พอดีพี่มีบัตรสองใบเป็นของ Givenchy โชว์จัดที่โรงแรม Intercontinental Grand Hotel จ้ะ”
ตอนต่อสัปดาห์หน้า
Moment de vente viagra en espagne complicité, avec son chien de 16 la part de la compagnie. Pascher-pharmacie temps bourrés sildenafil dosage 200 mg ou en train.